Innovative Ideas: ทำความรู้จัก ‘สังคมแห่งความเสี่ยง’ และเทรนด์ที่ดิจิตอลมาร์เกเตอร์ต้องรู้

  • 171
  •  
  •  
  •  
  •  

risk society

ขอบคุณภาพจาก bbc

เคยไหมยามก้าวเท้าออกจากบ้านตอนเช้าแล้วลังเลว่าจะก้าวเท้าซ้ายหรือเท้าขวาออกจากบ้านดี…

ค่าที่ชีวิตปัจจุบันของเรามีความเสี่ยงห้อมล้อมตัวเต็มไปหมด ไหนถนนที่เคยเดินทางประจำด้วยเวลาครึ่งชั่วโมง วันนี้อาจวิปลาศรถติดแหง็ก 3 ชั่วโมงจนไปทำงานสาย รถไฟฟ้ารถใต้ดินที่เคยขึ้นประจำ วันนี้อาจเสีย ตกราง หยุดเดิน จอดไม่ตรงประตู คนบ้าเข้ามาอาละวาด ฯลฯ จนไปทำงานไม่ได้ คอนโดที่พักปกติอากาศแจ่มใส จู่ๆ อาจมีคนเผาหญ้าเผาขยะจนเหมือนอยู่กลางสายหมอกไปซะอย่างงั้น หรือนอนอยู่บ้านดีๆ ก็มีมหามวลน้ำไหลบ่าเข้ามาเยี่ยมเยือนถึงหน้าบันไดจนขนข้าวขนของหนีแทบไม่ทัน

โลกในยุคหนึ่งเคยฝันถึงวันที่ดีขึ้นและดีขึ้นในทุกๆ เช้าที่ตื่นมา เราจะรวยขึ้น จะมีบ้าน จะมีรถ มีลูกหลานสองคนและหมาโกลเด้นฯน่ารักหนึ่งตัว อันเป็นผลมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างก้าวกระโดดของโลกยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่แล้ววันหนึ่ง ป็อบ! ฟองสบู่ที่แสนหวานเหล่านั้นแตกมลายหายไป เราเริ่มมองเห็น “ด้านมืด” (dark side)ของความทันสมัยที่ซ่อนเร้นอยู่ ทั้งภัยก่อการร้าย โรคระบาดนานา เช่น ซาร์ส ไข้หวัดนก วัวบ้า มหาภัยพิบัติต่างๆ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ซึนามิ ภาวะโลกร้อน สำหรับชาวดิจิตอลมาร์เกตเตอร์คงคุ้นเคยกับความเสี่ยงบนโลกดิจิตอล เช่น ไวรัส แฮคเกอร์ การเจาะข้อมูลส่วนบุคคล หรือการสร้างข่าวลือผ่านโซเชียลมีเดีย

สิ่งเหล่านี้ อุลริช เบ็ค (2006) เขียนในบทความ  Living in the world risk society เรียกมันว่า “ความเสี่ยง” ที่แสนร้ายกาจเพราะมนุษย์เดาไม่ได้ว่ามันจะเกิดขึ้นวันไหน เกิดยังไง และร้ายแรงแค่ไหน และทำได้เพียงมุดอยู่ในผ้าห่ม หวาดกลัวการมาเยือนของมันอย่างไม่รู้เหนือรู้ใต้

อะไรคือสังคมความเสี่ยง (Risk Society)

รศ.ดร.สมสุข หินวิมาน อาจารย์จากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบทวนแนวคิดของ อุลริช เบ็ค ในบทความ “การสื่อสารกับสังคมแห่งความเสี่ยง” และอธิบายลักษณะไว้ดังนี้

1.จับต้องได้ยาก ตัวอย่างเช่น ความเสี่ยงจากสารเคมีในอาหาร เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าผัก ผลไม้ เนื้อสด ที่ซื้อมาจากตลาดหรือซุปเปอร์มาร์เกตนั้นมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน เราอาจได้อ่านข่าวว่าหลายองค์กรวัดค่าสารเคมีจากวัตถุดิบเหล่านั้นและพบว่ามันขึ้นสูงในระดับที่น่ากลัว แต่สุดท้ายเราก็ยังไม่แน่ใจอยู่ดีเพราะไม่สามารถสัมผัส “ความอันตราย” ได้ด้วยตาตัวเอง

2.ทำนายผลลำบาก ตัวอย่างเช่น กรณีโลกร้อน นักวิทยาศาสตร์อาจบอกว่าโลกร้อนทำให้เกิดน้ำท่วม อากาศร้อนวิปริต พายุหลงฤดู บลาบลามากมาย แต่สุดท้ายทั้งหมดเกี่ยวพันกับโลกร้อนจริงหรือไม่? อย่างกรณีน้ำท่วมหลายครั้งในประเทศไทยก็อาจไม่ได้เกิดจากภาวะโลกร้อนหรือเปล่า?

3.ยากค้นพบสาเหตุ ตัวอย่างเช่น กรณีก่อการร้ายที่เกิดขึ้นทั่วทุกหัวระแหงในโลก สุดท้ายเราไม่สามารถสรุปได้จริงๆ ว่าทำไมการก่อการร้ายจึงเกิดขึ้น เกิดจากความเจ็บแค้นของฝ่ายก่อการร้ายจากการถูกกดขี่มายาวนาน? เกิดจากความต้องการ “ล้างสต๊อก” อาวุธของรัฐบาลบางประเทศ? หรือเกิดจากความต้องการสร้างสถานการณ์เพื่อหาเรื่องยึดครองแหล่งผลิตน้ำมัน? สาเหตุเหล่านี้ไม่มีหลักฐานใดๆ มาชี้ชัดได้อย่างจริงจัง

4.ควบคุมผลไม่ได้ ตัวอย่างเช่น การรั่วไหลของโรงปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่นหลังเกิดซึนามิ แม้แต่ทางการญี่ปุ่นเองก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเมื่อไหร่เมืองฟุกุชิมะจะกลับสู่ภาวะปกติ จำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาเหมือนเดิม ผลผลิตปลอดสารพิษร้อยเปอร์เซนต์

5.ขยายผลไปได้เรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว เช่น การแพร่กระจายของเชื้อไข้หวัดมรณะหลายซีรีส์ที่ทำให้ทั้งโลกต้องเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยและตรวจเชื้ออย่างจริงจัง

เมื่อคนลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับตัวเองและการปรับตัวของมาร์เกเตอร์

เมื่อความเสี่ยงล้อมตัวเราจนอึดอัดหายใจไม่ออก ผู้คนต่างเริ่มสงสัยว่า เอ… การพัฒนา ความทันสมัย และความสะดวกสบายจากเทคโนโลยีมันดีจริงๆ หรือ? เราจึงเห็นว่าจิตสำนึกของคนยุคปัจจุบันเริ่มเปลี่ยนไป เป็นคนมองโลกในแง่ร้าย พยายามดิ้นรนเอาตัวรอด และพร้อมโดดเข้าวงมาวิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆ อย่างเอาเป็นเอาตายมากขึ้น เพราะพวกเขาสงสัยในทุกสิ่งและเคลือบแคลงว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นสาเหตุของคุณภาพชีวิตที่ตกต่ำลงหรือไม่? ในกระแสตีกลับ หลายคนหวนกลับมาทบทวนตัวเอง ทบทวนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติว่าที่ผ่านมาฟุ่มเฟือยแค่ไหน ทบทวนการใช้ชีวิตว่าที่ผ่านมาใช้ชีวิตคุ้มค่าแค่ไหน (เพราะความเสี่ยงมากมายทำให้ไม่รู้เราจะตายวันตายพรุ่ง) ขณะที่หลายคนหวนหันกลับไปหาธรรมชาติ หาวันวานอันแสนสุข บูชาความเรียลสุดหัวใจ

แต่สุดท้าย ทุกคนก็ยังมองสังคมด้วยสายตาแห่งความหวัง (hope) โดยเชื่อว่าการจัดระเบียบสังคมใหม่ (social re-organisation)จะทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น เราจึงพบกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมมากมาย ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ด้านกฏหมาย ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดมนยุคนี้

เทรนด์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้เป็นวัตถุดิบชั้นยอดที่นักการตลาดสามารถนำมาประยุกต์สร้างสรรค์แคมเปญของคุณให้โดนใจผู้คนในยุค “สังคมความเสี่ยง” ได้มากมาย อาทิเช่น

1.การสะท้อนย้อนคิด

คนสมัยใหม่ครุ่นคิดถึงเรื่องของตัวเองมากขึ้น พวกเขาเฝ้าคิดว่าการเรียน การเดินทาง การใช้ชีวิต การกินอยู่ การเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ผ่านมามันดีหรือแย่อย่างไร มีอะไรที่พวกเขายังต้องการปรับเปลี่ยนหรือไม่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ธุรกิจ “เพื่อตัวเอง” จะโด่งดังมาก เช่น ฟิตเนส อาหารคลีน เครื่องสำอาง อาหารเสริม ตัวอย่างของโฆษณาที่น่าสนใจที่หยิบยกเอาคอนเซปต์สะท้อนย้อนคิดไปใช้ยกให้กับ Collect Your Magic Moments with Bangkok Airways ของ Bangkok Airways ซึ่งเป็นการสะท้อนย้อนคิดว่าการท่องเที่ยว การเดินทางเปิดโลก การได้รู้จักผู้คน แท้จริงแล้วก็คือการหวนกลับมารู้จักตัวเอง สร้างคุณค่าให้กับตัวตนที่แท้จริงภายใน

httpv://youtu.be/6oRlcxW5ERo

2.หวนซบอดีตอันแสนหวาน

โลกแห่งความเสี่ยงรอบกายช่างน่ากลัว ผู้คนจึงอยากหวนกลับไปหาอดีตแสนหวาน หาความทรงจำของโลกใบเก่าที่ทุกอย่างไม่ต้องแข่งขัน สายสัมพันธ์ครอบครัวแข็งแรง มีความรักความเอื้ออาทรถึงกัน อยากมีบ้านมีชีวิตที่เรียบง่ายและเงียบสงบ ธุรกิจโหยหาอดีตอย่าง “เพลินวาน” ที่พาเราย้อนกลับปาหอดีตเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่พิสูจน์ถึงคอนเซปต์นี้เช่นกัน สำหรับงานโฆษณายกให้ สงกรานต์นี้ ทุกความทรงจำจะกลับมา ของ KFC Thailand ซึ่งเป็นการเดินทางของชายหนุ่มกลับไปหาพ่อและอดีตแสนหวานของตัวเองอีกครั้งครับ

httpv://youtu.be/xsv5A9nGbsY

3.พลังน้อยๆ เปลี่ยนโลก

เมื่อทุกคนมองสังคมอย่างมีความหวัง พวกเขาก็อยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดระเบียบสังคมใหม่ (social re-organisation) ดังนั้น แคมเปญที่เชิญชวนให้พวกเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำดี ทำตัวเป็นประโยชน์ให้สังคม (แบบไม่ลำบากและยุ่งยากมาก) พร้อมเสริมภาพลักษณ์การเป็นคนน่าคบหาจึงเป็นเทรนด์ที่ไม่ควรมองข้าม ตัวอย่างคือ พลังดีเปลี่ยนโลก ของ Isuzu V-Cross Max 4X4

httpv://youtu.be/rjyYCAhiWqs

4.สังคมสุขภาพ

ผู้คนสมัยใหม่หันมาสนใจสุขภาพเนื่องจากการค้นพบโรคใหม่ๆ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทุกคนค้นพบว่าตัวเองมีความเสี่ยงเป็นมะเร็ง ไข้หวัดนก เชื้อเอดส์ ในวิถีทางที่คาดไม่ถึงแม้จะพยายามขจัดปัจจัยเสี่ยง ดังนั้น การหันมาใส่ใจสุขภาพและดูแลจากภายในจึงเป็นเทรนด์ของสังคมแห่งความเสี่ยงปัจจุบัน แน่นอนว่าเจ้าแห่งโฆษณาลักษณะนี้ต้องยกให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กับโฆษณา ลดพุงลดโรค ซึ่งให้ความรู้และเตือนถึงภัยที่มาจากโรคอ้วน

httpv://youtu.be/ahFyT1E_LnM?list=PL7D48CDEA1A6BC125

5.ความแน่นอนบนความเสี่ยง

ความเสี่ยงกับธุรกิจประกันภัยถือเป็นของคู่กัน แต่ปัจจุบันเมื่อทุกคนต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยง “การรับประกัน” จึงถือเป็นจุดขายให้แก่ธุรกิจได้ ความน่าเชื่อถือ ความรวดเร็วตรงต่อเวลา และความมีมาตรฐานถือเป็นจุดขายที่โปรโมตได้อย่างงาน โอเลี้ยง…เพื่อนที่จะอยู่กับคุณตลอดไป ของ KTB Growing Together ที่บอกคุณว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น น้องหมาข้างกายจะเป็นเพื่อนรักที่ไว้วางใจได้เสมอ

httpv://youtu.be/_TVCak69GZ4

แต่สุดท้าย คีย์หลักของโฆษณาในสังคมแห่งความเสี่ยงก็ยังเป็น “ความหวัง” ที่ต้องสร้างให้แก่ผู้บริโภค ให้ความรู้สึกว่าอนาคตไม่ได้เลวร้ายเกินกว่าที่เราจะใช้ชีวิต…ไม่อย่างนั้น แคมเปญของคุณก็คงหดหู่พิลึกใช่ไหมครับ 


  • 171
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง