เปิดมุมมอง “ไพโรจน์ ร้อยแก้ว” ผู้ปั้นตลาดนัดรถไฟ – จ๊อดแฟร์ “ตลาดกลางคืนฆ่าไม่ตาย ต่อให้ออนไลน์เข้ามา”

  • 1K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

เมื่อดวงอาทิตย์ค่อยๆ ลับขอบฟ้า แล้วแสงไฟจากร้านรวงต่างๆ ของ “ตลาดกลางคืน” สาดส่องแทนที่ พร้อมกับผู้คนเข้ามาเดินหนาตามากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นสีสันยามค่ำคืนของกรุงเทพฯ ที่ไม่เคยหลับใหล และปลุกให้เมืองหลวงแห่งนี้มีชีวิตชีวาอยู่เสมอ

ถ้าพูดถึง ตลาดกลางคืน” (Night Market) ในกรุงเทพฯ และย่านชานเมืองที่เป็นแหล่งช้อป ชิม ชิล เชื่อว่าหลายคนต้องนึกถึง “ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์” (Train Night Market) และอีกหนึ่งตลาดที่กำลังมาแรง คือ “จ๊อดแฟร์” (JODD FAIRS)

ตลาดกลางคืนทั้งสองแห่งไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ซื้อขายสินค้าระหว่างร้านค้ากับลูกค้าเท่านั้น แต่เป็น “คอมมูนิตี้” ของผู้คนได้มาพบปะ ได้ Hang out หาของกิน – ของช้อปถูกใจ ได้มาพักผ่อนหลังจากทำงานมาทั้งวัน

Marketing Oops! ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “คุณไพโรจน์ ร้อยแก้ว” ผู้ปลุกปั้นตลาดกลางคืน นับตั้งแต่ตลาดนัดรถไฟสวนจตุจักร จนมาถึงตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์, ตลาดนัดรถไฟรัชดา และล่าสุดกับจ๊อดแฟร์ (JODD FAIRS) ที่ปัจจุบันเป็น 1 ใน 5 สถานที่ยอดนิยมในกรุงเทพฯ ในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติชอบมามากที่สุด รวมทั้งยังมีอีก 2 โปรเจคใหม่คือ “จ๊อดแฟร์ รัชดา” กับ “จ๊อดแฟร์ แดนเนรมิต” ที่สวนสนุกแดนเนรมิตเก่า ถึงมุมมองการพัฒนาตลาดกลางคืนที่ผสาน “ศิลปะในการดำเนินธุรกิจ” ในทุกโครงการ ทำให้ไม่ว่าการซื้อขายออนไลน์จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้คนยุคนี้อย่างไร แต่ คุณไพโรจน์ ยังคงยืนยันว่า ” 

“เสน่ห์ตลาดกลางคืน ฆ่าไม่ตาย ต่อให้มีออนไลน์เข้ามาเบียดก็ตาม

Train Night Market-JODD FAIRS
คุณไพโรจน์ ร้อยแก้ว เจ้าของและผู้พัฒนาตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ และตลาดจ๊อดแฟร์

 

จาก “ตลาดนัดรถไฟจตุจักร สู่จ๊อดแฟร์” การเดินทาง 12 ปีที่ต้องใช้ความกล้า และแก้ปัญหาให้ไว!

จุดเริ่มต้นการมาพัฒนาตลาดนัดกลางคืนของ คุณไพโรจน์ เร่ิมเมื่อ 12 ปีที่แล้วด้วยการเช่าโกดังเก่าของการรถไฟ เพื่อสร้าง “ตลาดนัดรถไฟสวนจตุจักร” เป็นแหล่งรวมของเก่า ของสะสม สินค้ามือสองใหญ่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ เพราะความที่คุณไพโรจน์ เป็นนักสะสมและเปิดร้านขายสินค้า Antique ในชื่อ Rod’s Antique

“เริ่มต้นเราไม่ได้ต้องการเป็นเจ้าของตลาด เพียงแค่ให้มีร้านค้า หรือคนที่มาเช่าพื้นที่ เพื่อให้เรามีรายได้เท่านั้นเอง แต่พอทำไปทำมา เป็นรายได้ที่ดี ก็เลยทำให้เราทดลองทำ ทำจากไม่เป็น ลองถูกลองผิด และค่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ”

เมื่อตลาดนัดรถไฟสวนจตุจักรหมดสัญญาเช่า คุณไพโรจน์ได้ย้ายไปเช่าที่ดินที่ศรีนครินทร์ สร้างเป็น “ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์” ถือเป็นตลาดนัดกลางคืนขนาดใหญ่บนพื้นที่ 60 ไร่ มีทั้ง Indoor และ Outdoor ประกอบด้วยร้านค้าหลากหลาย ทั้งเฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้าน สินค้า Vintage ทั้งหลาย ถึงปัจจุบันเปิดดำเนินการมาแล้วเกือบ 10 ปี โดยเปิดเฉพาะวันพฤหัสบดี, ศุกร์, เสาร์,​ อาทิตย์

Train Night Market
ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ (Photo Credit: Facebook ตลาดนัดรถไฟ : Train Night Market)

ต่อมาได้ขยายแบรนด์ตลาดนัดรถไฟไปยังโลเคชั่นรัชดา ในชื่อ “ตลาดนัดรถไฟรัชดา” คอนเซ็ปต์ที่นี่ปรับเปลี่ยนให้แตกต่างจากศรีนครินทร์ตรงที่เน้น “ร้านอาหารแบบสตรีทฟู้ด” ด้วยความที่สัดส่วนร้านอาหารเยอะ มีให้เลือกหลากหลาย ทำให้ที่นี่เป็นที่รู้จักในกลุ่มชาวต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

จากนั้นได้ขยายไปที่เกษตร “ตลาดนัดรถไฟเกษตร-นวมินทร์” ทว่าทำได้สักพัก ที่นี่ไม่สามารถไปต่อได้ เลยต้องตัดสินใจปิดสาขานี้!

จนเมื่อเกิดสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ต้องล็อกดาวน์ และผู้คนลดการออกนอกบ้าน เป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของตลาดนัดรถไฟ กระทั่งในที่สุดต้องปิดฉากตลาดนัดรถไฟรัชดา แต่ท่ามกลางวิกฤตก็ยังมีโอกาส คุณไพโรจน์ ได้รับการติดต่อเข้ามาจากทาง GLAND เจ้าของที่ดินหลังเซ็นทรัลพระราม 9 นำไปสู่การเช่าที่ดินดังกล่าวด้วยสัญญา 2 ปี

JODD FAIRS
ตลาดจ๊อดแฟร์ พระราม 9 (Photo Credit: Facebook JODD FAIRS : จ๊อดแฟร์)

“ตอนนั้นยังคงมีตลาดนัดรถไฟรัชดา กับตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ กระทั่งช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา ทำให้เราต้องปิดตลาดนัดรถไฟรัชดาไป แต่ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ยังอยู่ ในช่วงเวลานั้น ทาง GLAND เจ้าของที่ดินตรงนี้ (หลังเซ็นทรัลพระราม 9) ได้ประสานงานเข้ามาสอบถามว่าสนในเช่าที่ดินตรงนี้ไหม อนนั้นช่วง COVID-19 ก็คิดจะทำ หรือไม่ทำดี เพราะว่ามีความเสี่ยงสูงพอสมควร

แต่ทาง GLAND เสนอราคาที่เราคิดว่าถ้าเราทำแล้วขาดทุน ก็ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่เราพอรับได้ ก็เลยคิดว่าลองทำดู โชคดีที่ GLAND คอยดูแลช่วยเหลือเราตลอด จนทำให้เกิดเป็น “จ๊อดแฟร์” (JODD FAIRS) ในปี 2564 จากตลาดนัดรถไฟที่ระเบียบอาจไม่เคร่งครัด มามีระบบเคร่งครัดที่จ๊อดแฟร์ ไม่ว่าจะรูปแบบร้านค้า ความสะอาด สาธารณูปโภคต่างๆ และเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น เช่น ที่นั่งอยู่รอบบริเวณพื้นที่โครงการ ทำให้สถานที่จุคนได้มาก”

สำหรับชื่อ “จ๊อดแฟร์” มาจากชื่อเล่นของคุณไพโรจน์ที่เรียกกันในหมู่เพื่อนๆ คนสนิทว่า “จ๊อด” มาตั้งเป็นชื่อตลาดกลางคืนแห่งนี้ ประกอบกับก่อนหน้านั้น คุณไพโรจน์ และภรรยาได้พัฒนาที่ดินของตัวเองที่เชียงใหม่ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ในชื่อ “ม่อนจ๊อด” ดังนั้นเมื่อมาทำตลาดกลางคืนบนถนนพระราม 9 จึงได้ใช้ชื่อ “จ๊อดแฟร์ (JODD FAIRS)

“เราคิดว่าถ้าจะไปใช้ชื่อตลาดนัดรถไฟอีก ก็จะดูว่าเดี๋ยวปิดอีกแล้ว เรากลัวจะเสียชื่อแบรนด์เรา จึงเปลี่ยนใหม่หมด ทั้งชื่อ โลโก้ แต่ก็เสี่ยง เพราะตอนแรกลูกค้าก็ไม่รู้ว่าจ๊อดแฟร์คืออะไร” 

Train Night Market-JODD FAIRS

แม้ในช่วงแรกคนยังไม่เข้าใจว่า “จ๊อดแฟร์” คืออะไร และอัตราการจองพื้นที่ยังไม่เต็ม โดยอยู่ที่ 70% แต่เมื่อผ่านไปสักพัก ด้วยสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านตามปกติ และการเปิดประเทศ บวกกับคอนเซ็ปต์ของจ๊อดแฟร์ ออกแบบให้เหมือน Carnival โดยร้านที่เช่าพื้นที่ ต้องมีเอกลักษณ์ และมีการตกแต่งร้านให้สอดคล้องกับสถานที่

ถึงปัจจุบันจ๊อดแฟร์ มีร้านค้ากว่า 700 – 800 ร้าน โดย 70% ของร้านค้าเป็นร้านอาหาร และล่าสุดได้เปิดจองล็อคโซนใหม่อีก 400 ร้านค้า ด้วยโลเคชั่น,​ คอนเซ็ปต์และการตกแตงสถานที่, ร้านค้า, การจัดเตรียมที่นั่งในโครงการ, สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ และพลังของ Social Media

ทำให้ทุกวันนี้ “จ๊อดแฟร์” กลายเป็นที่รู้จัก และได้รับความนิยม จนเป็นหนึ่งใน Destination สุดฮิตของทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยติด 1 ใน 5 สถานที่ที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ที่ชาวต่างชาติชอบไปมากที่สุด จากผลสำรวจของ Grab Travel Insight 2022

JODD FAIRS
ตลาดจ๊อดแฟร์ พระราม 9 (Photo Credit: Facebook JODD FAIRS : จ๊อดแฟร์)

“สิ่งที่ทำให้เราตัดสินใจทำจ๊อดแฟร์ ตอนนั้นเรื่องราคาดีลเช่าที่ดินตรงนี้ส่วนหนึ่ง และเราไม่เคยทำตลาดนัดระยะสั้น สัญญาเช่า 2 ปี ซึ่ง COVID-19 ทำให้เราเปลี่ยนความคิดว่าเราลองชกสั้นๆ ดูสิว่าจะเป็นอย่างไร ผมว่าใช้ความกล้ามากๆ เลยตอนนั้น  

แนวคิดผมคือ ถึงอย่างไรคนก็ต้องออกจากบ้าน ไม่มีใครอุดอู้อยู่แต่ในบ้านตลอดเวลา เพียงแต่ว่าเราจะเป็นคนแรกที่เดินออกมา หรือว่าเราจะเป็นคนที่ 2 – 3 ผมเลือกจะเป็น “คนแรก” ที่เปิดตลาดก่อนใคร จากตอนช่วง COVID-19 ปิดหมดเลย

วันที่เราเปิดโครงการจ๊อดแฟร์ เปรียบเสมือนเราจุดพลุในที่ๆ เงียบหมด ทุกคนเงียบหมด ไม่มีใครกล้าทำตลาด แต่เราเปิดท่ามกลาง COVID-19 เสียงดัง คนได้ยินหมด พอดัง ก็ดังไปทั่วสารทิศ และแสงสีเสียงที่อยู่ในที่มืด คุณก็จะเห็นชัดหมด ความสวยงามมันชัดเจนมากเลย เท่ากับในเวลานั้น มีเราคนเดียว ซึ่งเป็นเครื่องการันตีว่าเราก็เจ๋งกว่าเดิมนะ”

คุณไพโรจน์ บอกว่าตลอด 12 ปีที่ผ่านมาของการทำตลาดกลางคืน เป็นการเรียนรู้แบบ Learning by doing โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องแก้ปัญหาให้ไว ทันท่วงที ปรับเปลี่ยนให้เก่ง กล้าทิ้งในสิ่งที่ไม่จำเป็น และกล้าจ่ายในสิ่งที่ควรจะได้มา พร้อมทั้งเรียนรู้ไปกับร้านค้า เมื่อร้านค้ามีความสุข เราก็อยู่ได้

MON JODD
ม่อนจ๊อด เชียงใหม่ (Photo Credit: Facebook ม่อนจ๊อด : MON JODD)

 

“โลเคชั่น” หัวใจตลาดนัด-ตลาดกลางคืน ดึงคนมากิน-เที่ยวช้อป ประสบการณ์ที่ออนไลน์แทนกันไม่ได้

เป็นที่ทราบกันดีว่าแพลตฟอร์มดิจิทัลข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน และเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คนให้ต้องการความสะดวก และความรวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะการซื้อขายออนไลน์ทั้งหลาย ยิ่งการเกิด COVID-19 เป็นตัวเร่งให้ผู้บริโภค และผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบเร็วขึ้น

เมื่อมองกลับมายัง Physical Retail อย่าง ตลาดนัด ตลาดกลางคืน” ซึ่งได้รับผลกระทบในช่วง COVID-19 อีกทั้งในยุคที่ทุกอย่างสามารถสั่งซื้อ หรือใช้บริการได้ง่ายๆ และสะดวกผ่านช่องทางออนไลน์ กลายเป็นอีกความท้าทายหนึ่งของธุรกิจ Physical Retail เช่นกัน

ดังนั้นการดำรงอยู่ของตลาดนัด – ตลาดกลางคืนให้ยังคงเติบโตในระยะยาวได้นั้น หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่การอยู่บน “โลเคชั่น” ที่มีศักยภาพสูง เดินทางสะดวก ผสมผสานกับคอนเซ็ปต์ของโครการ ร้านค้า สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงการครีเอทกิจกรรม สิ่งเหล่านี้จะเป็น Magnet ดึงคนมากิน-เที่ยว-ช้อป และใช้เวลาอยู่กับสถานที่นั้นๆ

Train Night Market
ตลาดนัดรถไฟศรีนครินทร์ (Photo Credit: Facebook ตลาดนัดรถไฟ : Train Night Market)

“การทำตลาดนัด หรือตลาดกลางคืน ถ้าเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่ผ่านมา กับปัจจุบัน ปัจจัยอาจต่างกันบางปัจจัย อย่างแต่ก่อนนี้ ช่วงที่เราทำเกือบ 10 ปีที่แล้ว ยังไม่มีการค้าขายออนไลน์มากอย่างทุกวันนี้ ดังนั้นไม่ว่าออฟไลน์จะอยู่ที่ไหน ตลาดอยู่ที่ไหน ขอให้สถานที่นั้นออกแบบให้สวยงาม ทำให้คนที่มารู้สึกเท่ คนก็จะมา

แต่หลังจากออนไลน์เข้ามามีบทบาทสำคัญ มีอิทธิพลมากในวงการตลาด ไม่ว่าจะตลาดกลางคืน หรือไม่กลางคืนก็แล้วแต่ คนหันไปใช้บริการออนไลน์มากขึ้น ทำให้ตลาดออฟไลน์ตกลง และหลังจากออนไลน์เข้ามาสักพัก ก็มี COVID-19 ก็ยิ่งทำให้ตลาดออฟไลน์ ซบเซาหมดเลย และส่วนใหญ่ปิดตัวกันหมด รอวันที่จะกลับมาเปิด  

เพราะฉะนั้นในปัจจุบันที่มีออนไลน์เข้ามาเบียดตลาดออฟไลน์แบบนี้ ผมว่าต้องหา “โลเคชั่นที่ดี” มาก่อน เพราะถ้าโลเคชั่นไม่ดี ไกล ก็ไม่มีใครอยากเดินทางไป สั่งออนไลน์ดีกว่า แต่ถ้าโลเคชั่นอยู่ในเมือง ใกล้ที่ทำงาน นั่งรถไฟฟ้าถึง หรือมีที่จอดรถสะดวก มีของกินเยอะ ผมว่าตลาดออฟไลน์ อย่างไรคนก็ยังมีความต้องการอยู่ เพราะคงไม่มีใครอยากสั่งอาหารมากินอยู่ในห้องทุกวัน  

รวมทั้งตลาดกลางคืนยังมีเสน่ห์ เป็นเวลาที่ทุกคน relax จากการทำงาน ผมว่าเสน่ห์ตลาดกลางคืน ฆ่าไม่ตายต่อให้มีออนไลน์เข้ามาเบียดก็ตาม แต่ต้องมีโลเคชั่นที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญ ยิ่งหลัง COVID-19 คนจะหนีการอยู่ในห้องแอร์ มาอยู่ Outdoor มากขึ้น เกิดเป็นความเคยชินใหม่ พอปลดล็อกดาวน์ จึงยิ่งทำให้ตลาดออฟไลน์ ตลาดกลางคืนคึกคัก” คุณไพโรจน์ ขยายความเพิ่มเติมถึงความสำคัญของโลเคชั่น

ไม่เพียงแค่นี้องค์ประกอบด้านร้านค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงคนด้วยเช่นกัน โดยโครงการ “จ๊อดแฟร์” เลือกร้านค้าที่มีเอกลักษณ์ และออกแบบตกแต่งร้านให้สวยงาม สอดคล้องกับสถานที่ รวมทั้งจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้พร้อมรองรับคนที่มาใช้บริการ

“เราเลือกร้านค้าที่ค่อนข้างมีคาแรคเตอร์ เขาต้องอยู่ได้ด้วยตัวเขา มาผสมผสานกับจุดเด่นของโครงการ ซึ่งเราเป็นเหมือนจักรวาลสำหรับร้านค้า ขณะที่ร้านค้าก็เป็นเหมือนดาวที่ปรากฏแสงอยู่ในจักรวาลของเรา ร้านค้าสวย เราก็สวย เราทำการตลาด ดูแลร้านค้าดี ให้พื้นที่ดี ร้านค้าก็ขายดี”

JODD FAIRS
Photo Credit: Facebook JODD FAIRS : จ๊อดแฟร์

 

“ศิลปะการดำเนินธุรกิจ + เทคโนโลยี”​ สูตรพัฒนาสถานที่ให้ปัง!

นอกจากโลเคชั่น เป็นหัวใจสำคัญลำดับแรกๆ ของโครงการตลาดนัด-ตลาดกลางคืนแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งที่ คุณไพโรจน์ บอกกับ Marketing Oops! ว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการพัฒนาสถานที่คือ “ศิลปะในการดำเนินธุรกิจ” ที่อยู่ในทุกๆ องค์ประกอบที่รวมอยู่ในโครงการนั้นๆ เช่น ร้านแต่งสวย ป้ายร้าน การเลือกภาชนะใส่อาหาร-เครื่องดื่ม การตกแต่งจาน หน้าตาอาหาร ไปจนถึงการบรรยากาศของสถานที่ ฯลฯ

คุณไพโรจน์ ยกตัวอย่างโครงการจ๊อดแฟร์ในปัจจุบันว่า ที่นี่เป็น New & Old Community คือ คนรุ่นใหม่กับรุ่นเก่าผสมผสานกัน อย่างร้านค้าที่มาเปิด เป็นคนรุ่นใหม่ดำเนินธุรกิจ ทุกคนมีคาแรคเตอร์ของตัวเอง และทางโครงการให้อิสระทางความคิด โดยที่ให้ยังอยู่ในคอนเซ็ปต์ของจ๊อดแฟร์ เนื่องจากต้องการให้ทุกคนได้ร่วมกันครีเอท

“ต้องใช้ศิลปะในการดำเนินธุรกิจ ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไปแล้ว ปัจจุบันเป็นยุค Camera eat first ต้องถ่ายรูปได้ อาหารจะอร่อยอย่างเดียว อาจไม่พอ ต้องมีรูปร่างหน้าตาสวยด้วย ถ่ายรูปลง Instagram สวยๆ ทำให้ใครเห็นก็อยากลองกิน เพราะถ้าแพ็คเกจสวย จะช่วยดึงความสนใจของคน

อย่างทุกวันนี้ทุกคนใช้โทรศัพท์อยู่แล้ว แค่ดู Pinterest บ่อยๆ คุณจะเกิดภาพจำ ทำไมร้านนี้ ร้านนั้นสวยจัง ร้านค้าก็สามารถเอามาปรับใช้ เช่น จากเดิมเราขายผัดไท ใส่จานธรรมดา อาจเปลี่ยนไปใส่ใบตองห่อ ใช้เชือกกล้วยผูก หรือเอาใส่เข่งปลาทูก็ได้ และถ่ายรูปสวยๆ

อีกอย่างหนึ่งคือ ต้องทันเทคโนโลยี ฝึกการถ่ายรูปด้วยโทรศัพท์ และทุกวันนี้มีแอปพลิเคชันให้เลือกใช้ การนำเทคโนโลยีมาใช้กับธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ จะเป็นระบบ Analog อย่างเดียวไม่ได้แล้ว เช่น คุณยายทำผัดไทอร่อย ก็ให้ลูกหลานถ่าย YouTube ทำคอนเทนต์ดีๆ ทำให้ร้านเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทุกวันนี้เทคโนโลยีช่วยเราได้ค่อนข้างมาก”

Train Night Market-JODD FAIRS

 

“จ๊อดแฟร์ รัชดา – จ๊อดแฟร์ แดนเนรมิต” สองโปรเจคใหญ่ตอกย้ำความแข็งแกร่งแบรนด์ “จ๊อดแฟร์” เล็งโกอินเตอร์

ภายใต้ธุรกิจตลาดกลางคืนที่คุณไพโรจน์ดูแลและบริหาร ประกอบด้วย 2 แบรนด์คือ

ตลาดนัดรถไฟ ปัจจุบันมี 1 สาขาคือ ศรีนครินทร์ สัญญาเช่าที่ดิน 15 ปี เหลืออีก 7 ปี ต่อไปจะมีรถไฟฟ้าผ่าน ทางโครงการฯ มองว่าจะเพิ่ม Traffic คนมาเดินมากขึ้น และด้วยความที่สถานที่มีขนาดใหญ่ 60 ไร่ จึงสามารถจัดกิจกรรม และอีเว้นท์ได้บ่อย อย่างล่าสุดเพิ่งจัดงาน Bangkok VW รวมรถโฟล์คสวาเกน ช่วยดึงคนเข้ามาเดิน มาเที่ยว มาช้อป ทำให้ยอดขายของร้านค้าต่างๆ เพิ่มขึ้น

จ๊อดแฟร์ ปัจจุบันอยู่หลังเซ็นทรัลพระราม 9 ระยะเวลาสัญญา 2 ปี จะสิ้นสุดในเดือนธันวาคม 2566 จากนั้นจะย้ายไปอยู่ในโครงการ Mixed-use ของวีรีเทล (We Retail) ในกลุ่มพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค บนพื้นที่กว่า 13 ไร่ ริมถนนรัชดาภิเศษ ติด MRT ศูนย์วัฒนธรรมฯ ประกอบด้วยอาคารสำนักงาน และพื้นที่รีเทล ทั้งในอาคารและกลางแจ้ง (Indoor & Outdoor) มูลค่าโครงการ 7,000 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จปี 2567

We Retail-JODD FAIRS
Photo Credit: Property Perfect

ในส่วนพื้นที่รีเทล คุณไพโรจน์​ พร้อมด้วยทีมงาน จะมาเป็นผู้บริหารพื้นที่รีเทลทั้งหมด ระยะสัญญา 20 ปี ภายใต้ชื่อ “จ๊อดแฟร์ รัชดา” ประกอบด้วยพื้นที่ภายในอาคาร ขนาด 25,000 ตารางเมตร มีร้านค้ารวมกว่า 900 ร้าน ประกอบด้วยชั้น G เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง และชั้น 1 – 2 – 3

แนวคิดหลักของการออกแบบส่วน Indoor ใช้สถาปัตยกรรมเป็นเครื่องบ่งชี้ความแตกต่าง สร้างภาพจำให้กับลูกค้าและผู้ที่มาใช้บริการให้เห็นและจดจำได้แม้เห็นเพียงแค่ครั้งเดียว เป็นการนำเอาสถาปัตยกรรมเก่าๆ กึ่งโรงงานเข้ามาใช้ และนำแฟชั่นสมัยใหม่เข้ามาผสมผสานกัน ร้านค้าภายในตัวอาคาร จะถูกแบ่งออกเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมสำหรับร้านค้าในหลายๆ ประเภท ไม่ว่าจะเป็นแนว วินเทจ แฟชั่น, สตรีท แฟชั่น, อาหาร เฟอร์นิเจอร์ ดนตรี งานศิลปะ งานคราฟต์

นอกจากกนี้ยังมีพื้นที่กลางแจ้งหน้าอาคาร 5.6 ไร่  เป็นไนท์มาร์เก็ตแห่งใหม่ รวมประมาณ 800 ร้าน จะใช้รูปแบบของ “จ๊อดแฟร์ เดิมเป็นหลัก และจะเพิ่มเติมในส่วนอื่นๆ อีกหลากหลาย โดยยังคงคอนเซ็ปต์ไนท์มาร์เก็ตที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในแบบของจ๊อดแฟร์ เพื่อให้โดนใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งจะมีทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ (New & Old Community)

“เมื่อจ๊อดแฟร์ รัชดาสร้างเสร็จ และเปิดให้บริการ จะเป็น Best Destination ของกรุงเทพฯ ใครมากรุงเทพฯ มาประเทศไทย ต้องมาที่นี่ เรามีทั้งชั้นใต้ดิน (ชั้น G) เปิด 24 ชั่วโมง มีชั้น 1 – 2 – 3 สำหรับขายสินค้าทั่วไป และอาหาร มี Rooftop สำหรับจัดอีเว้นท์ และมี Outdoor Market

JODD FAIRS Ratchada
จ๊อดแฟร์ รัชดา เร่ิมเปิดให้ผู้ประกอบการร้านค้าจองพื้นที่ (Photo Credit: Facebook JODD FAIRS : จ๊อดแฟร์)

ไม่เพียงเท่านี้ ยังเตรียมเปิด “จ๊อดแฟร์ แดนเนรมิต” (สวนสนุกแดนเนรมิตเก่า) พลิกฟื้นที่ดินที่เป็นตำนานสวนสนุกของเมืองไทยที่ยังคงอยู่ในความทรงจำของใครหลายคนให้กลับมามีสีสัน มีชีวิตชีวา และเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กสถานที่ท่องเที่ยวของกรุงเทพฯ

“เร็วๆ นี้เราจะเปิดจ๊อดแฟร์ที่แดนเนรมิต บนพื้นที่ 33 ไร่ พอดีทางผู้ใหญ่ให้ความอนุเคราะห์ให้เราเช่าที่ดิน แต่คอนเซ็ปต์แตกต่างกับจ๊อดแฟร์ รัชดา เราจะทำที่แดนเนรมิตให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว และถ่ายรูป คล้ายกับ “ม่อนจ๊อด” (MON JODD) สถานที่ท่องเที่ยวที่เชียงใหม่ที่เราพัฒนาขึ้น ยกมาอยู่ที่แดนเนรมิต

จ๊อดแฟร์ ที่แดนเนรมิตจะพัฒนาเต็มพื้นที่ โดยเรายังคงเก็บรักษาตัวปราสาทดั้งเดิมไว้อยู่ และคุณอาจจะได้เห็นเรือใบในกรุงเทพฯ ก็ได้ รวมทั้งเราจัดเตรียมที่จอดรถด้วย

ถ้าเปรียบเทียบ “จ๊อดแฟร์ รัชดา” จะเป็นสไตล์อังกฤษ แมนๆ เท่ๆ ขณะที่ “จ๊อดแฟร์ ที่แดนเนรมิต” เป็นผู้หญิง โรแมนติแบบฝรั่งเศส” คุณไพโรจน์ เล่ารายละเอียด

JODD FAIRS-Dan neramit
ปราสาทเทพนิยายในสวนสนุกแดนเนรมิตเก่า ที่ยังคงเก็บรักษาไว้

จะเห็นได้ว่านอกจากแบรนด์ “ตลาดนัดรถไฟ” ตลาดนัดกลางคืนที่อยู่มานาน และเป็นที่รู้จักแล้ว ในส่วนของแบรนด์ “จ๊อดแฟร์” ถือเป็นดาวรุ่งกำลังมาแรง และมีศักยภาพในการขยายไปยังสถานที่ต่างๆ ในทำเลศักยภาพสูงได้

“ชื่อจ๊อดแฟร์ มันไม่ตายตัวเหมือนตลาดนัดรถไฟ แต่เป็นชื่อที่ไปที่ไหนก็ได้กับโลเคชั่นที่ดี จริงๆ มีต่างชาติสนใจแบรนด์จ๊อดแฟร์เยอะ เรามีโครงการจะไปเปิดต่างประเทศ ไม่ที่มาเลเซีย ก็สิงคโปร์ และเราอยากไปทำที่อเมริกาด้วย แต่ว่าตอนนี้เราติดงานที่นี่อยู่ ถ้ามันดี เราจะขยายไปเรื่อยๆ จ๊อดแฟร์ไปที่ไหนก็ได้ แล้วแต่ความอนุเคราะห์ของ Landlord ที่เห็นว่าเราทำได้”

JODD FAIRS-Dan neramit
เร็วๆ นี้เตรียมพบกับจ๊อดแฟร์ แดนเนรมิต

 

“ตลาดกลางคืน” ไม่มีวันตาย!

ในยุค Post COVID-19 ผู้คนอยากออกมาใช้ชีวิตนอกบ้าน และทำกิจกรรม Outdoor มากขึ้น ทำให้ตลาดกลางคืนกลับมาคึกคัก เปิดรับทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

“เสน่ห์ตลาดกลางคืนเมืองไทย ไม่มีวันตาย ยังอยู่ไปอีกหลายชั่วคน เหมือนเสน่ห์เยาวราชยามค่ำคืน แสง ป้ายไฟต่างๆ สวย แค่ขับรถผ่าน ถ่ายรูปก็สวยแล้ว และบ้านเราเมืองร้อนด้วย เหมาะกับการทำตลาดกลางคืน ถึงอย่างไรตลาดกลางคืนก็ไม่มีวัยตาย” คุณไพโรจน์ สรุปทิ้งท้าย

Train Night Market-JODD FAIRS

 


  • 1K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ