How to เตรียมบ้านให้พร้อมก่อนเป็นเจ้าของรถ EV

  • 232
  •  
  •  
  •  
  •  

ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลว่ารถไฟฟ้าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่น่ามีไว้ครอบครอง หรือจะเป็นเรื่องของการไม่ต้องใช้น้ำมัน และประหยัดค่าบำรุงรักษามากกว่ารยถยนต์สันดาบ เรื่อยไปจนถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม จนหลายๆคนเตรียมตัวที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเป็นยานพาหนะคันต่อไป

แน่นอนว่านอกจากเกณฑ์ต่างๆในการซื้อรถไฟฟ้าที่ทุกคนต้องรู้แล้วซื้อสามารถย้อนกลับไปอ่านได้ที่บทความ (How to เลือกซื้ออย่างไรเพื่อให้ได้ EV ที่ต้องกับความต้องการผ่าน 4 ปัจจัยหลัก) เมื่อเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะกับเราได้แล้วสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยก็คือการเตรียมที่พักอาศัยของเราให้พร้อมสำหรับการมีรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้านนั่นเอง

ตรวจสอบกำลังไฟ

สิ่งแรกที่เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องเตรียมความพร้อมเอาไว้ก็คือเรื่องของ “กำลังไฟ” ของบ้านเรานั้นเพียงพอกับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าหรือไม่ ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำก็คือสังเกตที่ “มิเตอร์ไฟฟ้า” ของบ้านเราว่ามีกำลังไฟเท่าไหร่ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแบบ “1 เฟส” (Single-Phase 5(15)A หรือ Single-Phase 15(45)A ) ที่เป็นกำลังไฟที่ไม่เพียงพอสำหรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้าน

เปลี่ยนมิเตอร์เป็น TOU ยิ่งช่วยประหยัด

มาตรฐานขนาดมิเตอร์ที่ทางการไฟฟ้าฯแนะนำสำหรับบ้านที่มีรถยนต์ไฟฟ้า EV คือแบบ “3 เฟส” (Single-Phase 30(100)A หรือ 3-Phase 15(45)A) โดยมีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนมิเตอร์อยู่ที่ราว 700 บาทซึ่งสามารถติดต่อกับการไฟฟ้าพื้นที่ได้เลย

นอกจากนี้เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่ผู้ใช้งานจะชาร์จในเวลากลางคืนอีกหนึ่งข้อแนะนำก็คือควรที่จะเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นแบบ TOU (Time Of Use) จะเป็นมิเตอร์ที่คิดค่าไฟในช่วงที่คนใช้ไฟฟ้าน้อย Off peakในราคาที่ถูกลงมาก โดยปัจจุบันเวลา Off peak กำหนดไว้ในเวลา 22.00-08.59น.วันจันทร์-ศุกร์ และวันเสาร์อาทิตย์ วันแรงงานแห่งชาติ

นั่นหมายความว่าบ้านไหนส่วนใหญ่ใช้ไฟฟ้าในเวลากลางคืนมากๆ รวมไปถึงมีรถยนต์ไฟฟ้าที่ชาร์จที่บ้านในช่วงกลางคืน ก็จะสามารถช่วยประหยัดค่าไฟไปได้มากด้วยเช่นกัน

สายเมน และ MCB

สายไฟ และ Main Circuit Breaker (MCB) เป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนหลังจากที่เราเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าเป็นแบบ 3 เฟสแล้วเพื่อรองรับกำลังไฟที่มากขึ้น โดยสายเมนจากเดิมจะเป็นขนาด 16 ตร.มม. จะต้องปรับให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 25 ตร.มม. ขณะที่ MCB หรือที่เรียกกันว่าลูกเซอร์กิต ก็ต้องเปลี่ยนให้สอดคล้องกันด้วยเช่นกันซึ่งทั้งสองสิ่งนี้เป็นสิ่งที่การไฟฟ้าจะให้คำแนะนำอยู่แล้ว

นอกจากนี้แล้วก็ควรจะตรวจสอบตู้ควบคุมไฟฟ้า (MDB) ของบ้านเราด้วยว่ามีพื้นที่เหลือให้ติดตั้ง Circuit Breaker อีก 1 ช่องรึเปล่า? เพราะการชาร์จไฟของรถยนต์ไฟฟ้า จะต้องติดตั้ง Circuit Breaker เพิ่มแยกใช้งานกับเครื่องไฟฟ้าอื่นๆ แต่ถ้าไม่มีที่เหลือก็สามารถติดตั้งตู้ควบคุมย่อยแยกต่างหากได้เช่นกัน

เครื่องตัดไฟรั่ว (RDC)

เครื่องตัดไฟรั่ว (Residual Current Device) ทำหน้าที่ตรวจจับไฟฟ้ารั่ว ไม่ว่าจะกรณีฟ้าเผ่า ใช้ไฟเกิน หรือมีเหตุไฟดูด หรืออุปกรณ์เก่าและมีไฟรั่ว เจ้า RCD จะทำหน้าที่ตัดวงจร เมื่อมีค่ากระแสไฟฟ้าไหลเข้า-ออกไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นสาเหตุที่อาจจะทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรือไฟไหม้ได้

ดังนั้นสำหรับใครที่ยังไม่ได้ติดตั้ง EV Chager ที่ส่วนใหญ่จะมีระบบตัดไฟรั่วติดตั้งมาในตัวอยู่แล้ว และจะเสียบชาร์จผ่านเต้ารับด้วยสายชาร์จพกพาไปก่อน จะต้องเดินวงจรไฟฟ้าสำหรับเต้ารับตัวนั้นโดยเฉพาะสำหรับชาร์จรถไฟฟ้า และมี RDC ติดตั้งเพื่อความปลอดภัย และสิ่งที่ต้องระวังก็คือไม่ควรนำสายชาร์จแบบพกพาเสียบเข้ากับเต้ารับเดิมที่มีอยู่แล้วเนื่องจากอาจเกิดอันตรายได้

ตำแหน่งของพอร์ตชาร์จ

รถยนต์ไฟฟ้าแต่ละแบรนด์จะมีตำแหน่งของพอร์ตเสียบชาร์จที่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นด้านซ้าย ด้านขวา หรือด้านหน้า ดังนั้นตำแหน่งของพอร์ตชาร์จจึงมีผลกับการพิจารณาจุดตั้งตั้ง EV Charger ที่บ้านของเราด้วย เช่นเดียวกันกับนิสัยในการจอดรถยนต์ในช่องจอดว่าชอบที่จะจอดแบบเดินหน้าเข้าหรือถอยหลังเข้าก็ควรนำมาคิดด้วยเช่นกันเพื่อความสะดวกของผู้ใช้รถ

นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาถึงระยะระหว่างพอร์ตชาร์จที่ตัวรถกับ EV Charger ที่ไม่ควรเกิน 5 เมตรเนื่องจากสายชาร์จของ EV Charger โดยทั่วไปจะยาว 5-7 เมตรเท่านั้น ส่วนตำแหน่งของ EV Charger ก็ไม่ควรไกลจากตู้เมนไฟฟ้าของบ้านมากนักเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินสายไฟ

ชนิดของพอร์ตชาร์จ

เนื่องจากแต่ละแบรนด์จะมีพอร์ตชาร์จที่แตกต่างกันไป เช่นเดียวกับรถยนต์น้ำมันที่ผู้ขับขี่ต้องรู้ว่าต้องเติมน้ำมันแบบไหน สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะมีพอร์ตชาร์จให้มา 2 แบบคือ Type 2 สำหรับการชาร์จไฟกระแสสลับหรือ AC สำหรับชาร์จตามบ้านที่เป็นมาตรฐานของประเทศไทย และอีกแบบคือ CCS Combo 2 หรือ CCS2 ที่จะใช้ชาร์จไฟกระแสตรงสำหรับการชาร์จเร็วในตู้สาธารณะที่มีกำลังไฟ 50kW ขึ้นไป อย่างไรก็ตามโดยส่วนใหญ่แล้วรถยนต์ไฟฟ้าที่ขายในประเทศไทยจะมีหัวชาร์จแบบ Type 2 มาให้ทุกรุ่นอยู่แล้ว ดังนั้นการพิจารณาติดตั้ง EV Charger ก็ต้องพิจารณาชนิดของพอร์ตชาร์จรถยนต์ EV ของเราด้วยเช่นกัน

กำลังไฟที่รถของเรารับได้

สิ่งสำคัญอีกสิ่งที่ต้องรู้ก็คือการชาร์จแบบ AC ที่บ้านนั้นจะเป็นการแปลงไฟฟ้ากระแสสลับมาเป็นกระแสตรงผ่าน On Board Charger ของตัวรถ ดังนั้นก็ควรที่จะต้องดูที่รถแต่ละรุ่นว่ามีขนาดเท่าใดเพื่อที่จะเลือกกำลังไฟให้เหมาะสม

สำหรับ EV Charger โดยทั่วไป On Board Charger จะมีขนาดตั้งแต่ 3.6kW ถึง 22kW ดังนั้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อ EV Charger ที่มีจ่ายกำลังไฟเกินกว่าที่ตัว On Board Charger ของรถโดยไม่จำเป็น ยกเว้นว่าจะติดตั้งเพื่อรองรับการเปลี่ยนไปใช้รถที่รับกำลังไฟสูงในอนาคต

EV Charger

เครดิตสำหรับบทความข่าว: Susan Edmondson / Shutterstock.com

หลังจากพิจารณากำลังไฟของ On Board Charger ที่ตัวรถแล้ว หากทางแบรนด์ไม่ได้แถม Charger มาให้ หรือเราอยากจะหาซื้อ EV Chager เองเราก็ต้องเลือกซื้อ EV Charger ที่มีกำลังไฟสอดคล้องกันกับตัวรถ โดยตามมาตรฐานแล้วในตลาดจะมีให้เลือกซื้อ 4 ขนาดคือ 3.7kW, 7.4kW, 11kW และ 22kW มีราคาหลากหลายตั้งแต่ 15,000 บาทไปถึงหลักแสนกว่าบาทก็มีซึ่งกำลังไฟของ EV Charger ก็จะส่งผลในเรื่องของความเร็วในการชาร์จยิ่งกำลังไฟมากก็จะยิ่งชาร์จได้เร็วมากขึ้นนั่นเอง

ทั้งหมดนี้คือ Check List สำหรับคนที่กำลังคิดจะซื้อรถยนต์ EV ต้องเตรียมพร้อมเอาไว้เพื่อใช้รถยต์ EV ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงเพื่อความปลอดภัยด้วยเนื่องจากรถยนต์ EV ก็เปรียบเสมือนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้กำลังไฟมากอีกชิ้นหนึ่งในบ้าน และจำเป็นที่จะต้องใช้อย่างระมัดระวังเช่นกัน


  • 232
  •  
  •  
  •  
  •