3 เหตุผล “แอร์ แคนาดา” เปิดเส้นทางบินตรง “แวนคูเวอร์ – กรุงเทพฯ” ใช้เวลา 13 ชั่วโมง – รับท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก

  • 115
  •  
  •  
  •  
  •  

Air Canada Boeing 787

วันที่ 3 ธันวาคมของประเทศไทย “สายการบินแอร์​ แคนาดา” (AIR CANADA)ที่ยวบินที่ AC65 จากท่าอากาศยานนานาชาติแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ลงจอดที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ถือเป็นเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของการเปิดให้บริการเส้นทางบินตรงจากทวีปอเมริกาเหนือ สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรกของแอร์ แคนาดา

การเปิดให้บริการเส้นทางบินตรงจากแวนคูเวอร์ – กรุงเทพฯ และจากกรุงเทพฯ – แวนคูเวอร์ ใช้เวลาบิน 13 ชั่วโมง ไม่ต้องต่อเครื่อง โดยให้บริการตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2022 – 26 มีนาคม 2023 ด้วยเครื่องบิน Boeing 787

– เที่ยวบิน AC65 จากแวนคูเวอร์ – กรุงเทพฯ ให้บริการในวันจันทร์, พุธ, ศุกร์, อาทิตย์

– เที่ยวบิน AC66 กรุงเทพฯ – แวนคูเวอร์ ให้บริการในวันอังคาร, พุธ, ศุกร์, อาทิตย์

เพื่อตอบรับซีซั่นการท่องเที่ยว และทดลองตลาด หากได้การตอบรับที่ดี “แอร์ แคนาดา” ก็มีแผนขยายการให้บริการเที่ยวบินทุกวัน เพื่อรองรับ demand การเดินทางที่เพิ่มขึ้น

Air Canada Boeing 787

 

3 เหตุผล “แอร์ แคนาดา” เปิดเส้นทางบินตรงแวนคูเวอร์ กรุงเทพฯ

เหตุผลที่ “แอร์ แคนาดา” สายการบินใหญ่ที่สุดของแคนาดา ตัดสินใจให้บริการเส้นทางบินตรงจากแวนคูเวอร์ – กรุงเทพฯ และจากกรุงเทพฯ – แวนคูเวอร์ ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลักคือ

1. “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” เป็นตลาดสำคัญที่มีศักยภาพการเติบโต และ “ไทย” เป็นหนึ่งใน Destination ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพสำหรับ “แอร์ แคนาดา” เนื่องจากมีกลุ่มหลักคือ กลุ่ม VFR (Visit Friend & Relatives) เดินทางมาเยี่ยมเพื่อน หรือครอบครัว และกลุ่มนักเรียนที่ศึกษาต่อแคนาดา

การเปิดเส้นทางบินตรงจากทวีปอเมริกาเหนือ สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นเพียงเส้นทางบินตรงเส้นทางเดียวที่จะเชื่อมระหว่างสองทวีปให้เข้าใกล้กันมากกว่าเดิม สอดคล้องกับที่รัฐบาลแคนาดาเปิดตัวยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกใหม่ ที่มุ่งมั่นเพิ่มการมีส่วนร่วมกับผู้คน และเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังเติบโต และมีบทบาทสำคัญในแผนงานของแคนาดา

“เที่ยวบินใหม่นี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการมุ่งมั่นของแอร์ แคนาดาที่จะยกให้กรุงเทพฯ เป็นอีกหนึ่งศูนย์กลางการบินสำคัญในภูมิภาคนี้ในการต้อนรับเที่ยวบินจากทวีปอเมริกาเหนือต่อไปในอนาคต

และสำหรับลูกค้าที่เดินทางเข้าสหรัฐ เรามีความมั่นใจว่าผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกสบายกับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรล่วงหน้า (Pre-clearance) ในระหว่างแวะพักเครื่อง (transit) ที่แวนคูเวอร์ เพื่อเดินทางต่อไปยังลอสแองเจลิส นิวยอร์ค หรือปลายทางอื่นๆ กว่า 51 สนามบินในอเมริกาด้วยเวลาต่อเครื่องที่สามารถเลือกได้หลากหลาย” คุณคิโย ไวส์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของแอร์ แคนาดา ขยายความเพิ่มเติม

Kiyo Weiss, Director, Sales-Asia & Pacific at Air Canada
คุณคิโย ไวส์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของแอร์ แคนาดา
2. ขยายฐานลูกค้ากลุ่มเดินทางเพื่อการพักผ่อน และเพื่อธุรกิจ

นอกจากกลุ่มผู้โดยสาร VFR (Visit Friend & Relatives) และกลุ่มนักเรียน เป็นฐานลูกค้าใหญ่ของแอร์ แคนาดาในไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ขณะเดียวกันต้องการขยายฐานไปยังเซ็กเมนต์นักเดินทาง/นักท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อน (Leisure) และกลุ่มนักเดินทางเพื่อธุรกิจ (Business Trip) เนื่องจากเป็นสองกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพสูง และมีกำลังซื้อ

โดย “แอร์ แคนาดา” มองว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าท่องเที่ยวมากที่สุดเมืองหนึ่งที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอาหารไทย ดังนั้นการเปิดเส้นทางบินนี้จึงเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากอเมริกาเหนือ ให้สามารถเดินทางมาไทยได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการดึงนักท่องเที่ยวจากไทย และนักเดินทางเพื่อธุรกิจ ไปท่องเที่ยวประเทศแคนาดาด้วยเช่นกัน

Canada

3. แบรนด์ดิ้งประเทศ – ส่งเสริมการท่องเที่ยวแคนาดา

ด้วยความที่แอร์ แคนาดา ถือเป็นสายการบินแห่งชาติของประเทศแคนาดา ดังนั้นการขยายเส้นทางบินเพิ่มมากขึ้น หรือเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในประเทศที่เปิดให้บริการอยู่แล้ว รวมถึงการเปิดเส้นทางบินใหม่อย่างในครั้งนี้ ไม่เพียงตอบโจทย์ในมิติสร้างการเติบโตให้กับองค์กรเท่านั้น

ในเวลาเดียวกันยังเป็นส่วนหนึ่งของการแบรนด์ดิ้งประเทศ (Nation Branding) ให้กับตลาดที่เข้าไปให้บริการได้รู้จักและคุ้นเคยกับแคนาดามากขึ้น โดยเฉพาะในมิติ “ด้านการท่องเที่ยว” เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนเห็นว่าแคนาดา ก็เป็นหนึ่งใน Destination ของการเดินทางมาพักผ่อน – มาท่องเที่ยว เหมือนเช่นที่คนเอเชียนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวในยุโรป

Canada

 

พาชมไฮไลต์เที่ยวบินระหว่างประเทศของแอร์ แคนาดา

ปัจจุบัน แอร์แคนาดาใช้ Boeing 787 จำนวน 29 ลำ และเตรียมซื้อเพิ่มอีก โดยในอนาคตจะมี 31 ลำ สำหรับเส้นทางแวนคูเวอร์ – กรุงเทพฯ ใช้ Boeing 787 เช่นกัน รองรับผู้โดยสารชั้น Business 30 ที่นั่ง, ชั้น Premium Economy 21 ที่นั่ง และชั้น Economy 247 ที่นั่ง

Air Canada Boeing 787

ผู้โดยสารชั้นธุรกิจ

– บริการห้องรับรอง Signature Suite ของแอร์ แคนาดา ที่ท่าอากาศยานนานาชาติแวนคูเวอร์ เปิดให้บริการพร้อมมอบประสบการณ์ระดับพรีเมียมให้กับผู้โดยสารที่มีสิทธิเข้าใช้ก่อนออกเดินทางให้ได้รับความสะดวกสบายและเป็นส่วนตัวที่สุด

Air Canada Boeing 787_Business Class
Business Class ของแอร์ แคนาดา

– บริการคนขับรถ

  • ผู้โดยสารในชั้นธุรกิจ (Signature Class) ที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศที่มาถึงจากภายในแคนาดา จะได้รับบริการจากคอนเซียช พร้อมโดยสารด้วยรถปอร์เช่ไฟฟ้าจากเครื่องบินไปยังห้องรับรอง
  • บริการคนขับรถที่สนามบินในแคนาดาสำหรับผู้โดยสาระหว่างประเทศในชั้นธุรกิจที่เปลี่ยนเครื่องที่ท่าอากาศยานนานาชาติโทรอนโตเพียร์สัน และท่าอากาศยานนานาชาติแวนคูเวอร์

– อาหารให้บริการในชั้นธุรกิจได้รับการรังสรรค์โดยเชฟเดวิด ฮอร์คสเวิรธ์ เจ้าของรางวัลเชฟยอดเยี่ยมมากมายและไวน์ชั้นนำที่คัดสรรเป็นอย่างดีโดยซอมเมลิเยร์เวรอนนิก ริเวสท์ ไวน์บัทเลอร์ชั้นนำของแคนาดา

– ผู้โดยสารในชั้นธุรกิจจะได้รับชุด Amenity Kit จากผลิตภัณฑ์ Acqua Di Parma

Air Canada Signature-Suite
Signature-Suite
ผู้โดยสารชั้นประหยัดพรีเมียมและชั้นประหยัด

– อาหารให้บริการในชั้นประหยัดในเส้นทางระหว่างประเทศได้รับการรังสรรค์โดยเชฟเจอโรม แฟร์เร ให้มีความหลากหลายในรสชาติ พร้อมเสิร์ฟเมนูอาหารเรียกน้ำย่อยปรับเปลี่ยนตามจุดหมายปลายทาง พร้อมบริการเครื่องดื่มของหวานในทุกเที่ยวบิ

– ชุด Amenity Kit

นอกจากนี้ ผู้โดยสารยังสามารถสะสมคะแนนการเดินทาง Aeroplan เมื่อเดินทางกับแอร์ แคนาดา พร้อมแลกคะแนนสะสมเพื่อรับสิทธิพิเศษมากมาย อาทิ Priority Check-in, Priority Boarding, ห้องรับรอง Maple Leaf และบริการอื่นๆ อีกมากมาย

Air Canada Premium Economy Class
Premium Economy แอร์แคนาดา
Air Canada Boeing 787_Economy Class
ชั้น Economy แอร์ แคนาดา
Air Canada Maple Leaf Lounge
Maple Leaf Lounge ของแอร์ แคนาดา


ท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็ว
! Demand สูงกว่า Supply – แอร์ แคนาดาตั้งเป้าไตรมาส 2/2023 ให้บริการได้ 100%

หลังจากอุตสาหกรรมการบิน และการท่องเที่ยผ่านพ้นวิกฤตครั้งใหญ่จาก COVID-19 ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา เวลานี้สายการบินต่างๆ เริ่มกลับมาให้บริการ แต่ทว่าด้วยความที่ในช่วง pandemic ประเทศต่างๆ ใช้นโยบายปิดประเทศ ทำให้สายการบินต้องบริหารจัดการต้นทุน ปรับลดพนักงาน ลดเที่ยวบิน

ส่งผลให้ปัจจุบันในยุค Post COVID-19 เกิดภาวะ Demand คือ ความต้องการการเดินทาง และ Supply ของฝั่งสายการบิน ไม่บาลานซ์กัน เนื่องจาก Demand มากกว่า Supply

เพราะหลังจากผู้คนอัดอั้นจากการที่ไม่ได้ไปไหนมาไหน ทำให้เมื่อเปิดประเทศ ผู้คนต่างจองไฟท์เดินทางท่องเที่ยวกันอย่างคึกคัก ในขณะที่ก่อนหน้านี้สายการบินต่างปรับตัว ลดต้นทุน ลดพนักงาน ลดเที่ยวบิน ลดฝูงบิน จึงส่งผลให้เมื่อธุรกิจการบินกลับมาให้บริการ ไม่เพียงพอต่อ Demand ที่พุ่งสูงขึ้น ประกอบกับต้องเจอกับราคาน้ำมันที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา

Air Canada _Business Class Cuisine

“ความท้าทายของธุรกิจการบินคือ นโยบาย COVID-19 ของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่าง จีนใช้นโยบาย Zero COVID-19 ยังคงปิดประเทศ ในขณะที่ประชาชนจีนเป็นผู้โดยสารกลุ่มใหญ่ที่เดินทางระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก

ทำให้เราต้องทำการบินเส้นทางยุโรปเพิ่มขึ้น นอกจากนี้เพิ่มเส้นทางไปออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และเอเชียแปซิฟิก โดยในปี 2023 เตรียมเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินไปโตเกียวมากขึ้น รวมถึงกรุงเทพฯ ด้วย

ขณะที่บนเครื่องของสายการบินแคนาดา ต้องมีโปรแกรมทำความะอาด เพื่อป้องกันการติดต่อ และบริการบางอย่างที่เป็น premium service เช่น hot towel ต้องถูกจำกัด เนื่องจากในช่วง COVID-19 ต้องเว้นระยะห่าง แต่เราได้เรียนรู้ และพัฒนาเพิ่มเติม

นอกจากนี้ปัจจุบันธุรกิจการบินยังเจอกับอัตราการแลกเปลี่ยนเงินที่ผันแปรตลอดเวลา และค่าน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงตลอด อย่างไรก็ตามแอร์ แคนาดาคาดว่าภายในไตรมาส 2/2023 เราจะกลับมาทำการบินได้ full operation” คุณคิโย ไวส์ สรุปทิ้งท้าย

Air Canada Concierge


  • 115
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ