ฟรีค่าธรรมเนียม…แค่จิ๊กซอแรกของการปรับตัว (ภาคต่อของ สาขาไม่ต้อง…เมื่อแบงก์ “ถอย” เพื่อรุก)

  • 594
  •  
  •  
  •  
  •  

bank-01

ปัจจัยที่ทำให้สถาบันการเงิน ตัดสินใจเดินหน้าออกจากช่องทางการเก็บค่าธรรมเนียมการโอนเงินในรูปแบบต่างๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนยุทธ์ศาสตร์ การเร่งหารายได้จากธุรกรรมทางการเงินด้านอื่นๆ ให้มาเติมเต็มการหารายได้ในรูปแบบเดิมๆ

ซึ่งกระบวนการที่ว่า หลายแบงก์ได้กำหนดเป็นแผนการดำเนินงานมาอย่างเงียบๆ แต่ชัดเจนมาไม่ต่ำกว่า 2 ปี แล้ว เพื่อเป็นการปูทางและปรับองค์กร ให้สามารถเข้าสู่การแข่งขันในรูปแบบใหม่ ของธุรกิจการเงินได้อย่างเต็มรูปแบบ

โดยนายแบงก์แต่ละแห่งต่างรับรู้ว่า การแข่งขันในหนทางข้างหน้า จะไม่ใช่การแข่งขันในรูปแบบเดิมๆ ที่ต่างเคยมีประสบการณ์กันมาแล้วอย่างแน่นอน จึงไม่แปลกที่แบงก์ต่างๆ มีการวางแนวทางไปในทิศทางที่ต่างกันไป อาทิ

  1. ธนาคารกรุงเทพ จัดโครงการ Bangkok Bank InnoHub ถือเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งในการต่อยอดธุรกิจที่มีการเปลี่ยน แปลงเกิดขึ้น โดยโครงการนี้จะบ่มเพาะสตาร์ตอัพกลุ่มฟินเทคระดับโลกที่คัดจากผู้สมัคร 119 ราย จาก 32 ประเทศ เหลือ 8 ทีม และตั้งเป้าหมายว่าจะผลักดันร่วมกับสตาร์ตอัพใน 8 ทีมดังกล่าว เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการอย่างน้อย 1 โปรดักต์
  2. ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดตั้งดิจิตอล เวนเจอร์ เพื่อเดินหน้าพัฒนาฟินเทค (Financial Technology: Fintech) รูปแบบใหม่ๆ ที่จะเข้ามารองรับต่อความต้องการของผู้ใช้บริการในอนาคต ฯลฯ

ฉายภาพการใช้เงิน

shutterstock_499948426

ข้อมูลจากกระทรวงการคลังจากการประชุมเรื่องระบบ E-Payment พบว่าผู้ใช้บริการหรือซื้อสินค้าต่างๆแล้วชำระเงินด้วยเงินสดยังคงมีอยู่ แต่สัดส่วนการชำระเงินด้วยอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนอนาคตการจ่ายผ่านเช็คจะน้อยลง รวมถึงการเบิกจ่ายต่างๆจะค่อยๆ ต่ำลง ทำให้ต้นทุนลดลงเพราะการใช้ระบบ Local Switching ซึ่งจะมีปริมาณที่สูงขึ้น จะช่วยลดต้นทุนให้ถูกลง ภายใต้เรื่องความปลอดภัยที่รัดกุม

สมาคมธนาคารไทยได้ทำงานร่วมกับธปท.มาตั้งแต่ปี 2556 ในเรื่องของการลดใช้เงินสดและเช็ค ซึ่งหากสามารถลดการใช้ทั้ง 2 อย่าง จะช่วยประหยัดเงินเกือบแสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1% ของจีดีพี และหลังจากกระทรวงการคลังเข้ามาสนับสนุนเรื่องการเป็นดิจิทัล ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และในช่วงจังหวะนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้ได้ชัดเจนขึ้น

คุ้ยเคยกับออนไลน์

shutterstock_177915332

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ใช้บริการธุรกรรมทางการเงิน เริ่มมีความคุ้นเคยกับการใช้บริการผ่าน Internet Banking และ Mobile Banking ทั้งจากการไหลเข้ามาของเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน และการกระตุ้นการใช้จากฝั่งแบงก์เอง ทั้งการจูงใจให้ลูกค้าธนาคารใช้ระบบดังกล่าว

โดยในช่วงหนึ่งธนาคารกสิกรไทย ได้เคยอบรมพนักงานแบงก์ให้เป็นทั้งผู้แนะนำ และผู้ช่วยในการใช้ระบบดังกล่าวแก่ลูกค้าที่ walk-in เข้ามาที่สาขาของธนาคารแบบ “จัดเต็ม” ทั้งการช่วยโหลดแอพ-เซ็ตการตั้งค่า-สอนการใช้งานระบบ เพื่อให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจในการใช้งาน ที่ได้รับคำแนะนำโดยตรงจากพนักงานแบงก์

และยังไม่นับรวมถึงธนาคารอื่นๆ ที่ต่างมีบทบาทไม่แพ้กัน หลายธนาคารเลือกจัดทำโฆษณาเชิญชวนการใช้งานระบบออนไลน์ โดยย้ำถึงความสะดวก รวดเร็ว และไม่ลืมที่จะเน้นถึงความปลอดภัย ซึ่งเป็นปัจจัยที่คนไทยให้ความกังวลเป็นอันดับต้นๆ

ข้อมูลล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ว่า ในปี 2559 ผู้ใช้บริการคนไทยทำธุรกรรมทั้งการโอนเงินและชำระเงินค่าบริการต่างๆ ผ่านระบบออนไลน์โดยเฉพาะ Mobile Banking สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว มีปริมาณการใช้เพิ่มเป็น 20.8 ล้านบัญชี เทียบกับจำนวนการใช้ 13.92 ล้านบัญชี ณ สิ้นปี 2558 ขณะที่ช่องทาง Internet Banking เพิ่มขึ้นจาก 11.90 ล้านบัญชี เป็น 15.09 ล้านบัญชี

ปัจัยดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณการใช้ Internet Banking และ Mobile Banking ทวีคูณขึ้นอย่างมาก ขณะที่การทำธุรกรรมการเงินผ่านตู้เอทีเอ็ม ดูจะเป็นเรื่องปกติของคนไทยในเมืองใหญ่ๆ ไปแล้ว ซึ่งแนวโน้มของการชำระเงินหรือทำธุรกรรมการโอนเงินผ่าน Internet Banking และ Mobile Payment ที่มีกราฟพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ย่อมเป็นเหตุผลที่ในอนาคต ที่ผู้ใช้บริการจะลดการใช้เงินสดรวมทั้งการสั่งจ่ายผ่านสมุดเช็ค ที่เป็นกระดาษลงเรื่อยๆ ในที่สุด

หารายได้อื่นๆ มาทดแทน

ปัจจัยอีกด้านหนึ่งที่ทำให้แบงก์ตัดสินใจยกเลิก ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิตัล คือ ตัวเลขรายได้ในส่วนนี้มีแนวโน้มการเติบโตที่ไม่ชัดเจน ถึงระดับที่จะลดลงเรื่อยๆ ในอนาคต จึงเป็นสิ่งที่ธนาคาร จะต้องปรับตัวและหาแผนยุทธศาสตร์หรือ Business Model การทำธุรกิจใหม่ๆมารองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ดังนั้นการตัดสินใจเปลี่ยนเกม หันมาขึ้นชกบนเวทีใหม่ของแบงก์ต่างๆ นอกจากจะเป็นกลยุทธ์ win-win ของทั้งนายแบงก์และผู้ใช้บริการ ที่สามารถได้ “ใจ” จากผู้ใช้ไปในยกแรกแล้ว ยังเท่ากับเปิดโอกาสให้แบงก์ได้หาเวทีเล่นรูปแบบใหม่ ในการหารายได้เข้าสู่แบงก์ทดแทนกันได้อย่างเต็มรูปแบบ

โดยเฉพาะฟินเทครูปแบบใหม่ๆ ที่จะถูกนำเข้ามาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อทำให้กระบวนการทำงานมีความรวดเร็วขึ้น ผู้บริโภคได้รับความสะดวกรวดเร็ว ที่สำคัญ ยังทำให้ต้นทุนสินค้าและบริการลดต่ำลง ซึ่งถือเป็นแต้มต่อที่ต้องสะสมไว้เป็นทุนสำหรับการแข่งขันในอนาคต

มุมดีๆ ของการแข่งขันลดค่าธรรมเนียม

  • ลดต้นทุนในการขยายสาขาเพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้ ทั้งโมเดลสาขาเต็มรูปแบบและสาขาในโมเดิร์นเทรด
  • เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการของเจ้าหน้าที่แบงก์ ที่ให้บริการเฉพาะธุรกรรมที่จำเป็นต้องติดต่อผ่านธนาคาร
  • ดึงลูกค้ารายใหม่ๆ เข้าสู่ระบบ

เมื่อแบงก์สามารถฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น ย่อมส่งผลดีต่อการหารายได้ในรูปแบบ cross-selling ในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ในส่วนอื่นๆ มาทดแทน อาทิ บัตรเครดิต, แบงก์อินชัวร์รัน, สินเชื่อส่วนบุคคล, สินเชื่อรถแลกเงิน , กองทุนรวม , กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ฯลฯ

ซึ่งโจทย์ที่สำคัญต่อไปของผู้ประกอบการธนาคารในย่างก้าวต่อไปคือ การสร้างประโยชน์จากเทคโนโลยี เข้ามาช่วยในธุรกิจ โดยต้องปรับทั้งวิธีคิด วิธีการผลิต ปรับโปรดักต์ รวมทั้งวิธีการทำงาน รวมถึงการสร้างตลาดใหม่ๆ ผ่านเทคโนโลยี

รูปแบบของแบงก์ในอนาคตจะก้าวไปสู่ “Ommi Channel” มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปัจจัยต่างๆ บีบบังคับให้ต้องปรับตัวเป็นช่องทางผสมระหว่าง “Digital” และ “Physical” ขึ้นอยู่กับรูปแบบการบริหารงาน ของแต่ละแบงก์ที่ต้องมีความสมดุลกันขึ้นอยู่กับความพร้อมในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งสัดส่วนของฐานลูกค้าว่ามีระดับใดบ้าง

ถือเป็นอีกหนึ่งการวางยุทธศาสตร์ใหม่ของแบงก์เกอร์ในทุกๆ มิติ เพื่อฝ่าคลื่นฟินเทคที่กำลังไหลบ่าเข้ามาและจะเชี่ยวกรากมากขึ้นทุกขณะต่อจากนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

สาขาไม่ต้อง…เมื่อแบงก์ “ถอย” เพื่อรุก

https://www.marketingoops.com/news/biz-news/financial-technology/

Copyright© MarketingOops.com


  • 594
  •  
  •  
  •  
  •