“CRG” เสริมพอร์ต “ร้านอาหารญี่ปุ่น” เปิดตัว “ราเมนคาเก็ตสึ อาราชิ” จากญี่ปุ่น เจาะตลาดแมส รับเทรนด์ราเมนโต!

  • 110
  •  
  •  
  •  
  •  

CRG-Ramen Kagetsu Arashi

ทุกวันนี้ “อาหารญี่ปุ่น” กลายเป็นหนึ่งใน Mainstream ของธุรกิจร้านอาหารในไทยไปแล้ว มีทั้งแบรนด์ ประเภทอาหาร และระดับราคาให้เลือกมากมายตั้งแต่ Mass ไปจนถึง Premium ยิ่งทำให้อาหารญี่ปุ่นได้รับความนิยมแพร่หลายในกลุ่มผู้บริโภคไทยมากขึ้น จึงยังมีโอกาสอีกมากในตลาดนี้

หนึ่งในธุรกิจเชนร้านอาหารรายใหญ่ของไทยอย่าง “เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป” (Central Restaurants Group) หรือCRG(ซีอาร์จี) เดินหน้าเสริมความแข็งแกร่ง Business Portfolio กลุ่มธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ด้วย 4 กลยุทธ์คือ ขยายแบรนด์ใหม่ ล่าสุดนำเชนราเมนระดับ Top 3 ในญี่ปุ่น ราเมนคาเก็ตสึ อาราชิ” เข้ามาเปิดสาขาและทำตลาด ในไทย พร้อมทั้งพัฒนาเมนูใหม่ให้กับแบรนด์ในกลุ่มธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น, รุกเปิดสาขาใหม่ และทำแคมเปญการตลาด เพื่อกระตุ้นยอดขายปลายปี

 

กลยุทธ์ 1 ขยาย Brand Portfolio ด้วยการเปิดตัวแบรนด์ใหม่  

ในปีนี้เปิดตัว “ราเมนคาเก็ตสึ อาราชิ (Ramen Kagetsu Arashi)” ในไทย โดย CRG ได้ซื้อเข้ามาในรูปแบบแฟรนไชส์

เป็นเชนร้านราเมนระดับ Top 3 ในญี่ปุ่นที่มีมานานกว่า 30 ปี ด้วยจำนวนสาขากว่า 200 สาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น และมากกว่า 290 สาขาทั่วโลก เช่น ไต้หวัน, จีน และเซี่ยงไฮ้ กับคอนเซปต์ “Ramen คือความบันเทิงระดับโลกของญี่ปุ่น!!” เจ้าแรกในประเทศญี่ปุ่นที่ลูกค้าสามารถเลือกเมนู และสั่งซื้อโดยตรงผ่านตู้สั่งอาหาร (Ordering Machine) ที่เสิร์ฟราเมนสูตรต้นตำรับ ในราคาเข้าถึงง่าย

การนำแบรนด์ ราเมนคาเก็ตสึ อาราชิ ทำตลาดในไทย เพื่อเสริมทัพแบรนด์ร้านราเมนในพอร์ตฯ จากเดิม CRG มีราเมน 1 แบรนด์คือ “ชาบูตง ราเมน” (Chabuton Ramen) ปัจจุบันมี 16 สาขา

ทั้งสองแบรนด์ราเมนวางตำแหน่งทางการตลาดแตกต่างกัน โดย ชาบูตง ราเมน” (Chabuton Ramen) ระดับราคาเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 200 – 300 บาทต่อชาม ในขณะที่ “ราเมนคาเก็ตสึ อาราชิ” เป็นราเมนซุปกระเทียมทงคตสึ ใช้วัตถุดิบนำเข้าจากญี่ปุ่น 100% ในราคาเข้าถึงง่าย เริ่มต้นที่ 150 บาท เพื่อเเจาะตลาดแมส

CRG-Ramen Kagetsu Arashi

สำหรับแผนการเปิดสาขา ราเมนคาเก็ตสึ อาราชิ” ในปี 2565 เตรียมเปิด 1 สาขา โดยร้านแรกในวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ณ สยามสแควร์ วัน และมีแผนเปิดเพิ่มอีก 4 – 5 สาขาในปี 2566 และหากได้รับผลตอบรับที่ดี ก็จะเปิดให้ครบ 20 สาขา

เหตุผลที่ “CRG” ลุยตลาดราเมน ด้วยการซื้อแฟรนไชส์ราเมนจากญี่ปุ่นเข้ามาทำตลาดในไทย สะท้อนถึงแนวโน้มการเติบโตของร้านราเมนในไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในเซ็กเมนต์ใหญ่ของตลาดร้านอาหารญี่ปุ่น

 – ทิศทางการขยายตัวของอาหารเอเชียในไทยที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับ “ราเมน” จัดเป็นอาหารประเภทอาหารจานเดียวที่รับประทานได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และมีวาไรตี้ในทางเลือกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นซุป, ท็อปปิ้ง รวมถึงยังมีหลายช่วงราคา ตั้งแต่ Mass ไปจนถึง Premium ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกรับประทานได้หลากหลาย และรับประทานได้ทุกวัน

อีกทั้ง “ราเมนคาเก็ตสึ อาราชิ” มี Brand Character ที่ชัดเจน  มีเมนูหลากหลาย และน่าสนใจในเรื่องของความเป็น product innovation ทางบริษัท CRG จึงมองเห็นโอกาสในการนำเข้ามาสู่ตลาดไทย เพื่อสร้างประสบการณ์ความประทับใจ้บริโภคไทย ทั้งในด้านรสชาติ คุณภาพ และสไตล์ที่รับประทานได้ทุกวัน โดยมั่นใจว่าจะสามารถสร้างการเติบโต และความแข็งแกร่งให้กับ CRG

CRG-Ramen Kagetsu Arashi

– ในยุค Social Media ทำให้เกิด Community บนออนไลน์เกี่ยวกับคนรักราเมน ร่วมกันแชร์เมนู – ร้านราเมน ทั้งที่เป็นรูปแบบเชน และร้านผู้ประกอบการอิสระ ยิ่งทำให้วัฒนธรรมการรับประทานราเมนในไทยขยายตัวยิ่งขึ้น

– เกิดร้านราเมนมากมายในไทย โดยแต่ละร้าน ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่ และรายย่อย ต่างพยายามนำเสนอจุดเด่น และคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเมนูใหม่ๆ ตามเทรนด์ ให้น่าสนใจอยู่เสมอ จึงเกิดความหลากหลาย ให้กลุ่มคนรักราเมนสร้างพื้นที่ขึ้นมาเพื่อแชร์ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

CRG-Ramen Kagetsu Arashi

นอกจากจะเปิดตัวแบรนด์ราเมนแบรนด์ใหม่จากญี่ปุ่นแล้ว ในปีนี้ “CRG” ยังมีแผนการขยาย Category อื่น ๆ ที่ยังไม่มีใน Portfolio เพิ่มเติมอีกด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งจะเป็นแบรนด์ระดับ Top ที่จะสร้างความตื่นเต้น และแปลกใหม่ให้ตลาดได้อย่างแน่นอน

ในขณะเดียวกัน ก็ยังเดินหน้าปั้น Virtual Brand นำร่องด้วยแบรนด์ คาโคมิ (Kakomi) ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่เร่งรีบ กับชุดเบนโตะย่างถ่านสไตล์ญี่ปุ่น ในราคาย่อมเยาว์ แต่ยังคงคุณภาพอาหารและมาตรฐาน พร้อมวางแผนพัฒนาเมนูใหม่ แตกไลน์เมนูอาหารให้หลากหลายยิ่งขึ้นต่อไป 

CRG-Kakomi by OOTOYA

 

กลยุทธ์ที่ 2  พัฒนาเมนูใหม่ ๆ เพื่อส่งมอบความอร่อยหลากหลายเมนู และเข้าถึงทุกช่วงโอกาส

การเพิ่มความวาไรตี้ทางด้านเมนู เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าทุกรูปแบบ ทุกกลุ่มอายุ และทุกไลฟ์สไตล์ รวมไปถึงการนำ innovation ต่าง ๆ มาพัฒนาต่อยอด และนำเสนอเมนูใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า สามารถสร้างความน่าสนใจ แปลกใหม่ ในขณะเดียวกันยังเพิ่มเติมในส่วนของสินค้าในกลุ่ม premium เพื่อเพิ่มทางเลือก และเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมากลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน (RTE) ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเติบโตตามการขยายตัวของร้านค้า

ประกอบกับการขยายตัวของชุมชนเมืองที่ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเน้นการใช้ชีวิตแบบเร่งรีบและต้องการความสะดวกสบาย สามารถซื้อทานหรือทำทานเองได้ที่บ้าน จึงพัฒนาและต่อยอดเมนู สินค้าอาหารพร้อมทาน และสินค้าอาหารพร้อมปรุง (Ready to eat / Ready to cook) โดยสามารถซื้อรับประทาน หรือทำเองที่บ้านได้ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ราคาย่อมเยา เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย แต่ยังคงได้ความอร่อยเสมือนรับประทานที่ร้าน

CRG-RTE Chabuton CRG-RTE Ootoya Shoyu

 

กลยุทธ์ที่ 3 รุกหาลูกค้า เดินหน้าเปิดสาขาใหม่ด้วย New Format / New Sale Model

เพื่อเร่งสร้างยอดขาย และตอบเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภค จึงเร่งขยายสาขาเพิ่มในหลากหลายโมเดล ทั้งที่เป็นโมเดลร้านขนาดเล็ก และในรูปแบบ Hybrid Cloud รวมถึงยังเน้นการมองหาพื้นที่ใหม่ ๆ เพื่อให้สามารขยายสาขาได้คล่องตัว และครอบคลุมพื้นที่ และรองรับธุรกิจเดลิเวอรี่

โดยปัจจุบันกลุ่มธุรกิจอาหารญี่ปุ่นในเครือ CRG มีจำนวนสาขารวม 211 สาขา (ข้อมูล ณ 31 ต.ค. 65)  โดยในจำนวนนี้เป็นร้านแบบ Hybrid Cloud จำนวน 16  สาขา แบ่งเป็นสัดส่วนในกทม 68% และต่างจังหวัด 32% ประกอบด้วยแบรนด์

– เปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch) 51 สาขา

– ชาบูตง ราเมน (Chabuton) 16 สาขา

– โยชิโนยะ (Yoshinoya) 32 สาขา

– โอโตยะ (Ootoya) 46 สาขา

– เทนยะ (Tenya) 12 สาขา

– คัตสึยะ (Katsuya) 54 สาขา

CRG-OOTOYA cafe

 

กลยุทธ์ที่ 4 ส่งแคมเปญกระตุ้นตลาดช่วงปลายปี กับแคมเปญฉลองครบรอบ 16 ปี เปปเปอร์ ลันช์

เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง และแทนคำขอบคุณแก่ลูกค้าเปปเปอร์ ลันช์ ที่ให้การตอบรับแบรนด์อย่างดีตลอดระยะเวลาที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย กับคอนเซปต์ “อัพความสุข อัพความอร่อย” (Happy Up! Yummy Up!)

อัพความสุข (Happy Up) กับกิจกรรม “Pepper Park” ที่นำเกมส์ และกิจกรรมส่งตรงมาจากสิงค์โปร์ ให้ได้ร่วมสนุก และยังจำลองร้านเปปเปอร์ ลันช์ ให้ลูกค้าได้มาร่วมถ่ายรูป และร่วมกิจกรรมสนุก ๆ มากมาย ได้ตั้งแต่วันที่ 16 – 20 พฤศจิกายน 2565 ณ พื้นที่ลานกิจกรรมบริเวณทางลาด BTS ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน

อัพความอร่อย (Yummy Up) ด้วย 2 แคมเปญ

  • ฟรี! อัพไซส์ 3 เมนูซิกเนเจอร์ อาทิ ข้าวเปปเปอร์เนื้อ (U.S.Beef), ข้าวเปปเปอร์หมู และ ข้าวเปปเปอร์ไก่ เพิ่มปริมาณให้อิ่มอร่อยจุก ๆ ได้ในราคาเดิม  ตั้งแต่ 16 – 18 พฤศจิกายน 2565 ที่ร้านเปปเปอร์ ลันช์ ทุกสาขา (ยกเว้น สนามบินดอนเมือง และ ฟู้ด พาทิโอ้ เซ็นทรัล บางนา)
  • Lucky Drawn ลุ้นรับรางวัลใหญ่ รวมมูลค่ากว่า 200,000 บาท อาทิ โทรศัพท์เคลื่อนที่ iPhone รุ่น 14 Pro Max 256 GB , บัตรที่พักโรงแรมในเครือเซ็นทารา, บัตรของขวัญเซ็นทรัล และบัตรของขวัญเปปเปอร์ ลันช์ และรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย เมื่อทานอาหารที่เปปเปอร์ ลันช์ ครบ 400 บาทขึ้นไป รับคูปองเพื่อชิงโชค 1 สิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน – 31 ธันวาคม 2565 จับรางวัล  12 มกราคม 2566 และประกาศรายชื่อผู้โชคดีผ่านทางFacebook pepperlunchthailand วันที่ 13 มกราคม 2566

CRG

“ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น จากการปรับตัวของผู้บริโภคที่กลับมาดำเนินชีวิตใกล้เคียงปกติ ในขณะที่เชนร้านอาหารรายใหญ่เริ่มลงทุนในการเร่งขยายสาขามากขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมถึงการเร่งขยายพอร์ตโฟลิโอ ประกอบกับในปัจจุบันร้านอาหารมีหลายเซ็กเมนต์ จึงทำให้มีผู้ประกอบการแบรนด์ใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มีการแข่งขันสูงขึ้น

สำหรับภาพรวมของกลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นขอCRG ด้วยสถานการณ์วิกฤตโควิดเริ่มเบาบางลง ส่งผลให้แนวโน้มตลาดร้านอาหารที่กลับมาคึกคักขึ้น กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นจึงพร้อมเดินหน้าธุรกิจเต็มพิกัด ด้วยกลยุทธ์สร้างการเติบโต การปรับกลยุทธ์ทางการตลาด เพิ่มช่องทางการขายมากขึ้น พัฒนาเมนูใหม่ ๆ

รวมถึงเร่งขยายพอร์ตโฟลิโอ โดยตั้งเป้าปี 2565 กลุ่มร้านอาหารญี่ปุ่นจะสามารถสร้างการเติบโตมากกว่า 35%คุณธีรวัฒน์ เลิศถิรพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่ม Japanese Cuisine บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (Central Restaurants Group) กล่าวทิ้งท้าย

CRG


  • 110
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ
CLOSE
CLOSE