รัฐบาลดิจิทัล เปิดเผย เชื่อมโยง และร่วมกันสร้างบริการที่มีคุณค่าให้ประชาชน

  • 86
  •  
  •  
  •  
  •  

หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ ที่แค่ติดต่อเรื่องเล็กน้อยแต่ต้องเสียเวลาเกือบทั้งวัน เพราะดันลืมถ่ายเอกสารหลักฐานราชการบางชิ้น ต้องเสียเวลากลับไปถ่ายเอกสารกว่าจะกลับมาอีกทีก็หมดเวลาราชการพอดี ทำให้หลายคนต้องขอลางานหรือพร้อมเสียเวลาทั้งวันสำหรับการติดต่อราชการ ที่สำคัญยังต้องมานั่งระแวงว่าเอกสารเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้องด้วยหรือเปล่า

นั่นจึงทำให้หลายครั้งการติดต่อราชการถูกนำมาเปรียบเทียบกับการติดต่อผ่านบริษัทเอกชน ทั้งในเรื่องของระยะเวลาในการดำเนินการ ความยุ่งยากของเอกสารหลักฐาน และประสบการณ์ในการใช้บริการ นั่นคือสิ่งที่ราชการรับทราบปัญหาดี แต่ติดตรงที่ไม่มีหน่วยงานกลางที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากหน่วยงานราชการมีหลายหน่วยงานและแต่ละหน่วยงานใช้ระบบที่แตกต่างกัน ทำให้การเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานทำได้ยากมาก

 

ทำความรู้จักหน่วยงานราชการด้านดิจิทัล

 

ภาครัฐจึงจัดตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาภายใต้ชื่อ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA โดยทำหน้าที่ให้บริการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการของหน่วยงานรัฐและหน่วยงานอื่นเกี่ยวกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ทั้งในด้านการพัฒนา การบริหารจัดการ และการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีดิจิทัล และระบบการให้บริการ หรือแอปพลิเคชันพื้นฐานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลดิจิทัล ด้านการจัดทํามาตรฐาน ทั้งในเรื่องของแนวทาง มาตรการ หลักเกณฑ์ และวิธีการทางเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึง กระบวนการดําเนินงานเพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลและระบบการทํางานระหว่างกันของหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสอดคล้องกัน

ด้านการส่งเสริม สนับสนุนการบูรณาการและแลกเปลี่ยนข้อมูล ระหว่างหน่วยงานของรัฐผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทะเบียนข้อมูลดิจิทัลภาครัฐเพื่ออํานวยความสะดวกในการให้บริการประชาชนและในการดําเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานของรัฐ ให้บริการดิจิทัลแก่ผู้เกี่ยวข้อง ด้านการพัฒนาบริการดิจิทัลภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมั่นคงปลอดภัย

ด้านการให้คําปรึกษาและสนับสนุนหน่วยงานของรัฐในการบริหารจัดการโครงการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงส่งเสริม สนับสนุน ให้บริการวิชาการ และจัดอบรมเพื่อยกระดับทักษะความรู้ความสามารถของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้านดิจิทัล ด้านการศึกษาวิจัยสร้างนวัตกรรม และส่งเสริมและสนับสนุนงานวิชาการ งานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

ด้านการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดําเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ตลอดจนสนับสนุนการติดตามและประเมินผลการดําเนินงานตามแผนงานและแผนระดับชาติที่เกี่ยวกับรัฐบาลดิจิทัล และด้านดําเนินการอื่นๆ เพื่อพัฒนารัฐบาลดิจิทัลตามที่กฎหมายกําหนดหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

 

ทำไมต้องมีแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย

 

อย่างที่บอกไปแล้วว่า การเชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละหน่วยงานราชการ ไม่สามารถทำได้หากไม่มีคนกลางเข้ามาดูแลการเชื่อมต่อข้อมูลของแต่ละหน่วยงาน ที่สำคัญเมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ราชการในฐานะหน่วยงานที่ให้บริการประชาชน จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตามความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งมีผลต่อความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของทุกๆ คน โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์การโรคระบาด ทำให้ประชาชนต้องเว้นระยะห่างและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า

จากผลกระทบอันสืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศชาติและสังคมไทยเกิดปรากฏการณ์ New Normal อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคม ตลอดจนความพยายามในการคิด การติดต่อสื่อสาร การใช้ชีวิต การทำงาน และทุกเหตุการณ์ในชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในรูปแบบปกติใหม่ที่ สอดรับกับเหตุการณ์ดังกล่าว และนี่ได้กลายเป็นปัจจัยหลักของความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศเช่นกัน

ทำให้ความจำเป็น (Demand) ของเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดของโรค ส่งผลให้หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ในการให้บริการประชาชนต้องเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ซึ่งการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบได้นั้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนข้อมูลราชการให้เป็นรูปแบบดิจิทัล (Digitization) เพื่อให้หน่วยงานราชการสามารถให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลได้อย่างเบ็ดเสร็จและไร้รอยต่อ (Seamless)

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์การเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน (Digital Transformation) ของหน่วยงานราชการ จึงกําหนดให้สํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ดําเนินการจัดทําแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2563-2565 เพื่อสนับสนุุนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทํางานและการให้บริการภาครัฐของประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ รวมถึงแผนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่มุ่งจะพัฒนาให้ประเทศไทยมีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัลจนนําไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

หลายคนยังคงตั้งข้อสงสัยกับการให้บริการด้านดิจิทัลของหน่วยงานราชการจะเกิดขึ้นมาได้จริงหรือไม่ ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญของหน่วยงานราชการในการสร้างความมั่นใจการให้บริการด้านดิจิทัลของหน่วยงานราชการ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคม และกลายเป็นปัจจัยหลักของความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

 

เป้าหมายและการวัดผลของแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล

 

แน่นอนว่าการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจำเป็นต้องกำหนดจุดวัดผล เพื่อตรวจสอบถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านดิจิทัล โดยยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลางที่จะต้องได้รับประโยชน์สูงสุดจากการนำระบบดิจิทัลที่เหมาะสมมาใช้ในการให้บริการของหน่วยงานราชการทุกแห่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และมีการใช้ระบบดิจิทัลอย่างคุ้มค่าและเต็มศักยภาพตามที่ได้วางแผนไว้

ซึ่งได้ดำเนินการด้านดิจิทัลจะยึดถือหลักสำคัญ 3 ส่วน ทั้งความสอดคล้องกับทิศทางและเป้าหมายของแผนระดับชาติที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแผนที่เกี่ยวกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล, การยึดหลักแนวทางและวิธีการตามที่กฎหมายกำหนด และสามารถตอบโจทย์เพื่อแก้ไขปัญหาหรือลดอุปสรรคในการบริหารงานและการให้บริการประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

สำหรับการวัดผลจะดูองค์ประกอบของยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงาน โดยมีการกำหนดยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ภายใต้แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ จำนวน 4 ยุทธศาสตร์ โดยจะเน้นไปที่ 6 ประเด็นนโยบายสำคัญ ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพและการแพทย์ ด้านการเกษตร ด้านความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสวัสดิการประชาชน ด้านการมีส่วนร่วม โปร่งใสและตรวจสอบได้ของประชาชน และด้านการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

โดยยุทธศาสตร์ที่ 1 จะเน้นยกระดับคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ (Citizen Platform) เพื่อรองรับการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จของหน่วยงานรัฐ สําหรับภาคประชาชนและผู้เดินทางจากต่างประเทศช่วยให้สามารถเข้าถึงบริการภาครัฐอย่างทั่วถึง และ การพัฒนาระบบคลาวด์กลางของภาครัฐ (GDCC) เพื่อให้ภาครัฐมีระบบคลาวด์ที่รองรับการใช้งานของหน่วยงานภาครัฐให้เพียงพอต่อการให้บริการประชาชนและการจัดการภายในหน่วยงานรัฐ

ขณะที่ยุทธศาสตร์ที่ 2 จะเน้นอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจไทย โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การพัฒนาระบบการยืนยันและพิสูจน์ตัวตนทางดิจิทัล (Digital ID & signature) สำหรับนิติบุคคล เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มระบบการยืนยันและพิสูจน์ตัวตนทางดิจิทัลสําหรับภาคธุรกิจ ช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถทำธุรกรรมดิจิทัลได้อย่างสะดวก ลดขั้นตอนในการยืนยันตัวตน และยังช่วยให้มีเครื่องมือในการตรวจสอบการทำธุรกรรมดิจิทัลสําหรับธุรกิจ

ส่วน ยุทธศาสตร์ที่ 3 จะส่งเสริมและผลักดันให้เกิดธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ ในทุกกระบวนการทำงานของภาครัฐ อาทิ การพัฒนาศูนย์กลางการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Data Platform) เพื่ออํานวยความสะดวกในหน่วยงานภาครัฐให้มีข้อมูลในการให้บริการแก่ประชาชนและการดําเนินงานของหน่วยงานภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล

และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 สนันสนุนและพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ร่วมขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล เช่น การพัฒนาระบบรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผ่านช่องทางดิจิทัล (e-Participation) เพื่อให้มีช่องทางเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้านนโยบายและการปรับปรุงการให้บริการของภาครัฐ

โดยเป้าหมายของทั้ง 4 ยุทธศาสตร์ มุ่งหวังให้ประเทศไปสู่เป้าหมายในด้าน “การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการและสวัสดิการของประชาชน, การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย, การสร้างให้เกิดความโปร่งใสในการทำงานของภาครัฐที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ และการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของประเทศ”

 

การดำเนินการและปัจจัยสู่ความสำเร็จ

จากการประชุมคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการกำชับให้ทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อมในการจัดทำแผนปฏิบัติการให้สอดคล้องกับแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย เมื่อแผนฯ ดังกล่าวประกาศลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้หน่วยงานราชการขับเคลื่อนโครงการภายใต้แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว พร้อมทั้งมีการจัดเตรียมงบประมาณ เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ ที่ได้กำหนดไว้

โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA พร้อมขับเคลื่อนและสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ทั้งการพัฒนาทักษะบุคลากรภาครัฐที่ผ่านการอบรมหลักสูตรดิจิทัลจากสถาบัน TDGA โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาบุคลากรภาครัฐให้ได้จำนวน ​2 แสนคนในปีนี้ และพัฒนาบุคลากรสายเทคโนโลยีสารสนเทศในเรื่องธรรมาภิบาลข้อมูล การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สำหรับด้านมาตรฐาน หลักเกณฑ์ ตาม พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล ได้มีการดำเนินการไปแล้ว ทั้งการจัดทำกรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ การเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐผ่านเว็บไซต์ data.go.th การจัดทำดิจิทัลไอดีสำหรับบริการภาครัฐ และการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัล อาทิ บัญชีข้อมูลและคำอธิบายชุดข้อมูลดิจิทัล Data Catalog / Metadata จัดทำ (ร่าง) แผนแม่บทพอร์ทัลกลาง เพื่อประชาชน ระยะ 3 ปี (Citizen Portal Roadmap)

นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานหลายฝ่าย เช่น การเปิดศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ภาครัฐ (AI) เพื่อให้เป็นแหล่งรวมผลงาน AI พร้อมใช้ เพื่อสร้างชุมชน AI ร่วมผลักดันหน่วยงานรัฐสร้างบริการเพื่อประชาชน การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ (DGTi) เป็นต้น โดยมุ่งดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ “รัฐบาลดิจิทัล เปิดเผย เชื่อมโยง และร่วมกันสร้างบริการที่มีคุณค่าให้ประชาชน” เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ สังคมอยู่ได้ ในสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกัน

ส่วนปัจจัยที่จะทำให้แผนดังกล่าวประสบความสำเร็จ (Key Success Factor) ในการขับเคลื่อนแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล มีด้วยกันทั้งหมด 3 ด้าน ประกอบไปด้วยด้านเทคโนโลยี (Technology) ด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process) และด้านบุคลากรและประชาชน (People) อย่างไรก็ตาม รัฐบาลดิจิทัลจะสำเร็จเป็นรูปธรรมได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกหน่วยงานราชการร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน  เพื่อให้เกิดเป็นภาครัฐยุคใหม่ ที่เป็น “รัฐบาลดิจิทัล เปิดเผย เชื่อมโยง และร่วมกันสร้างบริการที่มีคุณค่าให้ประชาชน” 

ทั้งหมดนี้คือความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับหน่วยงานราชการ ที่หันมาใช้เทคโนโลยีในการให้บริการประชาชน เพื่อให้เกิดความสะดวกสบาย รวดเร็วและปลอดภัยในการติดต่อกับหน่วยงานราชการ รวมไปถึงการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการให้บริการ สร้างโอกาสในการใช้สิทธิทางราชการของแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดช่องว่างระหว่างประชาชนกับภาครัฐ ในอนาคตการติดต่อหน่วยงานราชการอาจใช้เวลาเป็นหลักนาที ไม่ใช่ใช้เวลาเป็นวันเช่นในปัจจุบัน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://bit.ly/3diq2fe


  • 86
  •  
  •  
  •  
  •