“Diverse & Inclusive Marketing” กลยุทธ์ชนะใจลูกค้าในยุคหลากหลาย-ไม่แบ่งแยก พร้อมกรณีศึกษา “Microsoft – Barbie – MUJI”

  • 347
  •  
  •  
  •  
  •  

Diverse and Inclusive Marketing

ทุกวันนี้โลกกำลังมีแตกต่าง และความหลากหลายมากขึ้น เช่น 

โครงสร้างประชากรกว่า 7.7 พันล้านคน ปัจจุบันในสังคมมีมากถึง 6 Generations อยู่ร่วมกัน

  • Silent Generation คนที่เกิดปี 1928 – 1945
  • Baby Boomers คนที่เกิดปี 1946 – 1964
  • Generation X คนที่เกิดปี 1965 – 1980
  • Millennials คนที่เกิดปี 1981 – 1996
  • Generation Z คนที่เกิด 1997 – 2009
  • Generation Alpha คนที่เกิดปี 2010 – 2024

ความหลากหลายทางเพศ ซึ่งข้อมูลจาก LGBT Capital.com คาดการณ์ว่าปัจจุบันมีประชากร LGBT+ อายุ 15 ปีขึ้นไปประมาณ 371 ล้านคนทั่วโลก

ความแตกต่างด้านโครงสร้างทางสังคม, เชื้อชาติ, ชาติพันธุ์, ศาสนา, สถานะทางเศรษฐกิจ, ด้านร่างกายและจิตใจ และอื่นๆ อีกมากมาย

นี่จึงไม่ใช่โจทย์ใหญ่ในระดับประเทศ หรือสังคมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน เพราะ Insights ของผู้บริโภคในปัจจุบัน ไม่ได้มองแค่คุณภาพสินค้า ราคาจำหน่าย ภาพลักษณ์แบรนด์ที่ช่วยสะท้อนตัวตนของเขาเองเท่านั้น แต่ยังมองลงลึกไปถึงว่าแบรนด์นั้นๆ โอบรับความแตกต่าง ความหลากหลาย และสร้างการมีส่วนร่วมการเข้าถึงอย่างไรให้กับผู้บริโภคและสังคม ซึ่งนับวัน “Diversity – Equity – Inclusion” (DEI) จะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นในการทำการตลาดของแบรนด์ต่างๆ

Diversity-Equity-Inclusion

 

Diversity – Equity – Inclusion สำคัญต่อแบรนด์อย่างไร ?​ เมื่อผู้บริโภคสนับสนุนแบรนด์ที่ส่งเสริมความหลากหลายความเสมอภาค

ในแต่ละวัน ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า จนถึงเขัานอน คนเราถูกโฆษณาระดมยิงใส่มากมายนับพัน นับหมื่นชิ้น แต่รู้หรือไม่ว่าโฆษณา หรือการสื่อสารการตลาดที่ผู้บริโภคยุคนี้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่คาดหวังจากแบรนด์ ไม่ใช่แค่การสื่อสารจุดดีจุดเด่นสินค้า โปรโมชั่นลดราคา แต่ผู้บริโภคกำลังตั้งคำถามว่า

แบรนด์ที่ดำเนินธุรกิจในทุกวันนี้ สนับสนุนด้านความหลากหลาย ความเสมอภาค และทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึง หรือมีส่วนร่วมกับสินค้า โดยไม่จำกัดเพศ อายุ สมรรถภาพทางร่างกาย ไม่ว่าจะต่อสาธารณชน หรือเบื้องหลังการทำงานขององค์กร หรือแบรนด์นั้นๆ หรือไม่ ?! 

Deloitte Insights ทำการสำรวจผู้บริโภค จำนวน 11,500 คนทั่วโลก พบว่า

ผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ (อายุ 18 – 25 ปี) บอกว่าแบรนด์ที่สื่อสารผ่านโฆษณาที่มีแนวคิด Inclusive Advertising ทำให้พวกเขาตัดสินใจพิจารณาซื้อแบรนด์นั้นมากขึ้น

– 94% ของ Gen Z คาดหวังให้บริษัทต่างๆ มีจุดยืนประเด็นทางสังคมอย่างชัดเจน

– 90% ของ Gen Z บอกว่าพวกเขายินดีที่จะซื้อสินค้าที่สร้างประโยชน์ให้กับสังคม

นอกจากแบรนด์ที่สนับสนุน Diversity – Equity – Inclusion ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อแล้ว ยังช่วยสร้างฐาน Loyal Customer ให้กับแบรนด์ด้วยเช่นกัน

Diversity-Equity-Inclusion

– 57% ของผู้บริโภคมีความภักดีต่อแบรนด์ที่มีความมุ่งมั่นสร้างความเสมอภาคให้เกิดขึ้นในกระบวนการธุรกิจของตนเอง

ทั้งนี้การสร้างความเสมอภาคในกระบวนการธุรกิจ สามารถทำได้หลายแนวทาง เช่น การจ้างงานที่ไม่จำกัดอายุ, เพศ, นโยบายในองค์กร มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน, การใช้ซัพพลายเออร์ ที่มีวิสัยทัศน์ และสนับสนุนด้าน Diversity – Equity – Inclusion 

รวมถึงการออกแบบและพัฒนาสินค้าบริการที่ทำให้ผู้พิการสามารถใช้งานได้อย่างสะดวก โดยองค์กรอนามัยโลกรายงานว่า ปัจจุบันทั่วโลกมี 15% ของประชากรใช้ชีวิตด้วยความทุพพลภาพ ซึ่งที่ผ่านมาคนนกลุ่มนี้ แทบไม่ค่อยปรากฏในโฆษณา หรือการสื่อสารใดๆ ของแบรนด์

ขณะเดียวกันจากการสำรวจยังพบว่า แบรนด์ที่มีการเติบโตสูง ให้ความสำคัญกับการวัดประสิทธิภาพของการดำเนินนโยบาย Diversity – Equity – Inclusion

แบรนด์ที่มีการเติบโตสูง (หมายถึงแบรนด์ที่มีการเติบโตด้านรายได้โดยเฉลี่ย 10% ต่อปี หรือมากกว่านั้น) จะวัดประสิทธิภาพของวัตถุประสงค์ด้าน Diversity, Equity และ Inclusion (DEI) มากกว่าแบรนด์คู่แข่งที่มีการเติบโตต่ำกว่า เช่น วัดด้านการจ้างงาน, การรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ, การสื่อสารของแบรนด์และการลงทุนด้านชุมชน

Diversity-Equity-Inclusion

 

3 แนวทางแบรนด์/องค์กร ยกระดับกลยุทธ์ Diversity – Equity – Inclusion

เมื่อผลวิจัยชี้ว่า Consumer Insights ต้องการสนับสนุนแบรนด์ที่ส่งเสริมความหลากหลาย, ความเสมอภาค และเป็นแบรนด์ที่ทุกคนสามารถใช้ได้/เข้าถึงได้

ดังนั้น เพื่อชนะใจผู้บริโภค และทำให้เห็นว่าแบรนด์ให้ความสำคัญกับ Diversity – Equity – Inclusion จึงควรกำหนดให้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์องค์กร

Deloitte Insights  ได้แนะนำ 3 แนวทางสร้างระบบนิเวศธุรกิจที่หลอมรวม Diversity – Equity – Inclusion เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรอย่างแท้จริง

1. แบรนด์ต้องแน่ใจได้ว่าทีมงานในองค์กรบุคคลภายนอกองค์กรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการธุรกิจ เช่น ซัพพลายเออร์, เอเจนซี่, คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ฯลฯ ให้ความสำคัญกับ Diversity – Equity – Inclusion เช่นกัน เพื่อตอบโจทย์ทิศทางที่แบรนด์กำลังจะเดินไป และลดระยะห่างของความแตกต่าง – ความหลากหลาย ไม่ว่าจะทางด้านวัฒนธรรม, ประชากร ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคที่แบรนด์ต้องการเข้าถึง

2. ฟังเสียงที่หลากหลายของผู้คน นำกลับมาสู่องค์กร

แบรนด์ควรติดตาม และนำความต้องการของชุมชน และผู้คนกลับมาสู่องค์กร เพื่อนำเสนอเสียงความหลากหลายของผู้บริโภค ผ่านการสร้างสรรค์แคมเปญของแบรนด์ที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับผู้คน และสังคม

ยกตัวอย่างเช่น “Avon” แบรนด์ความงามและผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลระดับโลก ทำการสำรวจผู้หญิง 8,000 คนทั่วโลก เพื่อทำความเข้าใจว่าประเด็นอะไรที่ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงมากที่สุดในช่วงระหว่างการแพร่ระบาด COVID-19 พบว่า

41% ของผู้หญิงกลุ่มตัวอย่าง รู้สึกสูญเสียความมั่นใจระหว่างการแพร่ระบาดของโรค นี่จึงเป็นที่มาที่ Avon จับมือกับนางแบบหลากหลายเชื้อชาติ, ชาติพันธุ์ และความสามารถ เพื่อสร้างการรับรู้แพลตฟอร์ม “My Story Matters” พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงแบ่งปันเรื่องราวที่แท้จริงของตัวเอง โดยไม่ได้ตัดต่อหรือแต่งเติมใดๆ

Diversity-Equity-Inclusion

3. กลยุทธ์ Diversity – Equity – Inclusion ต้องมีเป้าหมาย และวัดผลได้

เพื่อให้องค์กร หรือแบรนด์มั่นใจได้ว่านโยบาย และการลงมือปฏิบัติด้าน Diversity – Equity – Inclusion กับทั้งระบบนิเวศธุรกิจของตนเองนั้น บรรลุเป้าหมาย และสร้างผลลัพธ์ที่สามารถวัดผลได้อย่างแท้จริง

จาก Consumer Insights ที่สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยุคนี้ ต้องการและสนับสนุนแบรนด์ที่เข้าใจในความหลากหลาย ความเสมอภาค และสร้างการมีส่วนร่วม ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้

แบรนด์ไหนที่ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของโลก และนำแนวคิด Diversity – Equity – Inclusion เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนธุรกิจ ย่อมเพิ่มโอกาสสร้าง Consumer Engagement และ Social Engagement นำไปสู่การชนะใจ และครองใจผู้บริโภคในที่สุด

จาก Insights ผู้บริโภค และแนวทางแบรนด์ยกระดับกลยุทธ์ Diversity – Equity – Inclusion คราวนี้ตามมาดูกรณีศึกษา 3 แบรนด์ระดับโลก “Microsoft” (ไมโครซอฟท์) – “Barbie” (บาร์บี้) – “MUJI” (มูจิ) ผสานแนวคิด Diversity – Equity – Inclusion เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนองค์กร และสร้างการเติบโตทางธุรกิจ

Microsoft Inclusive Tech Lab
Microsoft Inclusive Tech Lab (Photo Credit : Microsoft)

 

“Microsoft” จาก Inclusive Tech Lab สู่การเปิดตัว Adaptive Accessories “เมาส์คีย์บอร์ดเพื่อผู้พิการ

หนึ่งในพันธกิจของ “Microsoft” คือ การพัฒนา “Inclusive Technology” เพื่อทำให้ผู้พิการทุกคนสามารถเข้าถึงการใช้งานผลิตภัณฑ์และบริการของ Microsoft ได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น

นับตั้งแต่เปิดตัว “Xbox Adaptive Controller” คอนโทรลเลอร์ปรับแต่งได้ เพื่อให้เหมาะกับผู้พิการโดยเฉพาะ ขยายผลสู่การเปิดตัว “Surface Adaptive Kit” เป็นชุดเครื่องมือสัญลักษณ์ (คล้ายกับสติ๊กเกอร์) ติดกับอุปกรณ์ เพื่อให้ผู้พิการสัมผัสใช้งานง่ายขึ้น

ขณะที่ล่าสุดได้เปิดตัว “Inclusive Tech Lab” ใหม่ที่ปรับปรุงมาจากแล็บดั้งเดิมของทีม Xbox ในปี 2017 โดย Inclusive Tech Lab เป็นศูนย์เรียนรู้ และบ่มเพาะการออกแบบทดสอบ และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการ Microsoft สำหรับผู้พิการโดยเฉพาะ โดยผู้พิการสามารถมีส่วนร่วมในการคิด และประเมินการอกแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงทิศทางได้

Microsoft Surface Adaptive Kit
Microsoft Surface Adaptive Kit (Photo Credit : Microsoft)

นอกจากนี้ยังได้ประกาศเตรียมวางจำหน่าย “Microsoft Adaptive Accessories” อุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้พิการใช้งานคอมพิวเตอร์ง่ายขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2022

อุปกรณ์เสริมปรับแต่งได้ล่าสุดนี้ ประกอบด้วย “Adaptive Mouse” เมาส์ปรับแต่งได้ให้เหมาะสมกับผู้ใช้งาน เช่น เสริมด้วย Adaptive Mouse Tail สำหรับการใช้งานเมาส์แบบดั้งเดิม และสามารถใช้เทคโนโลยี 3D Printing ทำอุปกรณ์เสริม 3 มิติประกอบติดกับเมาส customize ได้ตามต้องการ

Microsoft Adaptive Accessories
Microsoft Adaptive Accessories (Photo Credit : Microsoft)

นอกจากนี้ผู้ใช้งานสามารถสร้าง input ต่างๆ ได้เอง โดยไม่ต้องใช้คีย์บอร์ด ด้วย “Adaptive Hub” อุปกรณ์เชื่อมต่อไร้สาย และทำงานคู่กับ “Adaptive Button” เป็นปุ่มกลมไร้สาย สามารถปรับแต่ง input ตามต้องการ โดยด้านบนมีให้เลือกจะเป็นแบบ d-pad, จอยสติ๊ก หรือปุ่มคู่ รวมทั้งสามารถใช้ 3D Printing สำหรับ personalize อุปกรณ์เสริม เพื่อให้เหมาะกับผู้ใช้งานจริงๆ

Microsoft Adaptive Accessories
Photo Credit : Microsoft
Microsoft Adaptive Accessories
Photo Credit : Microsoft

 

“Mattel” ครีเอท “Barbie” แนวคิด Diversity & Inclusion สร้างค่านิยมความงามที่หลากหลายให้กับเด็ก

“Mattel Inc.” ในผู้ผลิตของเล่นรายใหญ่ระดับโลก หนึ่งในนั้นคือ ตุ๊กตาบาร์บี้” (Barbie) ถือเป็น Iconic Fashion Doll มายาวนานกว่า 6 ทศวรรษ ที่ผ่านมาในอดีตบาร์บี้ถูกนำเสนอด้วยรูปลักษณ์ผิวขาว ผมบอนด์ ตาสีฟ้า มีรูปร่างบาง และเป็นแฟชั่นนิสต้า เช่นเดียวกับเคนตุ๊กตาชายหนุ่ม รูปร่างกำยำ

ถึงแม้บาร์บี้ และเคน จะเป็นตุ๊กตาขวัญใจเด็กๆ ทั่วโลก แต่ก็มีเสียงสะท้อนจากสังคมในอีกด้านหนึ่งว่า เป็นการสร้างค่านิยมความงามแบบผิดๆ ให้กับเด็ก

Barbie
Photo Credit : DinosArt / Shutterstock.com

ยิ่งเข้าสู่ยุคที่เปิดกว้างทางความคิด และความหลากหลายมากขึ้น ทำให้ “Mattel Inc.” พยายามปรับตัว เพื่อทำให้บาร์บี้และเคนยังคงอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ด้วยการมุ่งเน้น “Diversity & Inclusion”

จนนำมาสู่การพัฒนาตุ๊กตาบาร์บี้คอลเลคชั่น “Barbie Fashionistas” รูปลักษณ์ใหม่ที่มีมากถึง 176 ลุค มีความหลากหลาย และแตกต่างกันในโทนสีผิว, สีตา, สีผม, ประเภทรูปร่างที่สมจริงมากขึ้น, ความทุพพลภาพ และแฟชั่น โดยได้รับแรงบันดาลใจจากชีวิตจริงของผู้คน และมีจุดมุ่งหมายให้เด็กๆ ได้สัมผัสกับความงามที่หลากหลายมากขึ้น เช่น

ปี 2019 สร้างความร่วมมือกับ Jordan Reeves เยาวชนนักเคลื่อนไหวเพื่อผู้พิการ สร้างตุ๊กตาบาร์บี้ที่มีขาเทียม และสามารถถอดออกได้ เพื่อความสมจริง และจับมือกับ UCLA Mattel Children’s Hospital และผู้เชี่ยวชาญด้านวีลแชร์ ทำบาร์บี้นั่งบนวีลแชร์

ในฐานะแบรนด์ เรายกระดับการสนทนาความทุพพลภาพด้านร่างกาย มานำเสนอผ่านคอลเลคชั่นตุ๊กตาแฟชั่นของเรา เพื่อแสดงถึงมุมมองความงามและแฟชั่นในหลากหลายมิติ” Mattel กล่าวถึงความมุ่งมั่น

Barbie_Jordan Reeves
Mattel จับมือกับ Jordan Reeves เยาวชนนักเคลื่อนไหวเพื่อผู้พิการ สร้างสรรค์บาร์บี้คอลเลคชั่นปี 2019 (Photo Credit : www.jordanreeves.com)

ปี 2020 เปิดตัวตุ๊กตาในคอลเลคชั่น Barbie Fashionistas เพิ่มเติม โดยมีทั้งบาร์บี้ ไม่มีผม และบาร์บี้ เป็นโรคด่างขาว (Vitiligo) เพื่อตอกย้ำแนวคิด “Diversity & Inclusion” ที่ต้องการแสดงมุมมองความงามและแฟชั่นในหลากหลายมิติ

Barbie
Photo Credit : Instagram Barbie

ปี 2022 เปิดตัวตุ๊กตาใหม่ในคอลเลคชั่น Barbie Fashionistas ครั้งนี้จะเพิ่มความหลากหลายมากขึ้น ทั้งบาร์บี้ใส่เครื่องช่วยฟัง (Hearing Aid) โดยทำงานร่วมกับนักโสตวิทยา เพื่อสร้างแบบจำลองเครื่องช่วยฟังติดแบบแขวนหลังหู, บาร์บี้บนวีลแชร์, บาร์บี้ใส่ขาเทียม, บาร์บี้ในรูปร่าง สีผิว สีผม ทรงผมที่แตกต่างกัน และตุ๊กตาเคนที่เป็นโรคด่างขาว

Barbie Fashionistas 2022
Photo Credit : Mattel, People
Barbie Hearing Aid_2022
บาร์บี้ใส่เครื่องช่วยฟัง (Photo Credit : Instagram Barbie)

 

“MUJI” ผลิตคอลเลคชั่น “MUJI Labo” เสื้อผ้าไม่จำกัดเพศ

“Ryohin Keikaku Group” บริษัทแม่ของ “MUJI” มีนโยบายเคารพในความหลากหลาย (Respect for Diversity) ประกอบด้วย ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และผลักดันความก้าวหน้าของผู้หญิงในองค์กร, จ้างงานผู้พิการ ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2000 และสนับสนุนโครงการ Pink Ribbon เป็นสัญลักษณ์สากลของการสร้างการตระหนักรู้ และรณรงค์ต่อต้านมะเร็งเต้านม

นอกจากนี้ “MUJI” ยังได้ปั้น sub-brand “MUJI Labo” ภายใต้แนวคิดประกอบด้วย

กลับสู่พื้นฐานของชีวิต ที่ไม่จำเป็นต้องไล่ตามเทรนด์แฟชั่น และออกแบบให้สามารถใช้งานได้จริง

เครื่องแต่งกายที่ไม่จำกัดเพศ (Unisex) สวมใส่ได้ทั้งชาย และหญิง แตกต่างกันเพียงขนาดเสื้อ

ใช้สีพื้นฐาน เพื่อให้ง่ายต่อการ Mix & Match สำหรับคนทุกรุ่น

MUJI Labo
MUJI Labo

ความน่าสนใจของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายกลุ่มนี้ คือ คอนเซ็ปต์ของสินค้าและการออกแบบที่ต้องการสร้างแรงบันดาลใจการแต่งกายเรียบง่าย พื้นฐานทั่วไป เป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่ได้ทุกคน และสามารถแบ่งปันกันใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็นคู่รัก, พี่น้อง, พ่อแม่ หรือลูกๆ โดยมีเป้าหมายสร้าง Next Generation ของการออกแบบพัฒนาเสื้อผ้าเบสิค ที่หลีกเลี่ยงการเสริมแต่งแฟชั่นโดยไม่จำเป็น

MUJI Labo
MUJI Labo

 

Source : Deloitte 

Source : Microsoft 1 ,

Source : The Guardian , People , CNN 

Source : MUJI 1 ,


  • 347
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ