ดราม่านี้อีกยาว! เมื่อบอร์ด กสทช. เรียกเก็บรายได้ช่วงเยียวยาลูกค้า ทรูมูฟ-ดิจิตอลโฟน 4,251 ล้าน

  • 107
  •  
  •  
  •  
  •  

PDX1N90

กลายเป็นดราม่าระหว่างหน่วยงานยังไงยังงั้น เมื่อที่ประชุม กสทช. มีมติเรียกเงินรายได้ช่วงระยะเวลาเยียวยาผู้ใช้บริการจากทรูมูฟ 3,381.95 ล้านบาท และจากดิจิตอลโฟน 869.51 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 4,251.46 ล้านบาท เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน พร้อมนัดประชุมเพื่อหาข้อสรุปเรื่องดีแทคขอใช้สิทธิเยียวยาคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz ในวันที่ 12 ก.ย.นี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า วันนี้ (5 ก.ย. 2561) ที่ประชุม กสทช. พิจารณาผลการพิจารณาตรวจสอบรายได้แผ่นดินนำส่งคลังในช่วงระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ กรณีคลื่นความถี่ 1800 MHz โดยที่ประชุม กสทช. มีมติ ดังนี้

1. รับทราบผลการพิจารณาของคณะทำงานตรวจสอบเงินนำส่งรายได้แผ่นดินจากการให้บริการในระยะเวลาความคุ้มครองผู้ใช้บริการ และสำนักงาน กสทช. ต่อรายงานผลการพิจารณาเกณฑ์การตรวจสอบรายได้แผ่นดินนำส่งคลังของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

2. เห็นชอบเกณฑ์และผลการพิจารณาตรวจสอบรายได้แผ่นดินนำส่งคลังในช่วงระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการกรณีคลื่นความถี่ 1800 MHz ตามที่คณะทำงานตรวจสอบฯ และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองงาน กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคมเสนอ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

2.1 กรณีบริษัท ทรู มูฟ จำกัด

(1) เห็นชอบให้บริษัท ทรู มูฟ จำกัด นำส่งเงินรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการ นับตั้งแต่วันที่เข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 จนถึงวันที่สิ้นสุดระยะเวลาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ (16 ก.ย. 2556 ถึงวันที่ 3 ธ.ค. 2558) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 3,381,958,336.14 บาท

(2) โดยที่ กทค. ได้เคยมีคำสั่งตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 17/2558 ให้บริษัทฯ นำส่งรายได้ช่วงที่ 1 (16 ก.ย. 2556-17 ก.ค. 2557) ไปแล้ว เป็นจำนวน 1,069,983,638.11 บาท ดังนั้นจึงมีคำสั่งให้บริษัทฯ จะต้องนำส่งเงินรายได้เพิ่มเติมเป็นจำนวน 2,311,974,698.03 บาท พร้อมนำส่งดอกผลและดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้น มายังสำนักงาน กสทช. เพื่อที่สำนักงาน กสทช. จะได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป

2.2 กรณีบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด

(1) เห็นชอบให้บริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด นำส่งเงินรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการ นับตั้งแต่วันที่เข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 จนถึงวันที่สิ้นสุดระยะเวลาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ (16 ก.ย. 2556 ถึงวันที่ 25 พ.ย. 2558) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 869,512,486.51 บาท

(2) โดยที่ กทค. ได้เคยมีคำสั่งตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 17/2558 ให้บริษัทฯ นำส่งรายได้ช่วงที่ 1 (16 ก.ย. 2556-17 ก.ค. 2557) ไปแล้ว เป็นจำนวน 627,636,136.84 บาท ดังนั้นจึงมีคำสั่งให้บริษัทฯ จะต้องนำส่งเงินรายได้เพิ่มเติมเป็นจำนวน 241,876,349.67 บาท พร้อมนำส่งดอกผลและดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้น มายังสำนักงาน กสทช. เพื่อที่สำนักงาน กสทช. จะได้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป

2.3 กรณีบริษัท กสท โทรคมนาคมจำกัด (มหาชน)

(1) เห็นชอบค่าใช้จ่ายของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ที่เกิดจากการใช้โครงข่ายในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ในระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ นับตั้งแต่วันที่เข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวตามประกาศมาตรการคุ้มครองฯ พ.ศ. 2556 จนถึงวันที่สิ้นสุดระยะเวลาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz เป็นจำนวนเงิน 2,300,772.59 บาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด (ตั้งแต่ 16 ก.ย. 2556 ถึงวันที่ 3 ธ.ค. 2558) เป็นจำนวนเงิน 1,875,043.24 บาท และค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายของบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด (ตั้งแต่ 16 ก.ย. 2556 ถึงวันที่ 25 พ.ย. 2558 เป็นเงินจำนวน 425,729.35 บาท)

(2) โดยที่ กทค. ได้เคยมีมติในการประชุมครั้งที่ 17/2558 และมติในการประชุมครั้งที่ 23/2558 เห็นชอบค่าใช้จ่ายของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ช่วงที่ 1 (16 ก.ย. 2556-17 ก.ค. 2557) ไปแล้ว เป็นจำนวน 788,960.13 บาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด เป็นเงินจำนวน 594,352.99บาท และค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายของบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด เป็นเงินจำนวน 194,634.14 บาท ดังนั้น จึงเห็นชอบค่าใช้จ่ายของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพิ่มเติมเป็นจำนวน 1,511,812.46 บาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด เป็นเงินจำนวน 1,280,717.25 บาท และค่าใช้จ่ายในการใช้โครงข่ายของบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด เป็นเงินจำนวน 231,095.21 บาท

หากมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าผู้ให้บริการยังคงมีเงินรายได้ที่ต้องนำส่งตามประกาศมาตรการคุ้มครองฯ พ.ศ. 2556 เพิ่มเติมอีก กสทช. จะพิจารณาเรียกเก็บเพิ่มเติมต่อไป

3. เห็นควรมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. นำส่งเกณฑ์และผลการพิจารณาตรวจสอบรายได้แผ่นดินนำส่งคลังในช่วงระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการ กรณีคลื่นความถี่ 1800 MHz ดังกล่าวให้ สตง. ทราบด้วย

นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ยังได้พิจารณากรณีบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ขอทบทวนมติที่ประชุม กสทช. เรื่อง แผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการ สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ในย่าน 850 MHz โดยขอให้ผู้ใช้บริการได้รับความคุ้มครองตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 จนกว่า กสทช. จะจัดสรรคลื่นความถี่สัมปทานย่าน 850 MHz หรือ 900 MHz ที่ปรับเปลี่ยนจากคลื่นสัมปทาน 850 MHz ให้แก่ผู้อนุญาตรายใหม่ ซึ่งที่ประชุม กสทช. มองว่าเรื่องนี้มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการจึงขอให้สำนักงานรวบรวมรายละเอียดเพิ่มเติมตามที่ กสทช. ขอ เพื่อให้ กสทช. มีข้อมูลอย่างครบถ้วนและมีเวลาในการศึกษาพิจารณา และกำหนดนัดประชุม กสทช. วาระพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว ในวันพุธที่ 12 ก.ย. 2561 ที่จะถึงนี้ ก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ก.ย. 2561

Logo-TRUE

“กลุ่มทรู” ค้านสุดเสียง!

จากเรื่องราวข้างต้น ทำให้กลุ่มทรูออกมาชี้แจงกับตลาดหลักทรัพย์ โดยระบุว่า “ไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุม กสทช. และจะเดินหน้าดำเนินการทางกฎหมายต่อไป”

บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ส่งเอกสารถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แจ้งความคืบหน้าที่สำคัญถึงกรณีที่ประชุม กสทช. มีมติเรียกให้ทรูมูฟนำส่งเงินรายได้ช่วงระยะเวลาเยียวยาผู้ใช้บริการ และกรณีข้อพิพาทกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) โดยระบุว่า บริษัทไม่เห็นด้วยกับมติของที่ประชุม กสทช. ที่ให้ทรูมูฟนำส่งเงินรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 1800 MHz ในช่วงคุ้มครองผู้ใช้บริการ นับตั้งแต่วันที่เข้าสู่มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวตามประกาศ กสทช. จำนวน 3,381.95 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเกินจริง

นอกจากนี้ สำหรับกรณีข้อพิพาทกับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในเรื่องการเรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ADSL) ซึ่งบริษัทฯ ได้รับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวานนี้ (4 ก.ย. 2561) ให้บริษัทต้องชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนั้น ขอเรียนให้ทราบว่า คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด และบริษัทจะดำเนินการอุทธรณ์ตามขั้นตอนทางกฎหมาย เพื่อขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าวต่อไป

3G16

ดีแทคผิดหวัง กสทช. ยังไม่ตัดสินคุ้มครองลูกค้าใช้มือถือ

ขณะที่ ดีแทค ก็ออกแถลงการณ์ร่อนถึงสื่อมวลชน โดยมีเนื้อหาระบุว่า “ผิดหวังต่อกรณีคณะกรรมการ กสทช. ยังไม่ได้ตัดสินใจต่อการที่ดีแทค และ CAT ร่วมยื่นแผนคุ้มครองลูกค้าใช้งานมือถือคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz หลังหมดสัมปทาน ตั้งแต่เมื่อ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา”

โดยขณะนี้เหลือระยะเวลาประมาณ 10 วันจะหมดสัมปทานระหว่างดีแทคและ CAT หลังจากที่ดำเนินการให้บริการมาตลอด 28 ปี ดีแทคคาดว่าจะมีลูกค้าเป็นจำนวนมากต้องกระทบการใช้งาน 3G บนคลื่น 850 MHz หากต้องยุติการให้บริการทันทีในวันที่ 15 กันยายน 2561

ประเด็นนี้ นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ ดีแทค กล่าวว่า “คลื่น 850 MHz เป็นคลื่นที่มีความสำคัญต่อผู้ใช้งานพื้นที่ชนบทหรือผู้ที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล ดังนั้นคลื่นนี้จึงมีความสำคัญต่อการคุ้มครองให้ใช้บริการต่อเนื่องเป็นการชั่วคราว เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานได้รับผลกระทบจนกว่าคลื่นความถี่จะถูกนำไปใช้งานด้วยการจัดสรรให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งการดูแลผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ใช้งานต่อเนื่องถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของ กสทช. ที่จะคุ้มครองลูกค้าร่วมกับดีแทค และที่ผ่าน ผู้ประกอบการรายอื่นล้วนได้รับความคุ้มครองจาก กสทช. ทั้งสิ้น”

ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช. ได้มีระบุมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้สัญญาให้บริการเดิม จากการที่คลื่นความถี่ที่ถือครองกำลังจะสิ้นสุดสัมปทาน เพื่อให้ผู้ใช้งานที่ยังอยู่ในระบบสัมปทานเดิม ซิมไม่ดับและมั่นใจในการใช้บริการอย่างต่อเนื่อง การนำคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรของประเทศทิ้งไว้โดยเปล่าประโยชน์ ไม่เพียงแต่ทำให้ลูกค้าดีแทคได้รับผลกระทบเท่านั้น ยังส่งผลถึงการสร้างรายได้ให้กับรัฐในการจัดการคลื่นความถี่ช่วงคุ้มครองชั่วคราวอีกด้วย ดีแทคกำลังดำเนินมาตรการอย่างเต็มที่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสัมปทาน เพื่อไม่ให้ลูกค้าได้รับผลกระทบจากการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่

อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (6 ก.ย.) ดีแทค ยังมีกำหนดการเชิญสื่อมวลชนร่วมรับฟัง “ประกาศมาตรการคุ้มครองลูกค้าเพื่อบรรเทาผลกระทบหมดสัมปทาน” อีกด้วย

 


  • 107
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน
CLOSE
CLOSE