ดีลคลื่น 2300 แลกฝัน! เมื่อดีแทคหวัง “dtac-T” ชุบชีวิต สู้ศึกเครือข่าย

  • 48
  •  
  •  
  •  
  •  

TOT_DTAC231A2891

อย่างที่รู้กันว่าในเดือนกันยายนนี้ คลื่นความถี่ 850 MHz และ 1800 MHZ ซึ่งมีแบนด์วิธรวมกันกว่า 35 MHz ที่ dtac ใช้ให้บริการลูกค้าอยู่กำลังจะหายไป เนื่องจากสิ้นสุดสัมปทานกับ CAT (บมจ.กสท โทรคมนาคม) ทางออกของเรื่องนี้มีเพียงทางเดียวคือ dtac ต้องหาคลื่นความถี่ใหม่มาทดแทน โดยเมื่อปลายเดือนเมษายน dtac ได้ประกาศความร่วมมือกับ TOT (บมจ.ทีโอที) เพื่อลงนามเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคม และใช้บริการข้ามโครงข่ายบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ด้วยแบนด์วิธกว่า 60 MHz

เรื่องนี้ส่งผลกระทบกับลูกค้าที่ใช้บริการอยู่หรือไม่ ธุรกิจและก้าวต่อไปในการให้บริการของ dtac จะเป็นอย่างไร?

dtac จัดงาน “The Limitless ERA dtac” เพื่อใช้เวทีนี้อัพเดทความร่วมมือกับ TOT และทำความเข้าใจกับก้าวต่อไปในการให้บริการ ด้วย 3 คำที่คุณต้องจำให้แม่น คือ 2300 MHz, dtac-T และ TDD

คลื่น 850 และ 1800 MHZ ที่กำลังจะหมดสัมปทาน ส่งผลกระทบอย่างไรกับ dtac ?

สำหรับลูกค้า dtac ที่ยังใช้บริการบนคลื่นความถี่ดังกล่าว ได้แก่ ลูกค้า dtac เดิม และลูกค้า dtac TriNet อีกจำนวนหนึ่ง นั่นหมายความว่าจะมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะลูกค้าในระบบ 2G ที่ไม่ย้ายสู่ระบบ 4G ขณะที่ลูกค้า TriNet ยังสามารถใช้บริการบนคลื่น 2100 MHz ได้ เพราะปัจจุบัน dtac ใช้คลื่น 1800 MHz ให้บริการ 2G ส่วนคลื่น 850 กับ 2100 MHz ให้บริการ 3G และใช้ทั้งคลื่น 1800 กับ 2100 MHz บางส่วนเพื่อให้บริการ 4G

การคืนคลื่น 850 และ 1800 MHZ จะทำให้ dtac เหลือคลื่น 2100 MHz อยู่ในมือเพียงคลื่นเดียว กับจำนวนเพียงแบนด์วิธ 15 MHz เห็นตัวเลขแล้วรู้ได้ทันทีว่าลดลงจากเดิมมากเกินครึ่ง และแน่นอนว่า…น้อยที่สุดในบรรดา 3 ค่ายที่ขับเคี่ยวกันในสายธุรกิจโทรคมฯ

TOT_DTAC_DSC2412

ส่วนคำถามที่ว่า การคืนคลื่นครั้งนี้จะกระทบกับลูกค้าอย่างไร คุณลาร์ส นอร์ลิ่ง CEO dtac ชี้แจงว่า… เทคโนโลยีและการพัฒนาโครงข่ายที่เราทำ รวมถึงดีไวซ์รุ่นใหม่ๆ จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ลูกค้า 2G ย้ายมาใช้งานดาต้าบนโครงข่ายใหม่อยู่แล้ว ส่วนลูกค้าปกติก็สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องกังวลว่าดีไวซ์จะจับคลื่นความถี่ใด ทั้งบริการวอยซ์และนอนวอยซ์เป็นไปตามปกติ

“การมีคลื่น 2300 MHz อีก 60 MHz จากความร่วมมือกับ TOT จะทำให้ dtac มีศักยภาพในการให้บริการมากขึ้นและกลายเป็นจุดแข็งในการให้บริการ รวมถึงการมอบประสบการณ์การใช้งานที่มีคุณภาพแก่ลูกค้าได้ลื่นไหลขึ้น ส่วนเรื่องอันดับผู้นำในตลาดนั้น การมีคลื่น 2300 MHz ไม่ได้ทำให้เราคาดหวังกับเรื่องดังกล่าว แต่อยู่ที่ความสามารถในการปรับปรุงบริการให้ดีขึ้นและปล่อยให้เรื่องดังกล่าวเป็นไปตามกลไกการแข่งขันของตลาด”

เริ่มทดสอบ dtac-T เขตกรุงเทพฯ ชั้นใน

ความร่วมมือระหว่าง dtac และ TOT ในครั้งนี้ สิ่งแรกที่จะเปลี่ยนไป คือ สัญลักษณ์ “dtac-T” ซึ่งจะปรากฎขึ้นเมื่อดีไวซ์ของคุณเชื่อมสัญญาณกับเครือข่าย 2300 MHz โดยขณะนี้ dtac ประกาศว่ามีการทดสอบให้บริการ dtac-T ผ่านเสาสัญญาณ 10 เสาแรก ที่ติดตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ใจกลางเมือง อาทิ สาทร, สีลม, พระราม3, ราชประสงค์, สุขุมวิท และเจริญกรุง เป็นต้น

แต่ทุกพื้นที่ที่กล่าวมานี้ “ยังไม่เปิดให้ลูกค้าทั่วไปใช้งาน” ต้องรอกำหนดเปิดให้บริการจากทาง dtac อีกครั้ง แต่คาดว่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ ส่วนใครที่กำลังลุ้นว่า dtac-T เปิดให้บริการแล้วจะมีโปรโมชั่นเด็ดๆ ลดราคาแพ็กเกจหรือลดราคาสมาร์ทโฟน ก็ต้องติดตามกันในวันนั้นเช่นกัน

ลงทุนเน็ตเวิร์กปีนี้ ไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท!

ส่วนเรื่องการลงทุนเครือข่ายในปีนี้ CEO dtac ยืนยันว่าจะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 15,000-18,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน โดยจะเป็นการลงทุนกับ 2 เครือข่าย คือ 2100 และ 2300 MHz เพื่อขยายสถานีฐานและเสาสัญญาณ

“การโรลเอ้าท์ต่อจากนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดของ dtac คือเทคโนโลยี TDD ที่จะให้บริการบนคลื่น 2300 MHz ซึ่งจะกลายเป็นกำลังสำคัญของเรา และคาดว่าจะสามารถให้บริการได้ถึง 37 จังหวัดภายในสิ้นปีนี้ ด้วยจำนวนเสาสัญญาณราว 4,000 เสา ภายใต้เป้าหมาจำนวนเสาสัญญาณรวม 25,000 เสา เพื่อให้บริการทั่วประเทศภายในปีหน้า”

TOT_DTAC231A3072
Big Deal ครั้งนี้มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดตัวคลื่น 2300 MHz TDD (ที่ 3 จากซ้าย) และ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ที่ 2 จากซ้าย) มาร่วมงาน

เทคโนโลยี TDD เปลี่ยนประสบการณ์คนไทยใช้ดาต้า

อย่างที่รู้กันว่าคนไทยใช้ดาต้าสูงติดอันดับโลก ในปีนี้สถิติการใช้ดาต้าของคนไทยอยู่ที่ 8GB ต่อคนต่อเดือน สะท้อนถึงความนิยมใช้งานที่มากขึ้นและมากขึ้นต่อเนื่อง ในส่วนของดีไวซ์ที่รองรับ 4G ในปัจจุบันก็มีสัดส่วนมากกว่า 70% และมีสมาร์ทโฟนที่พร้อมรับเทคโนโลยีดังกล่าว

บนคลื่นความถี่ 2300 MHz ที่ dtac ใช้นี้ มีเทคโนโลยี Time Division Duplex (TDD) ซึ่งมีคุณสมบัติในการจัดการแบนด์วิธสำหรับการอัพลิงค์ และดาวน์ลิงค์บนแบนด์วิธเดียวได้พร้อมกันตลอดเวลา และยังมี Massive MIMO เทคโนโลยีเพิ่มการรับ-ส่งดาต้าในแต่ละเสาสัญญาณได้มากกว่าเดิม ทำให้ dtac มั่นใจว่า ดีลคลื่น 2300 MHz ครั้งนี้ จะเป็นกุญแจสำคัญ ไม่ใช่แค่การให้บริการดาต้าแก่ลูกค้าได้ดีขึ้น แต่ยังเป็นการปูทางสู่ 5G อีกด้วย และทั่วโลกก็ใช้เทคโนโลยี 4G LTE-TDD แล้วกว่า 57 ประเทศ

ดีลสร้างรายได้ TOT รับกว่า 4,500 ล้านบาทต่อปี!

คุณมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ TOT บอกว่า เมื่อหักลบค่าใช้บริการระหว่างกัน TOT จะได้รับค่าตอบแทนจาก dtac ราวๆ 4,510 ล้านบาทต่อปีจนถึง 2568

“ในอดีตคลื่น 2300 MHz เคยเป็นเครื่องมือให้บริการโทรคมฯ ระบบทางไกลชนบท วันนี้คลื่น 2300 กำลังจะถูกนำกลับมาใช้งานอีกครั้ง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงข้อมูลของคนไทย มอบโอกาสในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเท่าเทียม นำประเทศเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ต่อยอดความสำเร็จของระบบโทรคมนาคมและระบบดิจิทัลของไทย”

Copyright © MarketingOops.com


  • 48
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน
CLOSE
CLOSE