ดีลนี้มีแต่ผู้ชนะ! เจาะเบื้องลึก “ดุสิตธานี” เปิดทางให้ “เซ็นทรัล” ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2

  • 881
  •  
  •  
  •  
  •  

cpn

เป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ไม่น้อย เมื่อ “บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)” หรือ “CPN” ประกาศเข้าซื้อหุ้นสามัญของ “บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ “DTC” จำนวน 194,926,920 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 22.93 ของหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด 850,000,000 หุ้น มูลค่ารวมประมาณ 2,141.4 ล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุนระยะยาว และ CPN ไม่มีวัตถุประสงค์ในการเข้ามีส่วนร่วมในการบริหารงานของ DTC แต่อย่างใด

การเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ ส่งผลให้ “CPN” จากเดิมที่ไม่ได้ถือหุ้นใน “ดุสิตธานี” กลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 รองจาก “บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด” ที่ถือหุ้นสัดส่วนเท่าเดิม คือร้อยละ 49.74

ขณะที่ “บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)” หรือ “DTC” แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ตามที่ได้มีการขายหุ้นผ่านระบบการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์บนกระดานใหญ่ (Big Lot) จำนวนรวม 194,926,920 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 22.93 ของทุนชำระแล้วนั้น โดยผู้ที่ขายหุ้น มี 2 ราย คือ “นายเค็นเน็ท กอศิริโสภณ” ซึ่งถือหุ้นผ่าน UOB Kay Hian (Hong Kong) Limited – Client Account และ Citibank Nominees Singapore Pte. Ltd. – PBG Clients H.K. จำนวนร้อยละ 11.63 และ “บริษัท เอ็ม บี เค โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด” ร้อยละ 11.30

ถอดสมการ 1 + 1 = 3 เมื่อดีลนี้ Win-Win ทั้งสองฝ่าย

ประเด็นการเข้าถือหุ้นของ CPN ในดุสิตธานี เรียกได้ว่าเป็นสมการ 1 + 1 = 3 นั่นเพราะยุทธศาสตร์ธุรกิจของทั้งสองบริษัทสอดคล้องกัน โดยในฝั่ง “CPN” มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโครงการศูนย์การค้า และปัจจุบันหลายโลเกชั่นที่ CPN เข้าไปปักหมุดตั้งโครงการ เน้นพัฒนาในรูปแบบ Mixed-use Project ที่ครอบคลุมทั้งศูนย์การค้า, โรงแรม, อาคารสำนักงาน และขณะนี้เริ่มขยายตัวเข้าสู่อสังหาริมทรัพย์ ประเภทที่อยู่อาศัย ภายใต้ชื่อบริษัท “CPN Residence”  เนื่องจากการทำ Mixed-use Project สามารถสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” และ “สร้างประโยชน์สูงสุด” ให้กับที่ดินผืนนั้น

Central_02

ส่วนฝั่ง “ดุสิตธานี” มีความเชี่ยวชาญในการการพัฒนาธุรกิจโรงแรมมายาวนาน จนทุกวันนี้กลายเป็นเชนโรงแรมรายใหญ่ ทั้งลงทุนเอง และรับบริหาร ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ธุรกิจของ “ดุสิตธานี” ภายหลังจาก “คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์” เข้ารับตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ได้กำหนดกลยุทธ์สร้างการเติบโตระยะยาว ประกอบด้วย

1. ขยายการเติบโตของธุรกิจหลัก คือ “ธุรกิจโรงแรม” ที่ขณะนี้มีทั้งลงทุนเอง และรับบริหาร รวม 27 แห่ง โดยตั้งเป้าเติบโตอย่างน้อย 3 เท่าจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน

2. สร้างความสมดุลของรายได้ธุรกิจทั้งจากในประเทศ และจากต่างประเทศ ให้เป็น 50 : 50 ที่มาจากการลงทุนเอง และการรับบริหาร จากปัจจุบันรายได้หลักยังคงมาจากธุรกิจในประเทศ

3. กระจายความเสี่ยงด้านการลงทุน ด้วยการสร้างธุรกิจใหม่ที่เชื่อมโยงและสนับสนุนธุรกิจโรงแรม เนื่องจากทุกวันนี้รายได้หลักของ “กลุ่มดุสิต” มาจาก “ธุรกิจโรงแรม” แม้ปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทยจะเฟื่องฟู แต่ในอีกมุมหนึ่งธุรกิจท่องเที่ยวมี “ความผันผวนสูง” ทั้งเหตุการณ์บ้านเมืองในประเทศ ต่างประเทศ และเศรษฐกิจ ทำให้เมื่อไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ จะกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทันที ประกอบกับการแข่งขันรุนแรงในธุรกิจโรงแรม ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ที่กลุ่มดุสิตเข้าไปลงทุน

ดังนั้น แผนกระจายความเสี่ยง ด้วยการขยายไปยัง “ธุรกิจใหม่” ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับ Core Business “โรงแรม” จึงเป็นคำตอบที่จะทำให้ “กลุ่มดุสิต” ไม่ต้องพึ่งพา “ธุรกิจโรงแรม” แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จากปัจจุบันรายได้กว่า 80% มาจากธุรกิจโรงแรม

Dusit-CPN
Credit : บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน)

“Mixed-use Project” ความหวังใหม่กลุ่มดุสิต และ เพิ่มโอกาสธุรกิจให้กับ “กลุ่มเซ็นทรัล”

ทำให้ได้เห็นการขยับทัพครั้งใหญ่ของกลุ่มดุสิต เมื่อครั้งประกาศร่วมทุนกับ “CPN” เพื่อพลิกโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ บนถนนสีลม ให้กลายเป็น “Mixed-use Project” มูลค่ากว่า 36,700 ล้านบาท ประกอบด้วยโรงแรม, อาคารที่พักอาศัย, อาคารสำนักงาน และรีเทล

คุณศุภจี เคยให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงยุทธศาสตร์การกระจายความเสี่ยง ด้วยการสร้างธุรกิจใหม่ ได้ปรับโครงสร้างและเพิ่มทีมงานด้านนี้ขึ้นมา เพื่อศึกษาโอกาสโดยเฉพาะ โดยตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปีนี้จะต้องปั้นธุรกิจใหม่ให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10%

นอกจากนี้ยังมองถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินสะสมที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3 แปลงที่กำลังศึกษา ได้แก่ เกาะสมุย ที่มีอยู่กว่า 80 ไร่ติดชายหาดและถนน และ ที่ดินในหัวหินและนครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ดินข้างเคียงกับโรงแรมที่มีอยู่ โดยรูปแบบการลงทุน จะเน้นโครงการ Mixed-use Development ที่ต่อไปจะถูกยกเป็นหัวใจหลักในการขยายกิจการของดุสิต เพราะมองว่ารูปแบบการผสมผสานจะสร้างผลตอบแทนในที่ดินได้มากที่สุด

shutterstock_1068259778

เพราะฉะนั้น หลังจาก CPN ถือหุ้นในดุสิตธานี จึงมีความเป็นไปได้ว่าการพัฒนาที่ดินในรูปแบบ Mixed-use Project ของกลุ่มดุสิต จะดึง “CPN” มาร่วมต่อจิ๊กซอว์โครงการให้ครบวงจร ซึ่งจะทำให้ธุรกิจในเครือ “กลุ่มดุสิต” กระจายตัว และลดการพึ่งพา “ธุรกิจโรงแรม” ลงไปด้วย

ขณะเดียวกันมีโอกาสที่ “CPN” ในฐานะที่เป็น “หัวขบวน” จะดึงธุรกิจในเครือเซ็นทรัลที่มีความครบวงจรของ Business Ecosystem ด้านไลฟ์สไตล์ ทั้งธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร แฟชั่น โรงแรม ฯลฯ เข้ามาอยู่ในโครงการ Mixed-use ของกลุ่มดุสิตด้วยเช่นกัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจต่างๆ ของเครือเซ็นทรัล

Central_01

 

 

Copyright ©MarketingOops.com

 


  • 881
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ