ความท้าทาย “GDH – นาดาว” สร้างโมเดลธุรกิจโตอย่างยั่งยืน ต้องเป็นมากกว่าผู้ผลิตหนัง-ซีรีส์-ดูแลศิลปิน

  • 295
  •  
  •  
  •  
  •  

GDH-nadao

ในยุค Digital Disruption หัวใจสำคัญที่ทำให้แบรนด์ หรือองค์กรดำรงอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง คือ การมองหา Business Model ใหม่ ที่จะนำพาแบรนด์ หรือองค์กรนั้นๆ เติบโตต่อไปได้ในอนาคต ทั้งในมิติของการเป็นแหล่งรายได้ใหม่ และด้านความยั่งยืน

เมื่อพูดถึง GDH 559” (จีดีเอช 559 ก่อตั้งในปี 2559 หลังจากปิด GTH) และบริษัท “นาดาว บางกอก” (Nadao Bangkok) คนส่วนใหญ่จะนึกถึง “ภาพยนตร์ – ซีรีส์ – ศิลปินนักแสดง” เพราะความที่ GDH เติบโตบนรากฐานของการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ “ภาพยนตร์” ในขณะที่นาดาว จุดเริ่มต้นมาจากการเป็นบริษัทดูแลศิลปิน ด้วยการใช้โมเดลทำโปรดักชั่น “ซีรีส์” เพื่อพัฒนาศิลปินควบคู่กัน เริ่มต้นจากรับจ้างผลิต กระทั่งปัจจุบันเป็นผู้ลงทุนผลิตเอง

แต่ในยุคดิจิทัล ที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงคอนเทนต์ได้หลากหลาย อีกทั้งยังมีสิ่งต่างๆ มากมายมาดึงความสนใจของผู้บริโภค ขณะที่เราทุกคนต่างมีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน นั่นหมายความว่าในแต่ละวัน ผู้บริโภคถูกคอนเทนต์นับพันรายล้อมรอบตัว

ว่ากันว่านับตั้งแต่ตื่นเช้า จนถึงเข้านอน มนุษย์เห็นโฆษณาไม่ต่ำกว่า 4,000 – 10,000 ชิ้นต่อวัน และปัจจุบันบนโลกดิจิทัลมีเว็บไซต์มากกว่า 1,800 ล้านเว็บ

digital content

ทั้งยังเกิด “แพลตฟอร์มดิจิทัล” จำนวนมาก ทั้ง Social Media, Video Streaming, Music Streaming ซึ่งทำให้เกิด Content Creator ที่ครีเอทคอนเทนต์รูปแบบใหม่ และบางคนสามารถดังในชั่วข้ามคืน!

นับเป็นความท้าทายใหญ่ของผู้ผลิตคอนเทนต์ให้สามารถก้าวต่อไปได้ในยุค Technology Disruption

“กลุ่ม GDH” ได้ขับเคลื่อนองคาพยพครั้งใหญ่ ด้วยการสร้าง Business Model ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ผลิตคอนเทนต์ ทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ และคอนเทนต์ออนไลน์ – ทำโปรดักชั่น – ปั้นและบริหารศิลปิน – ทำ Marcom Agency วางแผนกลยุทธ์สื่อสารการตลาด – งานประชาสัมพันธ์ อีเว้นท์ ไปจนถึงซื้อสื่อโฆษณาให้กับทั้งบริษัทในเครือด้วยกันเอง และของลูกค้า  

โดยแต่ละจิ๊กซอว์ (มีทั้งบริษัทที่เปิดดำเนินการแล้ว และบริษัทที่เปิดใหม่) สามารถ synergy การทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างแหล่งรายได้ที่หลากหลาย และการเติบโตในระยะยาว ประกอบด้วย

  • GDH 559” ผลิตหนัง – ซีรีส์

  • “บริษัทนาดาว บางกอก” ทำโปรดักชั่น ผลิตซีรีส์ – หนัง, บริหารศิลปิน และเปิดนาดาว มิวสิค เพื่อทำคอนเทนต์เพลงโดยเฉพาะ

  • บริษัทสวัสดีทวีสุข” ดูแลการทำชิ้นงานคีย์ อาร์ต

  • “บริษัทเสียงดีทวีสุข” ดูแลเรื่องการมิกซ์เสียง

  • “งานดีทวีสุข” ดูแลพีอาร์ อีเว้นท์

  • ล่าสุดได้เปิดบริษัทใหม่ “บริษัทน้ำดีไม้งาม” ดูแลการวางแผนกลยุทธ์สื่อสาร และสร้างสรรค์คอนเทนต์ เพื่อโปรโมทงานในเครือ GDH ด้วยกันเอง พร้อมทั้งเปิดรับงานของลูกค้าข้างนอก

Nadao Fansign 2019

 

สำรวจสถานการณ์ “หนังไทย” รายได้จากโรงหนังลดลง!

ก่อนจะลงยุทธศาสตร์กลุ่ม GDH มาดูสถานการณ์ภาพรวมหนังไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจหลักของเครือ GDH จะพบว่าในปี 2562 รายได้รวมหนังในประเทศไทย (ทั้งหนังไทย และหนังต่างประเทศ) อยู่ที่ 4,700 ล้านบาท เติบโต 3% จากปีก่อน

ในจำนวนรายได้รวมหนังไทย แบ่งเป็น “รายได้หนังไทย” มูลค่า 711 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 14% จากจำนวนหนังไทยเข้าฉายปีที่แล้วกว่า 40 เรื่อง 

หนังไทยที่ทำรายได้จากโรงหนังมากที่สุดในปี 2562 คือ อันดับ 1 “ตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟค” ทำรายได้ 141 ล้านบาท ตามมาด้วย “Friend Zone..ระวังสิ้นสุดทางเพื่อน” ทำรายได้ 134 ล้านบาท และปิดท้ายที่ “ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ” ทำรายได้ 57 ล้านบาท

GDH Movie

สาเหตุหลักที่ทำให้ “รายได้หนังไทย” เติบโตลดลง ประกอบด้วย

  • ปัจจุบันมี “คอนเทนต์” มากมาย และหลากหลายช่องทางเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค จากในอดีตคอนเทนต์เพื่อความบันเทิงหลักๆ คือ ละคร และหนัง  

  • พฤติกรรมคนดูเปลี่ยน ผู้บริโภคมีสิ่งต่างๆ รอบตัวที่ดึงความสนใจมากมาย และมีความต้องการหลากหลาย

  • กระแส และอายุของหนังอยู่ในโรงภาพยนตร์สั้นลง จากเดิมหนัง 1 เรื่อง อยู่ในกระแสได้ 4 สัปดาห์ แต่ปัจจุบันไม่ถึง 4 สัปดาห์ ส่งผลให้ระยะเวลาที่ผู้ผลิตจะได้เงินจากคนดูนั้น สั้นลง

  • ภาวะเศรษฐกิจ และปัจจัยแวดล้อมอื่น เช่น ฝุ่นพิษ PM 2.5, รถติด

“สมัยก่อนหนัง 1 เรื่องสามารถอยู่ในกระแสได้ 4 อาทิตย์ และคนดูหนังกระจายกันมาดู ตั้งแต่อาทิตย์แรก อาทิตย์ที่สอง และอาทิตย์ที่สาม แต่ทุกวันนี้ไม่ถึง 4 อาทิตย์ คนเน้นหนักไปที่อาทิตย์แรกที่หนังเข้าฉาย ถ้าหลังจากอาทิตย์แรกแล้ว รอบหนังเริ่มน้อยลง เพราะโปรแกรมหนังใหม่เยอะ และความสนใจของคนดู ก็ลดลง

ด้วยความที่คนดูมีคอนเทนต์อื่นๆ มากมาย ทำให้อาจเปลี่ยนใจไม่ไปดูหนังโรงแล้ว ดังนั้นเวลาโปรโมท ต้องโปรโมทให้กว้างมากที่สุด เพื่อให้คนดูออกมาดูหนังให้ได้มากที่สุด นี่จึงทำให้อายุของหนังอยู่ในโรงภาพยนตร์สั้นลง” คุณจีน่า โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด (GDH 559) เล่าถึงสถานการณ์หนังไทย และพฤติกรรมคนดูในยุคดิจิทัล

GDH - Nadao
คุณจินา โอสถศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GDH 559

 

4 โอกาสสร้าง Landscape ใหม่ให้กับ “อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย – คอนเทนต์ไทย”  

อย่างไรก็ตามถึงแม้ “หนังไทย” จะมีรายได้จากการฉายในโรงภาพยนตร์ลดลง แต่ในความท้าทายดังกล่าว ก็มี “โอกาสใหม่” เกิดขึ้น นั่นคือ

  • ปัจจุบันหนังไทย สามารถขยายไปได้ในวงกว้าง เนื่องจากโรงภาพยนตร์เปิดสาขาเพิ่มมากขึ้น ทั้งในกรุงเทพฯ -ปริมณฑล เมืองใหญ่ และที่สำคัญขยายไปยังเมืองรองมากขึ้น ด้วยโรงขนาดเล็ก

เมื่อจำนวนโรงภาพยนตร์เปิดเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ ก็เป็นโอกาสของหนังไทยที่จะเข้าถึงคนดูทั่วไทย

Cinema

  • แพลตฟอร์ม “Video Streaming” คือ window ใหม่ขยายช่องทางเข้าถึงคนดู ทั้งไทย และต่างประเทศ

ในอดีตเส้นทางการเดินทางของหนังสักเรื่อง เริ่มต้นที่การเข้าโรงภาพยนตร์ เป็น window แรก จากนั้นต่อด้วยลงแผ่น VCD / DVD หรือถ้าย้อนกลับไปเก่ากว่านั้น ลงเป็นวิดีโอ จนไปถึง window สุดท้ายคือ จอทีวี

แต่ปัจจุบันการผลิต VCD / DVD แทบไม่มีแล้ว และถูกแทนที่ด้วย window ใหม่ นั่นคือ แพลตฟอร์ม Video Streaming ที่มีทั้งรูปแบบ Subscription ค่าสมาชิก และรูปแบบ Freemium ดูฟรี แต่มีโฆษณา

แพลตฟอร์ม Video Streaming กลายเป็นโอกาสใหม่ของค่ายผู้ผลิตหนัง ยิ่งถ้าหนังไหนดี มีคุณภาพ บรรดาแพลตฟอร์มดิจิทัลเหล่านี้ อยากได้ลิขสิทธิ์ไปลงโปรแกรมรายการ ซึ่งข้อดีของ Video Streaming คือ สามารถเข้าถึงผู้ชมได้ในวงกว้าง ทั้งในไทย และต่าปงระเทศ ในคุณภาพของทั้งภาพ และเสียงที่ดี

Netflix
Photo Credit : Netflix
  • ยุคแห่ง Big Data ทำคอนเทนต์ ไม่ว่าจะหนัง – ซีรีส์ หรือละคร ต้องเข้าใจ Insights คนดูกลุ่มเป้าหมาย

ปัจจุบันการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ 1 เรื่องให้ “โดนใจคนดูกลุ่มเป้าหมาย” ต้องศึกษา และทำความเข้าใจ Insights ต่างๆ เช่น สถิติ, พฤติกรรม – ความชอบ หรือความสนใจของคนดู, Feedback ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็น Data เชิงลึกที่สามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาคอนเทนต์

“วันนี้เราต้องยอมรับว่าใช้ Instinct อย่างเดียวไม่ได้แล้ว เรามองว่า Instinct จะมาพร้อมกับ Information ซึ่งข้อมูลที่นำมาใช้ตอนนี้ ต้องเป็น Insights เชิงลึก เช่น สถิติต่างๆ จะเป็นข้อมูลทั่วไปไม่ได้ เพราะทุกวันนี้คนดูหลากหลาย และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงเร็ว

ดังนั้น ในการทำหนัง ทำสิ่งที่เราอยากทำ ทำด้วยความใส่ใจ และเต็มที่ ขณะเดียวกันต้องศึกษาข้อมูล Insights เชิงลึก และหลังจากหนังเข้าฉาย ต้องวัดผลว่าคนดูชอบ – ไม่ชอบอะไร หนังเรื่องนั้นตรงกับสิ่งที่คนดูกลุ่มเป้าหมายสนใจหรือเปล่า

เราห้ามคิดเองว่า หนังที่เราทำออกมาดี แต่คนดูไม่มาดูเอง ถ้าคิดแบบนี้ เหมือนเราอยู่ในโหลแก้ว และมีน้ำเต็มโหล จะทำให้เราไปต่อไม่ได้ ดังนั้นคนทำหนังต้องหาให้ได้ว่า คนดูชอบ หรือไม่ชอบหนังที่เราทำขึ้น เพราะอะไร”

How to ting

เช่นเดียวกับ “คุณย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ กรรมการผู้จัดการบริษัท นาดาว บางกอก จำกัด” เล่าว่า ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้กำกับมาก่อน และวันหนึ่งมาเป็นผู้บริหาร ในสมัยเป็นผู้กำกับ เราอยากทำงานดี งานที่เราชอบ – งานที่อยากเล่า แต่เมื่อวันหนึ่งเติบโตมาทำบริษัท ทำให้เรียนรู้ว่า เราแค่อยากทำงานที่ชอบ แล้วปล่อยออกไป คิดว่างานนั้นดีแล้ว ไม่ได้ แต่เราต้องเรียนรู้ และศึกษา

“ทุกวันนี้ เวลานาดาวทำคอนเทนต์อะไรก็ตาม จะเริ่มต้นจากจุดเดิม คือ เราอยากเล่าอะไร ซึ่งมีน้องๆ ผู้กำกับอยากทำเรื่องไหน จะเข้ามาคุยกันก่อน เพื่อประเมินว่าเรื่องที่น้องผู้กำกับคนนั้นอยากทำ เรื่องนั้นเหมาะกับแพลตฟอร์มไหน

ผม กับปิง (ปิง – เกรียงไกร วชิรธรรมพร โปรดิวเซอร์นาดาว บางกอก) จะพยายามบอกน้องผู้กำกับแต่ละคนว่า เราอาจเริ่มต้นจากสิ่งที่เราอยากทำได้ แต่เราต้องรับผิดชอบกับความสำเร็จด้ย

ความสำเร็จในทีนี้ คือ น้องคงไม่อยากเหนื่อยตั้งใจทำละคร หรือซีรีส์ขึ้นมา ใช้เวลากับสิ่งนั้น ทำเสร็จแล้ว เวลาฉาย กลับไม่มีคนดู เพราะฉะนั้นต้องกลับไปจุดเริ่มต้นว่า เราเริ่มต้นจากคอนเทนต์ที่เราอยากทำ แต่ดูว่าเวลาไปฉาย ฉายที่แพลตฟอต์มไหนเหมาะสม”

  • ต่อไปการสร้างหนังจะได้เห็นโมเดลการร่วมทุน หรือสร้างความร่วมมือระหว่างพาร์ทเนอร์ต่างๆ มากขึ้น

โดยมีทั้งจับมือกับพาร์ทเนอร์ในประเทศด้วยกันเอง และรูปแบบผนึกกำลังกับต่างประเทศ เพื่อทำให้หนังเรื่องนั้นๆ มีตลาดกว้างขึ้น ทั้งในประเทศ และการเจาะต่างประเทศ

GDH - Nadao
(ซ้าย) คุณย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ กรรมการผู้จัดการบริษัท นาดาว บางกอก จำกัด

 

GDH” เข้าสู่ยุค Diversify & Collaboration โตในประเทศ – สร้างฐานคนดูต่างประเทศ

ที่ผ่านมาคนรู้จัก “GDH” ในฐานะผู้ผลิตหนัง และซีรีส์ โดยเฉพาะหนัง ชื่อของ GDH ติดอันดับต้นๆ Top of mind brand ของผู้บริโภคไทย เวลานึกถึง หรือพูดถึง “หนังไทย” เนื่องจากเป็นรากฐานมาตั้งแต่ต้น และยังคงเป็นธุรกิจหลักถึงทุกวันนี้ ที่แม้ถึงวันนี้จะเติบโตขึ้น มีธุรกิจในเครือหลายบริษัท แต่ “ธุรกิจหนัง” ยังเป็นธุรกิจหลักที่โฟกัส

อย่างเมื่อปี 2562 “GDH” มีรายได้ 471.29 ล้านบาท โต 12% จากปีก่อน ขณะที่คอนเทนต์ ทำหนังออกมา 3 เรื่อง คือ ในช่วงต้นปีส่งเรื่อง “Friend Zone..ระวังสิ้นสุดทางเพื่อน” และ “ตุ๊ดซี่ส์ & เดอะเฟค” จากนั้นปิดท้ายปีด้วย “ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ”

ส่วนซีรีส์ มี 1 เรื่องคือ “ONE YEAR 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ”  ใน LINE TV Originals หลังจากออกอากาศไป 8 ตอน มียอดวิวถึง 64 ล้านวิว และมียอดคนติดตามทั้ง Facebook และยอด fan ใน applications LINE รวม 250,000 คน และ

GDH - One Year 365 days LINE TV

ขณะที่การเดินทางของ “GDH” ปี 2563 น่าจับตามองถึงการขับเคลื่อนธุรกิจ ที่เข้าสู่ยุคDiversify” และ “Collaboration เพราะนอกจากผลิตคอนเทนต์แล้ว ได้ขยายความร่วมมือกับ “พาร์ทเนอร์” หลายราย ทั้งที่เป็นแพลตฟอร์ม Video Streaming และร่วมทุนกับต่างประเทศ

“ปัจจุบันช่องทางการขายในเมืองไทย การขยายเพิ่มมากขึ้น จะเห็นได้ว่าแอปพลิเคชันในเมืองไทยมีการแข่งขันสูงขึ้น มีแอปฯ ใหม่ๆ เช่น WeTv, Viu  และแอปฯ ระดับโลกอย่าง Netflix ที่ได้ focus ในการซื้อคอนเทนต์หนังไทย และโปรโมทหนังอย่างเต็มที่ ปีที่ผ่านมาถือว่า GDH มีพาร์ทเนอร์ทั้งเก่าและใหม่ที่ยังคงให้การสนับสนุนคอนเทนท์ไทยอย่างต่อเนื่อง

นอกจากที่กล่าวมาแล้วก็ยังมี LINE TV, Hooq, AIS PLAY และอื่นๆ อีกทั้งในปี 2563 เรายังมีแอปฯ ใหม่อย่าง iQiYi จากจีนที่จะมาเปิด hub ที่เมืองไทยอีกด้วย ซี่งจะทำให้ผู้ชมมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่ง GDH พยายามที่จะให้คอนเทนต์ของเราได้อยู่ในทุกแพลตฟอร์ม”

GDH Movie Friend Zone

สำหรับคอนเทนต์ปี 2563 มีทั้งซีรีส์ และภาพยนตร์ ประกอบด้วย 3 คอนเทนต์คือ

– ซีรีส์ 1 เรื่อง “ฉลาดเกมส์โกงเดอะซีรีส์” (Bad Genius The Series) หลังจากประสบความสำเร็จจากภาพยนตร์ ทั้งในไทย และได้การตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดจีน ทำให้ “WeTV” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม Video Streaming ของ “Tencent” (ในจีนให้บริการ Streaming ชื่อว่า Tencent Video) ติดต่อเข้ามาอยากให้ “GDH” ผลิตเรื่องฉลาดเกมส์โกง ในเวอร์ชั่นซีรีส์

ความพิเศษของเวอร์ชั่นซีรีส์นี้ อยู่ตรงที่ออกอากาศในแบบคู่ขนาน (Simulcast) ไปพร้อมกับแพลตฟอร์ม Tencent Video ประเทศจีน กับช่อง One ประเทศไทย เพื่อฉายพร้อมกัน หลังจากนั้นจะนำมา Rerun บนแพลตฟอร์ม WeTV โดย “ฉลาดเกมส์โกงเดอะซีรีส์” จะเริ่มฉายในเดือนสิงหาคมนี้

ถึงแม้ที่ประเทศจีน มีกระบวนการเซนเซอร์เข้มงวด แต่ด้วยความที่หนังฉลาดเกมส์โกง ดังและเป็นที่รู้จักในประเทศจีนอยู่แล้ว ทำให้ทางการจีนรู้อยู่แล้วว่าพล็อต และเนื้อเรื่องเกี่ยวกับอะไร – ประมาณไหน ดังนั้นการนำมาพัฒนาในเวอร์ชั่นซีรีส์ จึงมีโอกาสสูงที่จะผ่านกระบวนการเซนเซอร์ และ Simulcast ได้

– ภาพยนตร์ 2 เรื่อง คือ ภาพยนตร์แนว thriller horror ตามความถนัดของผู้กำกับสุดล้ำ กอล์ฟ – ปวีณ ภูริจิตปัญญา และปิดท้ายปลายปีด้วยภาพยนตร์ โรแมนติก คอมเมอดี้ จากผู้กำกับอารมณ์ดีเมษ ธราธร เจ้าพ่อหนังโรแมนติก คอมเมอดี้ของค่าย GDH

ขณะที่ในปี 2664 วางแผนผลิตคอนเทนต์ 4 เรื่อง ทั้งหนัง และซีรีส์ หนึ่งในนั้นเป็นโปรเจคร่วมทุนกับประเทศในเอเชีย

How to ting

 

แตกเพื่อโต! ขยายสู่ “Marketing Communication Agency

นอกจากคอนเทนต์แล้วGDH อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจคือ การเปิดบริษัทใหม่ “บริษัทน้ำดีไม้งาม” GDH ถือหุ้น 100% และมี “คุณเดียว-วิชชพัชร์ โกจิ๋ว” เป็นผู้บริหาร

บริษัทใหม่นี้ ถือเป็นการ diversify ธุรกิจไปสู่การทำ Marketing Communication Agency ดูแลตั้งแต่กรคิดคอนเทนต์ทำงานโปรโมท การวางแผนกลยุทธ์สื่อสาร ไปจนถึงซื้อสื่อ ทั้งงานในเครือ GDH และลูกค้าข้างนอกที่เป็นงานด้าน “Entertainment Content”

Nadao Fansign 2019

“บริษัทน้ำดีไม้งาม ทำหน้าที่เป็น Marketing Communication Agency ให้บริการครบวงจร ครอบคลุมทั้งการวางแผนกลยุทธ์ ทั้งในเชิงคอนเทนต์ กลยุทธ์สื่อสารรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงการซื้อมีเดีย โดยเน้นไปที่ Entertainment Content เพื่อสื่อสารการตลาดทั้งงานในเครือ GDH และลูกค้าข้างนอก

เช่น ลูกค้าข้างนอกบอกว่ามีงบประมาณเท่านี้ อยากให้ช่วยวางแผนคอนเทนต์โปรโมท และซื้อมีเดีย เราสามารถคิดกลยุทธ์ให้เบ็ดเสร็จ ส่วนการลงรายละเอียดว่าใครเป็นคนทำ ขึ้นอยู่กับลูกค้า จะใช้ outsource หรือจะให้ “บริษัทน้ำดีไม้งาม” ทำให้ก็ได้

เพราะเราสามารถช่วยคิดให้ทั้งลูป เช่น ลูกค้าที่เป็นสปอนเซอร์ซีรีส์ในเครือ GDH อยากต่อยอดไปทำอีเว้นท์ เรามีบริการในส่วนนี้ เพราะภายใต้เครือ GDH มีบริษัทเชี่ยวชาญแต่ละสาย โดยที่บริษัทน้ำดีไม้งาม ยังทำหน้าที่เป็นเหมือนเซ็นเตอร์ และจ่ายงานไปให้บริษัทในเครือ

เช่น ถ้าลูกค้าอยากให้วางแผนด้านพีอาร์ และอีเว้นท์ ในกลุ่ม GDH มีบริษัทงานดีทวีสุขดูแลด้านนี้ หรือลูกค้าอยากให้ทำโปสเตอร์คอนเทนต์โปรโมท กลุ่ม GDH มีบริษัทสวัสดีทวีสุข ทำชิ้นงานคีย์ อาร์ต” คุณเดียววิชชพัชร์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม

การขยายอาณาจักรกลุ่ม GDH จะทำให้สามารถดูแลลูกค้าได้อย่างครบวงจร ในลักษณะ One Stop Service ทำให้การขายโฆษณาสำหรับคอนเทนต์ในเครือ GDH ง่ายขึ้น เพราะมีบริการครบลูป และเป็นการเปิดบ้านรับลูกค้าจากข้างนอกที่ชอบสไตล์ GDH ซึ่งต่อไปจะทำให้ GDH มีรายได้จากหลายแหล่ง

GDH - Nadao
(ซ้าย) คุณคุณเดียว-วิชชพัชร์ โกจิ๋ว มาดูแลบริษัทน้ำดีไม้งาม และ (ขวา) คุณจินา โอสถศิลป์

 

“นาดาว” ลุยปั้นศิลปินใหม่ – ทำเพลง และซีรีส์ LINE Original – สร้างหนังครั้งแรก

ถึงวันนี้ “นาดาว บางกอก” เปิดมาครบ 10 ปีแล้ว จากก้าวแรกเมื่อปี 2552 ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นบริษัทพัฒนา และบริหารศิลปิน โดยใช้โมเดลทำโปรดักชั่นผลิตคอนเทนต์ เพื่อพัฒนาศิลปินรุ่นใหม่

เส้นทางของในยุคแรกของ “นาดาว บางกอก” ยังเป็นบริษัทรับจ้างผลิตคอนเทนต์ เรื่องแรกคือ “ซีรีส์ฮอร์โมน” ผลิตป้อนให้กับเคเบิลทีวีของเครือ GMM จากซีรีส์ดังกล่า ได้แจ้งเกิดนักแสดงรุ่นใหม่หลายคน จึงถือเป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จของโมเดลทำโปรดักชั่น เพื่อพัฒนาศิลปิน

ขณะเดียวกันได้ผลิตคอนเทนต์ให้กับแพลตฟอร์ม Video Streaming ซึ่งแพลตฟอร์มแรกที่เป็นพาร์ทเนอร์ คือ “LINE TV” เปิดกว้างให้ทำ Original Content ให้แตกต่างจากช่องทีวีทั่วไป

จากนั้นในปี 2561 “นาดาว บางกอก” ได้ขยับไปสู่การลงทุนสร้างคอนเทนต์เอง ประเดิมด้วยเรื่อง “เลือดข้นคนจาง” ออกอากาศทางช่อง One และรีรันบน LINE TV

My ambulance

ส่วนปี 2562 ทำคอนเทนต์ละคร “My Ambulance รักฉุดใจนายฉุกเฉิน” ที่สร้างกระแสได้ทั้งซีรีส์ – เพลง และซีรีส์ “GREATMEN ACADEMY” ทำให้ผลประกอบการปีที่แล้ว เติบโต 34% หรืออยู่ที่ประมาณ 370 ล้านบาท

“เส้นทางของนาดาว เป็นเส้นทางที่ค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ เติบโต วันแรกที่เปิดนาดาว จุดประสงค์คือ เป็นบริษัทดูแลศิลปิน แต่ด้วยความที่ตัวเองเป็นผู้กำกับ จึงอยากทำโปรดักชั่นแฝงไปด้วย จึงทดลองทำโปรดักชั่น โปรเจคแรกคือ ซีรีส์ฮอร์โมน มาพัฒนาศิลปิน ปรากฏว่าได้ผลลัพธ์ที่ตอบว่าโมเดลนี้ได้ เพราะทำให้แจ้งเกิดศิลปินหน้าใหม่หลายคน กลายเป็นนักแสดง และมีงานต่อเนื่อง

และเมื่อศิลปินประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง คนชื่นชอบฝีมือ กลายเป็นว่ากลับมาส่งเริมโปรดักชั่นด้วย เช่น เราทำให้ LINE TV เขาขอให้นักแสดงนาดาว มาเล่น ทำให้ปัจจุบันนาดาวเป็นบริษัทที่ดูแลศิลปิน และทำโปรดักชั่นควบคู่กัน โดยทั้งสองสิ่งนี้ส่งเสริมกัน” คุณย้ง-ทรงยศ สุขมากอนันต์ กรรมการผู้จัดการบริษัท นาดาว บางกอก จำกัด เล่าที่มา และโมเดลธุรกิจ

GDH - Nadao

ปัจจุบันนอกจากลงทุนสร้างละคร – ซีรีส์ป้อนให้กับช่องในเครือ GMM แล้ว ยังมีพันธมิตรแพลตฟอร์ม Video Streaming นำไปฉาย เช่นเดียวกับ “GDH”

“ทุกวันนี้มีแพลตฟอร์มใหม่ติดต่อเรา อยากให้นาดาวทำคอนเทนต์ซีรีส์ให้ กลับกลายเป็นว่าเป็นโอกาสดี เพราะเมื่อไรที่แพลตฟอร์มเปิดมากขึ้น นั่นหมายความว่าคนทำคอนเทนต์มีโอกาสทำงานที่หลากหลายขึ้น แต่เราต้องศึกษากลุ่มคนดูแต่ละแพลตฟอร์มมีความแตกต่างกัน”

My ambulance

ปี 2563 “นาดาว บางกอก” มี 4 ภารกิจหลัก คือ

1. มีโปรเจคซีรีส์ที่จะทำ Original Content กับ LINE TV อีกหนึ่งเรื่อง รวมถึงมีการเพิ่มพาร์ทเนอร์แพลตฟอร์ม Streaming

2. ตั้งแผนก “นาดาวมิวสิค” เพื่อเพิ่มความสามารถของศิลปิน และเป็นช่องทางทำงานเพิ่มเติมให้กับศิลปินที่มีความสามารถทางดนตรี

โดยมี เบล-สุพล มารับหน้าที่ผู้บริหาร และล่าสุดเป็นโปรดิวเซอร์เพลง “ดี๊ดี (UNEXPECTED) ให้กับ เจเลอร์ X พาริส ที่กำลังได้รับความนิยม และยังเตรียมทำเพลงให้กับ กัปตัน, แพรวา และ บิวกิ้น เป็นลำดับต่อไป

์nadao

Nadao

3. ทำโครงการ Nadao Academy ค้นหาเด็กฝึกมาเป็นศิลปิน นักแสดงในสังกัดนาดาว มีการจัดโครงการ workshop เขียนบท พัฒนาคนทำงานรุ่นใหม่

ปัจจุบันนาดาว บางกอก มีศิลปินอยู่ในสังกัด 39 คน แต่ที่ผ่านมาทั้งนาดาว และ GDH ประสบปัญหาคือ สร้างคนทำงานไม่ทัน อย่างศิลปินของนาดาว ปัจจุบันคิวแน่น ในขณะที่ยุทธศาสตร์ธุรกิจทั้งเครือ GDH ต้องการขยายงาน เพื่อสร้างการเติบโต ดังนั้นจึงต้องสร้างคนทำงาน

ศิลปินในสังกัดของนาดาว สามารถร่วมงานกับสถานีอื่น และร่วมงานกับแบรนด์ เช่น เป็นพรีเซนเตอร์ ซึ่งจะทำให้นาดาว สามารถนำเสนอโปรเจค หรือชิ้นงานให้กับลูกค้าแบรนด์ได้อย่างครบวงจร และใช้พลัง synergy ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ คือ มีทั้งคอนเทนต์ – พรีเซนเตอร์ ไปจนถึงงานพีอาร์ และกิจกรรม on ground ที่บริษัทในเครือ GDH ให้บริการ

PRAEWAH nadao

4. มีโปรเจคจะทำภาพยนตร์ร่วมกับ GDH ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่นาดาว บางกอกทำหนัง หลังจากที่ผ่านมาทำโปรดักชั่นละคร และซีรีส์มาโดยตลอด

จะเห็นได้ว่า “นาดาว บางกอก” พยายามสร้างความครบวงจรทั้งในด้านโปรดักชั่นทั้งละคร – ซีรีส์ – เพลง และด้านศิลปินนักแสดง เพื่อเป็นจิ๊กซอว์ต่อภาพความครบวงจรให้กับ “กลุ่ม GDH

“เราพยายามเปิดช่องทางทำธุรกิจให้มากขึ้น แต่ก่อนนาดาวดูแลศิลปิน และทำโปรดักชั่นคอนเทนต์ พอมาวันนี้ ถ้าลูกค้าสใจซื้อน้องศิลปินในสังกัด เป็นพรีเซนเตอร์ และด้วยความที่เรามีนาดาว มิวสิค เราก็สามารถทำเพลง – ทำ MV ให้กับลูกค้าได้ หรือถ้าอยากให้เราทำโฆษณา เราก็จะทำให้ ปีนี้จึงเป็นปีที่เราเรียนรู้ที่จะเติบโตให้มีบริการครบวงจร” คุณย้ง-ทรงยศ สรุปทิ้งท้าย

GDH - Nadao


  • 295
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ
CLOSE
CLOSE