‘HARNN’ จะเป็นอย่างไร หลัง‘ธนจิรา’ ทุ่มพันล้านซื้อกิจการแบบ 100%

  • 64
  •  
  •  
  •  
  •  

harnn

การทุ่มเงินราวพันล้านบาท ในการซื้อกิจการของ ‘HARNN’ (หาญ) แบบ 100% ของ‘บริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด’ เป็นที่น่าจับตามองว่า ทิศทางของ HARNN ภายใต้การบริหารของเจ้าของใหม่จะเป็นอย่างไร และทางธนจิรา จะได้ประโยชน์อะไรจากการซื้อครั้งนี้

HARNNเป็นแบรนด์สัญชาติไทยชื่อดังในการเป็นผลิตภัณฑ์สปาและอโรมาเธอราพีจากธรรมชาติที่อยู่ในตลาดตั้งแต่ปี 2542 ปัจจุบันมีการส่งออกไปจัดจำหน่ายผ่านตัวแทนในกว่า 16 ประเทศทั่วโลก อาทิ จีน, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเก๊า, ไต้หวัน, เวียดนาม, สหรัฐอเมริกา, เม็กซิโก, อเมริกาใต้, กรีซ, มัลดีฟส์ และนิว คาเลโดเนีย โดยจีน ถือเป็นตลาดส่งออกที่สร้างรายได้ให้ถึง 70% รองลงมา ได้แก่ ไต้หวัน และญี่ปุ่น

ขณะที่ ธนจิรา เป็นผู้นำเข้าและผู้จัดจำหน่ายไลฟ์สไตล์แฟชั่นแบรนด์ดังจากต่างประเทศที่ล้วนอยู่ในกลุ่มไลฟ์สไตล์แฟชั่น จับกลุ่มพรีเมียม, พรีเมียม แมส และ Mid Luxury ทั้งสิ้น ซึ่งก่อนหน้านี้มีด้วยกัน 4 แบรนด์ แต่ในปีนี้ได้ยกเลิกทำการตลาดแบรนด์ โจนาธาน แอดเลอร์ (Jonathan Adler) สินค้าตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์ลักชัวรี่ จากสหรัฐอเมริกา

ด้วยเหตุผลที่ว่า มีตลาดและกลุ่มเป้าหมายที่แคบเกินไป จนยากจะขยายการเติบโต ทำให้ปัจจุบันแบรนด์ต่างประเทศในพอร์ตของธนจิราเหลือ 3 แบรนด์ ได้แก่ แพนดอร่า (Pandora) จิวเวอรี่และเครื่องประดับแบรนด์ดังจากประเทศเดนมาร์ก มารีเมกโกะ (Marimekko) ไลฟ์สไตล์แฟชั่นและของใช้ในบ้านจากฟินแลนด์ และ แคท คิดสตัน (Cath Kidston) กระเป๋าแนวโมเดิร์นวินเทจ จากประเทศอังกฤษ

นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ที่ธนจิราเป็นเจ้าของ ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ผลิตและทำตลาดด้วยตัวเองอีก 1 แบรนด์ ก็คือ ทิลด้า (TILDA) แบรนด์จิวเวอรี่เพชรแท้

ธนจิรา-กรุ๊ป

สำหรับการเข้าซื้อกิจการของ HARNN แบบ 100% ทาง ธนพงษ์ จิราพาณิชกุล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนจิรา รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด  ให้เหตุผลว่า เพราะเป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งอยู่ในตลาดมานาน และสามารถสร้างการเติบโตให้กับธนจิราในระยะยาว โดยในปี 2563 จะทำรายได้ให้ 25% จากรายได้รวมกว่า 2,200 ล้านบาท

รวมถึงจะเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญที่ทำให้ธนจิราก้าวสู่การเป็น Regional Lifestyle  Company เนื่องจาก HARNN เองมีการส่งออกไปหลายประเทศทั่วโลกอยู่แล้ว และอยู่กลุ่ม Health and Beauty ซึ่งเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ทางธนจิราสนใจขยายเข้าไป นอกเหนือจากกลุ่มไลฟ์สไตล์ และกลุ่ม food and beverage

“นโยบายเรา คือ ต้องการบาลานซ์พอร์ตของตัวเองไม่ให้พึ่งพิงแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งมากเกินไป อย่างที่ผ่านมาแพนดอร่าเป็นเรือธงของเราทำรายได้ให้ราว 60% ของทั้งกลุ่มอนาคตเราต้องการลดให้เหลือ 50% หรือต่ำกว่านั้น ซึ่งHARNN จะเข้ามาช่วย อีกอย่างเราต้องการมีแบรนด์ของตัวเองสำหรับสร้างการเติบโตในระยะยาว เพื่อลดความเสี่ยงกรณีการนำเข้าแบรนด์ต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลง”

PPG02654

วาง 2 เฟส บุกตลาด Regional

ตามแผนที่วางไว้ ธนจิราจะมีการต่อยอดเพิ่มมูลค่าแบรนด์ของ HARNN ให้เป็นที่รับรู้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการขยายตลาดสู่ต่างประเทศภายใต้มาตราฐานเดียวกันทั้งโลก อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจะโฟกัสการทำตลาดในประเทศไทยเป็นหลัก เพราะมองว่า การจะไปบุกตลาดต่างประเทศได้อย่างแข็งแรง จำเป็นต้องแข็งแกร่งในประเทศให้ได้ก่อน โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 เฟส

เฟสแรก ภายในระยะเวลา  9  – 12 เดือนแรก จะเน้นสร้างการรับรู้แบรนด์ หรือ Brand Awareness อย่างต่อเนื่อง ด้วยกลยุทธ์การตลาดแบบ 360 องศา ทั้งรูปแบบของออฟไลน์และ ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง พร้อมกับมีการ Brand Revamp ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ ด้วยการตกแต่งร้านให้มีอัตลักษณ์ชัดเจนและร่วมสมัยมากขึ้น เพื่อขยายฐานสู่กลุ่มเป้าหมายใหม่ Affluent Young Women’ จากเดิมจะเป็นกลุ่มผู้หญิงมีอายุ

นอกจากนี้ยังจะหันมาโฟกัสตลาดคนไทย โดยตั้งเป้าสัดส่วนลูกค้าคนไทยไว้ที่ 75-80% จากตอนนี้มีอยู่ราว 20% ด้วยการปรับสินค้าใหม่ให้สอดคล้องกับรสนิยมของคนไทย เช่น การปรับกลิ่น , ปรับแพ็กเกจจิ้ง ฯลฯ

“จากรีเสิร์ชมาแล้วพบว่า คนไทยไม่ค่อยรู้จักและไม่ซื้อ HARNN เพราะมองเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับนักท่องเที่ยว และไม่ชอบกลิ่น เนื่องจากมีความเป็นไทยสูง ขณะที่ต่างชาติชอบมาก ดังนั้นการมาโฟกัสกลุ่มคนไทย เราอยู่ระหว่างการทดลองออกสินค้าใหม่ให้เหมาะกับกับเขา อะไรที่ไม่เวิร์คก็เอาออก”

เฟส 2 ภายในระยะเวลา 12  24 เดือน จะเป็นการสร้างพันธมิตรใหม่ที่มีศักยภาพสูงในตลาดต่างประเทศทั้งที่มีตัวแทนจำหน่ายเดิมและในประเทศที่ยังไม่มีตัวแทนจำหน่าย โดยเริ่มจากภูมิภาคเอเชีย ที่จะอาศัยประสบการณ์จากการเป็นผู้นำเข้าที่ร่วมทำงานกับเจ้าของแบรนด์ดังระดับโลก

PPG02585

หลัก ๆ คือ การสะท้อนแนวทางการทำงานในรูปแบบมาตราฐานเดียวทั้งโลก อาทิ กลยุทธ์การวางจำหน่ายสินค้าใหม่ , การกำหนดกรอบราคาขาย , การตกแต่งร้าน การวางกลยุทธ์ visual merchandizing และการกำหนดนโยบายการตลาด เพื่อสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ในระยะยาว และเพิ่มมูลค่าการส่งออก โดยต้องการเพิ่มสัดส่วนการส่งออกจากเดิม 20% ในปัจจุบันเป็น 40% ภายใน 2 ปี

นอกจาก HARNN แล้ว ธนจิรา ก็เดินหน้าหาแบรนด์มาเสริมพอร์ตให้สอดคล้องกับทิศทางในการเป็น Regional Lifestyle  Company ภายใต้เงื่อนไข 1.เป็นแบรนด์ที่แข็งแรงอยู่ในตลาดมานาน 2. ต้องมี Economic of scale  3. เป็นแบรนด์ที่เติบโตได้อย่างยั่งยืน

4. ต้องสร้างผลตอบแทนในการลงทุนอย่างน้อย 15% สุดท้าย ต้องมีโอกาสขยายสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตะวันออกเฉียงใต้ได้ เพื่อให้ธนจิราเติบโตและเดินต่อไปได้อย่างแข็งแรง รองรับการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยช่วงครึ่งหลังของปี 2563


  • 64
  •  
  •  
  •  
  •