นอกจากแกนหลักอย่างธุรกิจโรงแรม การศึกษา และโครงการมิกซ์ยูส วันนี้ “กลุ่มดุสิตธานี” ได้เปิดตัวธุรกิจใหม่ในสายอาหาร ภายใต้แบรนด์ “ของไทย” อย่างเป็นทางการ หลังจากเคยมีกระแสข่าวเกี่ยวกับการขยายสายธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางรายได้มาแล้ว
โดย คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เล่าถึงธุรกิจใหม่ว่า จากการดำเนินงานกว่า 70 ปีของกลุ่มดุสิตธานี วันนี้เราอยากนำความเป็นไทยสู่เวทีโลก ตามแบบฉบับมาตรฐานอาหารไทยที่มีคุณภาพทั้งส่วนผสมและรูปแบบ ทำให้ดุสิต ฟู้ดส์ ก่อตั้งขึ้นในปีที่ผ่านมาภายใต้วิสัยทัศน์ Bring Asia to the World และเปิดตัวแบรนด์ใหม่ในชื่อของไทยอย่างเป็นทางการในงาน THAIFEX World of Food Asia 2019
เจาะต่างประเทศเท่านั้น! หวัง 3 ปี รายได้ 1,000 ล้านบาท
สำหรับเป้าหมายของดุสิต ฟู้ดส์ ภายใต้การทำตลาดผ่านแบรนด์ของไทย คือ การสร้างรายได้ 1,000 ล้านบาท ภายในระยะ 3 ปีจากนี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเติบโตได้ปีละ 20-25% แต่เชื่อว่าภายในสิ้นปีนี้จะสามารถสร้างรายได้ทันทีไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท ซึ่งการทำตลาดแบรนด์ของไทยจะเป็นการเจาะตลาดต่างประเทศเท่านั้น โดยพร้อมจะเปิดจำหน่ายภายในเดือนกันยายนนี้ ส่วนช่องทางการจำหน่ายในประเทศไทยจะวางจำหน่ายผ่านโรงแรมในเครือ เว็บไซต์ของบริษัท รวมถึงพาร์ทเนอร์ชั้นนำด้านอีคอมเมิร์ซ
อย่างไรก็ตาม โครงสร้างรายได้ของกลุ่มดุสิตธานีในปัจจุบันมาจากธุรกิจโรงแรม 85% และการศึกษา 15% ซึ่งอนาคตถูกคาดหวังให้เป็นแบ่งสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจอาหาร ราว 20% ภายใน 3 ปีแรก
ชู 3 จุดเด่น ประเดิม “สหรัฐฯ” ตีตลาดไลฟ์สไตล์ฟู้ด
จากเป้าหมายแบรนด์ของไทย บริษัทได้วางกลยุทธ์สร้างการเติบโตจาก 2 ส่วน คือ Non-organic จากการเข้าลงทุนในบริษัทต่าง ๆ และ Organic จากการออกผลิตภัณฑ์และจำหน่ายเอง ทำให้ช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าลงทุนถือหุ้น 26% ในโรงงานผลิตอาหาร NRF (บริษัท เอ็นอาร์อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด) ซึ่งผลิตสินค้าส่งออกใน 25 ประเทศ ให้แก่ 50 แบรนด์ และถือหุ้น 51% ใน ECC (บริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง จำกัด) ที่ให้บริการผลิตอาหารแก่โรงเรียนนานาชาติในไทยกว่า 30 แห่ง
“เพราะอาหารไทยเป็นที่สนใจและได้การยอมรับเป็นอย่างดีในสหรัฐอเมริกา เรียกว่าเป็นอันดับ 1 ด้านอาหาร จนมีร้านอาหารไทยกว่า 5,000 แห่ง สร้างมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะกลุ่มไลฟ์สไตล์ฟู้ดซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ในต่างประเทศ เพราะผู้บริโภคต้องการมีไลฟ์สไตล์ในการประกอบอาหารแต่มีขั้นตอนไม่ยุ่งยากด้วยตนเอง ทำให้ของไทยตัดสินใจทำตลาดในกลุ่มพรีเมี่ยมแมส แข่งขันด้วยคุณภาพของสินค้า ซึ่งเชื่อว่าเราเป็นแบรนด์แรกที่ตอบโจทย์ตลาดได้เป็นเอกลักษณ์และโดดเด่นกว่าแบรนด์อื่น โดยนอกจากการเริ่มต้นตลาดในอเมริกา ก็จะต่อยอดสู่ยุโรปและออสเตรเลียด้วย”
ส่วนการสร้างความแตกต่างให้ผลิตภัณฑ์แบรนด์ของไทย ดุสิต ฟู้ดส์ จะเน้น 3 ส่วนสำคัญ คือ “ผลิตภัณฑ์คุณภาพ” จากวัตถุดิบคุณภาพเพื่อนำเสนออาหารไทยรสชาติแบบต้นฉบับ การร่วมมือกับ “สามพรานโมเดล” เพื่อสนับสนุนเกษตรกรไทยใช้วัตถุดิบสะอาดปลอดสารเคมี ซึ่งขณะนี้ได้ทำงานร่วมกับ ม.มหิดล ในการให้ความรู้แก่ชาวสวนเรื่องการปลูกผักไม่ใช้สารเคมีและทำการรับซื้อผลผลิตโดยตรงเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกรไทย โดยเริ่มทดลองแปลงแรกในพื้นที่ 9 ไร่ ที่ จ.กาญจนบุรี ก่อนจะขยายไปพื้นที่อื่น และความร่วมมือในการคิดค้นสูตรผลิตภัณฑ์กับ “เดวิด ทอมสัน” เชฟมิชลิน สตาร์ ชาวออสเตรเลียที่เชี่ยวชาญและหลงใหลอาหารไทย
ในช่วงแรกแบรนด์ของไทยจะเริ่มจากผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง (แบบพร้อมปรุงและแบบเข้มข้น) ใน 4 เมนู คือ แกงเขียวหวาน แกงมัสมัน แกงกะหรี่ และก๋วยเตี๋ยวแขก จากนั้นจะขยายเพิ่มเติมเป็น 8 เมนู ได้แก่ ซอสผัดไทย และซอสปรุงรสต่าง ๆ เช่น ซอสพริกศรีราชา น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซอสหอยนางรม ก่อนจะเพิ่มเป็น 20 เมนู ภายใน 2 ปีข้างหน้า
“ของไทย” กับ ธุรกิจในเครือดุสิตธานี
เนื่องจากธุรกิจโรงแรมในเครือฯ ต่างมีเมนูที่เป็นซิกเนเจอร์ดิสอยู่แล้ว การนำแบรนด์ของไทยเข้ามาให้บริการอาหารแก่ลูกค้า จึงเป็นการหยิบยกมาในบางวัตถุดิบเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะนำ 4 เมนูสำเร็จรูปพร้อมปรุงเข้ามาให้บริการ ได้แก่ แกงเขียวหวาน แกงมัสมัน แกงกะหรี่ และซอสผัดไท หากลูกค้าที่เข้าพักสนใจและอยากได้รสชาติอาหารแบบนี้เมื่อปรุงด้วยตนเองก็จะสามารถซื้อของไทยกลับไปประกอบอาหารเองได้ด้วย