จากร้านขายเครปในห้าง สู่ฝันแฟรนไชส์ใหญ่ สร้าง Global Brand กับธุรกิจ Completed Meal 20 ปี “NB Pancake”

  • 9.4K
  •  
  •  
  •  
  •  

NB_1

ในยุคที่ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ อยากประสบความสำเร็จ อยากมีรายได้เสริมจากอาชีพรอง หมดยุคทำงานเหนื่อยอยู่กับอาชีพหลักเพียงงานเดียว แต่เพราะการไปถึงความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หากขาดความรู้ ความเชี่ยวชาญ ในการบริหารจัดการธุรกิจ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเราได้เลือกและเริ่มต้นอย่างถูกต้อง…?

ถ้าคุณนิยมสร้างแรงบันดาลใจจากเรื่องราวความสำเร็จของใครสักคน เราอยากแนะนำให้คุณรู้จักกับ “บุญประเสริฐ พู่พันธ์” แม้ในวันนี้เขาจะดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็นบี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เป็นเจ้าของธุรกิจแป้งแพนเค้กซึ่งมีแฟรนไชส์ในต่างประเทศ ทำรายได้กว่า 200 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา แต่อดีต เขาคือพนักงานบริษัทที่ถูกพิษเศรษฐกิจเล่นงาน จนคิดท้อใจและเลือกลาออกจากบริษัทที่มีชื่อเสียง…มายืนอยู่หน้าเตาขายเครป!

NB_2

“ตอนนั้นผมอายุ 24 ปี ทำงานมีตำแหน่งผู้ช่วยหัวหน้าส่วนงานมีลูกน้องหลายสิบคน พอตัดสินใจลาออกก็โดนคำสบประมาทมากมายจากคนรอบข้าง ส่วนใหญ่ก็จะตำหนิว่าเรียนจบปริญญาตรี มีงานดีๆ ทำ แต่ทำไมถึงมายืนร้อนหน้าเตาขายเครป แต่ใจผมมันบอกว่าพิษเศรษฐกิจช่วงปี 2540-2541 คือโอกาส เรามีฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจอยู่แล้ว ประกอบกับไปเห็นร้านขายเครปที่สวนสยาม มีคนเข้าแถวต่อคิวรอซื้อมากก็เกิดสนใจ จึงเข้าไปสอบถามรายละเอียดและเปิดร้านขายเครปสาขาแรกที่อิมพีเรียล เวิลด์ สำโรง เริ่มต้นธุรกิจแรกของตัวเองด้วยทุน 40,000 บาท กับแบรนด์ N&B”

จุดแข็ง คือ จุดอ่อน!

CEO เอ็นบี กรุ๊ป (ประเทศไทย) ย้อนวันวานสู่ความสำเร็จอีกว่า จากจุดแข็งที่เรามีความเชื่อมั่นในตัวเอง มั่นใจว่าธุรกิจขายเครปจะต้องได้รับความนิยมและอยู่รอด ซึ่งเมื่อพิสูจน์ว่าเป็นเช่นนั้นได้จริง เมื่ออยากทำธุรกิจอะไรระหว่างปี 2541-2551 ผมลงมือทำทันที เรียกว่าจับธุรกิจมากมายนับ 10 ประเภท แต่ไม่ค่อยมีธุรกิจไหนที่ประสบความสำเร็จและทำได้ดีเท่าร้านขายเครป จากประสบการณ์ตรงนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองว่า ความเชื่อมั่นในตัวเองนั้นคือจุดอ่อนประการหนึ่ง จึงตัดสินใจหยุดธุรกิจอื่นๆ และย้อนมองทั้งความสำเร็จ ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นตลอดช่วง 10 ปีนั้น จนนำมาสู่การเปิดบริษัท เอ็น แอนด์ บี พิซซ่าเครป จำกัด ในปี 2551 เพื่อพัฒนาสินค้าตัวใหม่และรองรับการขยายตัวของธุรกิจ

NB_3

ส่วนสาเหตุที่มั่นใจในธุรกิจอาหารและขนม เพราะมองว่าเป็นธุรกิจที่ลงทุนน้อยและผู้คนยังต้องซื้อของกินอยู่ทุกวัน ดังนั้นเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจของ N&B คือ การใช้วัตถุดิบที่ดีและทำให้ถูกใจผู้บริโภค เพื่อสร้างและรักษาชื่อเสียงให้ยาวนาน ส่วนที่มาของชื่อแบรนด์ N&B มีที่มาจากอักษรแรกของชื่อภรรยาและผม (ณัฐชยาและบุญประเสริฐ) รวมกัน แม้ในภายหลังจะมีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำตลาดว่าควรเปลี่ยนเป็นชื่อที่มีความหมายเพื่อทำตลาดได้ง่ายและชัดเจนขึ้น แต่ผมก็ยังเชื่อมั่นในตัวเองว่า N&B จะสามารถทำให้ทุกคนเห็นและรู้จักแบรนด์ของเราสินค้าของเราได้ ด้วยชื่อแบรนด์ที่ไม่ได้มาจากคำที่มีความหมาย แม้ว่าท้ายที่สุดเราได้เปลี่ยนให้เป็นชื่อ NB ก็ตาม

ไม่หยุดคิด ไม่หยุดพัฒนา ช่วยต่อยอดธุรกิจ

ตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจร้านขายเครป ผมก็ไม่เคยหยุดนิ่งในการเรียนรู้ ทั้งอ่านตำรา อ่านจากความสำเร็จของคนอื่นๆ หรือแม้แต่การเรียนคอร์สความรู้ และหลักสูตรต่างๆ ทำให้ธุรกิจของเราสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่เคยทำได้ 8 ล้านบาทต่อปี ก็เพิ่มเป็น 25 ล้านบาท 60 ล้านบาท และ 100 ล้านบาท เกิดความสำเร็จขึ้นภายใน 3 ปี หลังจากที่ปรับแนวคิดทางธุรกิจและมีการต่อยอดสินค้า

“ตั้งแต่ปี 2551 ที่เราพัฒนาสินค้าใหม่ คือ มินิเครป มินิบ็อกซ์ไส้กรอกทวิน ก็ได้รับความนิยมอย่างมากและมียอดขายถึง 1 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งได้อานิสงส์จากการจัด Catering และในปี 2554 เรามีใช้แนวคิดธุรกิจว่าความสุข ความอร่อย แบ่งปันได้ และมีการพัฒนาสูตรการทำเครปโดยนำมาผสานกับพิซซ่าหน้าต่างๆ กลายเป็นพิซซ่าเครปที่เป็นเอกลักษณ์ของร้านและได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน ทั้งหมดนี้เกิดการคิดอย่างไม่หยุดนิ่ง เราพัฒนาสินค้าก็เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ไม่ต้องรอนาน มีหลากหลาย ราคาจับต้องได้ และสามารถกินแทนมื้อหลักได้ด้วย”

ขยายความสำเร็จสู่ “International แฟรนไชส์”

แนวคิดในการพัฒนาธุรกิจสู่แฟรนไชส์มาจากมุมมองที่ต้องการขยายธุรกิจ แต่ไม่ต้องการแบกรับต้นทุนทั้งด้านบุคลากรและการลงทุนไปพร้อมกัน ดังนั้น แฟรนไชส์ จึงเป็นทางเลือกธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับ NB ทั้งยังได้เซ็นต์สัญญาแฟรนไชส์ซี ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ถือเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ไทยลำดับที่ 23 ที่สามารถผ่านการรับรองและขยายสู่ต่างประเทศได้

สำหรับหลักการดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์นั้น ผมมี 3 แนวคิด คือ สาขาต้องสามารถสร้างกำไรได้จริง   ต้องสามารถขยายสาขาได้ และต้องสามารถเก็บ Royalty Fee ได้จริง โดยในช่วงเริ่มต้น เราขายแฟรนไชส์แบบ Kiosk ในราคา 49,000 บาท แต่ปัจจุบันได้ยกเลิกแฟรนไชส์แบบดังกล่าว และเปลี่ยนรูปแบบเป็นแบบ Product แฟรนไชส์ และ System แฟรนไชส์ โดยมีราคาตั้งแต่ 800,000-2,000,000 บาท ซึ่งปัจจุบันเรามีแฟรนไชส์ทั้งสิ้น 110 สาขาในประเทศไทย และอีก 4 สาขาในประเทศลาว ซึ่งสาขาในประเทศไทยนั้นแบ่งเป็นสัดส่วนต่างจังหวัด 80% และกรุงเทพฯ 20%

อย่างไรก็ตาม ภายในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ บริษัทวางแผนขยายแฟรนไชส์ไปยังประเทศกัมพูชา และยังอยู่ระหว่างการเจรจาธุรกิจกับอีกหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา , ฟิลิปปินส์ , พม่า , สิงคโปร์ , อินเดีย เป็นต้น โดยบริษัทมีแผนขยายแฟรนไชส์อย่างต่อเนื่องควบคู่กันทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน เนื่องจากมีไลฟ์สไตล์การกินและชื่นชอบรสชาติอาหารไทย

ส่วนการขยายธุรกิจในประเทศไทยนั้น บริษัทวางแผนเปิดให้บริการมากขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ผ่านพื้นที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก เช่น ปั๊ม ปตท. ที่จะทยอยเปิดตัวในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และ BTS ที่กำลังจะเปิดให้บริการใน 5 สาขาก่อนจะประเมินความสำเร็จและขยายจำนวนเพิ่มเติมในอนาคต

ประสบการณ์ 20 ปี มอบหลักสูตรความสำเร็จ

แม้จะมีรายได้ปีละ 100 ล้านบาทแล้ว แต่เมื่อดำเนินธุรกิจมาถึงปี 2558 ความสำเร็จทำให้เราประมาทมองข้ามหลายๆ เรื่องไป จึงทำให้เกิดภาวะกำไรหดตัวลงมาก แต่เมื่อพิจารณาปัญหาแล้วกลับพบว่า 80% เกิดจากปัจจัยภายใน เช่น คุณภาพสินค้าและบริการ จึงรีบวางแผนและแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ทำให้ยอดขายกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้งและมีกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์

“เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้ผมได้คิดและวิเคราะห์หลักสูตรธุรกิจด้วยตนเอง และทำให้ได้รู้ว่าหัวใจหลักของธุรกิจแฟรนไชส์นั้นอยู่ที่ผู้จัดการร้าน หากเราได้คนที่มีประสิทธิภาพมาดูแลร้านก็จะทำให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายไปได้ด้วยดีเสมอ ขณะเดียวกันก็ยังมีหัวใจสำคัญอื่นๆ ที่ผมนิยามว่า QSC (Quality , Service , Cleanness) และ LSM  (Local Store Marketing) หรือ Sample Distribution ซึ่งผมยินดีให้ทุกคนได้รู้เคล็ดลับความสำเร็จของธุรกิจ NB เพื่อนำไปพัฒนาปรับใช้กับธุรกิจของตนเอง จะได้ช่วยกันลบภาพประเทศไทยว่าเป็นประเทศผู้ซื้อมากกว่าผู้สร้าง”

NB_4 

หมั่นเพิ่มสินค้า ขายเป็นแพ็กเกจ หาพาร์ทเนอร์ทำโปรโมชั่น

จากเครปที่เป็นสินค้าเพียงอย่างเดียวของแบรนด์ เราก็ต่อยอดสู่แพนเค้ก และปัจจุบันก็มีเครื่องดื่มเข้ามาเติมเต็มภายในร้าน โดยทุกสินค้าของแบรนด์ NB จะมีจุดเด่นที่การเติมน้ำผึ้งเกสรดอกลำไยเป็นส่วนผสม เพราะเรามองว่าน้ำผึ้งเป็นวัตถุดิบของไทยที่มีมูลค่าในตัวเอง สอดคล้องกับโลโก้รูปผึ้งของแบรนด์ ขณะเดียวกัน สินค้าทุกประเภทก็จะมีจุดเด่นแตกต่างกัน เช่น เครป ที่ใช้แป้งสูตรพิเศษให้ความบางกรอบเฉพาะตัว , แพนเค้ก แป้งนุ่มและเป็นสินค้าขายดีที่สุด ได้รับความนิยมจากการจัด Catering และเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นการต่อยอดสินค้าและเสริมรายได้ต่อบิลให้มากขึ้น โดยราคาสินค้าในปัจจุบันเริ่มต้นที่แพนเค้กราคา 12 บาท และสูงสุดที่ 69 บาทในกลุ่มสินค้าพิซซ่าเครป

นอกจากนี้ เรายังต่อยอดสร้างการรับรู้ในแบรนด์และสินค้าด้วยการทำธุรกิจร่วมกับพาร์ทเนอร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นการทำโปรโมชั่นผ่าน dtac และ Truemove H ผ่านการมอบสิทธิ์ส่วนลดและซื้อ 1 แถม 1 ให้ลูกค้าแต่ละเครือข่ายจำนวน 30,000 สิทธิ์ต่อเดือน ซึ่งเริ่มมอบสิทธิ์เมื่อเดือนมกราคมนี้ ทำให้เราจะสามารถสร้างการรับรู้ในแบรนด์ผ่านผู้ใช้งานทั้ง 2 เครือข่าย และผู้บริโภคทั่วไปรวมกว่า 720,000 คนตลอดปี โดยบริษัทคาดหวังให้เกิดลูกค้าประจำราว 360,000 คน จากการทำโปรโมชั่นร่วมกับพาร์ทเนอร์ดังกล่าว

ปักธงรายได้ 1,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า

จากการปรับกลยุทธ์และธุรกิจ เราเชื่อมั่นว่าธุรกิจแฟรนไชส์จะสามารถสร้างรายได้หลักให้บริษัทได้ โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทก็เริ่มมียอดขายอยู่ที่ 200 ล้านบาท ซึ่ง NB Group จึงได้ปรับโครงสร้างบริษัทใหม่เพื่อความสะดวกในการดำเนินงานและการบริหาร แบ่งเป็นบริษัท เอ็นบี กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อดูแลเรื่องลงทุนหรือซื้อธุรกิจใหม่ , บริษัท เอ็นบี แฟรนไชส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อบริหารงานแฟรนไชส์  , บริษัท เอ็นแอนด์บี พิซซ่าเครป จำกัด เพื่อบริหารงานคลังสินค้าและโอเปอเรชั่น โดยความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศลาว ทำให้บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถเป็นต้นแบบและต่อยอดความสำเร็จดังกล่าวสู่ประเทศอื่นๆ พร้อมทำให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดดและมีรายได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี

โดยปัจจุบัน บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานผ่านสาขาราว 40% และอีก 60% มาจากธุรกิจแฟรนไชส์และการขายวัตถุดิบ ซึ่งคาดว่าในอนาคตอันใกล้ สัดส่วนรายได้อาจเปลี่ยนเป็น 30% : 70% เนื่องจากการขยายแฟรนไชส์ไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น

NB_5

หันทำตลาดออนไลน์ เจาะพฤติกรรมผู้บริโภค

แม้ NB จะเชี่ยวชาญการทำธุรกิจ แต่การทำตลาดยังถือเป็นจุดอ่อนสำคัญของบริษัท แต่อย่างไรก็ตามในปีนี้ซึ่งครบรอบ 20 ปีการดำเนินธุรกิจ บริษัทจะเน้นการทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยใช้งบการทำตลาดกว่า 80% กับการทำตลาดออนไลน์ การทำคอนเทนต์ และประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งขึ้น

“ในยุคที่คนไทยกำลังนิยมขนมหน้าตาสวยๆ ชื่อแปลกๆ จากร้านดัง เราเชื่อว่าความแตกต่างของ NB ที่มีคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจและมีความจริงใจต่อแบรนด์ คือ หัวใจหลักที่ทำให้เราสามารถประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย รวมถึงการให้บริการของแฟรนไชส์ที่เราเน้นย้ำเรื่องคุณธรรมเช่นกัน ต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ลูกค้า ดูแลลูกค้า และต้องกล้าพลิกความคิดเพื่อสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของตนเองด้วย”

ฝันใหญ่! หวังเป็น Global Brand เลือดไทย

เรามีเป้าหมายเป็น Global Brand ให้ได้ภายใน 5 ปีจากนี้ ภายใต้แนวคิดในการเป็นแบรนด์อาหารทานเล่นที่มอบความสะดวกให้ผู้บริโภค แต่สามารถทดแทนอาหารมื้อหลักได้ ซื้อง่าย กินสะดวก และแน่นอนว่าต้องมีราคาจับต้องได้ไม่ถึง 100 บาท พร้อมกับความใส่ใจเรื่องทำเลร้านค้าที่ต้องอยู่ในย่านมีคนผ่านและพบเห็นได้มาก

ทั้งนี้ อยากฝากถึง SME ไทยทุกคนว่าควรมีความศรัทธาในสิ่งที่คุณทำ อย่าคิดเพียงว่าคุณทำได้ เพราะสิ่งสำคัญ 4 ประการของการเป็น SME ได้แก่ ความเชื่อ ความศรัทธา ความรู้ และความกล้า ไม่ควรหยุดนิ่งที่จะพัฒนาใน 4 เรื่องนี้ ซึ่งหากว่าคุณทำได้ก็จะพาตัวเองไปสู่ความสำเร็จได้อย่างแน่นอน

สนใจติดตามความเคลื่อนไหว และข้อมูลเพิ่มเติมของธุรกิจ “N&B Pancake” ได้ที่ Website และ Facebook


  • 9.4K
  •  
  •  
  •  
  •