ถึงเวลายักษ์ใหญ่ขยับตัวเมื่อกลุ่มเซ็นทรัลมุ่งสู่ Platform ก่อนทุกกลุ่มในเครือจะเดินเกมตาม

  • 290
  •  
  •  
  •  
  •  

CG-01

ยังคงสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดหย่อนของเทคโนโลยี Internet ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานขององค์กรแบบพลิกโฉม สะท้อนให้เห็นถึงยุคที่ผู้บริโภคมีอำนาจเหนือผู้ให้บริการปละผลิตภัณฑ์ จากเดิมที่ผู้บริโภคต้องตามล่าหาผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ มาสู่การเลือกสิ่งที่ต้องการแล้วปล่อยให้ผลิตภัณฑ์เดินตามหาผู้บริโภค แต่สำหรับยักษ์ใหญ่ของธุรกิจค้าปลีกกลับไม่ได้มองว่าเทคโนโลยีคือตัวที่ต้องปรับเปลี่ยน แต่มองว่าเทคโนโลยีคือ Facility ที่สำคัญอย่างหนึ่งต่างหาก

โดย คุณทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ชี้ว่า กลยุทธ์หลักของกลุ่มเซ็นทรัลจะแบ่งออกเป็น 3 กลยุทธ์หลัก ทั้งการเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกไลฟ์สไตล์-บริการ (Lifestyle & Service Retailing), การขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ และการร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ พร้อมกันนี้ยังชี้ให้เห็นว่า ตั้งแต่ปี 2013-2017 มีอัตราเติบโตเฉลี่ย11% ซึ่งธุรกิจในกลุ่มเซ็นทรัลอยู่ทั้งในยุโรปราว 15% ในเวียดนามอีก 13% และอยู่ในไทยราว 72%

CG-02

แน่นอนว่านี่เป็นการเปิด Master Plan หรืออาจจะเรียกว่าแผนแม่บทของการทำตลาดในอีกระยะเวลา 5 ปีจากนี้ซึ่งดูจากท่าทีคุณทศก็เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า เซ็นทรัลกำลังก้าวเข้าสู่ยุคของ O2O (Online to Offline) หรือที่จากนี้ไปเราจะได้ยินคุ้นหูกับคำว่า “ออมนิแชนเนล (Omni Channel)” และมีการย้ำชัดเจนว่า เซ็นทรัลจะยังคงเป็นศูนย์การค้าที่เป้นห้างสรรพสินค้าสำหรับคนที่ต้องการเดินทางมาจับจ่ายใช้สอย

 

เป้าใหญ่ต้องไปให้ถึง

หนึ่งในกลยุทธ์หลักที่คุณทศวางไว้การเติบโตในทุกด้าน โดยเฉพาะการขยายสาขาไปในต่างจังหวัดที่หลายคนมองว่า แทบไม่มีความจำเป็นที่ต้องขยายสาขาแล้วในยุคนี้ ซึ่งเซ็นทรัลตั้งเป้าในอีก 5 ปีจากนี้จะมีธุรกิจอยู่ใน 52 จังหวัดจากปัจจุบันที่มีธุรกิจอยู่เพียง 38 จังหวัดเท่านั้น และคาดว่าจะมีร้านค้าเพิ่มขึ้นถึง 7,509 ร้านค้า จากปัจจุบันที่มีร้านค้าเพียง 4,970 ร้านค้า ตอกย้ำการขยายไปสู่ต่างจัหวัดกับสัดส่วนการขายของเซ็นทรัลที่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เซ็นทรัลมีสัดส่วนการขายที่ กทม.ถึง 80% และต่างจังหวัดเพียง 20% แต่ปัจจุบันสัดส่วนการขายไปขยายตัวในต่างจังหวัดไปถึง 46% ขณะที่สัดส่วนใน กทม.ลดลงเหลือเพียง 54% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก e-Commerce ที่เติบโตขึ้น

CG-03

นอกจากนี้สาขาในต่างประเทศของเซ็นทรัลก็เริ่มเป็นที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะในทวีปยุโรป (Europe) ที่มีการเติบโตนับตั้งแต่ 2013 ที่เซ็นทรัลบุกตลาดยุโรปจาถึงปัจจุบันมีอัตราเติบโตอยู่ที่ 24% ด้วยมูลค่ากว่า 5.1 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญการเปิดตัวห้างสรรพสินค้ารีนาเชนเต โรม (Rinascente Rome) ใจกลางกรุงโรมได้รับการตอบรับอย่างดีจากทั้งชาวอิตาลีและบรรดานักท่องเที่ยว

ขณะที่เซ็นทรัลในเวียดนามได้รับการตอบรับอย่างดีมาก โดยมีอัตราเติบโตอยู่ที่ 340% คิดเป้นมูลค่ากว่า 4.4 หมื่นล้านบาท และถือเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกต่างชาติรายใหญ่ที่สุดของประเทศเวียดนาม โดยในอีก 5 ปีจากนี้ เซ็นทรัลตั้งเป้าขยายสาขาในเวียดนามให้ครอบคลุม 57 จังหวัด จากปัจจุบันที่มีธุรกิจอยู่ใน 37 จังหวัด และคาดว่าจะมีร้านค้าเพิ่มขึ้นถึง 753 ร้านค้า จากปัจจุบันที่มีร้านค้าเพียง 217 ร้านค้า รวมพื้นที่กว่า 2.5 ล้านตารางเมตร นอกจากนี้ยังพบว่าเซ็นทรัลที่เวียดนามมีลูกค้าเฉลี่ยอยู่ที่มากกว่า 1.75 แสนคนต่อวัน

CG-04

สำหรับในปี 2018 นี้ คุณทศคาดการณ์ว่ากลุ่มเซ็นทรัลจะเติบโตเพิ่มขึ้น 14% คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.9 แสนล้านบาทหรือราว 1.1 หมื่นล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ โดยได้เตรียมงบประมาณไว้ทั้งสิ้น 4.75 หมื่นล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 27.8%

 

ขยายสาขาสู่ความยิ่งใหญ่

อย่างที่กล่าวไว้แล้วว่า คุณทศเชื่อว่า ห้างยังคงสามารถขยายสาขาออกไปได้อีก แม้ว่าโลกนี้ขะขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีก็ตาม โดยกลุ่มเซ็นทรัลจะยังลงทุนเพื่อขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ โดยไปขยายสาขาทั้งในส่วนของห้างสรรพสินค้าและโรงแรมในเชนเซ็นทารา สามารถแบ่งออกไปตามแต่ละไตรมาสของปี 2018 ประกอบไปด้วย

ไตรมาสที่ 1 เตรียมเปิดห้างสรรพสินค้า ท็อปส์ พลาซา พะเยา (เปิดตัวในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา) ช่วงไตรมาสที่ 2 เตรียมเปิดห้างเซ็นทรัลเวิลด์ โฉมใหม่ ซึ่งคุณทศชี้ว่า ตั้งแต่การเข้าซื้อกิจการของ World Trade Center มีผู้ค้าบางรายที่เช่าพื้นที่ระยะยาว ทำให้เซ็นทรัลไม่สามารถทำอะไรได้มากมาย แต่สัญญาระยะยาวเหล่านั้นกำลังจะหมดลงในปีนี้ และเมื่อผู้เช่าสัญญาระยะยาวสิ้นสุด เซ็นทรัลเวิร์ลก็จะปรับโฉมใหม่และทำการ Relaunch อีกครั้ง

CG-05

ช่วงไตรมาสที่ 3 จะมีการขยายธุรกิจมากที่สุดทั้งการเปิดตัวห้างโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ อมตะ-ชลบุรี ช่วงเดือนกรกฎาคม, การเปิดตัวห้าง ท็อปส์ พลาซ่า สิงห์บุรี ช่วงเดือนสิงหาคม, การเปิดตัวห้างเซ็นทรัล ภูเก็ตแห่งที่ 2 และไตรภูมิ แอทแทรคชั่น ในช่วงเดือนกันยายน และการเปิดตัวโรงแรมเซ็นทารา เวสต์เบย์ เรสซิเดนซ์และสวีท ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์

สำหรับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2018 จะมีการเปิดตัวห้าง ท็อปส์ พลาซา 2 สาขาทั้งที่อำเภอพล ขอนแก่นในช่วงเดือนตุลาคม และที่พัทลุงในช่วงเดือนธันวาคม, การเปิดตัวห้างโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ชัยภูมิ ในช่วงเดือนธันวาคม และพิเศษอย่างยิ่งกับการเปิดตัวห้างสรรพสินค้าเซน (ZEN) แห่งที่ 2 ที่ป่าตอง ภูเก็ตในช่วงเดือนพฤศจิกายน สุดท้ายกับความยิ่งใหญ่ของการเปิดตัวศูนย์การค้าเซ็นทรัล ไอซิตี้ ศูนย์การค้าแห่งแรกของ CPN ในประเทศมาเลเซีย

นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัวสาขาใหม่ในเวียดนามอีกด้วย ส่งผลให้มีร้านค้าต่างๆ ที่จะเปิดใหม่ทั้งในไทยและเวียดนามมีอีกกว่า 439 แห่ง

 

จับมือพันธมิตรสู่ Platform Digital

นอกจากแผนการเติบโตและการขยายตัวแล้ว การร่วมมือกับพันธมิตรก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ 4 พันธมิตรใหญ่ที่สำคัญทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 3 โครงการประกอบไปด้วย โครงการด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ได้พันธมิตรอย่าง ดุสิตธานี ในการสร้างโครงการมิกซ์ยูสบนถนนสีลม-พระราม 4 หรือจุดที่เป้นโรงแรมดุสิตธานีเดิม และฮ่องกงแลนด์ ในการสร้างโครงการมิกซ์ยูสบนถนนเพลินจิต เมื่อรวมทั้ง 2 โครงการจะกลายเป้นโครงการขนาดใหญ่บนพื้นที่รวมกว่า 1 ล้านตารางเมตร

CG-07

นอกจากนี้เซ็นทรัลยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรอย่าง IKEA ในการเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน โดยเป็นโครงการเชื่อมโยงระหว่างเซ็นทรัล เวสต์เกตกับ IKEA บางใหญ่ที่เรียกว่าเป้นห้างใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ และโครงการความร่วมมือกับ JD.com ในการสร้าง Platforme-Commerce โดยเฉพาะการร่วมทุนกว่า 1.75 หมื่นล้านบาท กับการสร้างมาร์เก็ตเพลส (Marketplace) ในชื่อ JD.co.th เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าของกลุ่มธุรกิจในเครือกลุ่มเซ็นทรัล ให้บริการแก่ลูกค้า รวมถึงเปิดโอกาสให้สินค้าไทย และสินค้า SMEs ได้เผยแพร่สู่ตลาดโลก

 

e-Commerce สู่ 2 ธุรกิจใหม่

สิ่งที่เซ็นทรัลจะได้จากการทำธุรกิจ e-Commerce คือ ข้อมูล (Data)โดยเซ็นทรัลจะเก็บข้อมูลทุกอย่างไว้บนระบบคลาวด์ เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกค้าเชิงลึก และสามารถตอบสนองความต้องการ พร้อมมอบประสบการณ์ให้กับลูกค้า และจะตามมาด้วยความภักดี (Loyalty) จะช่วยให้สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลผ่านทางแพลตฟอร์มใหม่ของ “เดอะวันการ์ด (The 1 Card)” จนนำไปสู่ ออมนิแชแนล แพลตฟอร์ม (Omni Channel Platform) ที่จะเชื่อมต่อการช้อปปิ้งระหว่างโลกออฟไลน์และออนไลน์แบบไร้รอยต่อ (Seamless) ได้ทุกที่ทุกเวลา

จากการที่เซ็นทรัลพัฒนาไปสู่ระบบ e-Commerce จะช่วยให้เซ็นทรัลสามารเข้าทำธุรกิจใหม่อีก 2 ธุรกิจอย่าง e-Logistics ที่เซ็นทรัลเตรียมวางแผนสู่การเป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์รายใหญ่ของประเทศไทย พร้อมบริการออนดีมานด์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และ e่-Finance ที่พร้อมให้บริการด้านการเงินอย่างครบวงจร ครอบคลุมทั้งบริการด้าน e-Payment และ e-Financial สำหรับทั้งลูกค้าและซัพพลายเออร์

CG-06

คุณทศยังกล่าวด้วยว่า “เราไม่ได้มองว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามา Disrupt อะไรเซ็นทรัล แต่เรามองว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการช่วยให้เราขายของได้สะดวกมาขึ้น ลูกค้าสามารถหาซื้อของได้ง่ายขึ้น แน่นอว่าการซื้อของออนไลน์ได้รับความนิยม แต่จะไว้ใจได้อย่างไรเพราะเราไม่รู้ว่าเวลามีปัญหาต้องทำอย่างไร ติดต่อใคร แต่เพราะเราคือเซ็นทรัลมีความน่าเชื่อถือ เวลาซื้อสินค้าออนไลน์จากเซ็นทรัลไปแล้วมีปัญหาก็สามารถมาหาเราได้ เซ็นทรัลไม่มีย้ายหนีไปไหนแน่นอน”


  • 290
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา