ที่ผ่านมาเราได้เห็นข่าวบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ทั้งในอเมริกา และจีน พัฒนาโมเดลค้าปลีกรูปแบบ “Unmanned Store” หรือร้านค้าไม่มีพนักงานแคชเชียร์ หรือพนักงานประจำร้าน โดยใช้ “เทคโนโลยี” เชื่อมต่อการช้อปปิ้งระหว่างโลกออฟไลน์ กับดิจิทัลเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้งที่เป็น “Seamless Experience”
อย่างในจีน “JD.com” 1 ใน 2 อีคอมเมิร์ซรายใหญ่ นอกจากเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแล้ว ยังเปิด “Physical Store” ภายใต้ 2 แบรนด์ คือ
1. ซูเปอร์มาร์เก็ตพรีเมียม “7Fresh” ที่นำเทคโนโลยีอัจฉริยะหลายอย่าง มาใช้ให้บริการลูกค้า (อ่านกรณีศึกษา “7Fresh ซูเปอร์มาร์เก็ต Omni-channel” )
2. ร้านสะดวกซื้ออัจฉริยะ “JDX” เป็นค้าปลีกโมเดล “Unmanned Convenience Store” ไม่มีพนักงานแคชเชียร์ หรือพนักงานขายคอยให้บริการแบบร้านค้าปลีกทั่วไป โดยลูกค้าจะต้องบริการตัวเอง (Self-service) ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การซื้อ – การชำระเงินค่าสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนที่ผูกไว้กับ e-Wallet – การหยิบสินค้าใส่ถุงเอง
สำหรับในจีน ขั้นตอนการใช้บริการร้านสะดวกซื้ออัจฉริยะ ลูกค้าต้องลงทะเบียนผ่าน “WeChat” พันธมิตรธุรกิจของ JD.com หรือแอปพลิเคชัน “JD” จากนั้นนำ QR Code ของตัวเอง มาสแกนที่ทางเข้าร้าน ซึ่งภายในร้าน ติดตั้งเทคโนโลยี RFID (Radio Frequency Identification) สำหรับบริหารจัดการสินค้าคงคลัง, Facial Recognition, Image Recognition, E-Price Tag หรือป้ายราคาดิจิทัล, Gravity Sensor เป็นระบบตรวจจับสินค้าบนเชล์ฟ เมื่อลูกค้าหยิบสินค้าออกจากชั้นวาง หรือวางคืนกลับไว้ที่เดิม
และเมื่อซื้อสินค้าเสร็จแล้ว ลูกค้าหยิบใส่ถุง และจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชัน WeChat หรือ JD.com ที่ตัดเงินโดยอัตโนมัติ เพียงเท่านี้ก็เดินออกจากร้านได้เลย
JD ทดลองเปิดร้านสะดวกซื้ออัจฉริยะสาขาแรกในปี 2017 ที่สำนักงานใหญ่ JD.com ตั้งอยู่ในเมืองปังกิ่ง ประเทศจีน สำหรับให้บริการพนักงานของบริษัท ขณะที่เมื่อเดือนสิงหาคม “JD.com” ได้เปิดร้านสะดวกซื้ออัจฉริยะนี้ “JD.ID X-Mart” ที่จากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย ขนาด 270 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า PIK Avenue โดยลูกค้าลงทะเบียน และผูก e-Payment กับแอปพลิเคชัน “JD.ID”
httpv://www.youtube.com/watch?v=jcwCW4Fuejg
มีลุ้น! คนไทย อาจได้ใช้ “Unmanned Store” ปีหน้า
การร่วมทุนระหว่าง “JD.com” กับ “Central Group” ตั้ง “JD Central” และใช้ชื่ออีคอมเมิร์ซว่า “JD.co.th” ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของยุทธศาสตร์ “New Central, New Economy” ด้านเทคโนโลยี และเป็นผู้นำ “Digi-Lifestyle Platform” เพื่อสร้างประสบการณ์การช้อปปิ้ง O2O หรือ Omni-channel
เมื่อผนึกกำลัง “JD.com” แน่นอนว่าต้องผสานกำลัง (Synergy) โดยดึงเอาจุดแข็ง หรือจุดได้เปรียบของแต่ละฝ่ายมาผนึกกำลังกัน โดยในฝั่ง JD.com” มีความแข็งแกร่งด้าน Technology, Big Data, AI, Cloud, Platform เพราะฉะนั้นการบุกของ “JD.co.th” นอกจากการพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซแล้ว ตามแผนธุรกิจ ยังรวมถึงการเปิด “Unmanned Store” ในไทยด้วยเช่นกัน
ดังที่ มร.วินเซนต์ หยาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร JD Central ได้แย้มถึงแผน “Unmanned Store” หรือโมเดลร้านค้าไม่มีพนักงานในไทยว่า มีความเป็นไปได้ที่จะได้เห็นในปี 2562 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาตลาด และข้อกฎหมาย
สอดคล้องกับ คุณรวิศรา จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด JD Central ขยายความเพิ่มเติมว่า “โมเดล “Unmanned Store” อยู่ในแผนธุรกิจในอนาคต ที่หวังว่าจะเปิดในปี 2562 เพราะล่าสุด “JD” เปิด Unmanned Store ในอินโดนีเซียแล้ว หลังจากเข้าไปลงทุนที่นั่นมาได้ 2 ปี ขณะที่การเปิดร้านค้าไม่มีพนักงานในไทย เวลานี้อยู่ระหว่างศึกษาตลาด โดยเรายืดหยุ่น อาจเป็นเชนค้าปลีกในเครือเซ็นทรัล พัฒนาโมเดล Unmanned Store และนำเทคโนโลยีจาก JD มาปรับใช้ หรือใช้ชื่อร้านเป็น JDX”
ทางด้าน คุณโชดก พิจารณ์จิตร ประธานบริหารฝ่ายบริหารสินค้า JD Central แสดงความเห็นถึงความพร้อมของคนไทย ต่อร้านในรูปแบบ Unmanned Store ว่า “ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็วมาก และเปิดรับเทคโนโลยี จึงมองว่ามีความพร้อมสำหรับค้าปลีกโมเดลดังกล่าว เพราะโลกทุกวันนี้ มีเทคโนโลยีมากมายที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือวิถีชีวิตของคนไทย”
ทั้งนี้ ปัจจุบันเชนค้าปลีกในเครือเซ็นทรัล ที่เห็นได้ชัดเจนในการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้บริการภายในสาขา คือ “ท็อปส์” ที่หลายสาขาของซูเปอร์มาร์เก็ตท็อปส์ เปิดโซนช่องชำระเงินด้วยตนเอง (Self Checkout) และพบว่าผู้บริโภคไทยคุ้นเคยกับเทคโนโลยี และหันมาใช้บริการโซน Self Checkout มากขึ้น
ต้องติดตามกันว่า…โมเดลค้าปลีก “Unmanned Store” ในไทยจะออกมาในรูปแบบใด และเมื่อถึงเวลานั้น จะเป็นอีกหนึ่ง Evolution ธุรกิจค้าปลีกในไทยที่ “JD Central” ต้องการให้โมเดลนี้เป็นต้นแบบค้าปลีกแห่งอนาคต