ทุกวันนี้คนไทยใช้เวลาท่องโลกอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ ประมาณ 200 นาทีต่อคนต่อวัน ในจำนวนนี้เป็นการใช้ “LINE” โดยเฉลี่ย 60 นาทีต่อคนต่อวัน
ในขณะที่ประเทศไทย มีผู้ใช้ “LINE” 44 ล้านคน หรือกว่า 90% ของยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในไทยกว่า 50 ล้านคน และช่วงเวลาที่อยู่บน LINE คิดเป็น 1 ใน 3 ของการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือ
เพราะฉะนั้นโจทย์ใหญ่ของ “LINE ประเทศไทย” ในวันนี้ จึงไม่ใช่การเพิ่มยอดจำนวนผู้ใช้งานเป็นหลักเหมือนเช่นในยุคแรกของการทำธุรกิจ แต่อยู่ที่การทำให้คนไทยใช้ชีวิตอยู่บนแพลตฟอร์ม “LINE” มากขึ้น ด้วยบริการต่างๆ ใน Ecosystem
แต่การไปถึงเป้าหมายนั้นได้ หัวใจสำคัญคือ การสร้าง “Life Infrastructure” ที่ภายในระบบนิเวศธุรกิจ (Business Ecosystem) มีบริการหลากหลาย และบริการนั้น ต้องตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของผู้คน, เทคโนโลยีใช้งานง่าย-สะดวก, ตรงใจผู้บริโภคไทย และเป็น Business Solution ให้กับแบรนด์ – ผู้ประกอบการธุรกิจ SME
หากทำได้สำเร็จ เมื่อนั้นแพลตฟอร์ม LINE จะเป็น “Super App” หรือ “Everyday App” ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยตั้งแต่ตื่นนอน ถึงเข้านอน เรียกได้ว่า 24 ชั่วโมง 7 วันอย่างแท้จริง
“การสร้าง “Life Infrastructure” เป็นภารกิจใหญ่ของ CEO คนใหม่ของ LINE ประเทศไทย “ดร. พิเชษฐ ฤกษ์ปรีชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร”
MarketingOops! ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ที่จะมาเจาะลึกถึงแต้มต่อของ “LINE” ในการก้าวสู่การเป็น “Life Infrastructure” ของคนไทยทุกคน และความได้เปรียบทางการแข่งขัน เมื่อทุกวันนี้คู่แข่งที่เป็น Tech Company ต่างเร่งนำเสนอบริการที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เพื่อหวังจะเป็น “Super App” ที่ผู้บริโภคเลือกใช้มากที่สุด
“เมื่อมองการแข่งขันระหว่าง Tech Player ระดับโลก ระดับเอเชีย หรือระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมคิดว่าทุก Tech Company ให้ความสำคัญกับตลาดเอเชีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะต่อไปผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกลุ่มใหม่ (New Internet User) จะมาจากตลาดแถบนี้
ในขณะที่ทุกวันนี้ Infrastructure เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เรามี 4G และกำลังพูดถึง 5G การเปลี่ยนแปลงจะเร็วขึ้นเรื่อยๆ และเราอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันกันสูง ไม่ใช่แข่งกับบริษัทในประเทศเท่านั้น แต่ยังแข่งขันกับบริษัทต่างชาติที่ใหญ่กว่าเราก็มี
เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายอย่างมาก แต่ผมคิดว่าด้วยองค์ความรู้ที่ LINE ประเทศไทยมี ด้วยการสนับสนุนจาก LINE Corporation ประเทศญี่ปุ่น ด้วยความรู้-ความเข้าใจตลาด Local และการมีทีมผู้บริหารของ LINE เป็นคนไทย
สิ่งเหล่านี้เป็นแต้มต่อสำคัญที่แม้จะท้าทาย แต่ไม่กลัว ตื่นเต้นมากกว่าด้วยซ้ำ ว่าเราจะออกสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ได้ดีขึ้น ขยับได้เร็วกว่า และเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วกว่า”
จากก้าวแรก “แอปฯ แชท” สู่การต่อจิ๊กซอว์สร้าง “ระบบนิเวศธุรกิจครบวงจร”
“LINE” เปิดตัวเข้าสู่ตลาดประเทศไทยเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เริ่มต้นจากก้าวแรกด้วย…
-
“แอปพลิเคชันสนทนา” (Chat Messenger)
-
ต่อด้วยการเปิดตัว “LINE Stickers” และ “LINE Official Account”
ผลปรากฏว่า “สติ๊กเกอร์คาแรกเตอร์” รูปแบบต่างๆ ถูก “จริต” คนไทยเป็นอย่างมาก ผลักดันให้แอปฯ LINE ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ทั้งในกลุ่ม “ผู้ใช้งานทั่วไป” ที่แม้ LINE ไม่ใช่แอปฯ แชทแรกเข้ามาทำตลาดในไทย แต่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยจากที่เคยใช้แอปฯ แชทอื่น มาใช้ LINE ได้สำเร็จ ประกอบกับเป็นจังหวะ “สมาร์ทโฟน” ขยายตัวอย่างรวดเร็วในไทย และ “ลูกค้าแบรนด์” เมื่อเห็นว่าที่มีฐานผู้ใช้งานมากจำนวนหนึ่ง ก็ใช้ LINE เป็นแพลตฟอร์มการตลาด และสื่อสาร
-
ขยายสู่การให้บริการ “LINE Games” มีเกมฮิตเช่น Cookie Run
-
ต่อด้วย “LINE Creators Market” เปิดให้ใครๆ ก็สามารถนักออกแบบ-ขายสติ๊กเกอร์ได้ ยิ่งทำให้กลุ่มธุรกิจ Sticker แข็งแรงขึ้น
-
ขยายเข้ามาสู่ธุรกิจคอนเทนต์มากขึ้น ทั้ง “LINE TV” วางจุดยืนเป็นทีวีออนไลน์ และ “LINE Today” รวบรวมข้อมูลข่าวสารต่างๆ
-
ขยายมายัง “บริการด้านการเงิน” อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญของ “LINE ประเทศไทย” เริ่มต้นด้วย Payment ภายใต้ชื่อ “LINE Pay” ที่ในเวลาต่อมาได้ร่วมทุนระหว่าง “Rabbit – LINE Pay – AIS” ผนึกกำลังเป็น “Rabbit LINE Pay” เพื่อเป็น Payment Gateway ในชีวิตประจำวันของคนไทย
-
ไม่เพียงเท่านั้น LINE ต้องการเป็น “Financial Solution” สอดคล้องกับยุทธศาสตร์กลุ่มธุรกิจการเงิน LINE Corporation บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น ในประเทศไทยจึงได้ร่วมทุนกับ “กสิกรไทย” จัดตั้ง “บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด” เพื่อนำเสนอบริการ FinTech ในด้านต่างๆ
-
เปิดตัว “LINE MAN” นับเป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จของ LINE ประเทศไทย เพราะเป็นบริการที่คิดค้น และพัฒนาขึ้นในไทย
-
เปิดตัว “LINE JOBS” เพื่อตอบโจทย์เทรนด์การหางาน – สมัครงานผ่านออนไลน์ เป็นอีกหนึ่งบริการที่ทำให้คนไทยเข้ามา Engagement บนแพลตฟอร์ม LINE ได้มากขึ้น
ขณะที่ในปี 2562 ในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ เตรียมเปิดตัว
-
“LINE Shopping” รวบรวมแหล่งออนไลน์ช้อปปิ้งมาไว้ในที่เดียว
-
“LINE MAN GROCERY” บริการซื้อของใช้ในบ้าน
-
“LINE MELODY” LINE Call เพิ่มฟีเจอร์ให้ผู้ใช้งานสามารถนำเพลงยอดนิยมมาเป็น Melody หรือ Ring Tone
ขณะเดียวกัน “LINE” เป็น Business Solution ให้กับแบรนด์ และผู้ประกอบการ SME ที่มีทั้ง LINE Official Account (OA) ปัจจุบันมี 3 ล้านราย โดย 1.3 ล้านรายอยู่ในกลุ่มธุรกิจรีเทล และ 180,000 รายอยู่ในธุรกิจร้านอาหาร
รวมทั้งเป็นแพลตฟอร์มสื่อสารแบรนด์ ด้วยการขายพื้นที่โฆษณา ทั้งบน LINE TV, LINE Today, Chat list
และปีนี้เตรียมเปิดตัว “LINE IDOL” สำหรับกลุ่มศิลปิน ดารา และคนดัง ใช้เป็นช่องทางสื่อสารกับแฟนคลับ และได้เพิ่มหมวดหมู่ Business สำหรับคอนเทนต์ด้านธุรกิจ และกลุ่มกีฬา นำเสนอคอนเทนต์กีฬาต่างๆ
ผู้ใช้งาน 44 ล้านคน ความได้เปรียบที่ทำให้ LINE ไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่ง!
จาก Business Ecosystem ข้างต้น จะเห็นว่าหนึ่งในความได้เปรียบสำคัญที่ทำให้ LINE สามารถสร้าง Ecosystem ให้เป็นมากกว่าแอปฯ แชท ได้ในเวลารวดเร็วเพียง 6 ปี และมีแต้มต่อเหนือคู่แข่ง Tech Company ที่เป็น “Super App” เช่นเดียวกัน
คือ ฐานผู้ใช้งาน 44 ล้านคน ถือเป็น “แต้มต่อ” สำคัญของ “LINE ประเทศไทย” ใช้ในการศึกษา และทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อต่อยอดสู่บริการที่ออกแบบมาเพื่อคนไทยโดยเฉพาะ
เมื่อสามารถดึงคนไทยให้อยู่กับ LINE มากขึ้น ย่อมส่งผลบวกต่อบรรดาแบรนด์ และผู้ประกอบการ SME ที่ใช้ LINE เป็นทั้งช่องทาง และเครื่องมือการตลาด – การขายไปถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายโดยตรง
ดร. พิเชษฐ ฉายภาพว่า LINE เป็นส่วนหนึ่งของ Life Infrastructure ของทุกๆ คน ของผู้ใช้ 44 ล้านคนใน ตื่นเช้ามา นอกจากส่งข้อความ – เช็คข้อความแล้ว ก็สามารถเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารได้ สามารถใช้หางานได้ ใช้ดู Entertainment Content ใช้ซื้อของได้ เรามี e-Commerce Platform และเราก็มี Payment Gateway ที่สามารถชำระค่าสินค้า-บริการ และค่าน้ำค่าไฟผ่านตรงนี้ได้
“การจะเพิ่มอัตราการเติบโตอย่างมีความหมาย ถ้าเราโตจากยอดผู้ใช้งาน 44 ล้านคน เป็น 45 – 46 ล้านคน อาจเกิดคำถามว่าเป็นคนๆ เดียวกัน แล้วถือโทรศัพท์มือถือสองเครื่องเปล่า เพราะยอดผู้ใช้งาน 44 ล้านคน คิดเป็นกว่า 90% ของคนใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือแล้ว
ดังนั้นการเติบโต เราให้ความสำคัญตรงที่การเพิ่มเวลาการใช้แอปพลิเคชันของเรามากกว่า ทุกวันนี้คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ กว่า 200 นาทีต่อคนต่อวัน ค่าเฉลี่ยคนใช้ LINE อยู่ที่ 60 กว่านาที หรือ 1 ใน 3 ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ
การเติบโตของ LINE ประเทศไทยต่อไป คือ ทำให้ “Engagement Level” เพิ่มขึ้น ซึ่งแต่ละบริการมี Engagement Time หรือ Time Spent แตกต่างกัน
บริการพื้นฐานหลักๆ ที่มีการใช้งานถี่มากที่สุด และคนใช้ในประจำวัน คือ “LINE Chat” แต่เมื่อดู Engagement Time ของพฤติกรรมผู้บริโภคแล้ว อาจใช้ 3 – 5 นาทีต่อครั้ง ใช้เสร็จ แล้วกลับมาแชทใหม่
แต่ถ้า “LINE TV” บริการนี้มี Engagement Time โดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 30 นาที ขณะที่ “LINE Today” จะมีการใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์มอีกแบบหนึ่ง ในทางกลับกัน สำหรับบริการ Payment เราต้องพัฒนาให้การใช้เวลาอยู่กับบริการ Payment ของ LINE ต้องทำให้ใช้เวลาน้อยที่สุด เพราะผู้บริโภคต้องการความสะดวก และรวดเร็ว
เราเชื่อว่า Ecosystem ที่เรามีในวันนี้ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการในประเทศไทย แต่เราอยู่ใน “Tech Industry” ซึ่งผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมเร็ว รวมถึงมีคู่แข่งทางการค้า ที่สามารถเสนอผลิตภัณฑ์ที่มี Technology Innovation ต่างๆ ขึ้นมาใหม่ตลอดเวลา
ณ สถานการณ์ปัจจุบันเรามี Infrastructure เพียงพอที่จะให้บริการได้ดี และมีเทคโนโลยีที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาได้ แต่ในอนาคต เราต้องมีโปรดักต์อื่นเข้ามาเติมเต็มมากขึ้น”
“Data-driven Organization” เมื่อทุกอย่างขับเคลื่อนด้วย Big Data
“Data is the new oil” คำกล่าวที่เปรียบ “ข้อมูล” มีค่าดั่งแหล่งน้ำมันแห่งใหม่ได้เห็นภาพอย่างชัดเจน เพราะทุกวันนี้ “Data” หรือ “Big Data” กลายเป็นสิ่งที่องค์กรธุรกิจอยากครอบครองให้มากที่สุด เพราะ “Data” จะนำไปสู่การต่อยอดธุรกิจได้อีกมหาศาล โดยถูกนำมาใช้ตลอดทั้ง Value Chain ของการดำเนินธุรกิจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “Tech Company” ไม่ว่าจะระดับประเทศ ระดับภูมิภาค หรือระดับโลก ล้วนแล้วแต่ใช้ “Big Data” เป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กร ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ – บริการตอบโจทย์ความต้องการ และช่วยแก้ Pain Point ของผู้บริโภคที่ลงลึกระดับ Localization
เช่นเดียวกับ “LINE Corporation” และ “LINE ประเทศไทย” กำหนดองค์กรชัดเจนว่าเป็น “Data-driven Organization”
“สำหรับบริษัทเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นไทย หรือต่างชาติ “Big Data” เป็นเรื่องสำคัญมากต้นๆ เพราะบริษัทเทคโนโลยี ทำงานตามข้อมูล ซึ่ง Data-driven innovation คือ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการหลายอย่างเกิดจากการดูพฤติกรรมผู้บริโภค ที่เอามาวิเคราะห์ เราจะเห็น data point ที่ชัดเจน
เราเคยพิสูจน์ทฤษฎีนี้ ตอนที่มีการแคมเปญครบรอบ LINE MAN 3 ปี เราดูข้อมูล และใช้กลยุทธ์ “Moment Marketing ส่งโปรโมชันไปยังกลุ่มผู้ใช้ LINE MAN ที่ตรงกับโปรโมชันจัดขึ้น ในเวลาที่ถูกต้อง เมื่อผู้บริโภคได้รับข้อมูล จะกระตุ้นการซื้อได้อย่างรวดเร็ว และมหาศาล ดังนั้น Data-driven เป็นหนึ่งหัวใจสำคัญในการสร้างผลิตภัณฑ์ หรือบริการขึ้นมา”
อย่างไรก็ตาม ในยุคที่ “Big Data” คือ ขุมทรัพย์อันมีค่าสำหรับการทำธุรกิจ แต่ในอีกมุมหนึ่งเวลานี้ผู้บริโภคเริ่มกังวลต่อ “Data Privacy” มากขึ้นเรื่อยๆ
ต่อประเด็นนี้ ดร. พิเชษฐ ให้สัมภาษณ์ว่า LINE เป็นบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งมีการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคอยู่แล้ว แต่บริษัทมีนโยบายความปลอดภัยของข้อมูลผู้ใช้งานใน 3 ส่วนคือ
1. การสร้างผลิตภัณฑ์ของ LINE ให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นส่วนตัว หรือ User Data Privacy
2. เทคโนโลยี “Encryption” ทำให้การถอดรหัสข้อมูลทำได้เฉพาะอุปกรณ์ของผู้ส่ง กับผู้รับเท่านั้น ในขณะที่คนกลาง ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เช่น ผู้ประสงค์ดักข้อมูลระหว่างผู้ส่ง กับผู้รับ จะไม่สามารถถอดรหัสข้อมูลนั้นได้
3. Database ถูกเก็บไว้ใน Data Center ที่บริหารจัดการมาตรฐานระดับโลก
“Hyper-localization” กลยุทธ์สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันเหนือ “Super App” รายอื่น
จากการขับเคลื่อนองค์กรด้วย “Data-driven” สิ่งที่ตามมาคือ กลยุทธ์ “Hyper-localization” คือ ทั้งปรับ และออกแบบให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ (Local Consumer) ไม่ใช่ยกฟอร์แมตจากระดับโลก แล้วใช้กับแต่ละประเทศได้ทันที
“LINE Corporation ให้ความสำคัญกับประเทศไทยอย่างมาก เราถึงมีจุดแข็งสำคัญ ที่สามารถนำเสนอความต้องการของผู้บริโภคไทย ไปยังสำนักงานใหญ่ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อปรับปรุง แก้ไขผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ เช่น นำเสนอว่ามี User Experience ไม่ดีตรงนี้ มี Pain Point ไม่ดีอย่างไร เพื่อทำ Hyper-localization ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้บริการ”
รวมถึงริเริ่มพัฒนาบริการสำหรับตลาดประเทศไทยโดยเฉพาะ อย่างกรณีศึกษา “LINE MAN” มีในไทยที่เดียว !!
“LINE MAN” แม้จะไม่ได้เป็น First Mover แพลตฟอร์มสั่งอาหาร แต่เกิดขึ้นโดยวิศวกรไทย ที่เล็งเห็นช่องว่างธุรกิจที่แพลตฟอร์มสั่งอาหารที่อยู่มาก่อน นำเสนอร้านอาหารที่อยู่ในศูนย์การค้า ในขณะที่ธุรกิจอาหารกลุ่มใหญ่สุดในประเทศไทย คือ “ร้านสตรีทฟู้ด” ที่ผู้บริโภคประสบ Pain Point ทั้งเรื่องที่จอดรถ การเดินทาง ร้านมีที่นั่งจำกัด ไม่สะดวก
ทำให้การเกิดขึ้นของ “LINE MAN” จึงเปิดบริการจัดส่งอาหารจากร้านสตรีทฟู้ด นอกเหนือจากร้านในศูนย์การค้า ถึงปัจจุบันแตกกิ่งก้านแล้ว 5 บริการ และเร็วๆ นี้เตรียมเปิดตัว “LINE MAN GROCERY” บริการซื้อของใช้ในบ้านจากซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต
“Open Culture” ถูกใจคนทำงานรุ่นใหม่
จากยุคเริ่มต้น “LINE Thailand” มีพนักงานกว่า 10 คน ถึงวันนี้มีพนักงาน 500 คน และเป็น Multi-culture ที่มีไม่ต่ำกว่า 20 เชื้อชาติ โดยส่วนใหญ่เป็น Generation Y อายุเฉลี่ย 29 – 30 ปี ทำงานร่วมกันในองค์กรแห่งนี้ ภายใต้วัฒนธรรมองค์กร “Open Culture” เปิดรับฟังความคิดเห็นทุกคน
ดร. พิเชษฐ เล่าว่า LINE มีวัฒนธรรมองค์กรที่เปิด และไว้ใจกัน ซึ่งการประชุม Town Hall ผู้บริหารของ LINE Corporation จะมาเล่าแผนการทำงานขององค์กรให้กับพนักงานได้รู้ก่อน เพราะไว้ใจพนักงาน และอยากให้พนักงานได้ยินแผนธุรกิจจากผู้บริหาร ก่อนจะไปได้ยินจากคนข้างนอก
ความเป็น Tech Company บวกกับความเป็นคนไทย ทำให้ LINE ประเทศไทย มีวัฒนธรรมเฉพาะตัวเอง ที่อยู่กันเหมือนญาติพี่น้อง ออฟฟิศทุกวันนี้ ผมให้คำจำกัดความว่าไม่ใช่ House แต่เป็น Home ไปแล้ว เรามีเบเนฟิตต่างๆ ให้ ทำให้เขารู้สึกอยากมาทำงาน และสามารถเสนอไอเดียได้ทันที ทำงานที่ไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบของการนั่งในห้องประชุม หรือในห้องทำงานอย่างเดียว ทำให้งานขยับเร็วขึ้น
“ผ่านมา 6 ปี LINE มีผลิตภัณฑ์หลากหลายเกิดขึ้นมากมาย เพราะฉะนั้นถึงวันนี้ ถามว่า LINE คืออะไร LINE ต้องการเป็น Life Infrastructure ที่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวัน และความต้องการของผู้ใช้ในทุกๆ วัน
เราต้องการ Integrate อยู่ในการใช้ชีวิต หรืออยู่ใน Mobile Internet ของคนไทยในทุกๆ วัน โดยที่เขาไม่รู้สึกว่าสร้างความรำคาญให้เขา แต่รู้สึกสะดวก รวดเร็ว และเป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อถือได้” ดร. พิเชษฐ สรุปทิ้งท้าย