สมาร์ทโฟนแบรนด์ไทยหวังตีตลาด AEC

  • 2
  •  
  •  
  •  
  •  

true-beyond3

อัตราการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนในประเทศไทยยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนสมาร์ทโฟนประเภทแอนดรอยด์ถือว่าใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลกตามมาด้วย iOS และ Windows Phone แต่สำหรับโอเปอเรเตอร์ยักษ์ใหญ่ทั้งสามค่ายที่เดินหน้ารุกตลาดดีไวซ์ในแบรนด์ของตัวเอง ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ช่วยเพิ่มยอดผู้ใช้งานคลื่นสัญญาณใหม่อย่าง 3G และ 4G LTE ได้เป็นอย่างดี

วัตถุประสงค์ของการจับตลาดดีไวซ์

จากอัตราผู้ใช้สมาร์ทโฟนในประเทศไทยสูงถึง 15 ล้านเครื่องในปีนี้ และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านเครื่อง ทำให้บริษัทผู้ผลิตดีไวซ์หลายรายหันมาให้ความสนใจส่งสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ฟีเจอร์เด่นๆ เข้าตลาดกันเป็นจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่โอเปอเรเตอร์ยักษ์ใหญ่ของไทย

อติรุฒม์ โตทวีแสนสุข กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจโมบายล์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเปิดประมูลคลื่นความถี่ 2100  MHz ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ เพราะประเทศไทยใช้ระบบ 2G กันมานาน พอมีเทคโนโลยีใหม่เข้ามาก็ควรจะมีอุปกรณ์ที่รองรับคุณภาพของโครงข่ายได้เพราะถ้าเป็น 2G สิ่งที่ใช้งานกันจะเป็น Edge หรือ GPRS ซึ่งไม่สามารถใช้จุดเด่นของ 3G ได้อย่างคุ้มค่า และอุปกรณ์ที่รองรับสัญญาณก็เป็นสมาร์ทดีไวซ์ที่มีราคาค่อนข้างแพง ราคาเริ่มต้นของมันอยู่ที่หลักหมื่นถึงสองหมื่นบาท ซึ่งเรามีโครงข่าย 850 MHz ในการทำ 3G อยู่แล้วการได้คลื่นสัญญาณ 2100 MHz มาเป็นการเสริมเรื่อง Capacity แต่ไม่ใช่ปรับเปลี่ยนทั้งหมด แค่เลือกเสริมบริการด้านเครือข่ายตามหัวเมืองสำคัญหรือเมืองเศรษฐกิจที่มีความต้องการใช้งานทางเทคโนโลยีก่อน

จุดเริ่มต้นที่ผลิตหรือพัฒนาดีไวซ์ในช่วงแรกไม่ได้เริ่มที่สมาร์ทโฟน ดีไวซ์แรกของเราคือ ฟีเจอร์โฟนรุ่น Go Live แต่เป็นฟีเจอร์โฟนที่ใช้งาน 3G ได้ สามารถใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ ซึ่งสมัยก่อนเวลาใช้งานฟีเจอร์โฟนคุณภาพด้านความเร็วจะได้ประมาณ 64 Kbps หรือ 128 Kbps ช่วงที่ยังเป็นสัญญาณ EDGE หรือ  GPRS  เมื่อพัฒนามาเป็น 3G คุณภาพที่ได้จะเป็น 7.2 Mbps เพราะฉะนั้นฟีเจอร์โฟนใช้ 7.2 Mbps ไม่ได้ ถือว่าเป็นการสร้างความเข้าใจก่อนว่าอินเทอร์เน็ตใช้ทำอะไรได้บ้าง ดังนั้นฟีเจอร์โฟนรุ่นแรกจึงปรับให้รองรับการใช้งานโครงข่าย 3G ได้ เมื่อเกิดการเรียนรู้มากขึ้นจึงพัฒนามาเป็นสมาร์ทโฟนกันต่อไป

สมาร์ทโฟนแบรนด์ไทย

กระแสการใช้งานในกรุงเทพมหานครถือว่าเป็นอัตราที่สูงมาก ยิ่งราคาตัวเครื่องของตลาดในแบรนด์ใหญ่เพิ่มขึ้นเท่าไร กลับสร้างโอกาสให้ตลาดสมาร์ทโฟนแบรนด์ของไทยเริ่มมีโอกาสรุกเข้ามาได้ง่ายขึ้น อีกทั้งฝีมือการพัฒนาของคนไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก

ช่วงที่คิดจะทำสมาร์ทโฟนนั้นเราเริ่มทดลองบนระบบแอนดรอยด์ก่อนเพราะเป็นระบบเปิด ซึ่งต้องมีความพร้อมของโรงงานผู้ผลิตรวมไปถึงชิปเซ็ตของตัวเครื่อง โดยคุณสมบัติและส่วนประกอบของตัวเครื่องต้องรองรับการใช้งานคลื่นสัญญาณใหม่ได้อย่างเต็มที่เทียบเท่ากับสมาร์ทโฟนราคาแพง ซึ่งแบรนด์โทรศัพท์มือถือเหล่านี้จะมีโควต้าในการผลิตชิปเซ็ต เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเขียนซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมเก่งแล้วเอาไปให้ใครทำก็ได้ เพราะชิปเซ็ตถือเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์ ซึ่งแต่ละแบรนด์เขาก็จะมีความสามารถในการสร้างสรรค์ชิปเซ็ตเหล่านี้แตกต่างกัน และมีการจำกัดจำนวนการผลิตในแต่ละปี ดังนั้น เราต้องเตรียมทั้งซอฟต์แวร์ ชิปเซ็ต User Interface, User Experience ให้พร้อม จากนั้นก็เอาซอฟต์แวร์เหล่านี้ไปให้โรงงานผู้ผลิตประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ตามสเป็กที่เรากำหนด ซึ่งโรงงานผู้ผลิตอยู่ที่ประเทศจีนและเราก็จะมีทีมงานไปควบคุม ตรวจงาน เช็กมาตรฐานการผลิตเหมือนที่บริษัทอื่นๆ ทำกัน จากนั้นเราก็พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่รองรับการทำงานและตลาดลูกค้าของทรู โดยจะเป็นเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์และแอพพลิเคชั่นตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนผ่านพรีเซ็นเตอร์ เพื่อสร้างความจดจำในแบรนด์ทรูมากยิ่งขึ้น

true-beyond

ทำตลาดผ่านพรีเซ็นเตอร์

การเลือกใช้ศิลปินชื่อดังมาสร้างให้แบรนด์เป็นที่จดจำถือเป็นการลงทุนด้านต้นทุนค่อนข้างสูง เพราะคนส่วนใหญ่จะคิดว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องใหญ่ที่ไกลตัวและยากในการทำความเข้าใจ แต่การนำเสนอในเชิงเอ็นเตอร์เทนเมนต์กลับสร้างความสนใจและขยายตลาดได้ไวเกินคาด

“การที่เลือกใช้พรีเซ็นเตอร์ชื่อดังนั้น เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดที่เรามองว่า ถ้าจะสื่อสารเทคโนโลยีใหม่ผ่านใครที่ไม่รู้จักลูกค้าคงไม่เชื่อในข้อมูลความรู้ที่เราส่งไปให้ ดังนั้นการที่จะหาใครสักคนมาเล่าเรื่องต้องเป็นคนที่เห็นแล้วรู้สึกดี สื่อสารกับคนทุกรุ่นได้ ซึ่งพรีเซ็นเตอร์ที่เราเลือกมาต้องมีแบ็คกราวด์ที่ดี สื่อสารได้ชัดเจนและง่ายต่อการจดจำ เพราะแต่ละคนจะมีลักษณะที่แตกต่างกันและสื่อสารกับลูกค้าได้ทุกระดับ”

“ซึ่งก่อนหน้านี้เราเลือกดารานักแสดงที่เป็นคนไทย ต่อมาพอจะขยายไปยังตลาดต่างประเทศ เราก็ต้องเลือกคนที่สื่อสารได้ในระดับนานาชาติ จึงเป็นเหตุผลในการเลือกศิลปินเกาหลีสำหรับสมาร์ทโฟนรุ่นบียอนด์ ถือว่าเป็นเรื่องของเวลาที่ลงตัวและตรงกับแนวคิดของเราพอดี หากลูกค้าชาวไทยหรือต่างชาติชื่นชอบศิลปินเกาหลีกลุ่มนี้ ก็สามารถสั่งซื้อตัวเครื่องผ่านช่องทาง iTruemart ได้ เพราะการสั่งซื้อดีไวซ์จะไม่ผูกสัญญาซิมกับเครื่อ เเพียงแต่จะใช้แอพพลิเคชั่นที่เป็นศิลปินเกาหลีไม่ได้ ถือว่าช่วยขยายตลาดไปยังต่างประเทศที่มีเครือข่ายคลื่นความถี่ 4G LTE เหมือนกัน ซึ่งราคาเครื่องก็ไม่แพงมากจนเกินไปไม่ว่าจะกลุ่มลูกค้าต่างจังหวัดหรือต่างประเทศก็น่าจะพอรับได้”

true-beyond2

แผนการตลาดสำหรับ 3G และ 4G

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาการทำตลาดเครือข่าย 3G ของทั้งสามค่ายยักษ์ใหญ่ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดุเดือดพอสมควร เพราะต่างก็งัดกลยุทธ์เรียกลูกค้าให้หันมาใช้โครงข่ายของตนเองและสร้างความผูกขาดในแบรนด์ของตนเองผ่านทางสมาร์ทดีไวซ์ราคาถูก

ลูกค้าบางคนอาจเข้าใจผิดว่ารุ่นบียอนด์ทำออกมาเพื่อเป็นดีไวซ์รองรับ 4G เท่านั้น ซึ่งที่จริงแล้วใช้งานได้ทั้ง 3G และ 4G ถึงแม้ว่าในตลาดจะมีสมาร์ทโฟนรองรับ คือ Nokia Lumia 820 และ 920, Sony Xperia V, IPhone 5 และ IPad mini ซึ่งสามารถใช้บนคลื่นความถี่เดียวกันได้ทั้งหมด แต่ราคาของรุ่นเหล่านั้นจะเริ่มที่หลักหมื่น การที่เราทำดีไวซ์ราคาถูกนอกจากจะช่วยตอบสนองตลาดระดับล่างแล้วยังถือเป็นช่องทางที่ดีในอนาคต หากมีการเปิดช่องทางการค้าเสรี หรือ AEC ขึ้นมา ก็จะเป็นการขยายสินค้าและบริการไปยังประเทศในฝั่งอาเซียนมากขึ้น

ซึ่งตั้งแต่เปิดขาย Go Live ทั้ง 3 รุ่น มียอดขายอยู่ที่ประมาณ 5-6 แสนเครื่อง อาจจะไม่ได้เป็นสัดส่วนที่ใหญ่มากแต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาต่อไป ส่วนการที่โอเปอเรเตอร์รายอื่นๆ เริ่มก้าวเข้ามาทำตลาดดีไวซ์คงเป็นเพราะเห็นผลตอบรับของตลาดไปในทิศทางที่ดี เพราะถ้าไม่มีดีไวซ์รองรับเครือข่าย 3G ตลาดมันจะเดินต่อไปลำบากแค่ดีไวซ์อย่างเดียวอาจไม่พอ ควรจะมีส่วนประกอบในเรื่องของคอนเทนต์และแอพพลิเคชั่นเข้ามาช่วยเสริมด้วย ซึ่งระดับราคาเริ่มต้นของสมาร์ทโฟน 3,000 บาทก็หาซื้อกันได้แล้ว ไม่ว่าจะตลาดกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดก็มีความต้องการด้านเทคโนโลยีไม่ต่างกัน แค่เลือกใช้ให้เหมาะสมก็พอ องค์ประกอบเหล่านี้ถือว่าเป็นกลไกทางการตลาดที่ผลักดันให้เศรษฐกิจไทยก้าวต่อไปได้

เปรียบเทียบคุณสมบัติสมาร์ทโฟนแบรนด์ไทย

true-beyond4

สนับสนุนโดย นิตยสาร Ecommerce ฉบับ กรกฏาคม 2556


  • 2
  •  
  •  
  •  
  •