การวัดว่า กำลังซื้อผู้บริโภคหรือบรรยากาศการจับจ่ายเป็นอย่างไร เราสามารถดูได้ในช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ อย่างปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2562 คาดว่า จะมีเม็ดเงินสะพัดจากการใช้จ่ายของประชาชนทั่วประเทศราว 1.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับการจับจ่ายใช้สอยช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา แบ่งเป็นการใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ 6.22 หมื่นล้านบาท และคนต่างจังหวัด 7.30 หมื่นล้านบาท
สำหรับการใช้จ่ายที่มีการใช้มากที่สุด ก็คือ การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว 97,076 ล้านบาท โดยวางงบท่องเที่ยวในประเทศไว้เฉลี่ย 14,448.60 บาทต่อคน ส่วนต่างประเทศวางไว้ที่ 61,939.16 บาทต่อคน
ส่วนค่าใช้จ่ายที่ใช้รองลงมา ได้แก่ ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 1.74 หมื่นล้านบาท เลี้ยงสังสรรค์ 1 หมื่นล้านบาท ทำบุญ 7,394.86 ล้านบาท ซื้อสินค้าคงทน 2,206 ล้านบาท และซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย 1,178.74 ล้านบาท
สำหรับของขวัญยอดนิยมในช่วงปีใหม่ 3 อันดับแรก คือ เงินสด/เช็คของขวัญ รองลงมา คือ กระเช้าของขวัญ และเครื่องดื่มบำรุงร่างกาย
ส่วนคำถามที่ว่า บรรยากาศเทศกาลปีใหม่ปี 2562 เป็นอย่างไร 44.9% มองว่าคึกคักมากกว่าปีที่แล้ว ใกล้เคียงกับคนที่มองว่าคึกคักพอกับปีที่ผ่านมา 44.4% ขณะที่ประชาชน 7.5% มองว่า คึกคักน้อยกว่าปีที่แล้ว และไม่คึกคักมีเพียง 3.2%
ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาพรวมการใช้จ่ายปีใหม่ปีนี้มีความคึกคักมาก แรงหนุนมาจากมีเงินสะพัดจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ได้คนละ 500 บาท ประมาณ 11-14 ล้านคน ทำให้มีเม็ดเงินสะพัดจากส่วนนี้ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังเงินให้กับผู้สูงอายุอีก 1,000 บาท รวมถึงราคาสินค้าเกษตรบางรายการ เช่น ข้าว ราคาดีขึ้น ทำให้การจับจ่ายใช้สอยในกลุ่มคนฐานรากดีขึ้น โดยมั่นใจว่า เศรษฐกิจปี 2561 จะเติบโต 4.2% เป็นการโตเกิน 4% ในรอบ 6 ปี ส่วนปี 2562 คาดจีดีพีของไทยเติบโตที่ 4-4.5%