5 เหตุผล “Tim Hortons” เชนร้านกาแฟแคนาดา ท้าชิงตลาดไทยท่ามกลางเชนใหญ่ – ร้านอิสระอีกเพียบ!

  • 1.4K
  •  
  •  
  •  
  •  

tim-hortons

ในช่วงเวลา 5 – 10 ปีมานี้ “ธุรกิจร้านกาแฟ ในไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทั้งเชนยักษ์ใหญ่เร่งปูพรมสาขาทั่วประเทศ อีกทั้งยังเกิดร้านกาแฟอิสระมากมาย ที่น่าจับตามองคือ “Specialty Coffee” หรือร้านกาแฟประเภท Slow Bar ส่งผลให้ “พฤติกรรมการดื่มกาแฟ” ในกลุ่มผู้บริโภคไทยเริ่ม Well Educate และหลากหลาย

ธุรกิจร้านกาแฟในไทยคึกคักอีกครั้ง เมื่อมี Player รายใหม่ แต่เก๋าประสบการณ์จากตลาดต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย นั่นคือ “Tim Hortons” (ทิม ฮอร์ตันส์) เชนร้านกาแฟรายใหญ่ของแคนาดา อยู่ภายใต้เครือ “Restaurant Brands International” (RBI) เจ้าของแบรนด์ Burger King, Popeyes มาเปิด “สาขาแรก ในไทย ด้วยการให้สิทธิ์แก่ “บริษัท วีอีท จำกัด” (WeEat) ของทายาทตระกูลวัธนเวคิน ในการลงทุนและขยายสาขาในตลาดประเทศไทย

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทั้ง RBI บริษัทแม่ของ “Tim Hortons” และบริษัทวีอีท กล้าบุกตลาดร้านกาแฟในไทย มาจากเหตุผลหลักคือ 

Tim Hortons

 

1. ธุรกิจร้านอาหาร- เครื่องดื่มในไทยกว่า 4 แสนล้าน “ร้านกาแฟ” ขนาดตลาดใหญ่สุด

มูลค่าธุรกิจร้านอาหาร และร้านเครื่องดื่มในประเทศไทยกว่า 400,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตในทิศทางที่ดี โดยในระหว่างปี 2555 – 2560 เติบโตโดยเฉลี่ย 13% ต่อปี (อ้างอิงจากข้อมูลของ Euromonitor) และในบรรดาธุรกิจร้านอาหาร และร้านเครื่องดื่ม พบว่าเซ็กเมนต์ที่มี Market Size ใหญ่สุดคือ “ธุรกิจร้านกาแฟ” มูลค่ากว่า 36,000 ล้านบาท โดยระหว่างปี 2559 – 2561 มีการเติบโตเฉลี่ย 22% ต่อปี

แน่นอนว่าขนาดตลาดที่ใหญ่ ย่อมมีการแข่งขันสูง และรุนแรง แต่ขณะเดียวกันเป็นเค้กชิ้นใหญ่ที่เต็มไปด้วยโอกาสมหาศาล

Tim Hortons

 

2. เริ่มต้นก้าวแรกไม่ได้นับจากศูนย์แต่ใช้ความได้เปรียบด้าน Brand – Global Scale ดันธุรกิจแจ้งเกิดในไทย 

การเข้ามาของ “Tim Hortons” ในไทย ภายใต้โมเดลให้สิทธิ์การบริหารและการลงทุนแก่ Local Partner “บริษัทวีอีท” ไม่ใช่การเร่ิมต้น “นับจากศูนย์” เพราะมีความได้เปรียบในหลายด้าน คือ

– แบรนด์ “Tim Hortons” ก่อตั้งขึ้นในปี 1964 ถึงปัจจุบันมีจำนวนสาขากว่า 4,850 สาขาทั่วโลก โดยกว่า 4,000 สาขาอยู่ในแคนาดา รองลงมาคือ สหรัฐฯ ขณะที่ตลาดที่มีศักยภาพในเวลานี้สำหรับเชนร้านกาแฟจากแคนาดารายน้ี คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE), จีน และฟิลิปปินส์

ส่วนประเทศไทย ถือเป็นตลาดลำดับที่ 14 ของตลาดต่างประเทศ แม้จะเป็นอันดับ 1 ในแคนาดา และมีสาขาในหลายประเทศ แต่เมื่อมาตลาดไทย ถึงจะมีคอกาแฟรู้จักแบรนด์นี้อยู่แล้ว แต่คงต้องสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ในกลุ่มผู้บริโภคไทยมากขึ้น

 Global Supply Chain ความที่เป็นเชนกาแฟระดับโลก ทำให้สามารถเข้าถึงเกษตรผู้ปลูกกาแฟได้โดยตรงจำนวน 12,000 รายทั่วโลก และทำงานร่วมกัน (collaborate) ตั้งแต่การพัฒนาวิธีการปลูก ไปจนถึงได้ออกมาเป็นผลผลิต และเก็บเกี่ยวส่งให้กับ “Tim Hortons” ทำให้ได้วัตถุดิบกาแฟจากทั่วโลก ทั้งยังปิดข้อจำกัดด้านฤดูกาลการปลูกของแต่ละพื้นที่ แต่ละประเทศ

นอกจากนี้วัตถุดิบกาแฟต้องผ่านโรงคั่ว ตั้งอยู่ในอเมริกาเหนือ โดยมี Coffee Master เพียง 3 คนบนโลกเท่านั้นที่รู้สูตร Blend เมล็ดกาแฟของ “Tim Hortons”

– ได้แรงซัพพอร์ตระบบบริหารจัดการ – องค์ความรู้ธุรกิจร้านอาหารจาก “RBI” เป็นการผสานการทำงานระหว่างทีมงานของ “วีอีท” โดยได้การสนับสนุนเต็มที่จากเจ้าของแบรนด์ “RBI”

Tim Hortons

 

3. คนไทยดื่มกาแฟ 300 แก้วต่อคนต่อปี น้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลก! ยังมีโอกาสเพิ่ม Consumption อีกมาก

อีกปัจจัยคือ มองเห็นช่องว่างการเติบโตของการดื่มกาแฟในกลุ่มผู้บริโภคไทย เนื่องจากการบริโภคกาแฟของตลาดไทย โดยเฉลี่ย 300 แก้วต่อคนต่อปี ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ไม่สูง และต่ำกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วทางตะวันตก และประเทศที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในเอเชีย

เช่น ญี่ปุ่น อัตราการบริโภคกาแฟอยู่ที่ 400 แก้วต่อคนต่อปี ในขณะที่ฝั่งยุโรป ในตลาดพัฒนาแล้วอัตรการดื่มกาแฟที่นั่นอยู่ที่กว่า 600 แก้วต่อคนต่อปี เพราะฉะนั้นยังมีโอกาสอีกมากในการเพิ่ม consumption การดื่มกาแฟในกลุ่มผู้บริโภคไทย

Tim Hortons

 

4. ไม่ได้ขายแค่กาแฟ แต่ยังมี “โดนัท” ที่เป็น Heritage ของแบรนด์ และ “เมนูอาหารมื้อหนัก” เพื่ออยู่ในทุกโอกาสการกิน 

แม้ Core Product ของ “Tim Hortons” คือ เครื่องดื่มกาแฟ แต่อีกหนึ่งโปรดักต์ที่ถือเป็น Signature  และ Heritage ของแบรนด์มายาวนาน คือ “เมนูโดนัท” ซึ่งในประเทศไทยมูลค่าตลาดร้านโดนัทอยู่ที่กว่า 3,600 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเมนูมื้อหนัก เช่น อาหารประเภทแซนด์วิช

กลุ่มเมนูอาหาร ช่วยเติมเต็มให้โปรดักต์ของ “Tim Hortons” ตอบโจทย์ได้ทั้ง “อาหารว่าง” อย่างโดนัท” และ “อาหารหนัก” เพื่ออยู่ในทุกโอกาสการกินของผู้บริโภค และช่วยสร้างโอกาสการขาย และดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการ

Tim Hortons Tim Hortons

 

5. Localize ดีไซน์ร้าน – เมนูให้เหมาะกับคนไทยและโลเกชั่น – ตั้งเป้าเปิด 15 สาขาในปี 2563

ถึงจะเป็นเชนร้านกาแฟระดับโลก แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในตลาดประเทศต่างๆ ใช้กลยุทธ์ “Localization” ด้านดีไซน์ร้าน และออกแบบเมนูให้ตอบโจทย์ “ความต้องการ” ของผู้บริโภคไทย เพราะอาหารการกินเป็นเรื่องเฉพาะถิ่น

อย่าง “ดีไซน์ร้าน สาขาแรกที่สามย่านมิตรทาวน์ ขนาด 325 ตารางเมตร มี 118 ที่นั่ง ภายใต้การตกแต่งและบรรยากาศแบบแคนาดาแล้ว ยังแฝงด้วยดีไซน์สะท้อนความเป็น “สามย่าน” โดยมุมหนึ่งตกแต่งด้วยเซรามิก ลวดลายสายย่านยุคเก่า เพื่อให้เข้ากับสถานที่ และเชื่อมโยงกับคนไทย

Tim Hortons_Localized Decor

ขณะที่ “เมนู” ให้บริการ นอกจาก Signature Menu ที่สร้างชื่อและขายดีในแคนาดา เช่น ดับเบิ้ล ดับเบิ้ล, ซิกเนเจอร์ ไอซแคป ฯลฯ ยังมีเมนูอาหารที่พัฒนาขึ้นสำหรับเมืองไทยโดยเฉพาะ เช่น บาร์บีคิว พูลพอร์ค พาพินี่ แซนด์วิช, ทูน่ากริลล์ชีสเมลท์

ควบคู่กับการตอกย้ำความเป็นแบรนด์ “Canadian Coffee”

“โมเดลธุรกิจของ Tim Hortons มีเอกลักษณ์ คือ กาแฟ และอาหารของเราทำสดใหม่ในร้าน เราจึงมั่นใจคุณภาพ ทั้งสินค้า และมารตรฐานการให้บริการ ซึ่งแคนาดามีชื่อเสียงด้านการยิ้มแย้มต้อนรับ และเราวางราคาให้เข้าถึงได้ สำหรับเมนูกาแฟเร่ิมต้นที่ 75 บาท 

เราอยากเป็นแบรนด์กาแฟที่เป็นเบอร์หนึ่งในใจคนไทย เหมือนกับที่เราชนะใจคนแคนาดามาแล้ว และผมมั่นใจว่าเราจะขยายให้เร็วที่สุด ซึ่งแผนภายในปีนี้ ตั้งเป้าเปิด 15 สาขา โดยในแคนาดาสาขาของ “Tim Hortons” มีหลายฟอร์แมต ตั้งแต่ Kiosk, Stand Alone, Drive Thru และอยู่ในศูนย์การค้า” คุณสุพัชร วัธนเวคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท วีอีท จำกัด กล่าวทิ้งท้ายถึงเป้าหมาย

Tim Hortons

Tim Hortons


  • 1.4K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ