มาสเตอร์การ์ดชี้ “กรุงเทพฯ” คือ สุดยอดเมืองจุดหมายปลายทางในเอเชียแปซิฟิก

  • 41
  •  
  •  
  •  
  •  

MasterCard_APDI_Infographic-700

กรุงเทพฯ นำโด่งเป็นจ่าฝูงของภูมิภาคในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวพักค้างคืนที่สูงเกิน 20 ล้านคนเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ ตามผลดัชนีสุดยอดเมืองจุดหมายปลายทางในเอเชียแปซิฟิกประจำปีของมาสเตอร์การ์ดที่ประกาศผลวันนี้ ในขณะที่อันดับสองและสามเป็นการขับเคี่ยวสูสีกันระหว่างสิงคโปร์และโตเกียว

3 ใน 10 สถานที่ อยู่ในไทย

ประเทศไทย ครองความยิ่งใหญ่ในการจัดลำดับสุดยอดเมืองจุดหมายปลายทาง ด้วยการมีเมืองอยู่ในสิบอันดับต้นถึง 3 แห่ง นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว ก็ยังมีภูเก็ตรั้งตำแหน่งที่ 5 (9.3 ล้านคน) และเมืองชายหาดอย่างพัทยาในตำแหน่งที่ 8 (8.1 ล้านคน)

ครึ่งหนึ่งของสถานที่สูงสุดสิบอันดับมีอัตราเพิ่มของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติพักค้างคืนสูงถึงร้อยละ 10 หรือมากกว่าเมื่อเทียบระหว่างปี 2557 และ 2558 สถานที่ดังกล่าว ได้แก่ โอซาก้า (ร้อยละ 54.0) โตเกียว (ร้อยละ 53.2) กรุงเทพฯ (ร้อยละ 28.6) ภูเก็ต (ร้อยละ 15.5) และพัทยา (ร้อยละ 10.0)

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติพักค้างคืนในเมือง 20 อันดับต้นนั้น เป็นจำนวนราวครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมดจาก 167 แห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับการจัดอันดับโดยดัชนีในครั้งนี้

สุดยอดเมืองจุดหมายปลายทางสิบอันดับต้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยวัดจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทำการพักค้างคืน ได้แก่

1. กรุงเทพมหานคร – 21.9 ล้านคน
2. สิงคโปร์ – 11.8 ล้านคน
3. โตเกียว – 11.8 ล้านคน
4. กัวลาลัมเปอร์ – 11.3 ล้านคน
5. ภูเก็ต – 9.3 ล้านคน 6. โซล – 9.2 ล้านคน
7. ฮ่องกง – 8.3 ล้านคน
8. พัทยา – 8.1 ล้านคน
9. บาหลี – 7.2 ล้านคน
10. โอซาก้า – 6.5 ล้านคน

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในเอเซียแปซิฟิกถือเป็นภูมิภาคที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยการก่อให้เกิดรายได้ให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) แซงยุโรปในปี 2557 การท่องเที่ยวก่อให้เกิดรายได้แก่เศรษฐกิจแห่งภูมิภาคเอเชีแปซิฟิกเป็นจำนวนเงินสูงถึง 2.27 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 81.72 ล้านล้านบาท) และกระตุ้นการสร้างงานถึง 153.7 ล้านตำแหน่งในปี 2558

กรุงเทพฯ ครองแชมป์ยอดการใช้จ่ายโดยรวมสูงสุด

กรุงเทพฯ ยังครองอันดับหนึ่งเมื่อดูจากยอดการใช้จ่ายโดยรวมของนักท่องเที่ยว ด้วยจำนวนสูงถึง 1.52 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5.47 แสนล้านบาท) โดยมีโซลรั้งอันดับ 2 ที่ 1.44 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.15 แสนล้านบาท) ตามมาด้วยสิงคโปร์ที่ 1.41 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5.08 แสนล้านบาท) โตเกียว 1.19 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.29 แสนล้านบาท) และกัวลาลัมเปอร์ 1.05 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.78 แสนล้านบาท)

สุดยอดเมืองจุดหมายปลายทางสิบอันดับต้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก วัดจากยอดการใช้จ่ายโดยรวมของนักท่องเที่ยว
1. กรุงเทพมหานคร 1.52 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
2. โซล 1.44 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
3. สิงคโปร์ 1.41 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
4. โตเกียว 1.19 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
5. กัวลาลัมเปอร์ 1.05 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ 6. บาหลี 1.03 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
7. ไทเป 9.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
8. ภูเก็ต 8.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ
9. ฮ่องกง 6.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ
10. ซิดนีย์ 6.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ

เซี่ยงไฮ้ มียอดใช้จ่ายต่อวันสูงสุด

เมื่อดูจากยอดการใช้จ่ายโดยรวมต่อวันในเมืองจุดหมายปลายทาง 20 อันดับต้น จะพบว่าเซี่ยงไฮ้มีนักท่องเที่ยวที่มียอดใช้จ่ายต่อวันสูงสุด ที่ 269 เหรียญสหรัฐต่อวัน (ราว 9,700 บาท) ตามมาด้วยปักกิ่ง (262 เหรียญสหรัฐ หรือราว 9,400 บาทต่อวัน) โซล (258 เหรียญสหรัฐ หรือราว 9,300 บาทต่อวัน) สิงคโปร์ (255 เหรียญสหรัฐ หรือราว 9,200 บาทต่อวัน) และฮ่องกง (240 เหรียญสหรัฐ หรือราว 8,600 บาทต่อวัน)

ภาพรวมการท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิก

คุณแมทธิว ไดร์ฟเวอร์ ผู้บริหารกลุ่มบริษัท ฝ่ายผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นสากล มาสเตอร์การ์ด แสดงความเห็นว่า “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิกยังคงเติบโตเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง ดูจากเมืองต่างๆ อย่างกรุงเทพฯ สิงคโปร์ และโตเกียว ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวในปี 2558 ได้มากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆมา การที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในเอเชียเป็นภาคธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนี้ รัฐบาล หน่วยงานการท่องเที่ยว และภาคธุรกิจเอกชนต่างๆ จำเป็นต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสถานที่ท่องเที่ยวของตนนั้นจะยังคงความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ได้ สามารถดึงดูดผู้บริโภคที่มีอำนาจซื้อและเดินทางบ่อยซึ่งนับวันมีจำนวนสูงขึ้นได้เป็นอย่างดี”

เมืองจุดหมายปลายทางหลายแห่งในเอเชียเริ่มรับมือกับความท้าทายหลายรูปแบบที่มาจากการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว อันนำมาซึ่งความกดดันในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ทรัพยากร และสถานที่สำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยว หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามาถใช้ข้อมูลเชิงลึกจากดัชนีสุดยอดเมืองจุดหมายปลายทางในเอเชียแปซิฟิกของเราในการปรับสถานที่ท่องเที่ยวให้รองรับความต้องการ ในการระบุว่าควรมีการลงทุนในจุดใดเพื่อรักษาพัฒนาการที่ยั่งยืน และในการดูว่าควรเน้นทรัพยากรใดกับตลาดกลุ่มใดเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยือนได้

คุณแอนโทนิโอ คอร์โร ผู้จัดการประจำประเทศไทยและพม่า มาสเตอร์การ์ด กล่าวว่า “ประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่ได้รับผลประโยชน์จากการเติบโตและการใช้จ่ายที่มาจากการท่องเที่ยวสูงที่สุดประเทศหนึ่งในเอเซีย ด้วยแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจอันหลากหลายทั้งมหานครใหญ่ แหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ และหมู่เกาะสวยงามต่างๆ มีถึงสามจุดหมายปลายทางในประเทศไทยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวสูงสุดจากสิบอันดับต้นในปี 2558 ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างได้ประโยชน์และข้อดีเด่นต่างๆ ของประเทศอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ทุกภาคฝ่ายจึงควรพยายามรักษาการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนของอุตสากรรมการท่องเที่ยว มาสเตอร์การ์ดมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่เราได้เปิดตัวโครงการไพรซ์เลส ไทยแลนด์ (Priceless Thailand) ไปเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการนำเสนอจุดเด่นต่างๆของประเทศไทย เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่แปลกใหม่เกินคาดแต่ยังคงความเป็นไทยอย่างแท้จริง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมายังประเทศไทย”


  • 41
  •  
  •  
  •  
  •