เมื่อทุกอุตสาหกรรมขานรับกระแส AI คำว่าปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทต่อการทำธุรกิจและเข้าถึงผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ผู้ประกอบการควรเตรียมพร้อมเพื่อรับมือเทคโนโลยี ขับเคลื่อนธุรกิจ หรือใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่องค์กร มีปัจจัยใดที่ต้องให้ความสำคัญ
Microsoft เคยนำเสนองานวิจัยที่ทำร่วมกับ IDC เกี่ยวกับการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ในภาคองค์กร โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2019 ประมาณ 40% ของกระบวนการ Digital Transformation เทคโนโลยี AI จะมีบทบาทสนับสนุนอย่างชัดเจน และในปี 2020 อาจมีองค์กรกว่า 85% ที่นำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้งาน
และภายในสิ้นปีนี้ กว่า 50% ของแอปพลิเคชันในตลาด จะนำ AI เข้ามาใช้งานในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ส่วนการใช้บอท และ AI เพื่อสื่อสารกับลูกค้าก็มีแนวโน้มแพร่หลายขึ้น และอาจมากถึง 95% ของการสนทนากับลูกค้าในปี 2025
ประเด็นนี้ คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ Microsoft ประเทศไทย ให้ความเห็นว่า แนวโน้มเหล่านี้ถือเป็นการยืนยันถึงมุมมองของ Microsoft ว่าโลกก้าวมาถึงยุค Intelligent Cloud และ Intelligent Edge ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากการถ่ายทอดความสามารถทางเทคโนโลยีจากคลาวด์สู่ดีไวซ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคทุกระดับสามารถใช้งานร่วมกันได้ในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ ความเข้าใจของสังคมที่มีต่อเทคโนโลยี AI ยังถือเป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อน เพราะการใช้งาน AI อย่างแพร่หลายเพื่อประโยชน์ต่อสังคมนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการวางมาตรฐานชัดเจนด้านความปลอดภัยข้อมูล ความโปร่งใสในการทำงาน และความรับผิดชอบของผู้พัฒนา เป็นต้น เนื่องจากการพัฒนา AI จะต้องมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการทำงานของมนุษย์ให้ดีขึ้น หรือสามารถทำในสิ่งที่ไม่เคยทำได้มาก่อน
AI ไม่มีวันแทนที่มนุษย์!
“อย่างที่บอกว่า AI ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อส่งเสริมการทำงานและพัฒนาสิ่งต่างๆ ดังนั้น Microsoft จึงเชื่อมั่นว่า AI ไม่ใช่เทคโนโลยีที่จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ได้ แม้จะมีประโยชน์มหาศาลแต่ AI เป็นเทคโนโลยีที่ไม่สามารถตัดสินอย่างยุติธรรมได้ รวมถึงการรักษาความปลอดภัยข้อมูล หรือการไม่นำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น นำไปแฮ็ก หรือทำไซเบอร์แอคแทค จึงถือว่าทักษะในการตัดสินใจยังเป็นสิ่งที่มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถทำได้ เทคโนโลยีมีบทบาทเพื่อเสริมศักยภาพการทำงานเท่านั้น”
3 ปัจจัยขับเคลื่อนปัญญาประดิษฐ์
นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์และบริการจากผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และแพลทฟอร์มต่างๆ ความแพร่หลายในการใช้งาน AI ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญอีก 3 ประการ ได้แก่
ทรัพยากรข้อมูล : กลไกและแนวทางในการค้นหา คัดเลือก และจัดเก็บข้อมูลจากแหล่งต่างๆ
บุคลากร : ความรู้ความเข้าใจในการวิเคราะห์หรือประยุกต์ใช้ข้อมูลในรูปแบบที่เกิดประโยชน์กับองค์กร ผู้ใช้งาน หรือสังคม
ความเข้าใจ : นอกจากทักษะและความเข้าใจเชิงเทคนิคของผู้พัฒนา AI เองแล้ว ความไว้เนื้อเชื่อใจในเทคโนโลยี AI รวมถึงความมั่นใจในประสิทธิภาพหรือความแม่นยำของระบบ
วางภาพ Microsoft คือ แพลทฟอร์มเพื่อนักพัฒนา
จุดยืนของ Microsoft คือ ต้องการเป็นแพลทฟอร์มสำหรับนักพัฒนา ในการนำเทคโนโลยีไปใช้สร้างประโยชน์ให้โลกใบนี้ ซึ่งในประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญ 2 ด้าน คือ การเชื่อมโยงกับนักพัฒนา และการให้ความรู้ความเข้าใจกับพาร์ทเนอร์
ส่วนแนวทางการให้ความสำคัญของ Microsoft กับกลุ่มเป้าหมายนั้น ต้องบอกว่า Microsoft ให้ความสำคัญกับทุกอุตสาหกรรม เนื่องจาก AI กลายเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทและฝังอยู่ในทุกอุตสาหกรรมแล้ว ซึ่งคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ อาจได้เห็นลูกค้าหลักสิบรายที่ใช้เทคโนโลยี AI ของ Microsoft เพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจและการให้บริการ ที่อาจให้บริการผู้ใช้งานได้นับล้านคน
อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา Microsoft ใช้งบลงทุนด้าน R&D ราว 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และใช้งบระยะยาว 5 ปี เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี IoT ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ AI ประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ไทยเผชิญความท้าทายใหญ่ “ขาดทักษะดิจิทัล”
ขณะที่เทรนด์การใช้งาน AI ทั่วโลกเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่นเดียวกับประเทศไทย คือมีความต้องการใช้งานอย่างต่อเนื่อง แต่ความท้าทายหลักที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ คือ การขาดแคลนทักษะทางดิจิทัล ขาดบุคลากรในสายงานนักพัฒนา โปรแกรมเมอร์ และดาต้าไซแอนทีส ซึ่งทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมกันผลักดันให้เกิดองค์ความรู้ดังกล่าวเพื่อพัฒนาความสามารถบุคลากรให้สามารถแข่งขันทางเทคโนโลยีได้ เพราะปัจจุบันความต้องการในตลาดทั่วโลกนั้นไม่ได้แตกต่างกัน แต่ความสามารถของบุคลากรด้านทักษะดิจิทัลนั้นทำให้แตกต่างกัน
ทุกเทคโนโลยี เตรียมพร้อมรับ GDPR
สำหรับประเด็นเริ่มบังคับใช้กฎหมาย GDPR (กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล) ของสหภาพยุโรปในวันนี้ (25 พฤษภาคม) ถือเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ทั้งในชาติสมาชิกสหภาพยุโรปและประเทศอื่นๆ ที่ต้องติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับบุคคลหรือองค์กรจากชาติกลุ่มดังกล่าว ดังนั้น องค์กรทั่วโลกที่มีลูกค้าในชาติสหภาพยุโรปหรือต้องทำธุรกรรมกับธุรกิจในกลุ่มประเทศนี้จึงจำเป็นต้องปฏิบัติงานตามกรอบข้อบังคับของ GDPR นับตั้งแต่การรับรองร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อ 2 ปีก่อน Microsoft ก็ได้มอบหมายให้วิศวกรผู้เชี่ยวชาญกว่า 1,600 คน ลงมือทำงานเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทให้เป็นไปตามมาตรฐาน GDPR อย่างเคร่งครัด จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ บริการ และแพลตฟอร์มต่างๆ ของไมโครซอฟท์พร้อมรองรับความต้องการของทุกองค์กรที่ต้องการทำธุรกิจภายใต้กฎหมายดังกล่าว
โชว์โชลูชั่น CUBIK Chat และ Cognitive Services จาก AI
Microsoft ได้แนะนำ 2 พาร์ทเนอร์ผู้พัฒนาโซลูชั่น AI สำหรับภาคธุรกิจ อย่างบริษัท ดิจิตอล ไดอะล็อก จำกัด และบริษัท ฟรอนทิส จำกัด ซึ่งใช้เทคโนโลยี AI ของ Microsoft ไปพัฒนาบริการและประยุกต์ใช้ในองค์กร โดยดิจิตอล ไดอะล็อก ได้พัฒนาโซลูชั่น CUBIK Chat แชทบอทที่สามารถจัดการกับคำถามจากลูกค้าได้ในปริมาณที่มากกว่ามนุษย์นับ 10 เท่า ตอบโต้กับคู่สนทนาด้วยภาษาไทยผ่านระบบ Natural Language Processing (NLP) รองรับการทำธุรกรรมหลายรูปแบบ เช่น การชำระค่าบริการ สั่งซื้อสินค้า หรือจองตั๋วเครื่องบินและที่พัก เป็นต้น ทั้งยังสามารถส่งคำถามต่อให้กับเจ้าหน้าที่ในศูนย์บริการลูกค้ามารับช่วงได้อย่างไร้รอยต่อ เป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างคล่องตัว ควบคู่กับการเพิ่มยอดขาย ส่วนตัวบอทเองก็ยังมีระบบ Machine Learning ที่สามารถเรียนรู้และพัฒนาความสามารถได้จากข้อมูลการตอบโต้กับลูกค้าในสถานการณ์จริง
ส่วนเทคโนโลยี Cognitive Services ของบริษัทฟรอนทิส เป็นการใช้บริการเทคโนโลยี Cognitive บน AI จากแพลทฟอร์ม Microsoft Azure ช่วยให้สามารถสแกนและเปรียบเทียบรายละเอียดใบหน้าพนักงาน เพื่อควบคุมการเข้า-ออก หรือรักษาความปลอดภัยภายในอาคารหรือขณะปฏิบัติหน้าที่ขับรถยนต์ เป็นต้น โดยไม่ล่วงละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการ ควบคู่กับมาตรฐานด้านความปลอดภัยเพื่อปกป้องข้อมูลอีด้วย ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนผ่านจากยุค Mobile First, Cloud First สู่ AI First เพื่อตอบโจทย์การใช้งานได้กว้างยิ่งขึ้น