เทคโนโลยีไปไกลแค่ไหน “คนทำธุรกิจ” ควรรู้! “Microsoft” ย้ำต้องเติม “Digital Skills” สร้าง Tech Intensity

  • 9
  •  
  •  
  •  
  •  

digital skills

บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยียุคนี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเพื่อผู้บริโภค แต่ยังมองถึงประเด็น “การขับเคลื่อนเทคโนโลยี” เพื่อสร้างประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ ทั้งการเพิ่มโอกาสในการขาย การพัฒนาระบบงาน หรือแม้แต่ความสะดวกในการรวบรวมและเชื่อมโยงข้อมูล

เรื่องนี้ยืนยันด้วยภารกิจของ Microsoft ประเทศไทย กับโจทย์ที่ต้องการผลักดันสังคมไทยสู่ Tech intensity”  และความท้าทายในการสร้างความเข้าใจด้าน Digital Skills แก่ภาคธุรกิจ โดย คุณธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ เล่าถึงความท้าทายและมุมมอง ภายใต้ประสบการณ์ 2 ปี ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่า…

“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความกระตือรือร้นด้านดิจิทัลแทบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และภาคอุตสาหกรรมการผลิต ที่นำ AI และเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้งานเพื่อสร้างความแตกต่างให้ธุรกิจของตนเอง”

ภาคธุรกิจให้ความสำคัญ “เทคโนโลยี” มากขึ้น “Microsoft” ขยับตัวอย่างไร ?

กรรมการผู้จัดการ Microsoft ประเทศไทย อธิบายความเปลี่ยนแปลงของบริษัทให้ฟังว่า สิ่งที่สะท้อนได้ชัดเจน คือ โครงสร้างรายได้ที่เปลี่ยนแปลงไป จากการเติบโตของกลุ่มธุรกิจคลาวด์ที่กลายเป็นรายได้ 50% ของบริษัท คิดเป็นการเติบโตราว 2.5 เท่าตัวในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่ายังสามารถเติบโตเป็น 70-80% ของรายได้ทั้งหมดภายใน 2-3 ปีนี้ ขณะที่กลุ่มธุรกิจไลเซนส์มียอดขายลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะธุรกิจดังกล่าวไม่สามารถทำราคาหลักพัน หรือหลายพันบาทได้แล้ว แต่พูดกันที่หลักร้อยบาทเท่านั้น

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์
ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์

ส่วนเทรนด์การลงทุน AI จากภาคธุรกิจ…ก็ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ Microsoft จับความต้องการดังกล่าวมาต่อยอดเป็นบริการเพื่อลูกค้า ซึ่งยุคนี้เรียกว่าเป็น Advance AI เพราะขีดความสามารถทางเทคโนโลยีในปัจจุบันพัฒนาเทียบเท่ามนุษย์แล้ว กระทั่งองค์กรในต่างประเทศที่ใช้นำ AI มาช่วยกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจ สะท้อนว่าการใช้งาน AI ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีพื้นที่ฐาน แต่สามารถใช้ประโยชน์เชิงลึกได้มากกว่าที่หลายคนเข้าใจ แต่ประเด็นที่หลายคนมองว่าเทคโนโลยีเข้ามาแย่งงานบุคลากรไอทีนั้น มองว่า สายงานไอทีในปัจจุบันมีบทบาทใหม่และความหลากหลายมากขึ้นจากเดิม แม้เทคโนโลยีจะช่วยประหยัดเวลาหรือลดขั้นตอนความยุ่งยากโดยไม่ต้องพึ่งพาทักษะคนไอทีได้แต่ก็เป็นเพียงบางส่วน หากต้องใช้ทักษะเชิงลึกก็ยังเป็นสิ่งที่องค์กรต้องการจากฝ่ายไอทีเช่นเดิม

แต่ประเด็นเทคโนโลยีเพื่อธุรกิจนั้น Microsoft ยังให้ความสำคัญเรื่องของความปลอดภัยด้วย โดยมีการเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อาทิ…

– Ransomware (ไวรัสเรียกค่าไถ่) เพิ่มขึ้น 7.5 เท่าตัวในช่วงดังกล่าว

– ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอาชญากรรมไซเบอร์ระหว่างปี 2018-2022 อาจมีมูลค่าถึง 8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

– ระยะเวลาเฉลี่ยที่องค์กรจะสามารถตรวจจับความผิดปกติ เช่น ถูกแฮก อาจใช้เวลาถึง 99 วัน ซึ่งค่าเฉลี่ยในประเทศไทย…นานกว่านั้น

– 90% ของการโจมตีทางไซเบอร์มักมาในรูปแบบฟิชชิ่งอีเมล (อีเมลลวงให้ใส่รหัส กรอกข้อมูลส่วนตัว) ซึ่งมูลค่าที่เป็นเป้าหมายในการโจมตีแต่ละครั้ง สูงถึง 1.6 ล้านเหรียญสหรัฐ

 

Data

หมากเด็ด Microsoft กับทิศทางปี 2020

ทาง Microsoft มองว่า Advance AI ยังคงเป็นเทรนด์ที่ธุรกิจหลักจะใช้งานกันมากขึ้น ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญด้าน Cyber Security และ Data Privacy รวมถึงประเด็นการสร้าง Digital Skills ที่ไม่ใช่แค่การเพิ่มจำนวนบุคลากรไอทีแต่หมายถึงการทำให้ภาคธุรกิจมีทักษะทางดิจิทัลมากขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี

“แนวคิดที่ Microsoft ยังคงสนับสนุน คือ Tech Intensity หรือความแข็งแกร่งในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานกับภาคธุรกิจ จาก 2 องค์ประกอบสำคัญ ทั้ง Tech Adoption การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน และ Tech Capability การต่อยอดเทคโนโลยีที่ตนเองมีอยู่แล้ว ภายใต้จุดเด่นที่จะตอบโจทย์จากความต้องการจริงในราคาที่เข้าถึงได้ตั้งแต่ SMB กระทั่งองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่”

นอกจากการสนับสนุน Digital Skills สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำอย่างเร่งด่วน คือ การเพิ่มจำนวนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญไอที ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 3.4 แสนคน เพราะการเติมเต็มทักษะทางดิจิทัลถือเป็นหนึ่งในการเติมความสามารถแก่ภาคธุรกิจ

business

ทั้งนี้ Microsoft ยังเตรียมเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่อย่าง Microsoft Power Platform อีก 3 บริการ เพื่อตอบโจทย์เทคโนโลยีเพื่อภาคธุรกิจ อาทิ

Power BI : เพื่อความสะดวกในการดึงข้อมูลได้โดยง่าย ต่อยอดสู่การทำพรีเซนเตชั่น เปลี่ยนข้อมูลเป็นภาพ หรือกราฟ สร้างมุมมองใหม่ในการเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูล

PowerApps : ช่วยให้การสร้างแอป (เพื่อจัดเก็บข้อมูลธุรกิจ หรือข้อมูลภายในองค์กรที่ต้องเชื่อมโยงกันระหว่างสาขา) เป็นเรื่องง่าย ใช้เวลาน้อยกว่าที่เคย โดยไม่ต้องเขียนโค้ด เรียกว่าเป็นแอปพลิเคชันแนวใหม่ที่ภาคธุรกิจไม่ต้องไปจ้างหรือซื้อจากบุคคลอื่น โดยหากไม่ได้เป็นลูกค้า Microsoft Office ก็สามารถซื้อเฉพาะซอฟต์แวร์ PowerApps เพื่อใช้งานได้

Microsoft Flow : สามารถเชื่อมต่อข้อมูล เอกสาร และบริการ ผ่านระบบอัตโนมัติได้โดยสะดวก และไม่ต้องเขียนโค้ด

ส่วนการขับเคลื่อนธุรกิจในส่วนคอนซูเมอร์นั้น Microsoft ประเทศไทย ก็ยังคงดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ทิ้งห่างไปไหน โดยเดือนธันวาคมก็จะมีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่ม Surface ออกมาด้วย


  • 9
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน