ยังคงเดินหน้ากลยุทธ์เพื่อสร้างความเติบโตอย่างต่อเนื่องสำหรับ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) (โออาร์) หลังจากแยกตัวออกมาจากบริษัทปตท.เมื่อปี 2018 และเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2021 ที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญก็คือการขยายธุรกิจไปสู่ “ต่างประเทศ” ที่เวลานี้โออาร์เข้าไปมี Footprint แล้วถึง 11 ประเทศทั่วโลกและวางแผนจะขยายต่อเนื่องไปอีกภายใต้เงินลงทุน 8,007 ล้านบาทหรือคิดเป็นสัดส่วน 12% ของงบการลงทุนทั้งหมดราว 60,000-70,000 ล้านบาทในอีก 5 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตามประเทศที่โออาร์ให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือ “กัมพูชา” โดยโออาร์ ในฐานะบริษัท PTT (Cambodia) หรือ PTTCL วางกลยุทธ์ให้กัมพูชาเป็น “บ้านหลังที่ 2” หรือ “Second Homebase” รองจากประเทศไทยเพื่อสร้างความแข็งแร่งและเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจ ทำให้ปัจจุบัน โออาร์ มีธุรกิจอย่าง PTT Station ในกัมพูชาแล้วมากถึง 172 แห่งทั่วประเทศกัมพูชา ในขณะที่ธุรกิจ non-oil อย่าง Cafe Amazon ก็ขยายไปแล้วถึง 231 สาขา
สำหรับในปีนี้โออาร์มีผลกำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย (EBITDA) ที่เพิ่มขึ้นมากจากในปี 2022 ที่ผ่านมาที่ทำไปได้ 23.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยในไตรมาสที่ 3 นี้ทำกำไรไปได้แล้ว 25.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 37% และไตรมาสเดียวก็ทำกำไรแซงยอดทั้งปี 2022 ไปเรียบร้อยแล้ว ในส่วนของธุรกิจ Non-Oilในกัมพูชาปีหน้าตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 23% จากการขยายสาขา Cafe Amazon เพิ่ม 31 ร้าน ส่วนของกำไรในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 196.7 ล้านบาท ในขณะที่สัดส่วนกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายของธุรกิจ Non-Oil เทียบกับธุรกิจ Oil ของโออาร์ในกัมพูชามีสัดส่วนอยู่ที่เกือบ 10%
นอกจากเหตุผลของโออาร์ที่ต้องการขยายโอกาสทางธุรกิจไปสู่ต่างประเทศให้มากขึ้นแล้ว กัมพูชา ยังมีอีกหลายเหตุผลทางธุรกิจที่ทำให้โออาร์เลือก “กัมพูชา” ให้เป็นบ้านหลังที่สองและเหตุผลเหล่านั้นก็ทำให้เห็นภาพกัมพูชาที่ชัดเจนขึ้นในฐานะประเทศที่ธุรกิจจากประเทศไทยจะสามารถก้าวเข้าไปคว้าโอกาสเหล่านั้นได้และนี่ก็คือเหตุผลที่โออาร์มองเห็น
Location ใกล้ประเทศไทย
ประเทศกัมพูชาเป็นประเทศที่ชายแดนติดกับประเทศไทยและเปิดให้มีการลงทุนจากต่างประเทศได้โดยเฉพาะธุรกิจน้ำมันที่ต้องพึ่งพาการน้ำเข้า 100% นั่นจึงเป็นข้อได้เปรียบของธุรกิจน้ำมันจากประเทศไทย ที่มีระยะทางในการขนส่งสั้นที่สุดสามารถใช้เวลาในการขนส่งน้ำมันเข้าสู่ประเทศกัมพูชาที่ท่าเรือเมืองสีหนุวิลล์ ตอนใต้ของประเทศได้ด้วยเวลาเพียง 1 วันนิดๆเท่านั้น
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ PTTCL สามารถธุรกิจขายน้ำมันเครื่องบินในประเทศกัมพูชาได้อย่างประสบความสำเร็จโดยมีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 70% ของทั้งประเทศนับเป็นกำลังสำคัญของอุตสาหกรรมคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวของกัมพูชา นอกจากโลเคชั่นของกัมพูชายังทำให้สามารถขนส่งวัตถุดิบต่างๆให้กับ Cafe Amazon ที่มีจำนวนมากกว่า 200 สาขาทั่วประเทศได้อย่างสะดวกเช่นกัน
Perception แบรนด์ไทยดี-วัฒนธรรมใกล้เคียงกัน
นอกจากประสบการณ์ทางธุรกิจของโออาร์ในประเทศกัมพูชาเป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปีทำให้มีความเข้าใจผู้บริโภคเป็นอย่างดีแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อได้เปรียบของธุรกิจจากประเทศไทยในการเข้ามาทำธุรกิจในประเทศกัมพูชาก็คือ Brand Recognition หรือ Brand Perception ของชาวกัมพูชาที่มีต่อแบรนด์ไทยนั้นดีมากๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีชาวกัมพูชาจำนวนมากที่เสพสื่อจากประเทศไทยทำให้การให้มีการยอมรับแบรนด์ไทยในมุมบวกและบางครั้งก็ได้รับการยอมรับในฐานะแบรนด์ระดับพรีเมียม
หนึ่งตัวอย่างก็คือ Cafe Amazon ที่นับตั้งแต่ตั้งสาขาแรกในปี 2013 โออาร์ขยายสาขาไปได้แล้วถึง 231 สาขาทำธุรกิจจอยู่ใน 22 จาก 25 จังหวัดของกัมพูชา ได้รับความนิยมในหมู่ชาวกัมพูชาในฐานะคาเฟ่ร้านกาแฟระดับ “พรีเมียม” โดยโดยเฉพาะบางสาขาที่เปิดใหม่ได้รับความนิยมถึงขั้นชาวกัมพูชามาต่อคิวซื้อกาแฟจนยอดขายทะลุ 2,000 แก้วต่อวันเลยก็มี
ในขณะที่ PTT Station เองก็ได้รับการยอมรับจากชาวกัมพูชาเช่นกันด้วยความเป็นแบรนด์ไทย นั่นจึงทำให้ Layout และมาตรฐาน “ห้องน้ำสะอาด” แบบเดียวกับที่ไทยก็ได้รับการยอมรับและยังสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับปั้มน้ำมันในกัมพูชาให้ปรับตัวตามไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับวิชั่นของ PTTCL ก็คือ Betterment for Cambodian
การเติบโตทางเศรษฐกิจดี
ประเทศกัมพูชานับว่าเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีในระดับหนึ่ง ในแง่ของจำนวนประชากรก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2023 นี้เพิ่มขึ้นมาเกือบ 17 ล้านคนแล้วเพิ่มขึ้นจากปี 2022 ที่มีอยู่ 16.77 ล้านคน ในส่วนของการเติบโตของ GDP ก็เติบโตขึ้นมากโดยในปี 2022 GDP ของกัมพูชา เติบโตขึ้น 5.3% และในปีนี้ก็กำลังจะก้าวไปถึง 6% ในขณะที่ปี 2024 ก็ได้รับการคาดหมายว่า เรียกว่าเติบโตมากกว่าประเทศไทยถึง 2 เท่าตัวก็ว่าได้
การเติบโตที่ว่านี้หมายถึงโอกาสทางธุรกิจที่โออาร์จะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศกัมพูชา โดยในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปัจจุบันก็จะมี PTT Station ที่เชื่อมต่อการเดินทางในประเทศ มีการตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV Station PluZ แล้ว 3 แห่งรวมถึง ธุรกิจ Onion Mobility ธุรกิจ Battery Swapping สำหรับรถตุ๊กๆ อีก 1 แห่งในกรุงพนมเปญ เพื่อรองรับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในกัมพูชา
ในส่วนของอุตสาหกรรมทางเที่ยว โออาร์มีธุรกิจ น้ำมันเครื่องบิน รวมไปถึงธุรกิจ Asphalt (ยางมะตอย) ก็ยังเป็นธุรกิจที่เติบโตได้อีกมากจากการสร้างถนนหนทางทึ่จะเพิ่มมากขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ PTTCL ยังเตรียมขยายธุรกิจ LPG ที่กำลังลงทุนสร้างถังเก็บที่คาดว่าจะเสร็จภายในอีก 1 ปีข้างหน้าด้วย เรียกว่าพร้อมรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกัมพูชาอย่างเต็มที่
การเมืองนิ่งและเปิดเสรีในการทำธุรกิจ
อีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ โออาร์ สามารถสร้างธุรกิจเติบโตต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันได้ยาวนานถึง 20 ปีก็คือการเมืองของประเทศกัมพูชาที่มีความนิ่งมากกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และมีการเปิดเสรีในตลาดมากกว่าอีกหลายประเทศเช่นกัน นั่นทำให้โออาร์ประสบควมสำเร็จในตลาดน้ำมันในกัมพูชาได้ในฐานะแบรนด์ต่างชาติที่ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ที่ 17.3% แต่หากนับรวมแบรนด์ท้องถิ่นแล้วก็จะเป็นรองเพียงแค่แบรนด์ TELA ที่ครองส่วนแบ่งตลาด 39.3% อยู่ในเวลานี้
แน่นอนว่าแม้แบรนด์ต่างชาติอย่างโออาร์จะสามารถเข้าไปทำตลาดได้อย่างเสรี แต่ผู้บริหารของโออาร์ไม่ว่าจะเป็นคุณดิษทัต ปันยารชุน ซีอีโอ หรือคุณรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจต่างประเทศก็ยืนยันตรงกันว่าโออาร์ จะเป็นแบรนด์ต่างชาติที่เป็น Good Citizen ที่เคารพกฎระเบียบและช่วยสร้างโอกาสให้กับภาคธุรกิจและสังคมของชาวกัมพูชาด้วยตามเป้าหมาย “Empowering All toward Inclusive Growth” หรือ “เติมเต็มทุกโอกาสเพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน” ผ่านโครงการอย่าง Café Amazon for Chance การมอบทุนการศึกษา การเปิดพื้นที่ในสถานีบริการ PTT Station ให้เป็นจุดจำหน่ายสินค้าสำหรับเกษตรกร เป็นต้น
เปิดโอกาสขยายธุรกิจของพันธมิตร
หนึ่งในโมเดลธุรกิจของโออาร์ก็คือการเติบโตร่วมกับพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจเช่นเดียวกับในประเทศไทยที่มีหลากหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น Pacamara, โอ้กะจู๋, Kouen, Kamu Kamu รวมไปถึง Otteri ร้านสะดวกซัก และการเข้าสู่ตลาดกัมพูชาในฐานะ Second Homebase ก็ยังเป็นการเปิดโอกาสให้แบรนด์พันธมิตรเปิดประตูสู่ตลาดต่างประเทศด้วยโดยล่าสุดแบรนด์ Otteri ร้านสะดวกซัก ก็ได้เข้ามาเปิดสาขานำร่องแล้วเป็นแห่งแรกที่สถานีบริการ PTT Chbar Ampov เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางผู้บริหารโออาร์ ก็ยืนยันว่า ในอนาคตจะมีแบรนด์พันธมิตรมาเปิดตลาดในกัมพูชาเพิ่มเติมด้วยอีกอย่างแน่นอน
ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่ กัมพูชา เป็นตลาดที่โออาร์ให้ความสนใจและปักหมุดให้เป็น บ้านหลังที่ 2 หรือ Second Homebase ของโออาร์ และธุรกิจของโออาร์น่าจะฉายภาพความเป็นไปได้ของการขยายตลาดสู่ต่างประเทศได้ไม่มากก็น้อย ซึ่งโออาร์ เองก็ไม่ได้มีธุรกิจอยู่ในกัมพูชาเท่านั้นแต่ก็ยังมี Footprint ธุรกิจอยู่ในฟิลิปปินส์ ลาว เวียดนาม มาเลเซีย รวมไปถึงญี่ปุ่นและโอมานด้วยเช่นกัน ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าธุรกิจในต่างประเทศเหล่านี้ของโออาร์จะช่วยสร้างการเติบโตให้ธุรกิจโดยรวมของโออาร์ในปี 2024 ได้มากน้อยแค่ไหน