ทำไม SCB ไฟเขียวอีก 50 ล้านเหรียญให้ “ดิจิทัล เวนเจอร์ส” ทุ่มทุนกับภารกิจ Startup

  • 52
  •  
  •  
  •  
  •  

IMG_2824

อย่างที่รู้กันว่า Startup ไม่ใช่เทรนด์ที่เกิดขึ้นในระดับประเทศหรือภูมิภาค แต่เป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก และจากจำนวน Startup ที่เพิ่มขึ้นทุกวัน เม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวก็มากขึ้นเรื่อยๆ เย้ายวนเหล่านักลงทุน รวมถึงองค์กรใหญ่ที่ต้องการต่อยอดเม็ดเงิน เลือกลงทุนเพื่อเก็งกำไรกับ Startup ฟอร์มดี

แน่นอนว่าการเป็นหนึ่งในร่มของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารยิ่งตอกย้ำเป้าหมายของ “ดิจิทัล เวนเจอร์ส” (Digital Ventures) ให้ชัดเจน กับการเลือกลงทุนใน Startup ที่มีศักยภาพเพื่อสร้างผลตอบแทน พร้อมๆ กับเรียนรู้นวัตกรรมที่เกิดขึ้น ตามเป้าหมายในการเป็นบริษัทด้านการลงทุนและค้นคว้านวัตกรรมการเงิน

เติมงบ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้ DV เดินหน้าลงทุนกับ Startup

50 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ 1,600 ล้านบาท อาจดูเป็นตัวเลขจำนวนมหาศาล แต่…ถ้าเทียบกับมูลค่าบริษัทของเหล่า Unicorn ก็ยังห่างไกลอีกมาก เพราะบริษัทเหล่านั้นมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐทีเดียว!!!

คุณอารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Officer and Chief Strategy Officer ของ SCB เล่าถึงภารกิจของ DV ว่า จากที่ดำเนินงานมาเกือบ 2 ปี DV ได้งบลงทุนครั้งแรก 50 ล้านเหรียญสหรัฐ และตอนนี้เราจะเพิ่มงบลงทุนอีก 50 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้มีความพร้อม ซึ่งจะทำให้ DV กลายเป็น Venture Capital ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ดร. อารักษ์ สุธีวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส Chief Financial Officer and Chief Strategy Officer ธนาคารไทยพาณิชย์ (2)

“การลงทุนกับ Startup บางรูปแบบก็มีความแตกต่างจากการลงทุนประเภทอื่นเพราะมีความเสี่ยงสูงกว่า เช่น Direct Invest แต่ถือเป็นธรรมชาติของการลงทุน เพราะเราได้เรียนรู้และเลือกลงทุนในระยะยาว ซึ่งไม่ได้มองแค่การสร้างกำไรหรือขาดทุนแต่ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างขีดความสามารถให้พนักงานของเราด้วย และที่ผ่านมาก็ยืนยันแล้วว่าการลงทุนของ DV ทำให้เราประสบความสำเร็จทั้งการลงทุน การเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับ Venture Capital และ Startup อื่นๆ ที่ทำให้ SCB สามารถเพิ่มโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงและได้เรียนรู้นวัตกรรมที่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้เรามีเครือข่ายกับ Startup กว่า 800 รายทั่วโลก รวมถึง Venture Capital อีกเกือบ 60 ราย ใน 29 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจากการลงทุนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา DV ยังมีงบเหลืออีกจำนวนหนึ่งและเมื่อรวมกับงบลงทุนครั้งใหม่ก็คาดว่าจะทำให้มีโอกาสลงทุนในบริษัทที่มีศักยภาพได้ต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีจากนี้”

ไม่ต่ำกว่า 3 ปี ได้เก็บเกี่ยวดอก-ผลจาก Startup

สำหรับการลงทุนของ DV เรามองถึงการสร้างผลตอบแทนระยะยาว ซึ่งตามปกติ Startup ระดับ Series A หรือ Early Stage อาจต้องใช้เวลาราว 3-5 ปี กว่าจะมีความสามารถในการทำกำไร โดยบริษัทตั้งความคาดหวังว่า Startup ที่เราเลือกลงทุนจะสามารถมอบผลตอบแทนได้ประมาณ 25-30% ต่อปี

ปรับกลยุทธ์การลงทุนใหม่ สร้างโอกาสแบบดิจิทัลบิสสิเนส

“เพราะสิ่งที่เราคาดหวังกับ Startup ไทย คือผลงานที่เกิดขึ้นจากไอเดียหรือ Pain Point ของคนไทยจริงๆ ไม่ใช่การยึดตามไอเดียหรือต้นแบบที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นโจทย์ที่ Startup ไทยยังขาดอยู่ ส่วน Startup ที่เรามองหาและเคยได้ลงทุนไปแล้วก็จะเป็นการมองถึงภาพรวมที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งธุรกิจการเงินการธนาคาร หรือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีเพื่อขยายไปยังอุตสาหกรรมอื่นด้วย สะท้อนถึงการมองภาพรวมทั้งแบบเชิงลึกและแบบแนวนอน”

ภาพหน้าจอ 2561-05-16 เวลา 11.30.33

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา DV ใช้กลยุทธ์การลงทุน 3 ลักษณะ ได้แก่ Fund of Funds การลงทุนผ่านกองทุน, Direct Investment การเลือกลงทุนโดยตรงกับบริษัทที่มีศักยภาพ และ Accelerate สนับสนุนผ่านโครงการ Digital Ventures Accelerator บ่มเพาะ Startup ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทให้สัดส่วนการลงทุนแบบ Fund of Funds มากที่สุด แต่ในปัจจุบันจะปรับเป็นการลงทุนแบบ Direct Investment มากขึ้น นอกจากนี้ก็จะเพิ่มงบลงทุนจากเดิมครั้งละ 1-3 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 5-10 ล้านเหรียญ

ขณะเดียวกัน ก็จะมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีต่างๆ อาทิ AI, Blockchain, Cybersecurity, Big Data หรือ Data Analysis เพื่อต่อยอดสู่การให้บริการต่างๆ ของธนาคาร อาทิ บริการสินเชื่อ การบริหารความมั่งคั่ง ธุรกิจ SME และธุรกิจประกัน สอดคล้องกับกลยุทธ์ Going Upside Down เพื่อสร้างศักยภาพด้านดิจิทัลแก่องค์กรและสร้างโมเดลการทำงานที่เหมาะสมกับโลกดิจิทัลในอนาคต

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา DV ได้ลงทุนเชิงกลยุทธ์ทั้งในกลุ่ม Startup และ Venture Capital ต่างๆ ได้แก่…

Golden Gate Ventures : หนึ่งในกองทุนสตาร์ทอัพชั้นนำที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพระยะเริ่มต้น

Nyca Partners : เวนเจอร์แคปปิตอลชั้นนำด้านฟินเทคของสหรัฐอเมริกา ที่ได้ชื่อว่าเป็นศูนย์รวมความเชี่ยวชาญจากสองยักษ์ใหญ่แห่งโลกการเงินและเทคโนโลยีอย่างวอลล์สตรีทและซิลิคอนแวลลีย์

Dymon Asia Ventures : เวนเจอร์แคปปิตอลชั้นนำของสิงคโปร์ มุ่งเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพกลุ่มฟินเทคที่ทำธุรกิจแบบ B2B

Arbor Ventures : เวนเจอร์แคปปิคอลชั้นนำด้านฟินเทคของฮ่องกง ที่มีการลงทุนครอบคลุมทั้งในเอเชีย อเมริกาเหนือ ยุโรป และภูมิภาคตะวันออกกลาง

Ripple : บริษัทผู้ให้บริการโซลูชั่นด้านการชำระเงินชั้นนำของโลกจากสหรัฐอเมริกา โดยธนาคารไทยพาณิชย์นับเป็นสถาบันการเงินไทยแห่งแรกที่ริเริ่มลงทุน ศึกษา และทดลองการโอนเงินระหว่างประเทศบนเทคโนโลยี Blockchain

Pulse iD : สตาร์ทอัพด้านการบริการข้อมูลเพื่อระบุพิกัดซึ่งก่อตั้งขึ้นในฮ่องกง มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโซลูชั่นเพื่อระบุตัวตนสำหรับใช้ในธุรกิจ เพื่อเสริมสร้างระบบความปลอดภัยทางการเงิน การระบุตัวตนลูกค้า และการสร้างความผูกพันกับลูกค้าให้เหนือระดับยิ่งขึ้น

PayKey : สตาร์ทอัพจากอิสราเอล ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มปฏิวัติการชำระเงินรูปแบบใหม่บนคีย์บอร์ดของอุปกรณ์สื่อสารที่ช่วยให้ลูกค้าธนาคารสามารถโอนเงินผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คที่หลากหลาย โดยเชื่อมโยงเข้ากับแอพพลิเคชั่นโมบายแบงกิ้งของธนาคาร

IndoorAtlas : ผู้พัฒนาเทคโนโลยีระบุพิกัดตำแหน่งพื้นที่ในร่มจากฟินแลนด์ ซึ่งดิจิทัล เวนเจอร์ส ได้ใช้เทคโนโลยีนี้ร่วมพัฒนาในแอพพลิเคชั่น Chatuchak Guide ที่เป็นหน้าร้านออนไลน์ให้กับร้านค้าในตลาดนัดจตุจักร ซึ่งเทคโนโลยีนี้ช่วยอำนวยความสะดวกในการนำทางให้ผู้ซื้อเดินหาร้านค้าได้แม่นยำและรับข้อเสนอพิเศษต่าง ๆ จากร้านค้าได้แบบเรียลไทม์

1QBit : ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ด้านเทคโนโลยีควอนตัมและควอนตัมคอมพิวเตอร์จากแคนาดา มีศักยภาพในการแก้ปัญหาทางธุรกิจที่มีความสำคัญสูง สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุน การบริหารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ และการรักษาความปลอดภัย

ภาพหน้าจอ 2561-05-16 เวลา 11.30.53

ย้ำภาพสังคม Cashless เล็งยกเลิกจ่ายบิลผ่านเคาน์เตอร์ ให้ทำผ่านแอป

นอกจากการสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าสู่ Cashless Society และตามที่ SCB ได้ประกาศลดจำนวนสาขา รวมถึงการยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงก์กิ้งไปแล้ว ตอนนี้ก็มีกระแสข่าวว่า SCB กำลังจะเดินเกม Cashless อีกขั้น ด้วยการยกเลิกรับชำระบิลบริการต่างๆ ผ่านเคาน์เตอร์สาขาของธนาคาร

เรื่องนี้ คุณอารักษ์ กล่าวว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งกลยุทธ์การตีลังกากลับหัวและการสนับสนุนให้ลูกค้าใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ของ SCB ถือเป็นการมอบประโยชน์และความสะดวกแก่ลูกค้า ซึ่งพบว่าจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น ปริมาณการทำธุรกรรมออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นด้วย ส่วนการยกเลิกจ่ายบิลผ่านเคาน์เตอร์นั้น ยังอยู่ในช่วงทดลองเพื่อหาแนวทางและข้อสรุปเพื่อดำเนินการต่อไป ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ ยืนยันว่าการให้บริการด้วยรูปแบบธนาคารสาขาก็ยังเป็นไปเพื่อมอบประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้า มากกว่าบริการรูปแบบเดิมๆ”

 

Copyright © MarketingOops.com


  • 52
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน
CLOSE
CLOSE