นอกจากการแจ้งเกิดของเหล่า Startup ที่เห็นอยู่ทั่วไป คุณอาจเคยเห็นเวทีประชันไอเดียจำนวนไม่น้อยจากการสนับสนุนขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ หนึ่งในนั้นคือโครงการ DVA (Digital Ventures Accelerator) จากการสนับสนุนของธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งปล่อยให้บริษัทในเครืออย่าง “ดิจิทัล เวนเจอร์ส” ทำงานออกหน้า โดยปีนี้ได้จัดงาน DVAb1 Demo Day เฟ้นหาสุดยอดไอเดียเป็นปีที่ 2 เพื่อนำเทคโนโลยีมาตอบสนองการใช้งานลูกค้า SCB
โอกาสนี้ ทำให้เราได้รับฟังมุมมองที่น่าสนใจ เกี่ยวกับทิศทาง Startup ไทย และความท้าทายที่เป็นได้ทั้งโอกาสสู่ความสำเร็จหรืออุปสรรคสกัดฝัน จาก “คุณอรพงศ์ เทียนเงิน” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด
Startup ไทยเกิดน้อยเกินไป!
คุณอรพงศ์ ยกตัวอย่างให้ฟังว่า หากมองเทรนด์ Startup ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอาจมองว่าเกิดขึ้นแพร่หลายและมีจำนวนมาก แต่ในความจริงไม่เป็นเช่นนั้น
“อิสราเอลมีจำนวน Startup สูงสุดในโลก สัดส่วนอยู่ที่ 1 Startup : ประชากร 1,500 คน ส่วนอเมริกาอยู่ที่ 1 : 2,500 สิงคโปร์ 1 : 2,600 โดยประมาณ ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วน 1 Startup : ประชากร 113,000 คน เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า Startup ไทยมีน้อยเกินไป เรากำลังมีปัญหาด้านซัพพลาย และถ้าไม่เร่งเพิ่มจำนวนให้มากขึ้นก็จะทำให้เกิดช่องว่างห่างกับประเทศอื่นมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ”
2 ความท้าทายที่ Startup ไทยต้องก้าวข้าม
อย่างที่บอกว่าช่องว่างดังกล่าวจะทำให้ Startup ไทยถูกต่างชาติทิ้งห่างออกไป ดังนั้น ความท้าทายสำคัญจึงอยู่ที่ 1. มี Startup จำนวนน้อยเกินไป 2. ไทยยังไม่เคยมีทีมใดได้เป็น Unicorn โดยปี 2017 ทั่วโลกมี Unicorn 27 ตัว ซึ่ง 14 ตัวมาจากจีน แต่ความท้าทายของการเป็น Startup ก็ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ แต่ยังมีประเด็นการป้องกันไอเดียของตนเองไม่ให้ถูกคนอื่นลอกเลียนด้วยเพราะ Startup เป็นเรื่องของไอเดีย
ดิจิทัล เวนเจอร์ส ตามหา…?
วัตถุประสงค์ของดิจิทัล เวนเจอร์ส คือการค้นหา Startup ที่สามารถตอบโจทย์เรื่อง FinTech ได้ แต่ปัจจุบันความหมายของคำว่า FinTech นั้นค่อนข้างกว้าง และแม้ว่าจะไม่ได้นำเสนอไอเดียด้าน Financial เราก็สามารถนำมาต่อยอดร่วมกับนวัตกรรมอื่นเพื่อสร้าง FinTech ในที่สุด
“โจทย์ของ Startup วันนี้ไม่ใช่การแข่งขันกันเองบนเวทีในประเทศ แต่เป็นการแข่งขันบนเวทีระดับโลก ดิจิทัล เวนเจอร์ส มอบโจทย์ให้ทุกทีมว่าคุณจะเป็น Startup แนวทางใด จะใช้ประโยชน์จากเครือข่าย แพลทฟอร์ม และเงินทุนที่เรามีอย่างไร ผมว่าสิ่งที่จะผลักดันให้ Startup ไทย ก้าวข้ามความท้าทายที่มีได้ก็คือการทำให้เรื่องนี้เป็น National Agenda เราควรเร่งสร้างความรู้ให้ทุกคน”
ดิจิทัล เวนเจอร์ส เข้ามาเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในยุค Digital Transformation ขณะเดียวกันก็สามารถดำเนินงานได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็ว แต่ยังคงมีเครือข่ายและฐานลูกค้าจำนวนมากที่ SCB สนับสนุน
Startup ไทยรุ่นใหม่ไฟแรง แต่ขาดความรู้เชิงลึก
ประเด็นนี้อาจไม่ใช่เรื่องไม่ดีหรือผิด เนื่องจาก Startup ไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งไฟแรงและมีความสร้างสรรค์ แต่หากมีการเติมเต็มความรู้และมีประสบการณ์เชิงลึก อาจทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากขึ้น
ตั้งรับ 6 เทคโนโลยี เปลี่ยนโลกใน 3 ปี
“เราเชื่อว่าเทคโนโลยีกำลังจะเข้ามาเปลี่ยนโลกในระยะเวลาอันใกล้ ภายใน 3 ปีจากนี้ หรืออาจเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น จากการมาของ 6 เทคโนโลยี ได้แก่ AI, Blockchain, Cloud and Security, Big Data and IoT, AR VR, Quantum Computer ซึ่งยังไม่มีบริษัทในประเทศไทยหรือคนไทยทำธุรกิจเหล่านี้ แต่เรื่องเหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรวดเร็ว และ SCB ก็ให้ความสำคัญกับเทรนด์ดังกล่าวอย่างมาก เพราะเราเชื่อว่าในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่พร้อมจะเข้ามาแทนที่ระบบแบงก์กิ้งซึ่งเป็นระบบกลางที่ใหญ่และเก่าแก่ ข้อดีคือทุกวันนี้เรายังมี Regulator ขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็พร้อมเข้ามาแทนที่อยู่ตลอดเวลา ดังนั้น แบงก์จึงต้องแข่งขันกันและทำให้ตัวเองกลายเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคนึกถึงเป็นอันดับแรกไม่ใช่อับดับสุดท้ายเหมือนในปัจจุบัน ที่กินข้าว ใช้บริการเสร็จ จึงถามพนักงานว่าบัตรเครดิตธนาคารให้ส่วนลดมากกว่ากันแล้วหยิบบัตรนั้นออกมา แบงก์ต้องทำให้ตัวเองกลายเป็นแพลทฟอร์มใหม่และมีส่วนร่วมกับชีวิตผู้บริโภค”
ในส่วนของ DVAb1 Demo Day ครั้งนี้ มีทีมที่ผ่านการคัดเลือกรวม 10 ทีม ได้แก่…
ChomCHOB : แพลทฟอร์มการแลกเปลี่ยนแต้มคะแนนบัตรต่างๆ ให้ใช้เสมือนเงิน
Dootv Media : ระบบ Video Streaming เพื่อคอนเทนต์รูปแบบ VDO
ENERGY RESPONSE : แพลทฟอร์มออนไลน์สำหรับการจัดการพลังงานในอาคาร
Event Banana : แพลทฟอร์มจัดการด้านพื้นที่และสถานที่จัดงาน
Happenn : ระบบงานอีเวนท์แบบครบวงจร
JuiceInnov8 : เทคโนโลยีลดล้ำตาลเพื่อน้ำผลไม้แห่งอนาคต
Meticuly : ชิ้นส่วนกระดูกทดแทนเพื่อความต้องการเฉพาะบุคคล
MyCloudFulfillment : ระบบจัดการโลจิสติกส์ เพื่อการซื้อขายที่ง่าย
Ooca : บริการปรึกษาจิตแพทย์ยุคใหม่ผ่านระบบวิดีโอคอล
Sellorate : แพลทฟอร์มออนไลน์สำหรับตัวแทนและนายหน้าขายอสังหาริมทรัพย์อิสระ
โดยทีมที่ได้รับพิจารณาจากคณะกรรมการและนักลงทุน ทั้งด้านศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ การเติบโต และความพร้อมในการรับเงินลงทุน ได้แก่ ทีม Meticuly
“เราเตรียมต่อยอดทีมที่มีศักยภาพจากโครงการ DVA ปีที่แล้ว ซึ่งจะเปิดบริการร่วมกับ SCB ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ภายใต้เป้าหมายของดิจิทัล เวนเจอร์ส ที่ต้องการสนับสนุนคนไทย มากกว่าการลงทุนกับ Startup ที่มีโอกาสการเติบโตสูงในต่างประเทศ เพราะเราต้องการสร้างออริจินอลเทคโนโลยีจากไอเดียคนไทยจริงๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีทีมที่สนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 150 ทีม เช่นเดียวกับในปีนี้ และบริษัทได้เตรียมเงินลงทุนให้ทุกทีมรวมกว่า 22 ล้านบาทอีกด้วย”