‘เจ้าสัวธนินท์’ เสนอ 4 ประเด็น ‘ทางออกประเทศไทย’ พร้อมยืนยันไม่เกี่ยวสั่งซื้อ ‘ซิโนแวค’

  • 417
  •  
  •  
  •  
  •  

ฟังชัด ๆ จากปากเจ้าสัวซีพี ‘ธนินท์ เจียรวนนท์’ ที่ได้เสนอ 4 ประเด็น ซึ่งเป็นทางออกของประเทศไทย ที่ตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยว หัวต่อของประเทศ พร้อมชี้ว่า การสั่งซื้อวัคซีนทุกยี่ห้อให้ครบ 100% ฉีดให้เร็ว จะช่วยแก้ปัญหาปากท้องได้ และยืนยันไม่เกี่ยวกับการสั่งซื้อ ‘ซิโนแวค’ ของรัฐบาล

การพูดคุยครั้งนี้ เป็นการให้สัมภาษณ์ในรายการสุทธิชัยไลฟ์ ของ สุทธิชัย หยุ่น ในหัวข้อ ‘มุมมองธนินท์ เจียรวนนท์ โควิดกับทางออกของประเทศไทย’ ซึ่งธนินท์เน้นย้ำว่า เป็นหัวเลี้ยว หัวต่อของประเทศไทย และวิกฤตโควิดเป็นเหมือนสงครามโลก (โรค) ครั้งที่ 3 ก็ว่าได้ เพราะทุกประเทศในโลกได้รับผลกระทบทั้งหมด โดยในสถานการณ์ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง และยังไม่แน่ใจว่า ฟ้าจะกลับมาสว่างอีกครั้งเมื่อใด

นอกจากนี้ เจ้าสัวซีพี ยังได้กล่าวถึง 4 ประเด็น ที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อเป็นทางออกของประเทศไทย ได้แก่ 1.ปากท้อง 2. ป้องกัน 3.รักษา และ 4.อนาคต

ประเด็นแรก ‘ปากท้อง’  ในสถานการณ์ปัจจุบันคนได้รับความลำบากมาก โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและคนมีภาระ เมื่อเจอเข้ากับวิกฤตต้องกักตัว ไปทำงานไม่ได้ จะทำให้ลำบากมาก แม้กระทั่งอาหาร เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ภาครัฐต้องมีมาตรการมาดูแล

ประเด็นที่สอง ‘ป้องกัน’  ประเด็นนี้เน้นความสำคัญของวัคซีน ยิ่งฉีดได้ครอบคลุมรวดเร็วมากเท่าไร ก็จะลดผลกระทบได้มากเท่านั้น ตัวอย่างมีให้เห็นในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ พอฉีดได้จำนวนมาก ก็กลับมาเปิดประเทศ ถึงแม้ว่าจะติดเชื้อเพิ่ม แต่ก็ไม่ตาย ไม่เจ็บหนัก ทำให้ประเทศสามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งต้องตั้งเป้าหมายฉีดให้ครบ 100% ไปเลย โดยนำเข้าวัคซีนทุกยี่ห้อ

ในตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์ทาง สุทธิชัย หยุ่น ได้ถามว่า ธนินท์ หรือซีพี มีส่วนในการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคของรัฐบาลหรือไม่  ซึ่งธนินท์ ตอบชัดว่า “ไม่เกี่ยวข้องแน่นอน เพราะการผลิตวัคซีนทั้งหมดของซิโนแวคต้องส่งให้กับรัฐบาลจีน และต่อให้เอกชนอยากซื้อก็ซื้อไม่ได้ พนักงานเครือซีพีในประเทศจีน ยังไม่สามารถซื้อซิโนแวคมาฉีดให้พนักงานได้เลย ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจีนทั้งหมด”

พร้อมเสริมว่า ตอนที่บริษัทซิโนแวคตั้งต้นจะทำวิจัยวัคซีนป้องกันโควิดอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีเงินไม่พอ ต้องการระดมทุนเพิ่ม หลานชายซึ่งรู้จักกับหมอและนักวิจัยด้านยา ก็ได้รับเชิญชวนให้เข้าไปช่วยลงทุนในยามที่บริษัทนี้เงินไม่พอ ซึ่งต่อมาบริษัทนี้ซึ่งอยู่ในเครือฯของซิโนแวคก็ให้เป็นหุ้นบริษัทคืนแก่หลานชายในประเทศจีนมา 15% ในอัตราเท่ากับนักวิจัยที่มีหุ้นกันละ 15% เป็นการช่วยเหลือนักวิจัยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ  แต่ไปสั่งการอะไรไม่ได้ จะขอซื้อวัคซีนก็ทำไม่ได้แน่นอน ซึ่งในประเทศไทย ซีพียังต้องสั่งซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มมา 1 แสนโดส มาดูแลพนักงานของบริษัทเอง โดยซื้อจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะซื้อตรงก็ยังทำไม่ได้ เพราะวัคซีนถูกควบคุมทั้งหมด

สำหรับตัวธนินท์เอง ได้ฉีดวัคซีน ‘แอสตร้าซินิก้า’ เพราะคนอังกฤษฉีดกันยอดผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตก็ยังน้อย ดังนั้นต้องนำเข้าวัคซีนหลาย ๆ ยี่ห้อเข้ามาฉีดทั้งจากฝั่งอเมริกา ยุโรป ที่มีเทคโนโลยีที่ดี ยิ่งมีทางเลือกมาก ประชาชนก็มั่นใจ และฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น 

ประเด็นที่ 3 ‘รักษา’ ต้องได้รับการรักษาที่เร็ว ถึงแม้ว่าผู้ป่วย 90% หายได้ด้วยการดูแลตัวเอง แต่การที่ผู้ป่วยต้องอยู่บ้านเป็น Home Isolation มากขึ้น ยังจำเป็นต้องดำเนินการคู่กับหมอทางไกล Telehealth และต้องเข้าถึงยาโดยเร็ว อย่ารอให้คนไข้มีอาการหนัก และควรกระจายยาอย่างรวดเร็ว ลดขั้นตอน ยุคนี้ต้องเร็วและมีคุณภาพ สำหรับเครือซีพี คงช่วยได้บ้างในเรื่องการปลูกฟ้าทะลายโจรในโครงการ ปันปลูก ฟ้าทะลายโจร แจกฟรี 30 ล้านเม็ด ในพื้นที่ 100 ไร่ ใน 100 วัน เราจะปลูกเพื่อแจกจ่ายฟรี เพราะตอนนี้ฟ้าทะลายโจรขนาดตลาดมาก เป็นเพียงเข้าไปเสริมในตลาด ทำให้ผู้ประกอบการเดิมไม่กระทบ

ประเด็นที่ 4 ‘อนาคต’ ซึ่งธนินท์ ชี้ประเด็นประเทศไทยเสี่ยงถดถอย หากภาครัฐไม่มีมาตรการรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ปัจจุบันธุรกิจขนาดจิ๋ว เล็ก กลาง ใหญ่ ล้วนได้รับผลกระทบ และหากต้องล้มหาย ตายจากไป หลังพ้นวิกฤตบริษัทที่จะจ่ายภาษีให้ประเทศได้จะมีจำนวนลดน้อยลง และเครื่องจักรเศรษฐกิจ เช่น ท่องเที่ยว ส่งออก จะใช้เวลาฟื้นตัวช้า หากมีการปิดกิจการไปแล้ว

ดังนั้น ต้องดูแลให้ธุรกิจทุกระดับอยู่รอด และปรับตัวสู่ธุรกิจอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจ 4.0 และที่สำคัญต้องเตรียมพร้อมเรื่องคน วันนี้ประเทศไทยแข่งเรื่องแรงงานราคาถูก กับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้แล้ว เพราะเรายังต้องใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ไทย ต้องขยับไปสู่ธุรกิจไฮเทค แต่ต้องมีความพร้อมในเรื่องคน

โดยทั้ง 4 ประเด็น ตั้งแต่ปากท้องที่ต้องดูแล ป้องกันโดยการหาวัคซีนให้มากและเร็วที่สุด หากเอกชนจะช่วยนำเข้า รัฐควรรีบสนับสนุน วัคซีนยี่ห้อไหนดี ต้องพยายามนำเข้ามาทั้งหมด การรักษาที่ต้องรวดเร็ว ต้องเข้าถึงยา อย่าปล่อยให้หนัก และสุดท้ายคือ ต้องมองเรื่องอนาคตควบคู่ เพราะ “ยามมืดสุด ต้องคิดว่า เมื่อสว่างแล้ว ประเทศจะเป็นอย่างไร” และทั้ง 4 เรื่องนี้ ต้องทำพร้อมกัน ในยามวิกฤต จะใช้ขั้นตอนแบบเดิมไม่ได้ ต้องรวดเร็วและมีคุณภาพ


  • 417
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE