อุตสาหกรรมยา จากสถานการณ์ COVID-19 ธุรกิจจะเปลี่ยนทิศทางไปทางไหน พบทางออกและพลิกธุรกิจก้าวไกลสู่ระดับโลก ตอนที่ 4

  • 2.8K
  •  
  •  
  •  
  •  

จากบทความสัมภาษณ์ 3 ตอน ของผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมยา จากบทสัมภาษณ์ที่ผ่านมาจากการพูดคุยกับบอร์ดบริหารสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ หรือ พรีม่า ทั้ง 3 ท่าน ถึงผลกระทบ การปรับธุรกิจเพื่อให้อยู่รอด ทั้งวิธีการและการปฏิรูปธุรกิจ Business Transformation เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและประสบความสำเร็จแล้ว

ครั้งนี้ เราจะมามองถึงอนาคตของอุตสาหกรรมยาในประเทศ ด้วยนวัตกรรมระดับสากล ว่าจะต่อยอดให้อุตสาหกรรมยาในประเทศก้าวไปในทิศทางไหน และความเป็นไปได้ในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยาจะเป็นอย่างไร นวัตกรรมใหม่มีบทบาทความสำคัญหรือไม่ ลองมาฟังความคิดเห็นจากผู้บริหารทั้ง 3 ท่านกัน

คิดว่าอุตสาหกรรมยาจะกลับมาฟื้นตัวได้หรือไม่และอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมฟื้นฟูขึ้นมาได้?

คุณบอยด์: แน่นอนที่สุด เรามีหมอที่ดี เรามีการรักษาที่ดี และเรามียาที่ดี เรามีปัจจัยในการฟื้นตัวได้อย่างครบถ้วน เป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับอุตสาหกรรมยา ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง ผมเชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมยาได้ คือนวัตกรรมยา

“ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมยาได้ คือนวัตกรรมยา” —- คุณบอยด์ จงไพศาล ประธานสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า)

คุณเควิน : เรายอมรับว่าเรากำลังเผชิญกับปัญหาที่เราไม่เคยเจอมาก่อน ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราก้าวข้ามวิกฤตนี้ คือ การสร้างเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม ด้วยการให้คนไข้เป็นศูนย์กลางสำหรับทุกสิ่งที่เราทำ ด้วยการส่งมอบนวัตกรรมเหล่านี้เพื่อพัฒนาด้านสาธารณสุขให้กับผู้ป่วย  การลงทุนด้านวิจัยทางคลินิก (Clinical Trials) ย่อมก่อให้เกิดยาและวัคซีนใหม่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการรักษาและดูแลสุขภาพของประชากรในอนาคต และการที่อุตสาหกรรมยาสามารถส่งมอบยานวัตกรรมได้ย่อมทำให้ระบบสาธารณสุขในประเทศไทยแข็งแกร่งขึ้น การขับเคลื่อนความเป็นเลิศทางด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ด้วยความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน นับเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็ว

“การขับเคลื่อนนวัตกรรมโดยมีคนไข้เป็นศูนย์กลางการร่วมมือกันทั้งภาครัฐ องค์กรต่างๆ และเอกชน” — คุณเควิน ปีเตอร์ รองประธานสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า)

ดร.อาร์มิน: ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมฟื้นคืนมาได้อย่างรวดเร็วคือ นวัตกรรมและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หรือ Continuous Development นี่เป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศควรผลักดันให้อุตสาหกรรมที่เน้นการรักษา และเน้นต้นทุนเป็นหลักนั้น ได้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและสร้างคุณภาพในการรักษา เพื่อจะสร้างรายได้สู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศคือ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ หรือ Medical Tourism  และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้เล่นระดับโลกสำหรับอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมในหลายๆปัจจัย ที่ทำให้ระบบสุขภาพมีศักยภาพสูง พร้อมที่จะก้าวไปเป็นผู้นำ ด้านอุตสาหกรรมสุขภาพในระดับภูมิภาคได้ จะเห็นได้ว่านวัตกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจหรือ Business Transformation Strategy ในอุตสาหกรรมยา และจริงๆ แล้วเราจะแล้วว่า หลายๆ อุตสาหกรรมเองก็ได้นำนวัตกรรมมาขับเคลื่อนองค์กรในยามวิกฤตเช่นนี้ นอกจากนี้ ตัวแปรที่สำคัญที่สุดในการทำให้องค์กรกู้วิกฤตได้อย่างรวดเร็วคือ การให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงด้วยดิจิทัล (Digital Transformation) การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง (Customer Engagement), การพัฒนาศักยภาพบุคลากร (Talent Management) และการสร้างทีม (Teamwork) เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมกลับมาดำเนินต่อได้อย่างรวดเร็ว

“ประเทศไทยเพียบพร้อมไปด้วยระบบสุขภาพที่มีศักยภาพสูง ที่จะก้าวไปเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมสุขภาพในระดับภูมิภาคได้” — ดร.อาร์มิน เวสเลอร์ รองประธานสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า)

บทความทั้ง 4 ตอนของ อุตสาหกรรมยา จากสถานการณ์ COVID-19 ธุรกิจจะเปลี่ยนทิศทางไปทางไหน พบทางออกและพลิกธุรกิจก้าวไกลสู่ระดับโลก  ทำให้เราได้ทราบถึงกลยุทธ์การปรับตัวของธุรกิจ และการสร้างภูมิคุ้มกันของวิกฤต ซึ่งก็คือ การมีนวัตกรรมที่ดีซึ่งจะต่อยอดไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันต่อวิกฤตได้ เราควรจะใส่ใจกับนวัตกรรมของระบบสุขภาพ และช่วยกันสร้างให้ไทยได้ก้าวเป็น medical hub ที่โดดเด่นในภูมิภาค และที่สำคัญคือการได้เห็นถึงการบริหารงานอย่างมืออาชีพของสมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) ในท่ามกลางวิกฤตที่ผ่านมา

ขอขอบคุณ บทสัมภาษณ์ที่ดีจาก สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (พรีม่า) สามารถอ่านบทความอื่นได้ที่ http://www.prema.or.th/site/th/healthcare-post-covid-19-part-4-th/


  • 2.8K
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE