จับตาเทรนด์ Quiet Promotion เจองานเพิ่มแต่ตำแหน่งเท่าเดิม ปรากฏการณ์ที่อาจส่งผลเสียกับองค์กรในระยะยาว

  • 38
  •  
  •  
  •  
  •  

หลังจากที่เราได้รู้จักกับ workplace trend ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาที่เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตอย่างโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการทำงานแบบ Work From Home, การทำงานแบบ Hybrid รวมไปถึงเทรนด์ในภาพใหญ่อย่าง Great Resignation, Great Rejuvenation รวมไปถึงภาพเล็กๆอย่าง Quiet Quitting, Quiet Hiring และ Quiet Hiring กันไปแล้ว ล่าสุดก็ควรที่จะทำความรู้จักกับอีกหนึ่งคำที่ถูกพูดถึงนั่นก็คือ Quiet Promotion ปรากฏการณ์ที่หากเกิดขึ้นกับคนทำงานจะส่งผลเสียกับธุรกิจและองค์กรได้

Quiet Promotion คืออะไร?

เป็นที่รู้กันว่าปรากฏการณ์ Great Resignation รวมไปถึงการ Layoff จำนวนมากในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้องค์กรในหลายอุตสาหกรรมต้องขาดคนทำงาน และเมื่อขาดคนทำงานสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับคนที่เหลืออยู่ก็คือการที่ต้องรับผิดชอบงานที่มากขึ้นโดยปริยาย แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้รับการโปรโมทหรือได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น สิ่งนี้ถูกเรียกกันว่า Quiet Promotion นั่นเอง

Quiet Promotion ถูกนิยามขึ้นหลังจากเว็บไซต์ JobSage เว็บไซต์ที่จะสำรวจความคิดเห็นลูกจ้างที่มีต่อนายจ้าง ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นลูกจ้าง full-time 1,000 คน และพบว่าผู้ตอบแบบสำรวจสัดส่วนถึง 78% มีงานในมือของตัวเองเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้มีการโปรโมทตำแหน่งหรือได้รับเงินชดเชยใดๆ

Kelli Mason ผู้ร่วมก่อตั้ง JobSage ระบุว่า บางครั้ง Quiet Promotion ก็เกิดขึ้นโดยไม่ตั้งใจ เพราะบางครั้งลูกจ้างก็รับผิดชอบงานมากขึ้นโดยธรรมชาติจากบทบาทหน้าที่ที่มีอยู่เพื่อความเติบโตของบริษัท แต่บางครั้งนายจ้างก็ใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้โดยมองว่าหากลูกจ้างรับผิดชอบงานได้มากขึ้นเรื่อยๆโดยไม่ได้ปริปากบ่นนายจ้างก็จะยังคงโยนงานให้มากขึ้นๆต่อไป

สัญญาณเตือน Quiet Promotion

สัญญาที่จะบ่งบอกว่าเกิด Quiet Promotion ขึ้นก็เช่นการที่มีงานที่นอกเหนือจากหน้าที่รับผิดชอบตามตำแหน่งเดิมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงการต้องรับผิดชอบงานแทนเพื่อร่วมงานที่ต้องออกจากทีมไป ซึ่งเรื่องนี้ Mason ระบุว่าแม้บางครั้งอาจจะเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนถ่ายหน้าที่รับผิดชอบหรือเพิ่มงานขึ้นเป็นการชั่วคราวกันบ้าง แต่นายจ้างก็ต้องระมัดระวังที่จะใช้ Quiet Promotion เป็นกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ และยืนยันว่าวิธีการนี้จะไม่ได้ช่วยประหยัดงบประมาณให้กับองค์กรได้ในระยะยาว

“การรับผิดชอบงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับงานมาโดยไม่เต็มใจหรือโดยที่ไม่มีสิ่งชดเชยสำหรับงานที่เพิ่มขึ้น จะทำให้เสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Burnout เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และทำให้อัตรา turnover สูงขึ้น ดังนั้นนายจ้างต้องปฏิบัติกับลูกจ้างอย่างเป็นธรรม” Mason ระบุ

ผลเสียจาก Quiet Promotion

หาก Quiet Promotion ไม่ได้รับการใส่ใจแก้ไขอาจส่งผลให้พนักงานลาออกมากขึ้น และการที่ไม่สามารถรั้งลูกจ้างที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเอาไว้ได้นั้นจะกระทบกับต้นทุนขององค์กรอย่างมหาศาล โดย The Society of Human Resource Management ประมาณการไว้ว่าการหาคนมาทำงานแทนลูกจ้างหนึ่งคนนั้นคิดเป็นต้นทุนราว 90-200% ของเงินเดือนของลูกจ้างคนดังกล่าวเลยทีเดียว ซึ่งนั่นยังไม่ต้องพูดถึงว่าลูกจ้างใหม่จะสามารถทำงานแทนลูกจ้างคนเก่าได้หรือไม่ด้วย

Mason ระบุด้วยว่า Quiet Promotion นั้นยังส่งผลให้เกิดความไม่พอใจให้เกิดขึ้นในหมู่คนทำงาน และทำให้สร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีได้ยาก โดยหากมองไปที่ผลสำรวจของ JobSage จะพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 68% พบว่าตนมีงานมากกว่าคนอื่นๆที่อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ขณะที่ 57% ยอมรับว่าตนรู้สึกถูกนายจ้าง “หลอกใช้” หรือใช้ประโยชน์จากการร้องขอให้ทำงานเพิ่มขึ้นจากเดิม

แนวทางแก้ปัญหา Quiet Promotion

และที่สำคัญที่สุดเมื่อถามว่า ผู้นำของคุณควรจะทำอย่างไรเพื่อทำให้เกิดบรรยากาศการทำงานที่ดีขึ้นได้ “คำตอบ” ที่พบมากที่สุดก็คือ “ความไว้เนื้อเชื่อใจและการรับรู้ปัญหา” สองสิ่งที่จะหายไปเรื่อยๆเมื่อเกิดปรากฏการณ์ Quiet Promotion ขึ้น ดังนั้น Mason จึงแนะนำว่าเพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลาม นายจ้างควรที่จะรับรู้ถึงปัญหาและพูดคุยถึงการตอบแทนที่เป็นธรรมโดยเร็ว เช่นการให้ค่าตอบแทนหรือค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นเป็นต้น

นอกจากการพูดคุยและให้ความเป็นธรรมกับลูกจ้างแล้ว นายจ้างก็ควรพิจารณาถึงแผนการจ้างงานให้เหมาะสมกับปริมาณงานที่มีเพื่อสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น และเพื่อหลีกเลี่ยงการทำให้เกิด Quiet Promotion โดยไม่รู้ตัวนายจ้างก็ควรที่จะทำการสำรวจความคิดเห็นและความรู้สึกของลูกจ้างต่อหน้าที่รับผิดชอบที่ได้รับเป็นการภายในด้วย และเหนือสิ่งอื่นใด การที่องค์กรหรือธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้คนทำงานก็ต้องมี tools ที่ะจะนำไปสู่ความสำเร็จและเอาชนะตัวเองได้ด้วยเช่นกัน

และสุดท้ายผู้ร่วมก่อตั้ง JobSage ระบุว่า แต่ละองค์กรนั้นมีความแตกต่างกัน สิ่งที่ใช้ได้ผลดีกับที่หนึ่งอาจใช้ไม่ได้ผลกับอีกที่หนึ่ง ดังนั้นการรับฟังเสียงจากลูกจ้างก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการวางนโยบายและแนวทางการทำงานต่อไป

ที่มา Benefitnews.com


  • 38
  •  
  •  
  •  
  •