จาก “The Great Resignation” สู่ “The Great Rejuvenation” ได้เวลาองค์กร คืนสมดุลชีวิตให้พนักงาน

  • 3
  •  
  •  
  •  
  •  

The-Great-Rejuvenation

ในปี 2021 เกิดปรากฏการณ์ The Great Resignation หรือ “การลาออกครั้งใหญ่” หนึ่งในปัจจัยกระตุ้นมาจาก COVID-19 ทำให้การใช้ชีวิต มุมมองในการทำงานเปลี่ยนไป จนนำมาสู่การตัดสินใจลาออก ด้วยหลากหลายเหตุผล เช่น ค่าจ้างไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ไม่มีโอกาสก้าวหน้าในสายงาน ความเครียด-แรงกดดัน และการทำงานที่หนักเกินไป นำไปสู่ภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout) และอื่นๆ อีกมากมาย

ทำให้มีทั้งคนที่ออกจากองค์กรหนึ่ง ย้ายไปอยู่กับอีกองค์กรหนึ่งที่ตอบโจทย์จุดประสงค์และเป้าหมายของตัวเองได้มากกว่า และคนที่ออกไปค้นหาโอกาสใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนชีวิตตัวเองครั้งใหญ่ หรือ “The Great Reshuffling” เช่น เปลี่ยนสายงาน หรืออาชีพไปเลย เปลี่ยนจากการเป็นลูกจ้าง ไปเป็นเจ้าของธุรกิจ หรือแสวงหาทางเลือกใหม่อื่นๆ

สิ่งที่ตามมาคือ หลายองค์กรเผชิญกับภาวะขาดแคลนบุคลากร และหากไม่หาแนวทางปรับตัว จะกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานและการขับเคลื่อนขององค์กรในระยะยาว

เมื่อคนตระหนักรู้ว่าเราทำงานเพื่อใช้ชีวิต โดยที่งานเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่มีชีวิตเพื่อทำงาน! ถึงเวลาแล้วที่องค์กรต่างๆ ต้องหันกลับมาปลี่ยนแปลง และ Rethink การบริหารจัดการองค์กร รูปแบบการทำงาน การพัฒนาและดูแลบุคลากรครั้งใหญ่ โดยมีความเข้าอกเข้าใจพนักงาน ให้คุณค่าและงานที่มีความหมาย สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างองค์กรกับพนักงาน เพื่อสร้างสมดุล และคืนชีวิตใหม่ให้การทำงาน หรือที่เรียกว่า The Great Rejuvenation

The-Great-Rejuvenation

 

จับตา “การลาออกครั้งใหญ่” ยังคงดำเนินต่อไป! หากงานที่ทำอยู่ไม่สร้างคุณค่าและความหมายให้พนักงาน

The Great Resignation เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในเอเชียแปซิฟิกด้วยเช่นกัน เมื่อเดือนมีนาคม 2022 PwC” ทำผลสำรวจแรงงาน จำนวน 52,195 คน ในจำนวนนี้อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 17,992 คน ระบุว่า ปรากฏการณ์ การลาออกครั้งใหญ่’ จะยังดำเนินต่อไปทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เนื่องจากพบว่าในเอเชียแปซิฟิกมีเพียง 57% เท่านั้นที่มีความพึงพอใจกับงานที่ทำอยู่ และในอีก 12 เดือนข้างหน้า มีแผนจะเปลี่ยนงาน – ขอขึ้นเงินเดือน – เลื่อนตำแหน่ง

– 1 ใน 5 ของลูกจ้างมีแผนที่จะเปลี่ยนงานใหม่ในอีก 12 เดือนข้างหน้า

– 1 ใน 3 ต้องการขอขึ้นเงินเดือน

– 1 ใน 3 ต้องการขอเลื่อนตำแหน่ง

สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านแรงงานที่บริษัทต่าง ๆ ทั่วทั้งภูมิภาคจะต้องเร่งแก้ไข ในขณะที่นายจ้างหลายราย ก็ได้เผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะและความสามารถสูงมาหลายปีแล้ว

The-Great-Rejuvenation

อย่างไรก็ตามท่ามกลางภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัว “PwC” ระบุว่าการจ่ายผลตอบแทนที่มากขึ้นของนายจ้างเพียงอย่างเดียว อาจไม่ใช่คำตอบที่ยั่งยืนนัก และแม้ว่าบางอุตสาหกรรมจะเสนอค่าจ้างสูงขึ้นถึง 20 – 40% โดยผลสำรวจชี้ว่า 68% ของลูกจ้างในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ต้องการได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม

แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ให้ความสำคัญกับสิ่งอื่น ๆ ด้วย เช่น

– 64% ของแรงงาน ต้องการทำงานที่ให้ความรู้สึกเติมเต็มและมีความหมาย

– 62% ต้องการทำงานในสถานที่ที่ตนจะได้แสดงความเป็นตัวของตัวเอง

ความต้องการเหล่านี้ ถือเป็นความต้องการพื้นฐานที่เหมือนกัน ไม่ว่าพนักงานจะทำงานจากที่บ้าน ทำงานแบบ Hybrid หรือทำงาน ณ สถานที่ทำงานก็ตาม

เมื่อพูดถึงการรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้คงอยู่กับองค์กร ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่า ยังมีสิ่งที่องค์กรในภูมิภาคนี้จะต้องปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญ

– มีพนักงานเพียง 36% เท่านั้นที่กล่าวว่านายจ้างของพวกเขามีการสนับสนุนการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต

– 66% ของพนักงานรู้สึกว่า นายจ้างไม่ได้สนับสนุนให้พวกเขามีการตัดสินใจอย่างมีจริยธรรม

– 73% ของพนักงานรู้สึกว่า นายจ้างไม่ได้สนับสนุนให้มีการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ

The-Great-Rejuvenation

 

ทำความรู้จัก “The Great Rejuvenation” สร้างสมดุลคืนชีวิตใหม่ให้การทำงาน

หลังจากที่องค์กรต้องเผชิญกับการลาออกครั้งใหญ่ และคนตระหนักรู้ว่างานเป็นแค่ส่วนหนึ่งของชีวิต ดังนั้นการรักษาบุคลากรที่มีความสามารถไว้กับองค์กร ขณะเดียวกันสามารถสรรหาคนใหม่เพิ่มเข้ามา ยิ่งปัจจุบันเป็นยุค Gen Z เริ่มเข้าสู่ตลาดงานมากขึ้น เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กร หรือนายจ้างต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้ง Mindset รูปแบบ และกระบวนการทำงาน

หนึ่งในเทรนด์การทำงานปี 2023 ระบุในรายงาน เจาะเทรนด์โลก 2023 โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA คือ “The Great Rejuvenation: คืนชีวิตใหม่ให้การทำงาน” เป็นผลสืบเนื่องจากผลกระทบ COVID-19 และกระแสการลาออกครั้งใหญ่ ได้เปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานไปอย่างมาก และรูปแบบการทำงานอาจไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป

ที่ผ่านมาจึงปรากฏคำใหม่ๆ ในการทำงานยุคนี้ และรูปแบบการทำงานที่เดิมมีอยู่แล้ว แต่อาจเฉพาะกลุ่ม เฉพาะบางสาขาอาชีพ ได้กลายเป็นแพร่หลายมากขึ้น เช่น Work From Home การทำงานจากที่บ้าน, Hybrid Work การทำงานเข้าออฟฟิศ สลับกับทำงานที่บ้าน, Remote Working การทำงานทางไกล, Workcation การทำงาน พร้อมกับการพักผ่อน อีกทั้งทุกวันนี้มีโมเดลการทำงานที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์

ส่งผลให้องค์กรเกิดการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ และนำไปสู่ยุค “The Great Rejuvenation” คือ การสร้างสมดุล และคืนชีวิตใหม่ให้การทำงาน โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่องค์กร หรือนายจ้างต้องเข้าใจพนักงานก่อน มีแนวคิดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง คือ เข้าอกเข้าใจคนทำงานด้วยกัน พร้อมกับการหาคำตอบร่วมกันทั้งพนักงานและองค์กรในด้านต่างๆ

เช่น รูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น, การสื่อสารพูดคุยกับพนักงาน, ออฟฟิศจะไม่ใช่เป็นเพียงสถานที่ทำงานเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ของการระดมความคิด – พื้นที่ของการได้พบปะกัน

รวมทั้งทุกวันนี้พนักงานมีเงื่อนไขใหม่ๆ ทำให้ต่อไปจะเห็นรูปแบบการทำงานใหม่เพิ่มขึ้น อย่างปัจจุบันบางคนไม่อยากทำงานมากจนเกินไป จึงยอมรับเงินเดือนน้อยลงหน่อย เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตในด้านอื่นๆ หรือปัจจุบันคนรุ่นใหม่หลายคนไม่ได้มีแค่งานประจำ แต่ด้านหนึ่งของชีวิตยังเป็นผู้ประกอบการธุรกิจด้วย

The-Great-Rejuvenation

สอดคล้องกับผลสำรวจ “PwC” ชี้ว่ารูปแบบการทำงานแบบผสมผสานการทำงานจากที่บ้านและสถานที่ทำงาน (Hybrid work) จะคงดำเนินต่อไป

– 68% ของผู้ถูกสำรวจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคิดว่า นายจ้างของพวกเขาจะใช้นโยบายการทำงานแบบ Hybrid ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ลูกจ้างก็เห็นด้วยกับการทำงานรูปแบบนี้ในสัดส่วนเดียวกัน

– เพียง 10% ของแรงงานทั่วทั้งภูมิภาค ที่ต้องการทำงาน ณ สถานที่ทำงานในช่วง 12 เดือนนับจากนี้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพนักงานส่วนใหญ่ต้องการที่จะทำงานแบบไฮบริด แต่องค์กรก็ไม่ควรมองข้ามพนักงานที่ต้องทำงานทางไกล หรือทำงาน ณ สถานที่ทำงานอย่างเต็มรูปแบบด้วยเช่นกัน

– 38% ของลูกจ้างที่ไม่สามารถทำงานทางไกลได้ มีแนวโน้มที่จะรู้สึกไม่พอใจต่องานที่ทำ

– ขณะที่พนักงานที่สามารถทำงานทางไกลได้ ก็มีความกังวลมากเป็นสองเท่าว่าจะถูกมองข้ามในการเลื่อนตำแหน่งและมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนงานในที่สุด

ขณะที่การสำรวจแรงงานไทยจำนวนกว่า 1,000 รายพบว่า 73% ของลูกจ้างชาวไทยคาดหวังว่า นายจ้างของพวกเขาจะใช้นโยบายการทำงานแบบไฮบริดในอีก 12 เดือนข้างหน้า และมีเพียง 4% ของที่ต้องการกลับไปทำงาน ณ สถานที่ทำงาน

The-Great-Rejuvenation

นอกจากนี้ผลสำรวจจาก Project Management Institute (PMI) สถาบันการบริหารโครงการในระดับโลก ได้สำรวจพนักงานในสหรัฐฯ จำนวน 1,000 คน พบว่านอกจากค่าตอบแทนสูงแล้ว แรงจูงใจในการหางานใหม่ คือ สิทธิประโยชน์ที่ดีขึ้น, ความมั่นคงในการทำงาน และโอกาสในการเรียนรู้ทักษะใหม่

– 3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามต้องการเลือกด้วยตัวเองว่าจะเข้าออฟฟิศ, ทำงานจากทางไกล หรือทั้งสองอย่าง และเกือบ 2 ใน 3 บอกว่าความยืดหยุ่นในสถานที่ทำงานมีความสำคัญมากกว่าก่อนเกิด COVID-19

– เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถาม สนใจการมีหน้าที่ความรับผิดชอบมากขึ้น เช่น เป็นผู้นำทีม และบริหารจัดการโครงการ

– สำหรับพนักงานระดับอาวุโส ให้ความสำคัญกับ upskill มากกว่าเงินเดือนสูง

– 80% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ต้องการผู้นำที่มี empathy และมีประสบการณ์

The-Great-Rejuvenation

Michael DePrisco ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ Project Management Institute (PMI) ระบุว่า ผู้นำองค์กรต้องเรียนรู้จากการปรับเปลี่ยนองค์กรครั้งใหญ่ (Great Reshuffling) เพื่อนำพาไปสู่สิ่งที่เรียกว่า The Great Rejuvenation ของการทำงาน ประกอบด้วย

องค์กรมีคำมั่นสัญญาและเป้าหมายที่ชัดเจน

เนื่องจากความท้าทายขององค์กรที่มีรูปแบบการทำงานยืดหยุ่น หรือใช้โมเดลทำงานจากที่ไหนก็ได้ ต้องหาวิธีเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในระยะยาว ในขณะที่ยังรักษาวัฒนธรรมองค์กรไว้ได้

สิ่งสำคัญคือการพูดคุยสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นระหว่างองค์กร/ผู้นำ กับพนักงาน และระหว่างพนักงานด้วยกันเอง รวมทั้งการจัดหาเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการทำงานร่วมกัน

นอกจากนี้เมื่อพนักงานกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ ผู้นำต้องสามารถให้เหตุผลที่ชัดเจนแก่พนักงานได้ว่าทำไมการทำงานแบบได้ปฏิสัมพันธ์แบบเจอหน้ากัน ถึงได้ผลดีที่สุดในบางสถานการณ์

รวมทั้งสำนักงานจะตอบโจทย์การทำงานที่แตกต่างจากในอดีต โดยพบว่าหลายองค์กรปรับเปลี่ยนพื้นที่สำนักงานให้กลายเป็นสถานที่ Workshop เพื่อระดมไอเดียใหม่ๆ, ใช้สัมภาษณ์พนักงานใหม่ และประชุมกับลูกค้า ตลอดจนเพื่อใช้เสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ดีขึ้น

ลงทุนพัฒนาทักษะพนักงาน

ในปี 2018 Project Management Institute (PMI) พบว่าบริษัทต่างๆ ทั่วโลกสูญเสียเงิน 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ไปกับโครงการที่มีการดำเนินงานไม่ดี ทำให้ไม่บรรลุผลขององค์กร เพราะฉะนั้นในขณะที่สภาพแวดล้อมการแข่งขันทางธุรกิจทุกวันนี้สูงขึ้น การสูญเสียเม็ดเงินลงทุนไปกับโครงการที่ไม่บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ได้นั้น เป็นสิ่งที่หลายบริษัทไม่สามารถยอมรับได้

เพราะฉะนั้นผู้นำที่ empower พนักงานด้วยการส่งเสริมพัฒนาทักษะ และเครื่องมือการทำงานที่จำเป็น จะนำพาโปรเจคต่างๆ ขององค์กรบรรลุผลสำเร็จ

นั่นหมายถึงว่าองค์กรต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนฝึกอบรม – เติมทักษะใหม่ (Upskill) ให้กับบุคลากร, การทลายกำแพงของการทำงานข้ามแผนกร่วมกัน, ส่งเสริมการทดลองการเรียนรู้อย่างรวดเร็ว (learn fast) และให้คนเป็นศูนย์กลางในการทรานส์ฟอร์มองค์กร จะเป็นสิ่งที่ผู้นำองค์กรสามารถมั่นใจได้ว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขัน, มีความยืดหยุ่นสูง เมื่อล้ม แล้วลุกอย่างรวดเร็ว และความสามารถในการปรับตัวหากเกิดคลื่น disruption ลูกต่อๆ ไปในอนาคตอีก

นอกจากนี้ควรปลูกฝัง Power Skills ให้กับพนักงาน ผสมผสานระหว่างทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์, ทักษะความเป็นผู้นำในการทำงานร่วมกัน,​ การคิดเชิงกลยุทธ์, การแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ และทักษะด้านธุรกิจ

The-Great-Rejuvenation

– Purpose ขององค์กร และคำมั่นสัญญาสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม

องค์กร หรือผู้นำต้องให้ความสำคัญกับ Diversity – Equity – Inclusion (DE&I) และด้านสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้เป็น Corporate Purpose หรือเจตจำนงขององค์กร ซึ่งองค์กรที่มี Purpose จะสามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้อยากมาร่วมงานด้วย โดยผลสำรวจพบว่าพนักงาน โดยเฉพาะ Gen Millennials และ Gen Z เกือบ 50% ในสหรัฐฯ ต้องการทำงานกับบริษัทที่มี Purpose และสร้างผลกระทบเชิงบวกกับโลก ดังนั้นองค์กร หรือผู้นำต้อง

ความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่างภายในองค์กร เป็นสิ่งที่พนักงานคนไทยให้ความสำคัญและต้องการเห็นองค์กรของตนเองสนับสนุนเช่นกัน โดยผลสำรวจ PwC” ระบุว่า การสนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานภายในองค์กร (Diversity and Inclusion) ถือเป็นสิ่งที่แรงงานไทยต้องการให้นายจ้างของพวกเขาสนับสนุนเป็นลำดับต้น ๆ

– 43% ของลูกจ้างชาวไทยที่ถูกสำรวจระบุว่า ต้องการให้นายจ้างยอมรับการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

หากองค์กร หรือผู้นำเข้าใจการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เหล่านี้ จะนำพาไป “The Great Rejuvenation” การสร้างความสมดุลที่แท้จริง และคืนชีวิตใหม่ของการทำงานให้กับพนักงาน

The-Great-Rejuvenation

 

 

Source: CEA, PwC, Forbes,


  • 3
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ
CLOSE
CLOSE