ท่ามกลางยุคที่สังคมและโลกก้าวสู่ความเป็นดิจิทัลไปทุกสิ่งอย่าง ในฐานะผู้ให้บริการเครือข่าย ‘dtac’ จึงต้องปรับตัวให้ก้าวนำทุกเทรนด์ที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการและการใช้งานที่เกิดขึ้น ประเด็นนี้ คุณชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร dtac ได้นำทีมออกมาพูดถึงทิศทางของ dtac ในการเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศว่า dtac พยายามพัฒนาบริการใหม่ให้หลากหลายเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านผู้ใช้งานสู่ชีวิตดิจิทัล ภายใต้ 3 แนวคิด คือ การมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อผู้ใช้งานทุกคนในประเทศไทย ยกระดับชีวิตผู้บริโภคด้วยการให้บริการที่มีคุณภาพ และการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบ
โดยข้อมูลระหว่าง ม.ค. 2563 – ม.ค. 2564 พบว่าอัตราการใช้งานดาต้าในระดับภูมิภาคของไทยเติบโตขึ้นถึง 9 เท่าตัวเมื่อเทียบกับการใช้งานในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับการใช้สมาร์ทโฟนในภูมิภาคของไทยก็เติบโตขึ้นประมาณ 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับในกรุงเทพฯ ส่วนการมอบบริการคุณภาพให้ลูกค้านั้น dtac ไม่ได้ทำแค่การพัฒนาเครือข่ายแต่ยังได้ปรับปรุงแอปพลิเคชัน dtac ให้มีความทันสมัย สนุกสนาน และง่ายต่อการใช้งานยิ่งขึ้นด้วยความสะดวกจาก dtac reward Coins ซึ่งทำให้อัตราการใช้งานปี 2563 เพิ่มขึ้นถึง 40% นอกจากนี้ ยังสนับสนุนการสร้างความยั่งยืนด้วยโครงการเพื่อสังคมต่าง ๆ เช่น เน็ตทำกิน ที่สอนผู้ประกอบการไทยให้รู้จักการทำธุรกิจออนไลน์ซึ่งมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการถึง 1,000 คน หรือโครงการ Safe Internet ที่สนับสนุนการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย และสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น
พฤติกรรมผู้ใช้งาน สร้าง 4 เทรนด์
คุณประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทคโนโลยี dtac ได้เล่าถึงพฤติกรรมผู้ใช้งานซึ่งแบ่งออกเป็น 4 เทรนด์ คือ
เน็ตภูธรหน้าใหม่ (The New Rurals): พบว่า 3 จังหวัดที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงสุด (ม.ค. 2563 – ม.ค. 2564) คือ นราธิวาส ปัตตานี นครศรีธรรมราช เนื่องจากมีการเดินทางข้ามจังหวัดหรือกลับภูมิลำเนาครั้งใหญ่ ส่วน 5 จังหวัดที่การใช้งานอินเทอร์เน็ตเติบโตน้อยสุด คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี กระบี่ ตาก และภูเก็ต
เช่นเดียวกับ การเติบโตของสมาร์ทโฟนที่พบว่า กาฬสินธุ์ สุโขทัย และน่าน เป็น 3 จังหวัดแรกที่การใช้สมาร์ทโฟนเติบโตมากที่สุดในประเทศไทย ส่วน 5 จังหวัดที่การใช้งานเติบโตน้อยที่สุด คือ สุราษฎร์ธานี ชลบุรี กรุงเทพฯ กระบี่ และภูเก็ต
ขยันผ่านเน็ตทางไกล (The Remote Deskers): ในช่วงเวลาเดียวกันก็พบว่าการเติบโตของ Zoom เพิ่มขึ้นถึง 5,050% เช่นเดียวกับ Google Hangouts ที่เพิ่มขึ้น 740% จากเทรนด์การทำงานแบบ Work From Home และการเรียนผ่านออนไลน์ ซึ่งผู้คนมองหาสัญญาณที่ครอบคลุมในการใช้งาน dtac จึงตอบโจทย์ด้วยการเพิ่มสถานีฐานคลื่น 700 MHz จำนวน 4,400 สถานีฐาน ภายในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้
อยู่ติดบ้านด้วยเน็ตบันเทิง (The Non-Stop Streamer): การใช้งานอินเทอร์เน็ตเพื่อความบันเทิงเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้ TikTok และ YouTube จึงมีการขยายสถานีฐานเพื่อให้บริการ Massive MIMO และ เทคโนโลยี 4G-TDD บนคลื่น 2300 MHz ทั่วประเทศ รวมแล้ว 20,400 สถานีฐาน เพื่อรองรับความต้องการใช้งานที่เกิดขึ้น
เน็ตคือหัวใจสำคัญ (The Critical User): เนื่องจากความพร้อมของโครงข่ายกลายเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นของผู้คน dtac จึงไม่ได้พัฒนาแค่เรื่องคุณภาพโครงข่าย แต่ยังเตรียมความพร้อมให้รองรับเทคโนโลยีในอนาคตและการใช้อินเทอร์เน็ตเชิงธุรกิจและอุตสาหกรรมด้วยระบบชุมสาย Virtual Core Network 100% พร้อมการรักษาความปลอดภัยให้ลูกค้าเพื่อให้ dtac เป็นโครงข่ายที่มีความปลอดภัยด้าน Internet Secured สูงสุดและปลอดภัยสำหรับการใช้งานของเยาวชน ภายใต้การเป็นโครงข่าย 5G ที่มีศักยภาพ รวมถึงเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 50% ภายในปี 2573 และลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เหลือ 0 ภายในปี 2567
5G dtac ไม่ใช่แค่ความเพิ่มความเร็ว แต่ต้องสร้างประโยชน์ได้จริง
แน่นอนว่าเทคโนโลยี 5G อาจถูกพูดถึงในประเด็นความเร็วที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง dtac กลับมองว่า ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G นั้นไม่ควรเป็นแค่เรื่องความเร็ว โดย dtac เป็นผู้ให้บริการรายแรกที่นำคลื่น 26 GHz มาใช้งาน และขยายคลื่น 700 MHz เพื่อทดลองกับประโยชน์การให้บริการด้านต่าง ๆ
ระบบนิเวศยุคดิจิทัล เกิดขึ้นได้ใน 5 เทรนด์
คุณฮาว ริเร็น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด dtac กล่าวถึงกลยุทธ์เร่งการใช้งานดิจิทัลเพื่อตอบโจทย์ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ว่าแบ่งได้เป็น 5 เทรนด์ ซึ่งเป็นส่วนผลักดันให้เกิดระบบนิเวศดิจิทัลจากการใช้อินเทอร์เน็ตและมือถือ คือ
1. Digital-First Experiences
สร้างประสบการณ์การให้ผู้บริโภคเป็น Digital First สนับสนุนการใช้ชีวิตประจำวันตามที่พวกเขาต้องการในแต่ละช่วงเวลา ด้วยการเติมประสบการณ์แบบ Online to Offline เพิ่มความสะดวกสบายในการรับบริการ เช่น สามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านแอปแต่ไปรับสินค้าที่หน้าร้าน หรือการพัฒนาแอปให้บริการด้วยภาษาต่างประเทศ เช่น dtac app ภาษาพม่า เป็นต้น พร้อมกับใช้ New Media อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสื่อสารกับลูกค้า เช่น Facebook Live หรือ TikTok
2. Digital Inclusion
ส่งเสริมอัตราเร่งสู่ความเป็นดิจิทัล ด้วยการเปิดกว้างให้ระบบนิเวศดิจิทัลเป็นพื้นที่ของทุกคนด้วยการออกแบบให้รองรับกับดีไวซ์ทุกรูปแบบ เช่น การปรับปรุงแอป dtac เพื่อให้กลายเป็นตัวเลือกแรกเมื่อลูกค้าคิดถึงหรืออยากใช้บริการ พร้อมกับสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้าผ่าน dtac Reward Coins และกิจกรรมเกมแบบ Instant Gamification ซึ่งทำให้เกิดการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
3. 360-degree Personalization
การตอบสนองให้แบบปัจเจกบุคคลอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเวลาและสถานการณ์ที่ผู้บริโภคคาดหวังข้อเสนอที่ใช่ ซึ่ง dtac ใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์และมอบข้อเสนอแบบรายบุคคลได้มีประสิทธิภาพกว่าเดิมถึง 50% ทำให้ได้ข้อเสนอที่มีประสิทธิภาพตรงกับความต้องการลูกค้ามากขึ้นถึง 3 เท่า และส่งผลให้อาปู้ (รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของผู้ให้บริการจากลูกค้าหนึ่งคน) เพิ่มขึ้นถึง 13%
4. New Business Normal
โมเดลธุรกิจแบบวิถีใหม่ นอกเหนือจากคุณภาพการโทรและอินเทอร์เน็ต เช่น บริการดิจิทัลอื่น ๆ เพื่อเชื่อมต่อทุกบริการที่เขี่ยวข้องกับความต้องการของผู้บริโภค ยกตัวอย่าง การที่ dtac ได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจเพื่อนำเสนอบริการใหม่ อย่างประกันสุขภาพ ส่วนลดร้านขายยา หรือบริการโอนเงินระหว่างประเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางดิจิทัลให้กับผู้ใช้งาน
5. Trust Matters
เป็นแบรนด์ที่มีความจริงใจ รักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า ทำให้ผู้ใช้งานเกิดความสบายใจและมอบความไว้วางใจแก่แบรนด์อย่างเต็มที่ พร้อมกับนำเสนอบริการเพื่อช่วยเหลือลูกค้าในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น บริการใจดีให้ยืม ใจดีให้โอน และบริการดิจิทัลอื่น ๆ