Podcast – EP.7 เมื่อ Brand ออกใบอนุญาติให้ผิดพลาด เพื่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลง

  • 83
  •  
  •  
  •  
  •  

เมื่อ Brand ออกใบอนุญาติให้ผิดพลาด เพื่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลง

ในชั่วโมงการทำงานแต่ละวันของบริษัทหรือแบรนด์ ก็ต้องการให้พนักงานทำงานและดูแลหน้าที่หลักของตนให้เต็มประสิทธิภาพ แต่ก็มีบางบริษัท ที่ให้เวลาส่วนหนึ่งของการทำงานพนักงานในการทำอะไรก็ได้ เพื่อให้ทุกคนได้ลองผิด ลองถูก พัฒนาอะไรก็ได้ เพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา

Marketing Oops! Podcast รายการ Brand Life ตอนนี้จึงยกเคสที่เกี่ยวกับ “ใบอนุญาติให้ผิดพลาด” ที่ยกเคสตัวอย่างบริษัทชื่อดังยักษ์ใหญ่ ที่เปิดโอกาสให้พนักงานมีพื้นที่ให้สนุกสนาน กับการลองผิด ลองถูก

ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ว่านั่นก็คือ Google นั่นเอง

จากผลการสำรวจของ เว็บไซต์จัดหางานที่ชื่อว่า Glassdoor มีผลออกมาว่า

บริษัทที่ถูกยกย่องว่าเป็นบริษัทที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดของโลกคือ Google ด้วยสถิติที่น่าสนใจสุดๆ คือทุก 5 นาที จะมีคนยื่นใบสมัครงานกับกูเกิล 6,849 คน ตกราวๆ 7,000 คนต่อนาที ซึ่งลองคำนวณเป็นอัตราการสมัครงานสูงถึงปีละ 2.5 ล้านคน

เหตุผลที่น่าสนใจ น่าจะเป็นเพราะว่ากูเกิล เป็นบริษัทที่ได้รับการยกย่องเรื่องนวัตกรรมทางออนไลน์ เป็นศูนย์รวมของคนเก่งที่มาอยู่รวมกัน

ซึ่งแน่นอนความเก่งฉกาจของบุคลากรภายในที่ส่งนวัตกรรมพลิกโลกยุคดิจิทัล และนวัตกรรมเหล่านั้นก็ทำหน้าที่ดึงดูดคนเก่งๆ ให้กลับเข้าไปร่วมสัมผัสประสบการณ์อยากร่วมเป็นหนึ่งในกูเกิลทีม

เป็นการตอบโจทย์ของคนเก่งในยุคใหม่นี้ ที่ต้องการการเพิ่มทักษะความสามารถให้กับตัวเอง ด้วยการนำพาตัวเองไปอยู่ในสังคม สิ่งแวดล้อมคนเก่ง ที่ล้อมรอบด้วยนวัตกร

ได้มีโอกาสพุดคุยกับ คนไทยที่ผ่านประสบการณ์ตรงจากกูเกิลสองท่าน

 

ท่านแรกคือ คุณเรืองโรจน์ พูนผล หรือ กระทิง อดีตผู้จัดการฝ่ายการตลาดของกูเกิล สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยี คุณกระทิงได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานที่กูเกิลสำนักงานใหญ่ ให้ฟังว่า ที่กูเกิลนั้นมีหลักการทำงานที่สุดแสนจะสร้างสรรค์ ช่วยให้เกิดนวัตกรรม

ด้วยการอธิบายง่ายๆ โดยลองแบ่งอัตราส่วนในภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบ

70% คือเวลาที่พนักงานกูเกิลใช้กับงานโปรเจคหลักที่ต้องทำ ต้องดูแล
20% คือเวลาที่เอาไปใช้กับงานรองๆ งานที่ต้องไปช่วยเหลือโปรเจคของคนอื่นๆ
ส่วนเวลา 10% สุดท้ายคือ เวลาที่คุณสามารถเอาไปทำอะไรก็ได้

เรียกได้ว่า เป็นเวลางานแบบเสรี อยากทำอะไรก็ลองทำดู เป็นช่วงเวลาที่ Google ให้ทดลองทำสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ ได้อย่างอิสระ

เจ้าอะไรก็ได้ที่ว่านี้ จะเป็นอะไรก็ได้ ที่สามารถถูกพัฒนาขึ้น โดยนำมาต่อยอดการใช้เทคโนโลยีของกูเกิล

พื้นที่ว่างแบบนี้เกิดขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้ลองผิด ลองถูก ทำอะไรก็ได้ พัฒนาอะไรก็ได้ เพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ

Google เปิดพื้นที่ๆ นี้ โดยมีใบอนุญาติให้ผิดพลาดได้ อย่างถูกกฎหมาย เป็นการเปิดพื้นที่ให้สนุกสนาน กับการลองผิด ลองถูก

แน่นอนว่าพื้นที่ของการทดลองแบบนี้เอง ที่จะช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ที่อยู่นอกกฏเกณฑ์จากงานประจำ และแน่นอนว่า ในพื้นที่นี้ พนักงานทุกคนจะได้แสดงแสนยานุภาพ ความสามารถของตัวเองแบบสุดๆ เพราะมันช่างสนุกสนาน บรรเจิดใจได้อย่างไม่กินเวลางาน (ก็เพราะมันยังเป็นส่วนหนึ่งของงาน)

 

ท่านที่สอง ที่ได้สนทนากับผู้มีประสบการณ์ตรงอย่าง คุณอริยะ พนมยงค์ อดีตหัวหน้าฝ่ายธุรกิจ กูเกิลประเทศไทย ท่านเล่าให้ฟังว่า สไตล์การทำงานที่กูเกิล เป็นแบบแนวราบ ไม่มีเจ้านาย ไม่มีลูกน้อง มีแต่เพื่อนร่วมงานที่คอยช่วยคิดและแชร์สิ่งต่างๆ ได้ตลอดเวลา และเพราะไม่มีใครสั่งให้ทำอะไร คนที่ทำงานที่นี่ จึงต้องมีแผนและเป้าหมายส่วนตัว กล้าคิด กล้าทำ กล้านำเสนอ

“ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า พวกโปรเจคแบบแปลกๆ โปรเจคบ้าๆ  มักจะเสนอแล้วผ่าน ได้ไปทำจริงๆ ตลอดเลย..”

วัฒนธรรมการเปิดพื้นที่ให้ได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ได้ลองผิดลองถูกแบบนี้เอง ที่ดึงดูดคนเก่ง ให้ไปแสดงแสนยานุภาพ พร้อมๆ กับท้าทายให้พวกเขาผลักดันนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาอยู่เสมอ บางสิ่งที่ล้มเหลว อาจไปต่อยอดความสำเร็จของบางสิ่งก็ได้ ใครจะรู้

และเป็นเพราะวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ จึงก่อให้เกิดพลวัตรของการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และเป็นจุดกำเนิดของโปรเจคแปลกๆ ที่ถูกพัฒนาเป็นโปรเจคใหญ่ๆ อาทิ

Project Ara : โครงการที่คุณสามารถสั่งประกอบสมาร์ทโฟนได้ในแบบที่คุณต้องการ โดยสามารถเลือกสี เลือกจอ เลือกแบ็ต เลือกปุ่ม ทำให้มือถืออยู่ในรูปแบบที่ผู้ใช้ต้องการมากขึ้น

Project Google Self Driving Car : รถอัจฉริยะไร้คนขับ โครงการพัฒนารถยนต์ให้ขับไปบนถนนได้โดยไร้คนขับ ซึ่งแน่นอนว่าโครงการนี้ มันต่อยอดจาก Google map และ Google glass แว่นตาของกูเกิล ที่ไม่ประสบความสำเร็จ และใช้วิศวกรรมยานยนต์อีกหลายด้านมาผสมกัน

และ Project Google smart Contact lens : นวัตกรรมคอนแท็คเลนส์ ที่สามารถวัดระดับน้ำตาล ผ่านน้ำตา ซึ่งมีชิปและเซ็นเซอร์คอยตรวจเก็บระดับน้ำตาลของผู้ที่สวมใส่

หลังจากเปิดโอกาสให้ได้ลองผิดลองถูกกันแล้ว ต่อมาก็ต้องมีคำถามว่า เมื่อได้ลองทำ แล้วเกิดผิดพลาดจะเกิดอะไรขึ้น คำตอบก็คือ ที่ Google ความผิดพลาดก็คือการเรียนรู้ร่วมกัน รู้ว่าผิดพลาดเร็ว ก็ปรับปรุงได้เร็ว เลิกโปรเจ็คได้เร็ว เพราะนั่นคือพื้นที่ของการเรียนรู้ การเรียนรู้ที่จะรับมือกับความผิดพลาด และตื่นตัวกับความเปลี่ยนแปลง

 

ได้ฟังเรื่องราวของ Google จากคนที่มีประสบการณ์ตรงสองคน แล้วก็นึกไปถึงเรื่องเล่าของ ริชาร์ด แบรนด์สัน ซึ่งเล่าถึงคำถามๆ หนึ่งที่เขียนมาถามเขาว่า

“ถ้าตอนนี้คุณอายุ 24 ปี และมีคนให้เงินคุณ 3,000 เหรียญ (ตกราว หนึ่งแสนบาท) คุณจะใช้เงินนี้ ลงทุนทำธุรกิจอะไร และถ้าเงินก้อนนี้ มันกลายเป็น 25,000 เหรียญ (ราวๆ แปดแสนบาท) คุณจะเอาไปลงทุนทำอะไร?”

แบรนด์สันตอบไปว่า ตัวเขาเองเริ่มต้นทำธุรกิจ ตั้งแต่สมัยเรียน ด้วยการทำนิตยสาร ชื่อ Student เป็นธุรกิจสิ่งพิมพ์ และหลังจากนั้น เขาก็เข้าสู่การทำธุรกิจด้านเพลงและดนตรี ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้ อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ ธุรกิจดนตรีก็กำลังง่อนแง่น เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากอินเตอร์เน็ต และโลกดิจิตอล เรียกได้ว่าโดนดิสทรัปชั่นไปหมดแล้ว

แต่ที่ไหนที่มีการเปลี่ยนแปลง ให้เชื่อเถอะว่า มันกำลังมีโอกาสใหม่ๆ เกิดขึ้น

แบรนด์สันตอบว่า ไม่ว่าจะมีเงินสามพัน หรือสองหมื่นห้าพันเหรียญ ก็คงไม่แตกต่างกัน เพราะธุรกิจที่เขาจะลงทุนทำ น่าจะเป็นธุรกิจทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งใช้เงินน้อยมากในการเปิดเว็บไซต์ ส่วนไอเดีย และความคิดสร้างสรรค์ แบบที่คิดให้โดนนั้น มันเป็นของฟรี!

นำไอเดียทั้งสองแนวคิด มาปรับกับธุรกิจของเรา

ถ้าเรานำสองแนวคิดนี้ มาต่อยอดให้กับธุรกิจ อยากจะสรุปแบบส่วนตัวว่า มันน่าจะดีกว่าแน่ๆ ถ้าเราเดินหน้าผลักดันองค์กร หน่วยงานของเราให้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การรู้จักเปลี่ยนแปลงตัวเองไปข้างหน้า มันดีกว่าที่สถานการณ์ภายนอกมาบีบบังคับให้เราต้องเปลี่ยนแปลง

เข้าปรัชญาว่า “จงกล้าเปลี่ยนแปลง ก่อนที่จะถูกบีบบังคับให้ต้องเปลี่ยนแปลง”

เริ่มต้นด้วยแนวคิด แบบ Google ในการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ให้ได้ทดลอง ได้ล้มเหลว เพราะความล้มเหลวจะนำมาซึ่งการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ทำให้เราเชี่ยวชาญ และระแวดระวังมากขึ้น

 

พื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผิดพลาด จะทำให้เกิดการทดลองใหม่ๆ
การทดลองใหม่ๆ จะนำมาในสิ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
และการเปลี่ยนแปลง จะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ๆ ที่คุณไม่เคยพบมาก่อน

 

สามารถติดตามรับฟัง Marketing Oops! Podcast
ผ่านทางช่องทางต่างๆ ได้ที่

Google Podcasts


  • 83
  •  
  •  
  •  
  •  
ก้า อรินธรณ์
อธิกร ศรียาสวิน (ก้า อรินธรณ์) ผู้อำนวยการสถาบัน Academy of Business Creativity (ABC) ม.ศรีปทุม นักการตลาดอินดี้ ที่ปรึกษาด้านครีเอทีฟแบรนดิ้ง