Podcast – EP.9 “นกสำลี” กับพลังของ Story Telling

  • 47
  •  
  •  
  •  
  •  

Brand Life EP.9 “นกสำลี” กับพลังของ Story Telling

MarketingOops! Brand Life Podcast EP.9 ชวนฟังเรื่องราวสนุกๆ ในแบบ Story Telling โดย อธิกร ศรียาสวิน (ก้า อรินธรณ์) ผู้อำนวยการสถาบัน Academy of Business Creativity (ABC) ม.ศรีปทุม นักการตลาดอินดี้ ที่ปรึกษาด้านครีเอทีฟแบรนดิ้ง

 

นกสำลีกับพลังของเรื่องเล่า

มีหลายครั้งเรื่องราวที่เราได้ฟัง มันกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เราลุกขึ้นสู้ชีวิตและเป็นพลังใจ เป็นแรงใจให้เราเริ่มต้นที่จะทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคม ในเรื่องของการสร้างแบรนด์ก็เช่นกันครับ แบรนด์ที่มีเรื่องเล่า แบรนด์ที่มีแรงบันดาลใจ จะสามารถเข้าถึงใจผู้บริโภคได้มากกว่า แบรนด์ที่เรียบๆ แบนๆ ที่ไม่มีมิติในการรับรู้ใดๆ

นี่เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่น่าประทับใจ จากการได้มีโอกาสพูดคุยสนทนากับ คุณปรีชา ส่งวัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของ Story Telling หรือเรื่องเล่า

คุณปรีชา ท่านเล่าให้ฟังถึงเรื่องของคุณครูคนหนึ่ง ซึ่งสอนหนังสืออยู่ที่ โรงเรียนชุมชนวัดวังเคียน ชนบทไกลปืนเที่ยงชายขอบจังหวัดสิงห์บุรี ติดกับชัยนาท

เรื่องราวมีอยู่ว่า…

บ่ายวันหนึ่งคุณครูสมชาย มาขอพบคุณปรีชา ที่ FN OUTLET สาขาสิงห์บุรี โดยคุณครูนำของชิ้นหนึ่ง มาขอคำปรึกษาพร้อมๆ กับอยากได้คำแนะนำว่า เขาควรทำอย่างไรกับสินค้าชนิดนี้ดี?

ของชิ้นนั้นก็คือ นกสำลี ที่เอาไว้ใช้ประดับตกแต่งบ้าน

อธิบายให้เห็นภาพ มันคือนกประดับที่ทำขึ้นจากสำลี และระบายสีลงไป

เป็นของที่ระลึกน่ารักแบบบ้านๆ ที่ประดิษฐ์ขึ้นจากฝีมือของบรรดาลูกศิษย์

ถ้ามองดูด้วยสายตาสินค้าชิ้นนี้อาจดูเป็นของประดิษฐ์ สวยงามแบบบ้านๆ เป็นสินค้าทำมือธรรมดาๆ

แต่จริงๆ แล้ว เจ้านกสำลี ชุดนี้ทั้งหมด มันเป็นผลิตผลที่เกิดขึ้นจากความสามารถของลูกศิษย์คนหนึ่ง ซึ่งเป็นเด็กพิเศษที่มีความบกพร่องทางสมอง เพราะน้องเป็นเด็กออทิสติกที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียน

การศึกษาในชนบท เด็กพิเศษออทิสติกนั้น เขาอาจมีปัญหาในเรื่องของการเข้ากับเพื่อนไม่ค่อยได้ บางคนก็อาจเรียนล้าหลัง

แต่ทว่าคุณครูสมชายไม่ยอมให้ความบกพร่อง มาทำให้เด็กคนนั้นต้องกลายเป็นปัญหาในสังคม

คุณครูท่านมีความเชื่อว่า เด็กพิเศษนั้น แม้จะด้อยในเรื่องทักษะการเข้าสังคม มีปัญหาจากการเรียนรู้ในแบบปกติ แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาเหล่านั้นจะมีความสามารถพิเศษบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน

ครูสมชายค้นพบว่า ลูกศิษย์ซึ่งเป็นเด็กออทิสติกคนนี้ มีความสามารถ มีฝีมือในการทำงานประดิษฐ์นกสำลี ได้อย่างสวยงาม

คุณครูเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า

ในช่วงแรก ก็ทำไปช้าๆ ต้องคอยชม ว่าเก่ง หนูทำได้ดีนะ สวยขึ้นแล้วนะ ต้องให้กำลังใจ… พอเขาเริ่มมั่นใจขึ้น เริ่มเรียนรู้ เราก็เห็นข้อดีของการทำ เพราะเขาเริ่มเข้ากับเด็กปกติที่เรียนด้วยกันได้

พอเราเห็นเด็กๆ เรียนด้วยกัน หัวเราะกัน เอานกมาอวดกัน ช่วยกันทำ ก็ดีใจ ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ตัวไหนไม่สวยก็ทำใหม่…

ประมาณปีกว่าๆ ก็เริ่มดี ออกโชว์ในโรงเรียนได้…

 

เมื่อครูสมชายเห็นถึงประโยชน์ในการศึกษา นกสำลี เพราะมันเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้กับเด็กพิเศษ คุณครูก็พยายามให้การสนับสนุน โดยออกทุนทรัพย์ให้ลูกศิษย์ได้ประดิษฐ์นกสำลีออกมา และพยายามหาช่องทางจำหน่าย แต่ก็ยังไม่พบทางออก

จนเงินทุนเริ่มร่อยหรอ มีสินค้าเต็มคลัง แต่ยังไม่มีวิธีสร้างยอดขาย ครูสมชายจึงต้องออกเดินทาง เพื่อนำเอานกสำลีตัวนั้น มาขอคำปรึกษากับคุณปรีชาที่ FN OUTLET สาขาสิงห์บุรี

เมื่อคุณปรีชาได้ฟังเรื่องราวข้างต้นนี้ ก็ให้คำแนะนำเบื้องต้นไปว่า…

ขอให้ครูสมชาย กลับไปเขียนเรื่องราวที่เล่าให้ฟังทั้งหมดข้างต้นนี้ ใส่กระดาษ และนำมาแปะไว้บนห่อของผลิตภัณฑ์สินค้า  แล้วให้นำนกที่มีเรื่องเล่านี้ กลับมาวางจำหน่ายในร้านต้นกล้าได้เลย

โดยทางร้านต้นกล้า จะนำเอาเรื่องราวนั้น จัดแสดงบนบอร์ดให้กับลูกค้าที่มาซื้อสินค้า ได้อ่านเรื่องราวสตอรี่ของนกสำลี ฝีมือเด็กออทิสติก

ขออนุญาตเล่าถึงที่มาสั้นๆ ของร้านต้นกล้า ใน FN OUTLET แห่งนี้

คุณปรีชา สร้างร้านต้นกล้าขึ้นบนความต้องการที่จะช่วยเหลือสังคม ด้วยการทำหน้าที่เป็นแขนขา ให้กับผู้ผลิตสินค้าในท้องถิ่น โดยจะมีกระบวนการให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำปรับปรุงพัฒนาหีบห่อ พัฒนาภาพลักษณ์แบรนด์ เรียกว่าทั้งส่งเสริมและให้คำแนะนำเรื่องการตลาดไปพร้อมๆ กัน

โดยร้านต้นกล้า นั้นจะมีเป้าหมายหลักคือ เป็นการเปิดพื้นที่เพื่อให้คนในชุมชน สามารถนำสินค้าชุมชนที่มีคุณภาพดีเข้ามาวางจำหน่าย รวมถึงช่วยในการบริหารจัดการ รับฝากและจำหน่ายสินค้าดีๆ ที่เรียกกันว่า สินค้า OTOP ในจังหวัดใกล้เคียงอีกด้วย

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า…

เมื่อพลังของเรื่องเล่าข้างต้นนี้ มาไปปรากฏอยู่บนห่อสินค้า มันจะส่งผลทำให้ ลูกค้าให้ความสนใจ ช่วยกันซื้อนกสำลี เป็นของฝากมากขึ้น มากขึ้น

จากยอดขายหลักพัน กลายเป็นยอดขายหลักแสนต่อเดือน

จากเด็กพิเศษ ที่อาจแลดูเป็นเด็กที่ขาดแคลนโอกาส ในสายตาคนอื่นๆ

แต่เมื่อมีคุณครู และมีความช่วยเหลือจากร้านต้นกล้า มาประกอบกัน

มันส่งผลไปถึงการพลิกบทบาท ทำให้เด็กพิเศษให้กลายเป็นคนพิเศษ จากเด็กออทิศติกพลิกบทบาทกลายมาเป็นครูสอนทำนกสำลี ให้กับเด็กคนอื่นๆ พ่อแม่เด็กคนอื่นๆ และเพื่อนบ้านในชุมชน เปร่งประกายทำให้นกสำลีเหล่านั้น เป็นมากกว่าแค่ของประดับธรรมดาๆ

นกสำลีกลายเป็นสายใย เชื่อมความสัมพันธ์

นกสำลีช่วยสร้างความภาคภูมิใจ ทำให้เด็กพิเศษและครอบครัว ได้มีกิจกรรมร่วมกัน

พ่อแม่ต่างก็มาช่วยลูก ทำนกประดิษฐ์ในตอนเย็นและในวันหยุด กลายเป็นจุดเริ่มต้นทำให้ครอบครัวเด็กพิเศษ ในจังหวัดชัยนาท มีอาชีพประดิษฐ์นกสำลีแสนสวย โดยคุณครูสมชาย จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางนำไปจำหน่ายในที่ต่างๆ

เหมือนดั่งที่ คุณปรีชา ย้ำถึงเจตนารมณ์ในการทำร้านต้นกล้าว่า

“เมื่อเราไปอยู่ที่ไหน ขอให้ที่นั่นดีด้วย เพราะเราคิดว่าการพัฒนานั้นจะต้องพัฒนาไปตามวิถีของเขา ไม่ใช่วิถีเรา แต่เราจะไปเติมวิถีของเขาให้เข้มข้นขึ้นได้อย่างไร

เช่น ถ้าชุมชนเขาทำการเกษตร เราก็ต้องไปพัฒนาการเกษตรของเขา เราต้องไปส่งเสริมในสิ่งที่เขามีอยู่ให้ดีขึ้น ให้เจริญขึ้น”

และที่สำคัญ คือคำกล่าวปิดท้ายที่คุณปรีชากล่าวไว้ว่า

“เรื่องนี้ มันมีความหมายยิ่งกว่ายอดขาย… เพราะมันมีคุณค่าทางจิตใจ ในฐานะคนทำธุรกิจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้คนในสังคม”

 

ทั้งหมดนี้น่าจะเป็นตัวอย่างของการนำเสนอเรื่องเล่าของแบรนด์ รวมทั้งการสร้างการรับรู้ในการร่วมทำสิ่งดีๆ ให้กับสังคมที่เราร่วมอาศัย

ซึ่งทุกคนจะสามารถรับรู้ได้

และจะส่งผลที่ดีให้กับแบรนด์ในระยะยาว อย่างไม่ต้องสงสัย

 

สามารถติดตามรับฟัง Marketing Oops! Podcast
ผ่านทางช่องทางต่างๆ ได้ที่

Google Podcasts


  • 47
  •  
  •  
  •  
  •  
ก้า อรินธรณ์
อธิกร ศรียาสวิน (ก้า อรินธรณ์) ผู้อำนวยการสถาบัน Academy of Business Creativity (ABC) ม.ศรีปทุม นักการตลาดอินดี้ ที่ปรึกษาด้านครีเอทีฟแบรนดิ้ง