Podcast – China Market Insights Special Episode EP.2 ทำความเข้าใจ 6 พฤติกรรมการใช้ “Social Media Trends” คนจีนในปี 2020

  • 41
  •  
  •  
  •  
  •  

ความพิเศษ และความน่าสนใจของประเทศจีนอย่างหนึ่งคือ เป็นประเทศที่มีแพลตฟอร์ม Social Media ของตัวเอง เป็นผลมาจากนโยบายควบคุมสื่ออินเทอร์เน็ตและข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลจีน หรือที่ฝั่งตะวันตกเรียกนโยบายนี้ว่า The Great Firewall

แม้จุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์ม Social Media ของจีน พัฒนาขึ้นเพื่อให้ “คนจีน” ใช้โดยเฉพาะ แต่ปัจจุบันจะเห็นว่าหลายแพลตฟอร์มสามารถสร้างการเติบโต และขยายไปยังต่างประเทศ ทำให้ขยับจาก Local Platform สู่ Global Platform ที่บางแอปพลิเคชันมีผู้ใช้งานไม่ต่ำกว่า 500 – 1,000 ล้านคน

อีกทั้งแบรนด์ หรือธุรกิจต่างประเทศที่ต้องการเจาะตลาดจีน ก็ต้องทำความเข้าใจ ทั้งตัวแพลตฟอร์มเอง และพฤติกรรมการใช้ Social Media ของคนจีนที่มีลักษณะเฉพาะ

เรามาดูกันว่าปี 2020 เทรนด์ “Social Media” และพฤติกรรมการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของคนจีนเป็นอย่างไร

เทรนด์ที่ 1 ประชากรที่เกิดหลังปี 2000 และวัยกลางคน – ผู้สูงวัย จะเป็นกลุ่มใหญ่ที่ใช้ Social Media จากเดิมผู้ใช้สื่อโซเชียลกลุ่มใหญ่ อยู่ในช่วงอายุ 20 – 40 ปี แต่ขณะนี้กลุ่มคนที่เกิดหลังปี 2000 เป็นประชากรกลุ่มที่ใช้ Social Media มากขึ้น โดยปัจจุบันมีประชากรกลุ่มนี้มากถึง 100 ล้านคนที่ใช้อินเทอร์เน็ต เพิ่มขึ้น 44% จากปีก่อนหน้า

ความน่าสนใจประการหนึ่งคือ ต่อไปผู้บริโภคกลุ่มนี้ จะเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของ Luxury Product โดยมีทั้งคนที่เติบโตมาในครอบครัวร่ำรวย และคนที่สร้างตัวเองขึ้นมา

อีกกลุ่มคือ วัยกลางคน – ผู้สูงวัย มีการใช้อินเทอร์เน็ต และ Social Media มากขึ้น โดยประมาณการณ์ว่าปัจจุบันมี 81 ล้านคน และคาดการณ์ว่าต่อไปกลุ่มผู้สูงอายุในจีน จะใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น จากปีก่อนหน้านี้ ใช้เวลา 131 ชั่วโมง/เดือน ขณะที่ปี 2019 เพิ่มขึ้นเป็น 135 ชั่วโมงต่อเดือน เนื่องจากประชากรกลุ่มนี้มีเวลาว่าง ดังนั้นสิ่งที่ตามมาจากใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นคือ การช้อปปิ้งออนไลน์

เทรนด์ที่ 2 จะเห็น “Vlog” วิดีโอยาวมากขึ้น หลังจากปีก่อนหน้านี้ และปี 2019 เป็นปีของ Short Video แต่ต่อไปคนจีนจะนิยมถ่ายวิดีโอยาวมากขึ้น ในรูปแบบ “Vlog” คล้ายกับ Video Diary ที่นำเสนอเรื่องราวของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิต แนะนำสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ช้อปปิ้ง อาหารการกิน ของฝาก อัพโหลดลงบนแพลตฟอร์มต่างๆ

เทรนด์ที่ 3 “Live” ยังมาแรง ในปี 2018 คนจีนยังไม่ค่อย Live ผ่านสื่อโซเชียลมากนัก แต่ปี 2019 อัตรการ live เพิ่มขึ้น และปี 2020 ยังคงเห็นเทรนด์นี้มากขึ้น

ปัจจุบันแพลตฟอร์ม e-Commerce ต่างๆ ก็พัฒนาฟีเจอร์ Live และศิลปิน ดารา ซึ่งถือเป็น Celebrity ก็หันมา Live ขายของเช่นกัน อย่างฟ่าน ปิงปิง หลังเจอมรสุมถูกฟ้องร้อง ที่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง และงานแสดงในวงการบันเทิง เธอก็หันไปทำ Live ขายสินค้า ผ่านช่องทางสื่อโซเชียลของตัวเอง ปรากฏว่าภายใน 4 นาที สามารถขาย Mask หน้าได้ถึง 10 ล้านหยวน!!

เทรนด์ที่ 4 คนจีนใช้เวลาอยู่กับ Super App น้อยลง และหันไปใช้แอปฯ อื่นมากขึ้น แอปฯ ที่คนจีนใช้มากสุดคือ WeChat” ซึ่งเป็น Super App หรือ Everyday App สำคัญของคนจีนก็ว่าได้ เพราะรวบรวมบริการในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า ไปจนถึงเข้านอน

แต่เทรนด์หนึ่งที่กำลังเกิดขึ้น ณ ขณะนี้ และจะเห็นมากขึ้นในปี 2020 คือ คนจีนยังคงใช้ WeChat ในชีวิตประจำวันเช่นเดิม แต่ “ใช้เวลา” อยู่กับแพลตฟอร์มนี้น้อยลง เนื่องจากหันไปใช้แอปฯ อื่นมากขึ้น เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าในประเทศจีนมีแอปฯ มากมาย

หนึ่งในนั้นคือ TikTok เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอขนาดสั้น ที่ดึงเวลาการใช้งาน WeChat ไปได้มากพอสมควร นี่จึงทำให้ TikTok ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่น่าจับตามองต่อไป

เทรนด์ที่ 5 จาก “KOL” สู่ “KOC” เมื่อรีวิวจากผู้ใช้จริง สร้างพลังบอกต่อให้กับแบรนด์ ที่ผ่านมาเราจะเห็นแบรนด์ใช้งบประมาณโฆษณาไปกับ KOL” (Key Opinion Leader) ซึ่งเป็นบุคคลที่มีผู้ติดตาม (follower) จำนวนมาก เพื่อทำหน้าที่รีวิว และ influence ผู้บริโภค

แต่ล่าสุดในประเทศจีน เกิดเทรนด์ใหม่ที่เรียกว่า KOC” (Key Opinion Customer) เป็น Super Micro Influencer ที่ไม่ได้มีผู้ติดตามจำนวนมากเหมือน KOL แต่เป็นลูกค้าจริง ใช้จริง หรือรักในแบรนด์ – ผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว เมื่อคนกลุ่มนี้ใช้อะไร จะโพสต์ หรือรีวิวสินค้าบน Social Media ของตัวเอง แบรนด์เห็นพลังของ KOC จึงหันมาใช้งบโฆษณากระจายเข้าไปยังคนที่เป็น KOC มากขึ้น

เทรนด์ที่ 6 “WeChat Mini Program” มีทุกอย่างครบจบในฟีเจอร์เดียว ถึงแม้คนจีนจะใช้เวลากับ WeChat น้อยลง แต่มีเทรนด์หนึ่งที่กำลังโต คือ คนจีนนิยมใช้  WeChat Mini Program” มากขึ้น เนื่องจากคนจีนเริ่มไม่อยากดาวน์โหลดแอปฯ มากมายมาไว้บนสมาร์ทโฟนแล้ว เพราะไหนจะมีแอปฯ บนมือถือเยอะแยะแล้ว ยังเปลือง storage มือถืออีก

ดังนั้นการออก WeChat Mini Program” จึงตอบโจทย์ความต้องการของคนจีน โดยภายใต้แอปฯ WeChat มีฟีเจอร์ “Mini Program” ในนั้นจะรวบรวมแอปพลิเคชันยอดนิยม และบริการต่างๆ ไว้ในฟีเจอร์เดียวกัน

ปัจจุบันมีธุรกิจไทยที่ทำตลาดจีน บางรายใช้ WeChat Mini Program บ้างแล้ว ดังนั้นแบรนด์ไทย หรือผู้ประกอบการไทยที่อยากเจาะตลาดจีน ไม่ควรพลาดฟีเจอร์ WeChat Mini Program

หลังจากเห็นเทรนด์ “e-Commerce” และ “Social Media” ของจีนในปีหน้าแล้ว “China Market Insights Special Episode ตอนที่ 3” จะพาไปติดตามเทรนด์การตลาด ปี 2020 รับรองได้ว่าจะรู้จักคนจีน และเข้าใจตลาดจีนมากขึ้นแน่นอน

 

สามารถติดตามรับฟัง Marketing Oops! Podcast
ผ่านทางช่องทางต่างๆ ได้ที่


  • 41
  •  
  •  
  •  
  •  
Ittichai
ผู้ก่อตั้ง บริษัท เลเวลอัพ โฮลดิ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านการตลาดจีน เจ้าของเพจ Level Up Thailand, Level Up China และ เว็บไซต์ Level Up Thailand (https://www.levelupthailand.com) มีความรู้ด้านการตลาดออนไลน์ในจีน เป็นนักพูดสร้างสรรค์ และผู้เขียนหนังสือ “บุกตลาดจีนด้วยโซเชียลมีเดีย”
CLOSE
CLOSE