“โรงเรียนญี่ปุ่น” ปฏิรูปชุดนักเรียน! ใช้เครื่องแบบ “Unisex” หนุนความหลากหลายทางเพศ

  • 2.5K
  •  
  •  
  •  
  •  

Japanese-School-Uniform

หลายโรงเรียนในญี่ปุ่น กำลังปฏิรูป “ชุดนักเรียน” ครั้งใหญ่ ด้วยการออกแบบให้มีความเป็น “Unisex” เพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นการสนับสนุนสิทธินักเรียน LGBT (Lesbian, Gay, Bisexual และ Transgender) หลังจากยุคที่ผ่านมา “ชุดนักเรียน” ถูกออกแบบให้แบ่งแยกความเป็น “ชาย” และ “หญิง” อย่างชัดเจน โดยนักเรียนชาย ต้องใส่เสื้อเชิ้ตสีขาว กับเน็กไท พร้อมสวมสูท และกางเกงขายาว หรือบางโรงเรียนเป็นเสื้อคอตั้ง – กางเกงสีน้ำเงินเข้ม ขณะที่นักเรียนหญิงเสื้อเชิ้ตสีขาว กับกระโปรง หรือเป็นเสื้อปกกะลาสี คู่กับกระโปรง

แต่ภายใต้ชุดนักเรียนที่เรียบร้อย ได้รับการออกแบบมาอย่างสวยงาม ปัจจุบันหลายโรงเรียนในญี่ปุ่นกลับมองว่า หากสามารถออกแบบชุดนักเรียนให้มีความเป็น “Unisex” จะช่วยลดความรู้สึกอึดอัดใจ หรือความทนทุกข์ของนักเรียน LGBT

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา “โรงเรียนมัธยม Kashiwanoha” ในจังหวัดชิบะ เริ่มให้นักเรียนสามารถเลือกได้ว่าจะใส่กระโปรง หรือกางเกง และผูกโบว์ หรือใส่เน็กไท กับเสื้อคลุมตัวนอกได้ตามที่นักเรียนต้องการ ซึ่งที่มาของการเปลี่ยนแปลงนโยบายการแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนดังกล่าว มาจากผลการประชุมคณะกรรมการครู – ผู้ปกครอง – นักเรียน ได้หารือกันต่อประเด็นนี้

ในที่สุดแล้วเกือบ 90% ของผู้ปกครอง และนักเรียน เห็นตรงกันว่า ควรให้นักเรียนได้มีอิสระในการเลือกเครื่องแต่งกาย เช่น นักเรียนหญิงควรได้รับอนุญาตให้ใส่กางเกงได้เช่นเดียวกันนักเรียนชาย เพราะนอกจากความคล่องตัวแล้ว ยังช่วยให้ร่างกายอบอุ่นในช่วงฤดูหนาวอีกด้วย

“เราคิดว่าเป็นการดีที่ให้นักเรียนได้สวมใส่ในสิ่งที่เขารู้สึกสบายใจ และเป็นตัวเอง เพราะถ้านักเรียนรู้สึกอึดอัด หรือไม่สบายใจ เขาจะรู้สึกไม่อยากมาโรงเรียน โดยเราออกแบบชุดในโทนสีอ่อน และรูปแบบที่เหมาะสำหรับนักเรียนทุกคน” Koshin Taki รองอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยม Kashiwanoha เล่าถึงแนวความคิดของการปรับนโยบายเครื่องแต่งกายนักเรียน

ความเคลื่อนไหวของการปฏิรูป “ชุดนักเรียน” ครั้งนี้ เริ่มกระจายไปยังโรงเรียนต่างๆ ในญี่ปุ่น เช่นที่โรงเรียนมัธยมในฟุกุโอกะ เตรียมยกเลิกชุดนักเรียนชายแบบเสื้อคอตั้ง และชุดเสื้อปกกะลาสีของนักเรียนหญิง พร้อมเตรียมประกาศนโยบายใหม่ในปี 2019 ให้นักเรียนทุกคนสามารถ เลือกใส่กางเกง หรือกระโปรง

Resize Japanese School Uniform

Anri Ishizaki หัวหน้ากลุ่ม FRENS องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อสนับสนุน LGBT ฉายภาพว่า การสวมใส่ชุดนักเรียนที่ระบุเพศชัดเจน (ชาย – หญิง) ทำให้กับนักเรียนที่ไม่อยากเปิดเผยตัวตนทางเพศ รู้สึกเป็นภาระ และไม่สบายใจที่จะใส่ จนทำให้ไม่มีสมาธิในการเรียน แม้เครื่องแบบไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้พวกเขารู้สึกทุกข์ทรมาน แต่ก็เป็นองค์ประกอบสำคัญ เพราะเป็นสิ่งที่ใส่ติดตัวตลอดทั้งวัน ดังนั้น การเสนอทางเลือกในการแต่งกายชุดนักเรียน จะทำให้นักเรียนรู้สึกผ่อนคลายความรู้สึกอึดอัดได้

ทั้งนี้ ตามรายงานการสำรวจของกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (Ministry of Education, Culture, Sports, Science and Technology) เผยว่าในปี 2014 มีนักเรียนระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้าขอคำปรึกษาภาวะความไม่พอใจในเพศตัวเอง (Gender Dysphoria : GD) 606 ราย ทำให้ในปีต่อมา กระทรวงศึกษาธิการฯ กระตุ้นให้โรงเรียน สนับสนุน LGBT ทั้งการคำนึงถึงเครื่องแต่งกายนักเรียน ทรงผม และห้องน้ำ-ห้องอาบน้ำของนักเรียน

“Tombow Co.” บริษัทตัดเย็บชุดนักเรียนให้กับโรงเรียนมัธยม Kashiwanoha ต้องปรับเปลี่ยนเช่นกัน โดยหันมาผลิตชุดนักเรียน “Unisex” มากขึ้น หลังจากโรงเรียนสอบถามเข้ามา และเป็นช่วงเวลาเดียวกับกระทรวงศึกษาฯ ได้แจ้งนโยบายใหม่ของชุดนักเรียน

Ayumi Okuno ดีไซเนอร์ของ Tombow เล่าว่าจากการพูดคุยกับนักเรียน LGBT หลายคนไม่ต้องการสวมใส่ชุดนักเรียนที่บ่งบอกความแตกต่างชัดเจนของรูปร่างว่านี่คือ ชุดสำหรับผู้ชาย นี่คือชุดสำหรับผู้หญิง ดังนั้นเราพยายามออกแบบชุดไม่เน้นส่วนโค้งเว้าของสรีระผู้หญิง

อย่างไรก็ตาม Koshin Taki รองอาจารย์ใหญ่โรงเรียนมัธยม Kashiwanoha ย้ำว่าหลังจากเริ่มใช้นโยบายใหม่นี้ ยังคงต้องสังเกตปฏิกิริยาของนักเรียนด้วยเช่นกัน เพราะนักเรียนหญิงบางคน กลัวว่าถ้าใส่กางเกงแล้ว จะกลายเป็นที่ดึงดูดสายตาจากคนอื่น แต่เราหวังว่าจะช่วยนักเรียนได้เลือกในสิ่งที่เขาต้องการจะสวมใส่ โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง

 

Source : The Japan Times


  • 2.5K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ