เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการใช้ชีวิตของคนไทย ทำให้ยุทธวิธีการตลาดของบรรดาค่ายสินค้าที่แบรนด์ใหญ่ๆ ที่มีชื่อติดตลาด ตั้งแต่ในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน อาทิ แบรนด์ซุปไก่ ฮานามิ เป๊ปซี่ มาม่า ไวไวควิก และ ไฮเนเก้น เริ่มปฏิบัติการ “สร้างสาวกใหม่ “ผ่านนิวมีเดีย
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ก่อนจะหมดยุคลูกค้าเก่าหมดไป เพราะล้มหายตายจากไปตามกาลเวลา และเมื่อถึงเวลาการเข็นแบรนด์ให้ดูทันสมัย หรือ”ปลุกผีแบรนด์”คงเป็นงานหินกว่าวันนี้ที่แบรนด์ยังได้รับความนิยมเป็นอย่างดี
หากดูจากเคลื่อนไหวทางการตลาดที่โดดเด่นที่ผ่านมาแล้ว ดูเหมือนว่าแบรนด์เหล่านี้จะเห็นตรงกันว่าถึงเวลาที่จะพลิกแพลงตำรา360 องศาจากแนวการตลาดเดิมๆ เริ่มมาติดอาวุธใหม่ “นิวมีเดีย” ที่เข้ากับ Lifestyle ของกลุ่ม “Gen-M ที่เป็นวัยรุ่นเด็กแนว” ซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคแห่งความหวัง และการก้าวเข้าไปเข้าไปคลุกคลีในพื้นที่จะทำให้แบรนด์เข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ได้ไม่ยาก
ดังนั้น หากจะเปลี่ยนลุกส์ให้สินค้าดูทันสมัย นั่นคือ การทำให้แบรนด์ได้มีโอกาสผ่านหูผ่านตาลูกค้ากลุ่มนี้ที่เปิดรับสารผ่านนิวมีเดีย เว็บไซต์ และมือถือ ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารที่จำเป็นของพวกเค้า และเข้าถึงแบบ One-to-One Communications
แม้ว่าลูกค้ากลุ่มนี้จะมีกำลังซื้อไม่สูงสุด เมื่อเทียบกับลูกค้ากลุ่มผู้ใหญ่ แต่ทว่าเป็นเป้าหมายที่บรรดาทัพสินค้าหันมาให้ความสนใจ
นั่นเพราะเป็นกลุ่มที่ยอมรับสิ่งใหม่ ๆ ได้ง่าย ชอบความหวือหวา โดยเฉพาะการเปิดรับกับกระแสความเปลี่ยนแปลงจากทั่วโลกการใช้สื่อดิจิตอล เพราะหากสร้างความยอมรับให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ นั่นหมายถึง การสร้างส่วนแบ่งจากลูกค้าทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ไม่อยากตกกระแส
ถึงยุค “เปลี่ยนเกม” Mass Customize
หมดยุคของการทำตลาดแบบเดิมที่มองตลาดแบบ Mass หรือ Niche Market ทว่าเป็นยุคของ Mass Customize นั่นเพราะยุคสมัยของผู้บริโภคนั้น สัมพันธ์กับรูปแบบการตลาด
เหตุผลดังกล่าวทำให้สินค้าที่เริ่มต้นทำตลาดกับผู้บริโภค ครอบคลุมทุกยุคตามการวิเคราะห์ผู้บริโภคที่แบ่งกลุ่มแบ่งออกเป็น 4 เจเนอเรชั่น นับตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบัน คือ
- กลุ่ม Gen-B เบบี้ บูม อายุ 40-63 ปีขึ้นไป
- กลุ่ม Gen-X มีอายุไม่เกิน 40 ปี
- กลุ่ม Gen-Y อายุตั้งแต่ 20 ปี
- กลุ่ม Gen-M หรือกลุ่มมิลเลนเนียล เจเนอเรชั่น คือ “เด็กแนว”ยุคใหม่ที่มีอายุสูงสุด 20 ปี
ต่างพากันมาโฟกัสตลาดกลุ่ม Gen-M ที่เป็นตลาดแบบ Mass Customize นั่นเพราะผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความมั่นใจเกิน 100 % กล้าแสดงออก มีรูปร่างหน้าตา การแต่งตัวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่สนใจต่อคำวิพากษ์ วิจารณ์ และเชื่อเพื่อน
ลักษณะอีกประการของกลุ่ม Gen-M จะค่อนข้างเชื่อเพื่อนมาก และไม่ค่อยรับเปิดรับสื่อหลักอย่าง สื่อทีวี วิทยุ เหล่านี้คือ ช่องว่างทำให้สื่อดิจิตอลซึ่งพวกเขาใช้ในชีวิตประจำวัน
ที่สำคัญยังเป็นกลุ่มที่มีการใช้เทคโนโลยีทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซด์ อ่านบล็อก เกมส์ ไวรัล ชุมชนออนไลน์ Social networking ที่เชื่อมต่อผ่านคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ โดยกลุ่มGen-M มองพื้นที่ออนไลน์ เป็นโลกเสมือนจริง ที่เข้าไปแล้วสามารถเลือกได้ว่าบุคลิกตัวตนที่ตัวเองจะเป็นแบบไหน หรือคนที่อยากจะปฏิสัมพันธ์ด้วยคือคนแบบไหน
ว่ากันว่ากลุ่ม Gen-M เป็นผู้บริโภคแห่งความหวังที่บรรดาทัพสินค้าต่างมองเห็นโอกาส และสำรวจแบรนด์ของตัวเอง พร้อมวางเป้าหมายจะเข้าไปครอบครองสร้างส่วนแบ่งลูกค้า (Customer share) กลุ่มนี้ให้ได้มากที่สุด
ในยุคนี้สื่อดิจิตอล ได้กลายเป็นอาวุธสำคัญของเหล่าบรรดาทัพสินค้าที่วางแผนการรบประชิดตัวลูกค้าแบบ วัน ทู วัน ด้วยการอาศัยพฤติกรรมการเปิดรับสื่อนิวมีเดีย ส่งสารเข้าไปทำให้เกิดการพูดคุยกันวงกว้างในลักษณะ World of Mouth และด้วยลักษณะเฉพาะของกลุ่มนี้ที่เชื่อเพื่อนมากกว่า เมื่อเทียบกับสารที่ผ่านมาทางสื่อหลัก เหล่านี้ทำให้การตลาดของทัพสินค้าในวันนี้ให้ความสำคัญกับการตลาดผ่านนิวมีเดีย ที่เป็นสื่อดิจิตอล
Source: ผู้จัดการ รายสัปดาห์