คนไทยอายุ 100 ปีเพิ่มขึ้น! 6 ความท้าทายเมื่อไทยเป็น “สังคมอายุยืน” ยืดอายุทำงาน-ฝึกทักษะใหม่

  • 221
  •  
  •  
  •  
  •  

Lifelong Society

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องพึ่งพาทรัพยากรมนุษย์ แม้ทุกวันนี้จะเป็นยุคดิจิทัลที่มีเทคโนโลยีก้าวล้ำก็ตาม แต่เวลานี้ในหลายประเทศทั่วโลกโครงสร้างสังคม และประชากรเปลี่ยนไปเป็น “สังคมอายุยืน” ที่ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น และมาพร้อมกับ “สังคมสูงวัย”

“สังคมอายุยืน” ไม่ใช่แค่เรื่อง “สังคมสูงวัย” ที่เป็นเรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน เพราะภายใต้โครงสร้าง “สังคมอายุยืน” ยังคงประกอบด้วยประชากรหลายช่วงวัย แต่ประชากรกลุ่มเด็กจะน้อยลง เป็นผลจากอัตราการเกิดลดลง

ขณะที่ช่วงอายุของวัยรุ่น และวัยกลางคน ยืดขยายออกไป ส่วนนิยามของคนสูงวัย จากเดิมกำหนด 60 ปีเข้าสู่ช่วงสูงวัย ต่อไปอาจเริ่มต้นนับตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป ก็เป็นไปได้

เวลานี้ในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ คนที่มีอายุ 100 ปีเพิ่มขึ้น ทำให้ทุกภาคส่วนของประเทศ ต้องเผชิญความท้าทายใหญ่ นำไปสู่การปรับตัว

สถานการณ์ดังกล่าว กำลังเกิดขึ้นกับ “ประเทศไทย” เช่นกัน ต่อไปประชากรในประเทศจะมี “อายุยืนยาวขึ้น”

เพราะฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องเตรียมความพร้อมกับการที่ไทยเป็น “สังคมอายุยืน” ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ – ภาคธุรกิจ- ภาคประชาชน เพื่อให้สามารถรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ – ปรับเปลี่ยนเมือง – มีหลักประกันสุขภาพ และการเงินที่มั่นคงรับชีวิตยืนยาว – มีทักษะเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต และทำงานในสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับคนทุกวัย

TDRI

 

คนไทยอายุขัยเพิ่มขึ้น 4.4 เดือนต่อปี ต่อไป 100 ปี ไม่ใช่เรื่องแปลก

ในงานสัมมนาสาธารณะ ประจำปี 2562 เรื่อง “สังคมอายุยืน : แข่งขันได้ และอยู่ดี มีสุข ได้อย่างไร?” ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute : TDRI) กล่าวว่า ตลอด 6 ทศวรรษที่ผ่านมา คนไทยมีอายุขัยคาดการณ์ตามช่วงเวลาเพิ่มขึ้น 4.4 เดือนต่อปี ทำให้คนไทยมีอายุคาดการณ์เมื่อเกิดถึง 75.3 ปี ในปี 2559

และเมื่อประมาณการตามอายุคนไทยตามรุ่นอายุ ซึ่งคิดผลของพัฒนาการทางเทคโนโลยีเข้ามาด้วย (Cohort Life Expectancy) พบว่า มีความเป็นไปได้ที่คนไทยที่เกิดในปี 2559 จะมีอายุยืนเฉลี่ยถึง 80 – 89 ปี ไปจนถึงเกือบ 100 ปี ซึ่งหมายความว่า “ต่อไปการที่คนไทยมีอายุเกิน 100 ปี จะเป็นเรื่องปกติ” จากล่าสุดในปี 2560 คนไทยมีอายุยืนกว่า 100 ปี แล้วถึง 9,041 คน

“การเป็นสังคมอายุยืน นำมาซึ่งโอกาส และความท้าทายใหญ่ๆ มากมาย ดังนั้นภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน จึงควรวางแผน และเตรียมการที่ดี เพราะแม้คนไทยจะอายุยืนขึ้น แต่การที่ไทยเป็น “สังคมสูงวัย” ด้วย ทำให้ “วัยแรงงาน” มีจำนวนลดลง มีผลิตภาพแรงงานต่ำลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น และออกจากตลาดแรงงานเร็วเกินไป

ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมกับสังคมอายุยืน ไทยควรปรับนิยามผู้สูงอายุตามประเทศพัฒนาแล้วคือ อายุ 65 ปี และยืดรับบำนาญ เพื่อยืดอายุการทำงาน ยืดเวลาการออกม และฝึกทักษะสำหรับโลกอนาคตมากขึ้น”

TDRI

 

5 ความเปลี่ยนแปลง “ผู้สูงอายุไทย” และเจาะลึก “พฤติกรรมการใช้ชีวิต”

นอกจากคนไทย อายุยืนขึ้นแล้ว ยังมีอีก 5 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นใน “ผู้สูงวัย” และ “พฤติกรรมการใช้ชีวิต” คือ

1. ด้านสุขภาพ พบว่า พบว่า สัดส่วนผู้สูงอายุที่ประเมินสุขภาพของตนเองว่าไม่ดี หรือไม่ดีมากๆ มีเปอร์เซ็นต์ลดลง จาก 24.5% เป็น 15.2%

ขณะที่ “ประสาทสัมผัสของผู้สูงอายุ” ชัดขึ้นด้วย เช่น มองเห็นชัด โดยไม่ต้องใส่แว่นมากขึ้น ได้ยินชัด โดยไม่ต้องใส่หูฟังมากขึ้น และสามารถทานอาหารได้ โดยไม่ต้องใส่ฟันปลอม

แต่ในสัญญาณดี ก็มีสัญญาณไม่ดีด้วยเช่นกัน นั่นคือ ผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อมากขึ้น / ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันมากขึ้น ซึ่งโรคเหล่านี้เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต และอีกส่วนหนึ่งมาจากผู้สูงอายุ ออกกำลังกายลดลง หรือทำกิจวัตรประจำวันพื้นฐานลดลง ดังนั้น หากวางแผนสุขภาพดี จะทำให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้นด้วย

TDRI TDRI TDRITDRI

2. การศึกษาสูงขึ้น – ทำงานมากขึ้น พบว่าจบมหาวิทยาลัยมากขึ้น ขณะเดียวกันทำงานมากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยรายได้หลักมาจากการทำงานมากขึ้น และได้เงินจากลูกหลาน – คู่สมรสลดลง

สาเหตุที่ทำงานมากขึ้น เพราะอยากหาความหมายในชีวิต และยังเห็นว่าตัวเองแข็งแรง และมีผู้สูงอายุที่ไม่มีทางเลือก ถ้าไม่ทำงาน ก็จะไม่มีรายได้

TDRI

3. อยู่โดยลำพังมากขึ้น และทำกิจกรรมตามความสนใจ พบว่า ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอย่างเดียว ไม่ว่าจะอยู่คนเดียว หรืออยู่กับคู่สมรส มีเพิ่มขึ้น จึงทำให้ผู้สูงอายุในปัจจุบันอยู่โดยลำพังมากขึ้น

ในขณะที่การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะละแวกบ้าน หรือในชุมชน กลับลดลง แต่ผู้สูงอายุหันไปทำกิจกรรมตามที่ตนเองสนใจมากขึ้น ข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันผู้สูงอายุไทย ชอบที่จะเดินทางออกจากบ้าน มากกว่าอยู่กับบ้าน ซึ่งตรงนี้จะสัมพันธ์กับการออกแบบเมือง ให้รองรับ “สังคมอายุยืน” ด้วยเช่นกัน

TDRI

4. การอยู่อาศัยของผู้สูงวัยในไทย ยังต้องปรับปรุงบ้าน และสิ่งอำนวยความสะดวกอีกมาก พบว่าทุกวันนี้ผู้สูงอายุคนไทย พักอยู่บนชั้น 2 จากปี 2550 อยู่ที่ 32.2% ในปี 2560 ลดลงมาอยู่ที่ 22.6% โดยส่วนใหญ่ย้ายลงมานอนชั้นล่าง นอกจากนี้ ผู้สูงอายุไทยเกือบ 50% ยังไม่ได้ใช้ห้องน้ำชักโครก

ข้อมูลการอยู่อาศัยดังกล่าว จึงเป็นโอกาสของธุรกิจสุขภัณฑ์ และการอยู่อาศัย ที่จะเข้าไปทำตลาด เพื่อให้แต่ละครัวเรือนไทย ปรับปรุงบ้าน หรือออกแบบบ้าน และเติมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนสูงวัย

TDRI

5. “อายุ” เป็นเพียงตัวเลข โดยทั่วไปการนับอายุ วัดจากปีปฏิทิน แต่ปัจจุบันไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป ยังมีการวัดอายุหลากหลายรูปแบบ

เช่น วัดอายุตามความรู้สึก อย่างบางคนอายุ 50 กว่าปี แต่คนนั้นแข็งแรง รู้สึกว่าตัวเองอายุ 40 ปีก็ได้ หรือบางคนไม่คิดว่าตัวเองเข้าสู่ช่วงสูงวัย ก็สามารถคิดได้ว่าตัวเองเป็นหนุ่มใหญ่ก็ได้เช่นกัน หรือการวัดอายุตามบรรทัดฐานของสังคม

เพราะฉะนั้น “อายุ” เป็นเพียงตัวเลข และการวัดอายุตามปีปฏิทิน จึงไม่น่าจะใช่วิธีที่เหมาะสำหรับสังคมอายุยืนขึ้น

TDRI

 

ช่วงอายุคน ยืดขยายออกไป ส่งผล Life Journey คนไม่มีแบบแผนตายตัว

ดร.สมเกียรติ อธิบายว่า อายุยืนมากขึ้น ไม่ใช่แค่แก่นานขึ้น แต่ยังหมายถึงช่วงอายุวัยรุ่น และวัยกลางคน ยืดขยายออกไป ทำให้ชีวิตมีความหลากหลายขึ้น จากเดิมเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยเรียน ก็เรียนหนังสือ จากนั้นทำงาน และเกษียณอายุ แต่สำหรับใน “สังคมอายุยืน” ทำให้ในช่วงชีวิตของคนๆ หนึ่ง มีหลายช่วงมากขึ้น

เช่น เมื่อเรียนหนังสือจบ เข้าสู่ชีวิตทำงาน ก็ยังสามารถกลับไปเรียนหนังสือ แล้วกลับมาทำงาน จากนั้นสักพักกลับไปเรียนหนังสืออีกก็ได้ แล้วจึงเกษียณ

“สังคมอายุยืน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องสูงอายุ แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทุกคน เด็กที่เกิดวันนี้ ต่อไปอาจอยู่ได้ถึง 100 ปี ดังนั้น เราเสนอให้ใช้ “สังคมอายุยืน” แนวคิดใหม่ที่ใช้แทนสังคมสูงอายุ ในขณะที่สังคมสูงอายุ เป็นเพียงกลุ่มหนึ่งของสังคมอายุยืน เพราะต่อไปเราจะขยับคำว่า “สูงอายุ” ออกไปอีก และเราจะมีคนอายุยืนเพิ่มมากขึ้น

การมองสังคมอายุยืน ทำให้เห็นโอกาส ความท้าทาย และการเตรียมการ หากเราไม่เข้าใจว่าโลกเปลี่ยนไป หากเราไม่เข้าใจว่าทำไมคนไทยอายุยืนขึ้น เราจะมีวิธีมองโลกที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงหลายอย่าง เช่น ในอดีต นิยามของ “ผู้สูงอายุ” โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 60 ปี แต่ถ้าอายุของคนเรายืนขึ้น อาจใช้นิยามใหม่ อยู่ที่ 65 ปี ซึ่งการเป็นสังคม

TDRI

ถ้าสังคมไม่รู้ว่าต่อไปจะเป็นสังคมอายุยืน อาจทำให้เราลงทุนใน “ทุนมนุษย์” ของตัวเราต่ำเกินไป ซึ่งทุนมนุษย์ในทีนี้ คือ การฝึกทักษะ การหาความรู้ใหม่ๆ เช่น ถ้าเห็นว่าตัวเราอายุ 60 ปีแล้ว แก่แล้ว ก็จะทำให้รู้สึกไม่อยากฝึกทักษะ หรือหาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติม ซึ่งถ้าคิดอย่างนี้ เสียโอกาสอีกมาก

นี่คือ ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทย ที่มีอายุเกษียณอยู่ที่วัย 60 ปี และจะพบปรากฏการณ์คนอายุ 50 กว่าปี เลิกทำงานกันเยอะแยะ ในขณะที่วัยหนุ่มสาวสมัยใหม่ บอกว่าเมื่อเข้าช่วงอายุ 40 ปีจะเกษียณคำถามคือ ถ้าเขาอายุเฉลี่ย 100 ปี ถ้าเกษียณตั้งแต่อายุ 40 ปี อีก 60 ปีที่เหลือ เขาจะทำอะไร เพราะฉะนั้นต้องทำความเข้าใจว่า เดี๋ยวนี้คนไทยอายุยืนขึ้น

ตัวอย่างในญี่ปุ่น มีการขยายอายุเกษียณ เช่นแต่เดิมเกษียณเมื่อวัย 60 ปี ได้ขยายเป็น 62 ปี และขยายเป็น 65 ปี และปีก่อนหน้านี้ บรรดาสมาคมแพทย์ผู้สูงอายุของญี่ปุ่น เสนอขยายอายุเกษียณ 75 ปี นี่คือปรากฏการณ์ที่อาจเห็นในประเทศไทยอีกไม่นาน”

TDRI

 

6 ความท้าทายใหญ่ “ประเทศไทย” ต้องเผชิญเมื่อเป็นสังคมอายุยืน

เมื่อแรงงานลดลง ผู้สูงอายุมากขึ้น ย่อมส่งผลโดยตรงที่เกี่ยวพันกันหลายส่วน ทั้งต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ การออกแบบเมือง สุขภาพ การออม การทำงาน และนี่คือ 6 ความท้าทายใหญ่ ที่ประเทศไทยต้องเจอ !!!

ความท้าทายแรก : รักษาการเติบโตให้ต่อเนื่อง จากจำนวนแรงงานลด และผลิตภาพแรงงานลดตามอายุ

พบว่าเมื่อคนไทยอายุเข้า 50 ปี หลังจากนั้น Productivity มีแนวโน้มลดลง อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยอายุ 50 – 59 ปี จำนวนมากต้องออกจากตลาดแรงงานไป ประกอบกับการให้สิทธิบำนาญของกองทุนประกันสังคม เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้คนไทยออกจากตลาดแรงงาน

TDRI TDRI

เพราะฉะนั้นวิธีการจะรักษาอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในสังคมอายุยืน ได้แก่

วิธีการแรก ลดการออกจากตลาดแรงงานของคนอายุ 50 – 59 ปี ซึ่งจะช่วยเพิ่ม productivity ได้ 12%

วิธีการที่สอง ดึงคนอายุ 60 – 69 ปี ที่ส่วนใหญ่ออกจากตลาดแรงงานไปแล้ว กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยฝึกทักษะแรงงานใหม่ๆ ให้กับคนกลุ่มนี้ นอกจากช่วยรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว การดึงคนอายุ 60 ปีขึ้นไป กลับเข้าสู่ตลาดงาน ยังส่งผลบวกในเชิงสังคม คือ แทนที่จะปล่อยให้ผู้สูงอายุ อยู่บ้านเฉยๆ การออกมานอกบ้าน ทำให้ผู้สูงอายุ มีสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับอื่น ไม่รู้สึกเบื่อ

วิธีการที่สาม เพิ่มกำลังแรงงานใหม่เข้าไป มีทางเลือกดังนี้

1. เพิ่มแรงงานต่างด้าวมากกว่าปกติ ปีละประมาณ 1 แสนคน

2. พิจารณาลดการเกณฑ์ทหาร 50% จากในแต่ละปี เกณฑ์ทหาร 100,000 คน โดยเฉลี่ยคนหนึ่งประจำการ 2 ปี เพราะฉะนั้นถ้าลดอัตราการเกณฑ์ทหารลง จะทำให้มีแรงงานอายุ 21 – 23 ปี กลับเข้าสู่ตลาดงานเพิ่มขึ้นได้อีกปีละหลายคน

TDRI

3. เพิ่มการใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ เป็นเรื่องสำคัญที่คนไทยต้องเข้าใจให้ได้ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเมืองไทยที่กำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ มักจะวาดภาพว่าเครื่องจักรระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ จะมาทดแทนคนงาน ทำให้คนตกงาน แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ สำหรับประเทศไทยคือ หากเราไม่มีเครื่องจักรระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์เข้ามา เราจะขาดแคลนแรงงานมหาศาล

4. สร้างนวัตกรรมใหม่ – สร้างสินค้า และบริการแบบใหม่

TDRI

 

ความท้าทายสอง : สร้างเมืองให้คนมีพลังสู้

เป็นที่ทราบกันดีว่า การใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ เราทุกคนต้องใช้พลังสู้มากมาย ทั้งฝ่าการจราจรติดหนัก สู้กับสภาพทางเท้าที่เดินไม่สะดวก เป็นหลุม เป็นบ่อ แอ่งน้ำ มีสิ่งกีดขวางทางเดินมากมาย เสาไฟฟ้าที่มีทั้งสายไฟ และสายเคเบิลพันกัน เพราะฉะนั้นเมื่อไทยจะก้าวเข้าสู่ “สังคมอายุยืน” การออกแบบจัดการเมืองเอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพสำหรับ “คนทุกวัย” และช่วยให้ “ผู้สูงวัย” สูงวัยอย่างมีพลัง (Active Aging) จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ในสังคมอายุยืน เมืองที่เอื้อต่อคนทุกวัน และช่วยให้ผู้สูงวัยมีพลัง ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ

1. มีพื้นที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ และห้องสมุดมากพอ

2. เป็นเมืองเดินได้ คือ ทำให้ทุกคน รวมทั้งคนสูงวัยเดินได้สะดวกสบาย คล่องตัว ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพตามมา เพราะการเดิน ถือเป็นการออกกำลังกายเช่นกัน

3. มีระบบขนส่งสาธารณะ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตร ช่วยให้ผู้สูงอายุเดินทางไปทำกิจกรรมต่างๆ ได้ และลดความเร็วของรถยนต์ในย่านที่มีผู้สูงวัยพักอาศัยมาก เพื่อลดอุบัติเหตุ

TDRI

 

ความท้าทายสาม : เตรียมตัวรักษาสุขภาพกาย – ใจ

เราทุกคน ไม่ว่าจะช่วงวัยไหน ควรเตรียมตัวรักษาสุขภาพ ทั้งกาย และใจให้ดี เพราะไม่เช่นนั้นในอนาคต ปี 2580 มีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีคนติดบ้าน – ติดเตียง เกือบ 1 ล้านคน !! ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และเกิดภาระการดูแล

TDRI

 

ความท้าทายที่สี่ : รู้หา รู้ออม พร้อมอยู่นาน

ความมั่นคงทางการเงิน ถือเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมอายุยืน เพราะฉะนั้นการหารายได้ และการออม จึงเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ควรหวังจะพึ่งรัฐบาล หรือกองทุนประกันสังคมว่าเมื่อถึงวัยเกษียณแล้ว จะมีเงินสนับสนุน หรือเงินบำนาญจากรัฐบาล และประกันสังคม

เพราะคาดการณ์ว่าในปี 2590 กองทุนประกันสังคมจะล้มละลาย เนื่องจากเงินในกองทุนฯ ลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากสัดส่วนการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ มากกว่าการเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนฯ

TDRI

 

ความท้าทายที่ห้า : เรียนรู้คู่ไปกับการทำงาน

ในโลกที่คนอายุยืนยาวขึ้น การเรียนรู้คู่ไปกับการทำงานในชีวิตหลายช่วง เป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากทุนมนุษย์ในอนาคต มีอย่างน้อย 3 อย่าง ได้แก่

ทุนมนุษย์เพื่อการผลิต คือ ความรู้ + ทักษะ, ชื่อเสียง และเพื่อนร่วมงาน สามารถแปรเป็นทรัพย์สิน มีรายได้เพิ่มขึ้น

ทุนมนุษย์เพื่อชีวิต คือ สุขภาพ ทั้งสุขภาพกายและจิต และความสัมพันธ์กับผู้อื่น

ทุนมนุษย์เพื่อการเปลี่ยนผ่าน คือ การรู้จักตัวเอง, เปิดกว้างต่อสิ่งใหม่ และสร้างเครือข่ายคนหลากหลาย

“มีสองปัจจัย กำหนดผลตอบแทนการลงทุนในทุนมนุษย์ คือ หนึ่ง ในโลก Technology Disruption ทักษะและความรู้จะล้าสมัยเร็วขึ้น และ สอง เมื่อเราอายุยืนยาวขึ้น เราก็มีเวลาเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากการลงทุนที่เราลงทุนมากขึ้น เพราะฉะนั้นการลงทุน ต้องเลือกลงทุนในความรู้ และทักษะให้ถูกประเภท เป็นความรู้ที่ถูก Disrupt ได้ช้า และเก็บเกี่ยวได้ยาว”

TDRI

 

ความท้าทายที่หก : การบริหารความขัดแย้งแห่งช่วงวัย

การเป็นสังคมอายุยืน ย่อมประกอบด้วยคนหลายช่วงวัย แต่ละช่วงวัย มีทัศนคติ และความต้องการแตกต่างกัน เช่น

“อยากได้บำนาญ + สวัสดิการด้านสุขภาพ” กับ “สวัสดิการเด็กเล็ก” ซึ่งต่อไปสวัสดิการเด็กเล็ก จะถูกลดความสำคัญ เพราะเด็กเกิดน้อยลง

“เงินเฟ้อ” กับ “อัตราการว่างงาน” ในสังคมอายุยืน ผู้สูงอายุมีรายได้จากเงินออม ซึ่งเงินออม ถ้าเงินเฟ้อขึ้นสูง จะถูกเงินเฟ้อกัดกร่อน ขณะที่คนทำงานอยากได้ค่าจ้าง หรือผลตอบแทนดีๆ อยากมีงานทำ

“อนุรักษ์นิยม” กับ “ต้องการเปลี่ยนแปลง” เป็นความขัดแย้งด้านวิธีคิด หรือทัศนคติ คนสูงอายุ มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ขณะที่คนรุ่นใหม่ อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง

“รับนวัตกรรมใหม่” กับ “ยึดติดกับวิธีการเดิม” ในขณะที่มีคนเปิดรับนวัตกรรมใหม่เสมอ อีกด้านหนึ่ง ไม่เปิดรับ และยังคงยึดติดกับสิ่งเดิมๆ หรือวิธีการเดิมๆ

TDRI TDRI


  • 221
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ
CLOSE
CLOSE