12 มุมมองใหม่ “ผู้สูงวัย” อายุเป็นเพียงตัวเลข-ใช้เทคโนโลยีเก่ง-ช้อปออนไลน์-เรียนรู้สิ่งใหม่

  • 1K
  •  
  •  
  •  
  •  

Aging World

เป็นที่คาดการณ์ว่าระหว่างปี 1980 – 2050 (พ.ศ. 2523 – 2593) จำนวนผู้สูงวัยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน้อยหนึ่งเท่าตัว โดยในปี 2050 (พ.ศ. 2593) โลกจะมีจำนวนผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กว่า 2.1 พันล้านคน

ส่งผลให้ในอีกราว 30 ปีต่อจากนี้จะเป็นครั้งแรกที่โลกมีจำนวนคนแก่มากกว่าคนหนุ่มสาว โดย 1 ใน 5 ของประชากรโลกในปี 2050 (พ.ศ. 2593) จะเป็นผู้สูงวัย ซึ่งสถิติดังกล่าวได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ นับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ผู้สูงอายุจะครองเมืองในทุกพื้นที่ของโลก

จากการขยายตัวของกลุ่มคนสูงอายุอย่างกว้างขวางทั่วโลก เป็นที่แน่ชัดว่า Generation ที่ทรงอิทธิพลจะมีการเปลี่ยนขั้ว จาก “กลุ่ม Millennials” ที่เป็นความเชื่อเดิมๆ มาเป็น “กลุ่มผู้สูงอายุ”

กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่คุมอำนาจทางการเงินและการเมือง เป็นกลุ่มที่มีเงินเหลือเพื่อการใช้จ่าย  (Disposable Incomes) มากกว่าคนทุกกลุ่ม กลายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก สู่ “เศรษฐกิจสูงวัย” (Silver Economy) และ “เศรษฐกิจอายุวัฒน์”  (Longevity Economy) ผลักดันให้กลายเป็นภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก   ซึ่งทั่วโลกกำลังจับตาและศึกษาแนวโน้มกันอย่างกว้างขวาง

ถึงแม้คนสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่คนทั่วไป – ภาครัฐ – ภาคเอกชน ยังคงมีมุมมองต่อผู้สูงวัยแบบเดิม เช่น ไม่สนใจเทคโนโลยี ไม่ชอบเรียนรู้ ไม่ชอบสิ่งใหม่ๆ รวมถึงมองผู้สูงวัย และกำหนดตัวตนจาก “เลขอายุ” ไม่ใช่จากความชอบ ไลฟ์สไตล์ และความต้องการที่แท้จริง

“อิปซอสส์” (Ipsos) บริษัทสำรวจและวิจัยการตลาดจากฝรั่งเศส ได้เผยผลวิจัย “Getting Older – Our Aging World” ที่เผย Insights ไลฟ์สไตล์ – ความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงวัย เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับผู้บริโภคกลุ่มนี้

Aging World

 

ปี 2030 ทั่วโลกจะเข้าสู่ยุค “Super Aged Society” – ประชากรสูงวัย มากกว่าเด็กเกิดใหม่

  •  ปี 2030 จำนวนประชากรผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมี 1,400 ล้านคนทั่วโลก เป็นปีแรกของประวัติศาสตร์โลกที่จำนวนผู้สูงอายุ มากกว่าจำนวนเด็กเกิดใหม่ (0 – 9 ปี) มี 1,300 ล้านคน นั่นหมายความว่าโลกเข้าสู่ยุคสังคมสูงอายุระดับสูงสุด (Super Aged Society)

  •  ปี 2050 จำนวนประชากรผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมี 2,100 ล้านคนทั่วโลก ในขณะที่จำนวนประชากรเด็กเกิดใหม่ (0 – 9 ปี) มี 1,400 ล้านคน

  •  ประเทศไทย เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ตั้งแต่ปี 2000 ที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตรา 10%

  •  ปัจจุบันประเทศไทย มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 17 –  18% ของประชากรไทยทั้งประเทศ หรือประมาณ 11 ล้านคน

  •  ปี 2020 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ที่จำนวนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 20% 

  •  ปี 2035 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด (Super  Aged  Society) โดยมีประชากรสูงอายุถึง 30% 

ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงโดยรวมของประเทศในหลายด้าน  ทำให้หลายฝ่ายต้องเริ่มตระหนัก และหันมาให้ความสำคัญกับการเตรียมการรองรับไว้ล่วง หน้าเช่นเดียวกับความกังวลของนานาประเทศในขณะนี้

Aging World

 

ผู้สูงอายุในเอเชีย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว – แอฟริกา ผู้สูงอายุน้อยที่สุดในโลก

เมื่อแบ่งเป็นภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก พบว่า

  • การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงวัย เกิดขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศเจริญแล้ว เช่น ประเทศในยุโรป, อเมริกา

  • ในภูมิภาคเอเชีย ประชากรสูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

  • การเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย ส่งผลให้คนำทงานลดลงเรื่อยๆ เช่น ญี่ปุ่น, ยุโรป

  • แต่ภูมิภาคที่มีจำนวนผู้สูงอายุน้อยที่สุดในโลก คือ “แอฟริกา” ทำให้เวลานี้กลุ่มทุนในประเทศจีน, ยุโรป เข้าไปลงทุนในแอฟริกามากขึ้น เพราะเป็นภูมิภาคที่มีคนหนุ่มสาววัยทำงานจำนวนมาก จึงมีการคาดการณ์ว่าต่อไป “แอฟริกา” จะเป็นภูมิภาคที่ GDP เติบโตมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

  • ในประเทศไทยอัตราการมีบุตรของผู้หญิงไทย 1 คน โดยเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 1% เท่านั้น เทียบเท่ากับประเทศที่เจริญแล้ว เช่น นอร์เวย์, สวีเดน

  • ค่าเฉลี่ยการมีบุตรที่จะทำให้จำนวนเด็กเกิดใหม่เพิ่มขึ้น ให้อยู่ในจุดสมดุลระหว่างการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงวัย ผู้หญิง 1 คน ต่อการมีบุตร 2 คน

  • เมื่อประชากรวัยทำงานไม่เพียงพอ ส่งผลให้ในระยะหลังมานี้ ประเทศไทยมีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น โดยส่วนใหญ่ยังอยู่ในตลาดที่ใช้แรงงาน (Blue Collar)

  • ถ้าอัตราการเกิดของเด็กใหม่ยังคงลดลง คาดกาณณ์ว่าปี 2030 จำนวนประชากรไทยอาจหายไป 30% และในตลาดงานของไทยจะมีคนต่างชาติเข้ามาทำงานในส่วนงานอื่นๆ มากึ้น เช่น งานออฟฟิศ  

Aging World

 

สำรวจประชากรผู้สูงอายุ 60+ ทั่วโลกในปัจจุบัน และปี 2050

  •  4 ประเทศที่มีประชากรเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น, สเปน, เกาหลีใต้, โปแลนด์

  •  ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุมากที่สุดในโลก คิดเป็นสัดส่วน 33% ของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่ในปี 2050 คนสูงอายุในญี่ปุ่น จะเพิ่มขึ้นเป็น 42%

  •  เกาหลีใต้ สัดส่วนผู้สูงอายุ เพิ่มขึ้นมาเป็น 42%

สิ่งที่น่ากลัวของสังคมผู้สูงอายุในเกาหลีใต้ คือ เป็นประเทศที่ผู้สูงอายุไม่มีเงิน เพราะพบว่าผู้สูงอายุของเกาหลีไม่มีรายได้ค่อนข้างเยอะ ต้องอาศัยในชุมชนแออัด ขณะเดียวกันมีผู้สูงอายุที่เป็นผู้หญิงบางคน ต้องตัดสินใจขายบริการทางเพศ เพื่อความอยู่รอด

และเมื่อเกาหลีใต้มีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กลายเป็นสังคมมีความเหลือมล้ำทางรายได้จะเพิ่มสูงขึ้น

ประเทศเหล่านี้ เป็นเหมือนกระจกสะท้อนสังคมไทยว่าในอีก 20  – 30 ปีจากนี้ ประเทศไทยจะเป็นแบบไหน ?!?

Aging World

 

ลบภาพจำเกี่ยวกับ “ผู้สูงวัย” เดิมๆ เมื่ออายุไม่ได้ชี้วัดตัวตนที่แท้จริง

ถึงแม้จำนวนคนสูงวัยมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว คนทั่วไปรวมถึงภาครัฐและเอกชนยังคงมีมุมมองต่อผู้สูงวัยแบบเดิม ไม่ว่าจะเป็นการที่คิดว่าผู้สูงวัยไม่สนใจเทคโนโลยี ไม่ชอบเรียนรู้ ไม่ชอบสิ่งใหม่ๆ รวมถึงมองผู้สูงวัย และกำหนดตัวตนของผู้สูงวัยจาก “เลขอายุ” ไม่ใช่จากความชอบ ไลฟ์สไตล์ หรือความต้องการที่แท้จริง ทำให้ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับผู้สูงวัย

ภาพจำ หรือมุมมองที่คนส่วนใหญ่ทั่วโลกยังมอง “ผู้สูงวัย” ในปัจจุบัน คือ

  • ผู้สูงอายุไม่ค่อยชอบปรับตัว ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

  •  ไม่ชอบใช้เทคโนโลยี

  •  ทำความผิดพลาดบ่อย

  •  ชอบอยู่บ้าน ไม่ชอบลองอะไรใหม่ๆ

แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ผู้สูงวัย” เป็นเช่นนั้นจริงหรือ ?!? มาเปิด 12 มุมมองใหม่เกี่ยวกับ “ผู้สูงวัย” ในปัจจุบัน

Aging World

 

1. นิยาม “ความแก่” ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ – อายุ 60 ไม่ได้แปลว่าแก่

การใช้อายุเป็นเกณฑ์ อาจจะทำให้ความเข้าใจต่อผู้สูงวัยคลาดเคลื่อน ซึ่งผลพวงจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้คนมีความเชื่อว่า 60 คืออายุที่แปลว่า “แก่”

อย่างไรก็ตาม “อายุเป็นเพียงตัวเลข” เพราะในความเป็นจริงแล้วคนบนโลกยุคปัจจุบันมองว่า ผู้สูงวัยจะเริ่มต้นที่อายุ 66 ปีโดยเฉลี่ย ไม่ใช่ 60 อย่างที่เข้าใจกัน

  •  ประเทศสเปนมองว่าผู้สูงวัยเริ่มต้นที่อายุ 70

  •  ในขณะที่คนซาอุดิอาระเบียชี้ 49 ปีก็แก่แล้ว

  •  ประเทศไทย คนไทยเรายังมองว่า 60 เป็นอายุเริ่มต้นของผู้สูงวัย ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอย่างมีนัยยะสำคัญ

ถึงแม้คนบนโลกจะมองอายุกับคำว่าสูงวัยต่างกัน ผู้สูงอายุบนโลกกลับเห็นด้วยว่าโดยเฉลี่ยแล้วพวกเขาจะรู้สึกเด็กกว่าอายุจริงถึง 9 ปี ทำให้ ‘ตัวเลข’ ไม่ใช่มาตรวัดที่แม่นยำอีกต่อไป

Aging World

 

2. อย่าเอา “อายุ” ชี้วัดตัวตน แต่ให้ใช้ “ไลฟ์สไตล์” และ “ความต้องการที่แท้จริง” ทำความเข้าใจผู้สูงวัย

การกำหนดผู้สูงวัยจาก “ตัวเลขอายุ”  และภาพจำเดิมๆ ที่ว่าผู้สูงวัยไม่สนใจเทคโนโลยี  ไม่ชอบเรียนรู้  และไม่ชอบสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักการตลาด กว่า 79% ยังใช้ “อายุ” เป็นตัวชี้วัดในการกำหนดตัวตนของผู้สูงวัย แทนที่จะศึกษาจากความชอบ ไลฟ์สไตล์ หรือความต้องการที่แท้จริง

ความเข้าใจผิดเหล่านี้  ทำให้เราไม่รู้จักผู้สูงอายุได้อย่างแท้จริง  ไม่เข้าใจและเข้าไม่ถึงความรู้สึกนึกคิด  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความต้องการของกลุ่มผู้สูงอายุ   ทำให้เราประเมินสถานการณ์ผิดพลาดและวางแผนต่างๆ ไม่ถูกทิศทาง

Aging World

  •  82% ของคนฝรั่งเศสอายุ 55+ มองว่ารีเทล หรือห้างร้านฯ ไม่ได้เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของเขา

  •  88% เห็นด้วย แบรนด์ควรโฟกัสความต้องการ – ความสนใจของผู้บริโภค ไม่ใช่ดูกันที่อายุอย่างเดียว

  •  4 ใน 5 ของคนฝรั่งเศส บอกว่าแบรนด์ควรพัฒนาสินค้า-บริการ ที่ไม่จำเป็นต้องมาบอกว่าสินค้า-บริการนั้นๆ สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ แต่ควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการ เช่น ตอบความต้องการด้านการท่องเที่ยว ตอบโจทย์ด้านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ตอบสนองความสะดวกสบาย เป็นต้น

Aging World

 

3. ผู้สูงอายุใช้อินเทอร์เน็ต – เป็นนักช้อปออนไลน์ตัวยง – “ใช้เทคโนโลยี” ไม่น้อยไปกว่าคน Millennials

Aging World

  •  กราฟข้างต้นชี้ให้เห็นว่าในปี 2002 ผู้บริโภคทุกช่วงวัย ตั้งแต่อายุ 30 –  75 ปี ยังไม่ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย

 จากนั้นในแต่ละปี การใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2017 พบว่า “ผู้สูงอายุ” เป็นหนึ่งในคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตมากสุด

Aging World

  •  ปี 2018 พบว่าผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศไทยกว่า 1.2 ล้านคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ใช้ออนไลน์ เติบโตจากปี 2008 ถึง 100% ที่ในเวลานั้นอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตในกลุ่มผู้สูงวัยมีแค่เพียง 1% เท่านั้น

  •  ตัวอย่างชัดเจน และใกล้ตัวทุกคน คือ ผู้สูงอายุพูดคุยกับครอบครัว – เพื่อนผ่าน Messenger Application

  •  มากกว่า 88% ของผู้สูงอายุในฝรั่งเศสใช้อินเทอร์เน็ต ตรงกันข้ามกับปี 1995 ที่มีเพียง 2% เท่านั้น

  •  31% ของผู้สูงอายุ (อายุ 70 ปีขึ้นไป) ในอังกฤษ ใช้สมาร์ทโฟน

  •  87% ของผู้สูงอายุในชิลี (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ใช้โทรศัพท์มือถือ และ 42% ใช้ WhatsApp – 30% ใช้ Facebook

  •  ในประเทศฝรั่งเศส และแคนาดา ผู้สูงอายุใช้เทคโนโลยี “Telemedical” เพื่อเข้าถึงสุขภาพ และบริการทางการแพทย์ โดยเทคโนโลยีนี้จะส่งสัญญาณโดยตรงไปที่โรงพยาบาล และแพทย์

ปัจจุบัน และอนาคตเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ “Connected Healthcare” จะกลายเป็นเทคโนโลยีช่วยผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย จะเดินไปในทิศทางนี้เช่นกัน  

มูลค่าการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นบนออนไลน์ เดิมทีถูกมองว่ามาจาก “คนรุ่นใหม่” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่แค่มาจากคนรุ่นใหม่อย่างเดียว ยังมาจาก “กลุ่มผู้สูงวัย” ซึ่งเป็นนักช้อปออนไลน์กลุ่มใหญ่อีกด้วย เนื่องจากมีเวลาว่าง และมีเงิน

  •  43% ของผู้สูงวัยในอังกฤษ สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ทำให้การซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นกิจกรรมหลักของผู้สูงวัย

  •  ในอนาคตอันใกล้นี้ เม็ดเงินการใช้จ่ายบนออนไลน์ของประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค จะมาจากผู้สูงวัยเป็นหลักเช่นเดียวกัน

 เพราะฉะนั้นความเข้าใจ หรือความเชื่อที่ว่าผู้สูงอายุไม่ยอมปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ใช่เทคโนโลยี – ไม่ใช้อินเทอร์เน็ต จึงเป็นความเข้าเชื่อที่ไม่ถูกต้องอีกต่อไป 

Aging World

 

4. อายุไม่ใช่อุปสรรคการเริ่มต้นชีวิตใหม่ – เรียนรู้สิ่งใหม่

จากมุมมองเดิมที่คนส่วนใหญ่มีต่อผู้สูงอายุ มาดูตัวอย่าง Insights จริงของผู้สูงอายุในปัจจุบัน

Insights ของผู้สูงอายุ 65 ปีในประเทศฝรั่งเศส

  •  70% ชอบลองอะไรใหม่ๆ

  •  60% รู้สึกว่าตัวเองเด็กกว่าอายุ

การรู้สึกว่าตัวเองเด็กกว่าอายุจริง เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุทั่วโลก รวมทั้งไทย

  •  35% ของผู้สูงวัยในฝรั่งเศสมองว่าช่วงสูงวัย เป็นช่วงเวลาที่ดี

  •  1 ใน 3 ของผู้สูงอายุต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ เพราะเขามองว่าที่ผ่านมาชีวิตของเขาถูกล็อคด้วยการทำงาน การเลี้ยงลูก ไม่สามารถทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการได้

Insights ผู้สูงอายุในประเทศไทย

  •  64% ของผู้สูงอายุ บอกว่ารู้สึกว่าตัวเขาเองเด็กกว่าอายุจริง

  •  75% ต้องการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ

  •  46% มองว่าช่วงสูงวัย เป็นช่วงที่ดี เป็นช่วงที่ดี

  •  47% ของผู้สูงวัยไทย ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่

เพราะฉะนั้นภาพที่สังคมมองว่าผู้สูงอายุไม่ต้องการเรียนรู้ – ต้องการอยู่บ้าน – ชอบอยู่บ้านเลี้ยงหลาน – ไม่ต้องการออกไปค้นพบสิ่งใหม่บนโลกใบนี้อีกแล้ว เป็นความเชื่อที่ไม่สะท้อนความเป็นจริงของผู้สูงวัยในปัจจุบัน

ความเป็นจริงของผู้สูงอายุในปัจจุบัน คือ

  •  ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังเกษียณ

  •  ไม่ต้องการอยู่กับบ้าน

  •  ต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่

  •  ต้องการท่องเที่ยว

  •  ต้องการมีความรักอีกครั้ง กลับไปโรแมนติกอีกครั้ง  

Aging World

5. ผู้สูงวัย มีอำนาจทางการเงิน และโอกาสแห่งอนาคต

จากความต้องการของผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนไปจากเมื่อก่อน ตลาดผู้สูงวัยได้เพิ่มความซับซ้อนละมีมูลค่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

  • ในประเทศอังกฤษเม็ดเงิน 320,000  ล้านปอนด์ ซึ่งนับเป็น 47%  ของมูลค่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหมดมาจากกลุ่มผู้สูงอายุ

  •  ในฝรั่งเศสผู้สูงวัยมีเงินที่เตรียมไว้ใช้ท่องเที่ยวถึง 22,000 ล้านยูโร

  •  ในญี่ปุ่นเองผู้สูงอายุยังเป็นเจ้าของทรัพย์สินถึง 1.439 พันล้านล้านเยน ซึ่งนับเป็น 80% ของตลาดการเงินทั้งหมด

  •  ในปี 2032 ที่อเมริกา “เศรษฐกิจอายุวัฒน์” (Longevity Economy) คือ มูลค่าตลาดที่รวมทั้งสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงวัยนั้นจะมีสัดส่วนที่ใหญ่กว่าทุกภาคส่วนของตลาดอื่นรวมกัน

Aging World

 

6. คนสูงอายุ เป็นผู้ประกอบการธุรกิจมากขึ้น (Entrepreneurial Longevity)

– ในอเมริกา ผู้สูงวัยเริ่มต้นเป็นเจ้าของกิจการมากขึ้น โดยในปี 1996 พบว่า 14% ของคนอายุ 55 – 64 ปี เริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง ขณะที่ปี 2012 ขยับขึ้นมาเป็น 23%

– การใช้จ่ายของผู้สูงอายุ 50 ปีขึ้นไปในอเมริกา พบว่าใช้จ่ายไปกับ “การศึกษา” มากสุด สะท้อนให้เห็นว่าคนสูงวัย ยังคงต้องการเรียนรู้เสมอ

Aging World

 

7. ไลฟ์สไตล์ – กิจกรรม – พฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของผู้สูงวัยคนไทย

กิจกรรมยอดฮิตติดอันดับที่ผู้สูงอายุชาวไทยชื่นชอบตามลำดับ  คือ

  • การออกกำลังกาย (56%) ไม่เพียงออกกำลังกายในสวนสาธารณะ แต่ยังรวมถึงออกกำลังกายในฟิตเนสเซ็นเตอร์

  • เดินทางท่องเที่ยว (49%)

  • การเพาะปลูก (34%)

  • ชอบสังคมเยี่ยมญาติ / เพื่อนสนิทมิตรสหาย (27%)

  • การเดินออกกำลังกาย (27%)

  • ร่วมกิจกรรมชุมชน (22%)

  • ช้อปปิ้ง (20%)

  • เรียนรู้สิ่งใหม่ (12%)

  • อาสาสมัคร (10%)

  • ใช้ Social Media (7%)

  • เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ (7%)

  • โยคะ (7%)

  • เลี้ยงสัตว์ (5%)

  • ลงเรียนคอร์สออนไลน์ (5%)

  • เล่นบอร์ดเกม (5%)

  • เรียนรู้เครื่องดนตรีใหม่ๆ (2%)

  • ไปดูภาพยนตร์ (2%)

ภาพรวมไลฟ์สไตล์ – กิจกรรม และการใช้จ่ายของผู้สูงอายุในไทยปัจจุบันเปลี่ยนไป จากเดิมที่เน้นเก็บเงิน แต่ทุกวันนี้ ผู้สูงอายุใช้เงิน เพื่อ enjoy ชีวิตเพิ่มขึ้น ดังนั้นเมื่อมี Demand ดังกล่าวเกิดขึ้น ทำให้เม็ดเงินในตลาดนั้นๆ เติบโต

Aging World

 

8. อิทธิพลของผู้สูงวัยในโลกการเมือง

ไม่เพียงสัดส่วนของผู้สูงวัยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  แต่ผู้สูงวัยมักจะเป็นกลุ่มคนที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือก ตั้งมากกว่ากลุ่มเด็กหรือกลุ่มวัยรุ่น ทำให้อิทธิพลของผู้สูงวัยในเวทีการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือความต้องการที่แตกต่างกันของกลุ่มคนแต่ละช่วงอายุ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้เยาว์อาจจะไม่ได้มีความปรารถนาในทิศทางเดียวกัน

รัฐบาลควรจะใช้จ่ายเพื่อดูแลผู้สูงวัยมากกว่าการลงทุนกับอนาคตของเด็กในชาติหรือไม่?

โดยในปัจจุบัน 3 ใน 10 ของประชากรโลกมองว่าผู้สูงวัยมีอิทธิพลต่อการเมืองมากเกินควร ในขณะที่ 1 ใน 3 ของคนไทยซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยโลกอย่างชัดเจนเห็นด้วยว่าผู้สูงวัยมีอิทธิพลต่อการเมืองมากไปแล้ว

Aging World

 

9. มุมมองคนไทย vs. คนทั่วโลก ที่มีต่อ “ผู้สูงอายุ”

มุมมองของคนไทย ที่มีต่อผู้สูงอายุ

  • น่านับถือ (72%)

  • ใจดี (55%)

  • มีศีลธรรม – จริยธรม (48%)

  • มีการศึกษา (47%)

  • มีความสุข (41%)

  • มีความรู้เกี่ยวกับชุมชน (35%)

  • ฉลาด (17%)

  • เป็นศูนย์กลางในการทำงาน (11%)

  • มีฐานะ / รวย (10%)

  • มีความน่าเคารพนับถือ (7%)

  • เศร้าหมอง (6%)

  • ทำงานหนัก (5%)

มุมมองคนทั่วโลก ที่มีต่อผู้สูงอายุ

  • ฉลาด (35%)

  • เจ็บป่วยง่าย – อ่อนแอ (32%)

  • โดดเดี่ยว (30%)

  • มีความน่าเคารพ (25%)

  • ไม่เป็นธรรม (23%)

  • น่านับถือ (23%)

  • ใจดี (21%)

  • เศร้าหมอง (15%)

  • ยากจน (13%)

  • มีความสุข (12%)

  • มีการศึกษา (12%)

  • ทำงานหนัก (11%)

จากมุมมองดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าในประเทศไทย ภาพลักษณ์ของผู้สูงอายุ ดีกว่ามุมมองโลก

Aging World 

10. ล้วงลึกความต้องการผู้สูงวัยไทย – ทั่วโลก

ความต้องการของผู้สูงอายุไทย

  • ต้องการความสงบ (41%) ส่งผลให้ธุรกิจสปา, Wellness, กิจกรรมนั่งสมาธิเติบโตขึ้น

  • ต้องการใช้เวลาไปกับงานอดิเรก / พักผ่อน (37%) พบว่าผู้สูงอายุไทยชอบถ่ายรูป ไม่ต่างจากคนรุ่นใหม่ โดยคนสูงวัยจะไปร้านสวยๆ แล้วถ่ายรูป ทำให้กิจกรรมถ่ายรูปเติบโตเร็ว

  • ใช้เวลากับเพื่อน / ครอบครัว (30%)

  • หาประสบการณ์ใหม่ๆ (24%)

  • ใช้เวลาท่องเที่ยว (24%)

  • มีเวลาดูแลบ้าน และทำสวน (22%)

  • ใช้ชีวิตแบบเนิบช้า (20%)

  • มีความมั่นคงทางการเงิน (16%)

  • ลดความกดดันชีวิต (15%)

  • มีความจำดี (15%)

  • ต้องการช่วยเหลือผู้อื่น (14%)

  • มีเวลามากขึ้นที่จะรู้จักชุมชนท้องถิ่น (11%)

Aging World

ความต้องการของผู้สูงอายุทั่วโลก

  • ใช้เวลากับเพื่อน / ครอบครัว (36%)

  • มีเวลาทำงานอดิเรก (32%)

  • มีเวลาท่องเที่ยว หรือพักผ่อน (26%)

  • เลิกทำงาน (26%)

  • มีความมั่นคงทางการเงิน (20%)

  • ใช้ชีวิตแบบเนิบช้า (20%)

  • ลดความกดดันในชีวิต (17%)

  • ฉลาดขึ้น (14%)

  • ต้องการความสงบในชีวิต (13%)

  • มีเวลาดูแลบ้าน และทำสวน (11%)

Aging World

 

11. “การเงิน – สุขภาพ” คือสองสิ่งที่ผู้สูงอายุทั่วโลกวิตกกังวลมากสุด

สิ่งที่ผู้สูงอายุทั่วโลกวิตกกังวลมากที่สุด คือ  เรื่องเงิน และ สุขภาพ  (Top Worries – Money & Health)  และสิ่งที่ผู้สูงอายุชาวไทยมีความกังวลใจซึ่งก็มีความใกล้เคียงกัน   

โดยสามารถเรียงลำดับตามความวิตกกังวลของกลุ่มผู้สูงวัยของโลก คือ

  • กลัวมีเงินไม่พอต่อการดำรงชีวิต (30%)

  • กลัวมีปัญหาการเคลื่อนไหวทางร่างกาย (25%)

  • เสียความทรงจำ (24%)

  • ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่เคยทำได้ (22%)

  • การจากไปของคนในครอบครัว  ญาติ และเพื่อนฝูง (20%)

  • ความเจ็บป่วย (20%)

  • ถูกทิ้งให้เปล่าเปลี่ยว-เหงา-เศร้า (19%)

  • ไม่มีอิสระ (18%)

  • ตาย (16%)

  • หูตึง / ตามองไม่เห็น (13%)   

Aging World

ส่วนความกังวลใจของผู้สูงอายุคนไทยเมื่อถึงวัยชรา  เรียงตามลำดับได้ดังนี้   

  • ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ที่เคยทำได้ (51%)     

  • เจ็บป่วย (41%)   

  • ความเคลื่อนไหวทางร่างกาย  (34%)

  • มีเงินไม่พอต่อการดำรงชีวิต (32%)

  • เสียความทรงจำ (27%)   

  • ญาติและเพื่อนฝูงค่อยๆ จากไป (20%)

  • สูญเสียสายตาและ การได้ยิน (15%)

  • ถูกทิ้งให้ล้าหลังทางเทคโนโลยี (10%)

  • ผมหงอกและศีรษะล้าน (10%)   

  • เบื่อหน่าย (10%)

  • ถูกทิ้งให้โดดเดี่ยว (10%)

  • ไม่ได้รับการดูแลเอาใจ (7%)

เป็นที่น่าสังเกตว่า  ปัจจุบันผู้สูงอายุคนไทยมี 50% เท่านั้นที่มีประกันภัยด้านสุขภาพ และอีก  18% เป็นการทำประกันบำนาญ

ด้วยเหตุนี้เอง มนุษย์ทุกคน ทุกเจน ไม่แบ่งแยกเฉพาะผู้สูงวัย  ย่อมอยากให้ตนเองมีสุขภาพดีไปนานๆ  โดยสถิติผู้สูงวัย 6 ใน 10 คนทั่วโลก คาดหวังให้ตัวเองมีสุขภาพดี และ มีร่างกายแข็งแรงยามแก่ 

Aging World

ส่วนคนสูงอายุชาวไทยมีการเตรียมตัวเพื่อการเป็นคนสูงวัยที่มีคุณภาพ เรียงตามลำดับ ดังนี้

  • ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ  (79%)

  • ทานอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ  (72%)

  • เก็บออมเพื่อให้มีเงินพอใช้หลังเกษียณ  (59%)

  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอร์  (37%)

  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่  (33%) 

  • สร้างทักษะกับงานอดิเรกที่สนใจ  (30%)

  • มีบทบาทในชุมชน  (29%)

  • พบปะเพื่อนฝูงและอยู่ในแวดวงเพื่อนที่ดี   (28%)

  • รักษาความสัมพันธ์อันดีกับหุ้นส่วน  (22%)

  • ทำกิจกรรมด้านกีฬาเป็นประจำ  (22%) 

  • ดูแลปรับปรุงที่อยู่อาศัย   (22%)

  • ใช้วีลแชร์ด้วยความชำนาญ  (22%) 

  • หาที่อยู่อาศัยที่เหมาะกับคนสูงอายุ  (8%)

  • อื่นๆ (3%)

Aging World

 

12. ภัยมืดที่แฝงตัวมากับสังคมผู้สูงวัย “ยิ่งแก่ ยิ่งจน” – คนมิลเลนเนียล มองผู้สูงวัยเป็นภาระลูกหลาน

ถึงแม้ตลาดผู้สูงอายุจะสร้างโอกาสใหม่ๆขึ้น ในขณะเดียวกันจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นก็ก่อให้เกิดปัญหาและความเสี่ยงในหลายๆ ด้าน ทั้งจากมุมมองของปัจเจกบุคคล และมุมมองทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

ในส่วนบุคคล “ผู้สูงวัย” มีความกังวลเป็นพิเศษใน 2 เรื่องหลัก คือเรื่องการเงิน และ สุขภาพ (รายละเอียดในข้อ 11)

ทำให้ในประเทศไทย เรา 79% ของคนไทยวางแผนที่จะทำงานต่อหลังอายุเกษียณ เพราะกลัวว่าจะมีเงินไม่พอในช่วงวัยชรา ซึ่งสูงกว่า 41% ในประเทศแคนนาดาที่มีสวัสดิการจากรัฐที่ดีกว่าอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตามตัวเลขตรงนี้เพิ่มสูงกว่า แต่ก่อนที่ผู้สูงวัยมักจะตัดสินใจพักผ่อนหลังอายุเกษียณที่ 60 ปี

ขณะที่ด้านหนึ่ง “กลุ่มผู้สูงวัย” เป็นกลุ่มที่มีเงิน และกำลังซื้อสูงกว่าในหลายกลุ่มอายุ แต่ในอีกด้านหนึ่ง มีจำนวนผู้สูงวัยจำนวนมากที่เข้าข่าย “ยิ่งแก่ ยิ่งจน” ซึ่งสังคมผู้สูงวัยจะทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ทวีคูณขึ้นในอนาคตอันใกล้

อิปซอสส์ ชี้ว่าภาคสังคม ภาคธุรกิจ และรัฐบาลต้องปรับตัว เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่า 11 ล้านคน ไม่เพียงที่คนชราจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่จากการเปลี่ยนแปลงทางลักษณะสังคมและครอบครัว ทำให้มีคนแก่จำนวนมากที่อาศัยอยู่เพียงลำพัง

Aging World

  •  ในประเทศจีนและอังกฤษ 1 ใน 3 ของครัวเรือนทั้งหมดคือ คนสูงวัยที่อาศัยอยู่ด้วยตัวคนเดียว 

  •  นอกจากนั้นเกิดความเปลี่ยนแปลงของลักษณะประชากรที่เด็ก และคนวัยทำงานมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ

  •  ความเชื่อและค่านิยมที่เปลี่ยนไป ทำให้มีเพียง 57% ของประชากรโลกที่เห็นด้วยว่าการดูแลผู้สูงวัยเป็นหน้าที่ของลูกหลาน

  •  สำหรับประเทศไทย พบว่า 54% ของคนไทยเห็นด้วยว่าการดูแลผู้สูงวัยเป็นหน้าที่ของลูกหลาน และมี 18% ที่มองว่าการดูแลผู้สูงวัยเป็นภาระของลูกหลาน ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มว่าคน Millennials จะมีมุมมองเรื่องการเลี้ยงดูผู้สูงอายุ เป็นภาระของลูกหลานมากขึ้น

  •  ประเทศญี่ปุ่น 23% ของคนญี่ปุ่นมองว่าการดูแลผู้สูงวัยเป็นหน้าที่ของลูกหลาน เพราะค่านิยมคนญี่ปุ่น ไม่ต้องการเป็นภาระให้กับคนอื่น

  •  ประเทศจีน 82% เห็นด้วยว่าการดูแลผู้สูงวัยเป็นหน้าที่ของลูกหลาน

ถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า สังคมผู้สูงวัย นำมาซึ่งโอกาสอันมหาศาล แต่ในขณะเดียวกันก็มาพร้อมกับคลื่นความเสี่ยงที่จะถาโถมมาอย่างไม่หยุดยั้ง ความเข้าใจอย่างสุดซึ้ง และการเตรียมพร้อมอย่างเคร่งครัดเท่านั้นที่จะสร้างโอกาสทางธุรกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ และอุปถัมภ์การปรองดองของสังคมและคนในแต่ละช่วงอายุได้

 


  • 1K
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ