ปั้นแบรนด์อย่างไรให้ถูกจริต เมื่อสถานะหัวใจ มีผลต่อความรู้สึก

  • 14
  •  
  •  
  •  
  •  

การเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับต้น ๆ ของการทำการตลาด ดังนั้นนักการตลาดจำเป็นต้องรู้จักผู้บริโภคของตนเองอย่างลึกซึ้ง และเข้าใจพวกเขาอย่างถ่องแท้ เพื่อให้แบรนด์สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกลายเป็นแบรนด์ที่โดดเด่นในใจพวกเขาได้ในที่สุด

VMLY&R เอเยนซีชั้นนำได้ทำการวิจัยความรู้สึกของคนไทยถึงที่มีต่อแบรนด์ระหว่างกลุ่มคนโสดและกลุ่มคนมีครอบครัว อายุ 18-35 ปี ถึงความชื่นชอบต่อแบรนด์ในประเทศไทยปี 2018 ผ่าน BrandAsset Valuator หรือ BAV เครื่องมือที่ใช้วัดความรู้สึกผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ โดยโฟกัสไปในประเด็นความสัมพันธ์ของคน เพราะเชื่อว่าคนโสดและคนที่แต่งงานแล้วอาจจะมีจริตในการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการที่แตกต่างกัน รวมถึงความชอบที่มีต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่แตกต่างกัน

 

หากเจาะลึกลงไปใน ‘กลุ่มผู้หญิงโสด’ และ ‘กลุ่มผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว’ จะเห็นได้ถึงความแตกต่างในเรื่องของมุมมองของทั้งสองกลุ่มที่มีต่อแบรนด์ โดย ‘กลุ่มผู้หญิงโสด’ มีแนวโน้มที่จะให้คุณค่ากับแบรนด์ที่มีความเป็นที่นิยม อยู่ในกระแสสังคม และทำสิ่งใหม่ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง

เช่น Lazada ซึ่งเป็นแบรนด์ที่โดนใจกลุ่มผู้หญิงโสด เนื่องจากในปีที่ผ่าน ๆ มา Lazada มีการโปรโมตทำมาร์เก็ตติ้งอย่างหนักหน่วงทำให้แบรนด์ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ อีกส่วนเป็นผลจากการบุกตลาดด้านแฟชั่น ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ต่างๆ บวกกับการพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้รองรับทุก Device และปรับปรุงให้ใช้งานง่ายอยู่เสมอ มีการเชื่อมต่อของแต่ละ Platform ที่แข็งแรง ทำให้ Lazada สามารถอยู่ในทุกๆ โมเม้นต์ของสาวๆ และครองใจสาวโสดกลุ่มนี้ได้ในที่สุด

ขณะที่ ‘กลุ่มผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว’ มองหาแบรนด์ที่มีความโดดเด่นในเรื่องของคุณภาพ ประสิทธิภาพของสินค้าเป็นหลัก เพราะสำหรับกลุ่มคุณแม่บ้านจะต้องการสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเธอและครอบครัวของพวกเธอด้วย

ตัวอย่างเช่น ดอยคำ แบรนด์เครื่องดื่มที่มีการเติบโตต่อเนื่อง ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกเครื่องดื่มที่กลุ่มแม่บ้านมองหา และยังสื่อสารกับผู้บริโภคด้วยรูปแบบใหม่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แสดงถึงความจริงใจและชัดเจน จนทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้รู้สึกได้ถึงคุณค่าของแบรนด์ที่มีคุณภาพ แตกต่างจากแบรนด์น้ำผลไม้ยี่ห้ออื่น ๆ

หรือแบรนด์รถยนต์ยักษ์ใหญ่อย่าง Toyota ซึ่งเป็นแบรนด์ที่คงเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะเรื่องความคุ้มค่า มีรถยนต์หลากหลายประเภทออกมาเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นรถขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ รวมทั้งการควบคุมคุณภาพของสินค้าและบริการอย่างคงเส้นคงวา ทำให้ Toyota เป็นแบรนด์ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ในตลาดประเทศไทย และครองใจกลุ่มแม่บ้านมาอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนของกลุ่มผู้ชาย ‘กลุ่มหนุ่มโสด’ มีแนวโน้มที่จะมองหาแบรนด์ที่ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้พวกเขา ยกตัวอย่าง Mercedes- Benz แบรนด์รถหรูที่สามารถเปลี่ยนภาพจำของแบรนด์ได้สำเร็จในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กับความพยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์จากเดิมที่ดูเป็นชายสูงอายุผู้มั่งคั่ง ให้ดูเป็นชายหนุ่มที่สมาร์ท พร้อมปรับรูปลักษณ์ของรถยนต์ให้มีความแฟชั่นมากขึ้นกว่าเดิม อีกทั้งยังมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเอานวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ (Hybrid Technology) , เพิ่มไลน์รถรุ่นใหม่เพื่อจับกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่างรุ่น GLA, GLC และGLE ที่จับกลุ่มไลฟ์สไตล์คนเมือง ฯลฯ

ส่วน ‘กลุ่มคุณพ่อบ้าน’ นั้น มักจะมองหาแบรนด์ที่สามารถไว้วางใจได้ มีความคุ้มค่าและยังคงมีความหรูหราในเวลาเดียวกัน เพื่อแสดงออกถึงความมั่นคงของพวกเขา ถ้าเปรียบเทียบเป็นรถยนต์ แบรนด์ที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มพ่อบ้านคือ Lexus แบรนด์สัญชาติญี่ปุ่นที่สามารถตีตลาดรถหรูได้อย่างสวยงาม จุดแข็งสำคัญที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จคือหัวใจของการบริการ ทำให้ลูกค้ารู้สึกได้ถึงความ Best in class คือมีความเป็นรถหรูแต่ยังคุ้มค่าที่จ่ายเงินซื้อ จึงไม่แปลกใจที่เหล่าพ่อบ้านหลายๆ คนมองว่าการลงทุนซื้อรถกับ Lexus เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

ผลวิจัยครั้งนี้ ยังระบุถึงคุณลักษณะของแบรนด์ที่ทั้งคนโสดและคนมีครอบครัวมองหา ได้แก่

 

 

91% ความเป็นผู้นำ ซึ่งการเป็นผู้นำอาจหมายถึงยอดขาย จำนวนผู้ใช้ หรือการที่แบรนด์ทำในสิ่งที่เหนือกว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ เป็นต้น

88% ความทันสมัย ผู้บริโภคชื่นชอบแบรนด์ที่ทำให้พวกเขาไม่ตกกระแส ปรับภาพลักษณ์ให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด

86% นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ เพราะนวัตกรรมที่เป็นตัวช่วยให้ผู้บริโภครู้สึกชีวิตง่ายขึ้น สามารถช่วยแก้ไขปัญหาให้ รวมถึงวิธีการ และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามาเป็นส่วนเติมเต็มให้แบรนด์แข็งแกร่งในใจผู้บริโภค


  • 14
  •  
  •  
  •  
  •