ทุกวันนี้ใครๆ ก็อยากเป็นเจ้าของกิจการ แต่หัวใจสำคัญของการเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง ไม่ใช่มีเพียง Passion ทำด้วยใจรักเท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กับ คือ ทิศทางเศรษฐกิจ เทรนด์ธุรกิจ ความเปลี่ยนแปลงของสังคม-เทคโนโลยี-วิถีชีวิตของผู้คน และพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อดูว่ากลุ่มธุรกิจประเภทอะไร ที่จะตอบโจทย์ทั้งในวันนี้ และต่อเนื่องถึงในวันข้างหน้า
“K SME” ธนาคารกสิกรไทย เผย 5 กลุ่มธุรกิจมาแรง ปี 2019 รับแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงของสังคม และพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งในวันนี้ และในอนาคต มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง ?!?
1. “ผู้สูงอายุ” ฐานลูกค้ารายใหญ่ ขยายตัวสูงลิ่่ว
United Nations Department of Economic and Social Affairs (UNDESA) คาดการณ์ว่าในปี 2030 จำนวนประชากรผู้สูงอายุทั่วโลก จะมี 1,402 ล้านคน หรือคิดเป็น 16.5% ของประชากรโลก เพิ่มขึ้นจากปี 2015 ที่มี 901 ล้านคน และในปี 2050 จำนวนประชากรผู้สูงอายุทั่วโลก จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,092 ล้านคน หรือคิดเป็น 21.5% ของประชากรโลก
ขณะที่ “ประเทศไทย” พบว่าอีก 3 ปีข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (Aged Society) นั่นคือ ประชากรกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปมีสัดส่วน 20% ของประชากรทั้งประเทศ จากปัจจุบันไทยกำลังอยู่ในสเต็ป “สังคมผู้สูงวัย” (Aging Society) ที่ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วน 10% ของประชากรทั้งประเทศ
จากนั้นปี 2574 ประเทศไทยขยับเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างเต็มที่” (Super-Aged Society) หมายความว่า ประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ
แสดงให้เห็นว่าต่อไป “ผู้บริโภคกลุ่มผู้สูงวัย” จะเป็นหนึ่งในฐานใหญ่ของประเทศ เพราะฉะนั้นการพัฒนาสินค้า และบริการสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ จึงเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับ SME ไทยที่กำลังอยากเริ่มธุรกิจ
หรือแม้แต่สินค้าทั่วไปก็ควรปรับเปลี่ยน “แพ็กเกจจิ้ง” ให้รองรับผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวมากขึ้น เช่น เปิดง่าย และมีฉลากตัวหนังสือใหญ่-ให้ข้อมูลชัดเจน และสถานที่ให้บริการทั่วไป อาจเพิ่มที่นั่ง ทางลาด หรือสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อผู้สูงอายุมากขึ้น
การเจาะตลาดผู้สูงอายุที่มีฐานะดี ควรเน้นไปที่ความรวดเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการได้ทันใจ ส่วนกลุ่มที่ฐานะไม่สูงมาก อาจลองจับมือกับหน่วยงานที่ดูแลด้านสวัสดิการ จะช่วยเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น
2. “คนรักสัตว์” ไลฟ์สไตล์สุดฮิต เจาะกลุ่มคนเหงา
ด้วยจำนวนคนสูงอายุ คนโสด หรือคนที่ไม่มีลูก มีมากขึ้น ทำให้ “การเลี้ยงสัตว์” ไว้เป็นเพื่อน หรือเสมือนเป็นลูก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งการแชร์ภาพสัตว์เลี้ยงน่ารักผ่านทาง Social Media เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบหนึ่ง ที่ทำให้ธุรกิจสัตว์เลี้ยงเติบโต ไม่ว่าจะเป็นอาหารสัตว์ โรงพยาบาล คลินิก สปา โรงแรม โรงเรียนฝึก เสื้อผ้าและเครื่องประดับสัตว์
นอกจากนี้ “K SME” ยังเผยมูลค่า “ธุรกิจสัตว์เลี้ยง” ปี 2561 อยู่ที่ 3.22 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ธุรกิจอาหารสัตว์ 45% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.46 หมื่นล้านบาท เป็น Category ที่มีสัดส่วนใหญ่สุดและการแข่งขันสูงสุดในตลาดธุรกิจสัตว์เลี้ยง ตามมาด้วย ธุรกิจดูแลสุขภาพสัตว์ มีสัดส่วน 32% คิดเป็นมูลค่า 1.02 หมื่นล้านบาท / ธุรกิจสินค้าอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า ของเล่น สัดส่วน 23% มูลค่า 7,370 ล้านบาท
โดย 5 ปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดสัตว์เลี้ยงเติบโต ประกอบด้วย
1. Aging Population จำนวนคนโสด และคนอายุยืนเพิ่มมากขึ้น จึงต้องการสัตว์เลี้ยงมาเติมเต็ม
2. Dual Income, No Kids (D.I.N.K) คนแต่งงานแล้ว ไม่มีบุตร หรือมีแค่คนเดียว รวมทั้งการอยู่เป็นคู่ในเพศเดียวกัน
3. Pet Humanization กลุ่มคนรักสัตว์ นิยมเลี้ยงสัตว์เสมือนลูก และเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว จึงเลือกสินค้าที่มีคุณภาพสูง
4. Pet Healthcare Improved วิวัฒนาการทางการแพทย์ดีขึ้น
5. Friendly Pet Community มีสถานที่และที่พักอาศัยสำหรับสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น
ขณะที่ประเภทสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมมากสุด พบว่าในปี 2560 สัตว์เลี้ยงที่นิยมมากที่สุด คือ สุนัข 62% รองลงมาคือ แมว 23% ซึ่งคนรักสัตว์เป็นกลุ่มคนที่พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อสัตว์เลี้ยงสุดรัก ทำให้ค่าใช้จ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยงเฉลี่ยสูงขึ้นเรื่อยๆ
3. “สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม” เทรนด์รักษ์โลกและดูแลตัวเอง
ทุกวันนี้คนไทยหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น เห็นได้จากเทรนด์การออกกำลังกาย การบริโภคอาหารปลอดสารพิษ อาหารคลีน สินค้าออร์แกนิก การใช้วัสดุจากธรรมชาติที่ย่อยสลายง่ายหรือสร้างมลพิษน้อยที่สุด ซึ่งแม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไป แต่ผู้บริโภคยินดีจ่าย เพื่อสิ่งที่ดีหรือมีคุณค่ามากกว่า
สอดคล้องกับการที่คนรุ่นใหม่เริ่มหันมาสนใจด้านการเกษตรกันมากขึ้น หลายคนหลีกหนีความวุ่นวายในเมืองหลวง กลับไปอยู่ต่างจังหวัดและทำธุรกิจการเกษตร โดยนำวิชาความรู้และเทคโนโลยีสมัยมาต่อยอดไอเดีย สร้างสรรค์วิธีการจำหน่ายและตัวสินค้าออกมาให้มีมูลค่ามากยิ่งขึ้น
รวมไปถึงธุรกิจเกี่ยวกับความสวยความงาม รูปร่างและผิวพรรณ ทั้งครีมบำรุง อาหารเสริม เครื่องสำอาง ยังคงมาแรง
อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์การแข่งขันสูง จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มธุรกิจนี้ ต้องหากลยุทธ์มาพัฒนาสินค้าให้โดดเด่น และแตกต่างจากคู่แข่งในท้องตลาด
4. “ดิจิทัลคอนเทนต์” พัฒนาไม่หยุดยั้ง ประชันในสนามไอเดีย
จากข้อมูลของ “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล” (depa) เผยผลสำรวจมูลค่าธุรกิจ “ดิจิทัลคอนเทนต์” ในไทยปี 2560 ครอบคลุม 3 สาขาหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมแอนิเมชัน อุตสาหกรรมเกม และอุตสาหกรรมคาแรคเตอร์ มีมูลค่ารวมกันประมาณ 25,040 ล้านบาท แบ่งเป็น อุตสาหกรรมแอนิเมชัน มีมูลค่ารวม 3,799 ล้านบาท / อุตสาหกรรมเกม 19,281 ล้านบาท / อุตสาหกรรมคาแรคเตอร์ มูลค่ารวม 1,960 ล้านบาท
ขณะที่ปี 2561 มูลค่าธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ในไทย เพิ่มขึ้นเป็น 28,000 กว่าล้านบาท และคาดการณ์ปี 2562 จะมีมูลค่ากว่า 31,000 ล้านบาท โดยประเมินจากปริมาณงานที่ผู้ประกอบการกำลังผลิต รวมทั้งแนวโน้ม และปัจจัยบวกต่าง ๆ ของตลาด และความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนในโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อช่วยกันผลักดัน ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อการขายตัวของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์
ปัจจุบันฝีมือการสร้างสรรค์ “ดิจิทัลคอนเทนต์” ของคนไทย พัฒนาไปไกลมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนมาก บวกกับความสนใจในสื่อดิจิทัลของผู้คนในปัจจุบัน ที่มีการแชร์ส่งต่อผ่านสื่อออนไลน์กันได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ชื่อเสียงในงานต่างๆ จากฝีมือคนไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น จนทำให้ธุรกิจ “ดิจิทัลคอนเทนต์” เติบโต และขยายไปในตลาดต่างประเทศได้ในที่สุด
เมื่อเทคโนโลยียังคงมีการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และผู้คนยังคงต้องการเสพคอนเทนต์ใหม่ๆ อยู่เสมอ ผู้ผลิตคอนเทนต์ยังต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหัวใจสำคัญของการทำ “ธุรกิจคอนเทนต์” คือ เริ่มต้นจากไอเดียที่ดี มีเครื่องมือที่ทันสมัย และกลยุทธ์การวางแผนการตลาดที่เหมาะสม จะทำให้ธุรกิจไปได้ไกลยิ่งขึ้น รองรับกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
5. “โลจิสติกส์” เติบโตเคียงคู่การขายออนไลน์
ข้อมูลมูลค่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทย (ครอบคลุมทั้ง B2B, B2C, B2G) จาก “สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” (องค์การมหาชน) หรือ “ETDA” กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า ในปี 2560 อยู่ที่กว่า 2.8 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3 ล้านล้านบาทในปี 2561
“K SME” ระบุว่าผลจากการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และร้านค้าออนไลน์ ที่ต้องมีการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อผ่านทางออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งการขนส่งระหว่างธุรกิจ เพื่อนำสินค้าไปผลิตหรือจัดจำหน่ายต่อ ทำให้ธุรกิจที่ให้บริการด้าน “โลจิสติกส์” ขยายตัวตามไปด้วย
นอกจากผู้ให้บริการรายใหญ่ที่เราคุ้นเคยกันดี ก็เริ่มมีผู้ให้บริการรายย่อยเกิดขึ้นมากมาย รวมไปถึงบริการจัดส่งสินค้าที่มีความเฉพาะเจาะจงตามประเภทของสินค้ามากขึ้น เพื่อป้องกันความเสียหาย และบริการจัดส่งอาหารที่กำลังเป็นที่นิยม เพราะเป็นการตอบสนองความต้องการของคนยุคใหม่ได้อย่างตรงจุด ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์ของไทยยังคงมาแรงในปี 2562 นี้