“Pet Humanization” เมื่อนุดเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก-ยอมเปย์สุดตัว! ดัน “Petconomy” โต

  • 479
  •  
  •  
  •  
  •  

Pet Humenization-Petconomy

Pet Humanization หรือเรียกว่า Pet Parent ก็ได้เช่นกัน คือ การเลี้ยงสัตว์เหมือนลูก หรือสมาชิกของครอบครัว ด้วยการให้ความใส่ใจดูแลแบบคน เมื่อไม่ได้เป็นเพียงแค่สัตว์เลี้ยง แต่เป็นเหมือนลูก หรือสมาชิกของครอบครัว เจ้าของจึงพร้อมทุ่มเท ทั้งเงิน เวลา ความใส่ใจ ให้กับลูกของตัวเองอย่างเต็มที่!

ทำให้ “อุตสาหกรรมเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง” หรือ Petconomy(Pet + Economy) ที่ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต, ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น อาหาร ของเล่น เสื้อผ้า เทคโนโลยี และอุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยงอีกมากมาย, ธุรกิจบริการ เช่น การดูแล รักษา โรงเรียนฝึก โรงแรมสัตว์เลี้ยง ประกัน คาเฟ่สัตว์เลี้ยง เป็นต้น ไปจนถึงธุรกิจ After Death Service ซึ่งนับวัน Petconomy มีแนวโน้มขยายตัวและเติบโตรวดเร็วทั่วโลก

 

ค้นคำตอบทำไม “Pet Humanization” เติบโต ?

ปัจจัยหลักที่ทำให้แนวโน้ม Pet Humanization ขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย

คนโสดมากขึ้น และคนมีลูกน้อยลง ผลการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณของวิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU จากกลุ่มตัวอย่าง 1,046 คน พบว่า 80.7% ของผู้ที่เลี้ยงสัตว์มีสถานะโสด ขณะที่ 19.3% มีสถานะสมรสแล้ว

สอดคล้องกับเหตุผลหลักของการเลี้ยงสัตว์ พบว่า 49% บอกว่าเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นลูก ซึ่งปัจจุบันพบว่าเทรนด์การเติบโตของ Pet Parent หรือ Pet Humanization เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในประเทศไทย โดยอัตราการเลี้ยงสัตว์ในไทยอ้างอิงจากฐานข้อมูลเพื่อการขึ้นทะเบียนสุนัข – แมว (Pet Register) เพิ่มมากขึ้นทุกปี ในขณะที่อัตราการเกิดของเด็กไทยในช่วงปี 2560 – 2564 ก็ลดลงทุกปีอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

Pet Humenization-Petconomy

เลี้ยงสัตว์เพื่อบำบัดรักษา คลายเหงา

ผลการวิจัยนี้ ระบุว่า 18% ของกลุ่มตัวอย่างบอกว่าเลี้ยงสัตว์เพื่อช่วยเหลือ และช่วยบำบัดรักษา (Pet Healing) เนื่องจากการสัตว์เลี้ยงบำบัดมีประโยชน์ อาทิ เพิ่มความสุข เพราะช่วยเพิ่มระดับสาร Oxytocin ได้ 20% และทำให้สภาพจิตดี ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดความดันโลหิต รวมถึงช่วยเยียวยาจิตใจหรือร่างกาย

นอกจากนี้อีกหนึ่งเหตุผลที่ผลักดันให้การเลี้ยงสัตว์แทนลูก หรือเลี้ยงเหมือนเป็นลูก เป็นสมาชิกในครอบครัวคือ หลายประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการเกิดของเด็กลดน้อยลง ดังนั้นการมีน้องหมา น้องแมว หรือสัตว์เลี้ยงประเภทอื่น ก็เป็นเพื่อนคลายเหงาได้เป็นอย่างดี

Pet Humenization-Petconomy

ธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมาแรง มีทั้งผู้เล่นรายใหญ่ รายย่อยเข้ามา

ทุกวันนี้ระบบเศรษฐกิจเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง หรือ Petconomy ไม่ใช่แค่สินค้าและบริการพื้นฐาน เช่น ตลาดอาหารสัตว์เลี้ยง ของเล่น-อุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ธุรกิจโรงพยาบาลสัตว์เท่านั้น แต่ภายใต้ Petconomy ยังได้แตกขยายไปอีกมากมาย

ข้อมูลจาก finbiz by ttb ชี้เทรนด์ธุรกิจที่มาแรงในปี 2023 หนึ่งในนั้นคือ ธุรกิจสุขภาพและคุณภาพชีวิตของสัตว์เลี้ยง ครอบคลุมทั้งด้านการกิน อยู่ นอน ขับถ่าย พักผ่อน ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยง ธุรกิจอาหารสัตว์คุณภาพสูง อุปกรณ์เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง แชมพูดูแลขน ผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพฟัน ของเล่น เสื้อผ้า ที่นอน ที่ให้อาหารอัตโนมัติ บริการสถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหาร แบบ Pet Friendly รวมถึงกิจกรรมสัตว์เลี้ยง เช่น สถานที่สำหรับสัตว์ได้วิ่งเล่น สระว่ายน้ำสำหรับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

ประกอบกับปัจจุบันในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง มีทั้งผู้เล่นรายใหญ่ และรายย่อยเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ อย่างล่าสุด “อาร์เอส กรุ๊ป” (RS Group) ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ มี 6 กลุ่มหลัก หนึ่งในนั้นได้ปั้นธุรกิจใหม่คือ RS Pet All ภายใต้ บริษัท อาร์เอส เพ็ท ออล จำกัด” เพื่อดำเนินธุรกิจสัตว์เลี้ยงครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำที่ประกอบด้วยโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ธุรกิจรีเทลสัตว์เลี้ยง สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง รวมถึงธุรกิจ Wellness สำหรับสัตว์เลี้ยง

RS Group-RS Pet All

 

คาดมูลค่าอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงตลาดโลก 217,000 ล้านดอลลาร์ ไทยกว่า 66,000 ล้านบาท

ข้อมูลจาก Euromonitor ประมาณการณ์ธุรกิจสินค้าและบริการเกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงในปี 2021 มีมูลค่า 43,372 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า 110,268 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ขณะที่มูลค่าตลาดในไทย ธุรกิจสินค้าและบริการเกี่ยวเนื่องกับสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า 3,954 ล้านบาท และธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีมูลค่า 40,638 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าในปี 2026 ตลาดสัตว์เลี้ยงโลก จะมีมูลค่าสูงถึง 217,651 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเติบโตเฉลี่ย (2021 – 2026) ปีละ 7.2% (CARG) เช่นเดียวกับมูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะเติบโตจากปี 2021 เฉลี่ยปีละ 8.4% (CARG) มาอยู่ที่ 66,748 ล้านบาทในปี 2026

Pet Humenization-Petconomy

นอกจากนี้ผลวิจัย CMMU ได้รายงานค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงพบว่าเหล่าทาสยอมจายกว่า 20,000 บาทต่อตัวต่อปี

ค่าใช้จ่ายอาหารสัตว์ต่อเดือน ส่วนใหญ่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,001 – 2,000 บาทต่อเดือน

– ต่ำกว่า 1,000 ต่อเดือน อยู่ที่ 34.2%

– 1,001 – 2,000 บาทต่อเดือน อยู่ที่ 39.3%

– 2,001 – 3,000 บาทต่อเดือน อยู่ที่ 15.6%

– มากกว่า 3,000 บาทต่อเดือน อยู่ที่ 10.9%

ค่าใช้จ่ายต่อครั้งในการใช้บริการเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่อยู่ที่ 1,000 – 3,000 บาทต่อครั้ง

– 1,000 – 3,000 บาทต่อครั้ง อยู่ที่ 57.4%

– 3,001 บาทขึ้นไปต่อครั้ง อยู่ที่ 27%

– ต่ำกว่า 1,000 บาทต่อครั้ง อยู่ที่ 15.6%

Pet Humenization-Petconomy

เชื่อว่าแนวโน้มการเลี้ยงดูแลสัตว์เหมือนลูก หรือเลี้ยงแทนลูกจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะด้วยปัจจัยข้างต้น ทำให้ Petconomy จะมีสินค้าและบริการที่ fragment มากขึ้น โดยที่เจ้าของยินดีจ่าย เพื่อให้ลูกๆ ของตัวเองได้รับการเลี้ยง ดูแล และรักษาอย่างดีที่สุด!  

Pet Humanization & Petconomy-infographic


  • 479
  •  
  •  
  •  
  •  
WP
อยู่ในแวดวงนิตยสารธุรกิจการตลาดกว่าสิบปี สนุกและชอบติตตามเทรนด์ ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในแพลตฟอร์มดิจิทัล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การตลาดและดิจิทัลร่วมกันนะคะ