ธุรกิจ ‘ส่งสินค้าออนไลน์’ ปี 64 ยังโต แม้ล็อกดาวน์-โควิด 19 จะส่งผลกระทบ

  • 116
  •  
  •  
  •  
  •  

ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์ หรือ Last-mile delivery เป็นหนึ่งธุรกิจที่ขยายตัวตามการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะช่วงโควิด 19 ระบาด ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมมาช้อปออนไลน์กันมากขึ้น

ขณะเดียวกันจากการแพร่ระบาดที่รุนแรง ทำให้พนักงานขนส่งสินค้าออนไลน์บางพื้นที่ติดเชื้อ ประกอบกับการขยายมาตรการล็อกดาวน์ต่ออีก 14 วันเป็นอย่างน้อยในเดือนสิงหาคม จนส่งผลให้ศูนย์กระจายสินค้าที่สำคัญและสาขารับส่งบางแห่งในบางพื้นที่ต้องปิดทำการชั่วคราว ก็ได้รับผลกระทบชั่วคราวต่อการจัดส่งสินค้า

โดยเฉพาะการจัดส่งสินค้าออนไลน์ในกลุ่มอาหาร (Food) น่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าสินค้าในกลุ่มที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food) เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่เน่าเสียง่าย จึงส่งผลกระทบต่อยอดขายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารสด อาหารแห้ง ผัก ผลไม้ ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food) หรือสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น สินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง ของตกแต่งบ้าน ฯลฯ ยอดขายได้รับผลกระทบจากการที่ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะเป็นปัญหาชั่วคราว และจากการเร่งแก้ปัญหาและการปรับตัวของผู้ประกอบการ ส่งผลให้สาขาในบางพื้นที่ที่ปิดทำการชั่วคราวเริ่มกลับมาเปิดทำการได้บ้าง แต่ยังคงต้องรอสินค้าที่นานกว่าช่วงปกติ

‘ธุรกิจขนส่งสินค้าออนไลน์’ ปี 2564 กระทบแต่ยังโต 19%

ทาง ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ ประเมินว่า ธุรกิจจัดส่งสินค้าออนไลน์ในปี 2564 ยังมีการขยายตัว จากการระบาดของโควิดที่ยังคงหนุนให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น โดยจะมีการเติบโต 19% คิดเป็นมูลค่าตลาด 71,800 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวถึง 31.3%

เหตุผลที่ทำให้ธุรกิจนี้โตในสัดส่วนลดลงจากปีก่อน หลัก ๆ มาจาก ‘การแข่งขันกันรุนแรง’ จากจำนวนผู้เล่นในตลาดมากราย และ ‘การแข่งขันด้านราคา’ ของผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ต้องปรับตัวตาม รวมไปถึงต้องเผชิญกับ ‘ต้นทุน’ ในการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น หากผู้ประกอบการรายใดไม่สามารถแบกรับหรือบริหารจัดการต้นทุนได้ ก็อาจจะเผชิญการแข่งขันที่ยากลำบากขึ้น

เพราะตอนนี้สถานการณ์การระบาดก็ยังไม่คลี่คลาย ความเสี่ยงต่างๆ ยังคงเกิดขึ้นได้ และทำให้ต้นทุนในการบริหารจัดการโควิดของผู้ประกอบการยังคงมีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยจากโรค การกระจายศูนย์กระจายสินค้าไปยังพื้นที่ศักยภาพใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น

ตลอดจนการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการให้บริการเรื่องของสินค้าที่ครบวงจร และหากผู้บริโภคมีความกังวลไม่มั่นใจในเรื่องของความปลอดภัย ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณการจัดส่งให้น้อยลง และแน่นอนทั้งหมดจะส่งผลต่อผลประกอบการของธุรกิจ


  • 116
  •  
  •  
  •  
  •  
CLOSE
CLOSE