เกิน 8 บรรทัดแล้วนะ!! ผลสำรวจการอ่านปี 61 ชี้คนไทยอ่านเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน

  • 1.2K
  •  
  •  
  •  
  •  

ผลสำรวจการอ่าน ปี 2561 ชี้คนไทยใช้เวลาอ่านมากขึ้นเฉลี่ย 80 นาทีต่อวัน สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการสำรวจในปี2558 ที่มีการอ่านอยู่ 66 นาทีต่อวัน และปี 2556 อ่าน 37 นาทีต่อวัน  โดยวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราการอ่านนานสุดอยู่ที่ 109 นาทีต่อวัน

ผลสำรวจดังกล่าว เป็นความร่วมมือกันระหว่าง ‘สำนักงานอุทยานการเรียนรู้’ (TK park)  กับ ‘สำนักงานสถิติแห่งชาติ’ ซึ่งได้รายงานว่า คนไทยใช้เวลาอ่านเพิ่มมากขึ้นเป็น 80 นาทีต่อวัน ขณะที่ภาพรวมในการอ่านของคนไทยพบมีการอ่านถึง 78.8% หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 49.7 ล้านคน โดยกรุงเทพฯ มีคนอ่านมากที่สุดคิดเป็น 92.9%

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปที่ตัวเลขของกลุ่มที่ไม่อ่านพบว่า มีถึง 21.2% คิดเป็นจำนวนประชากร 13.7 ล้านคน ซึ่งเหตุผลของการไม่อ่านมีตั้งแต่การดูทีวี ไม่มีเวลา อ่านไม่ออก ไม่ชอบ ไม่สนใจการอ่าน ชอบเล่นเกม รวมทั้งไม่มีเงินซื้อหนังสือ

พฤติกรรมการอ่านของเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
คลิกเพื่อขยายภาพเต็ม – พฤติกรรมการอ่านของเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี
พฤติกรรมการอ่านของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป
คลิกเพื่อขยายภาพเต็ม – พฤติกรรมการอ่านของประชากรอายุ 6 ปีขึ้นไป
พฤติกรรมการอ่านของประชากรอายุ 6-14 ปีขึ้นไป
คลิกเพื่อขยายภาพใหญ่ – พฤติกรรมการอ่านของประชากรอายุ 6-14 ปีขึ้นไป

เมื่อจำแนกตามช่วงวัย พบว่า วัยรุ่นอายุ 15-24 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราการอ่านนานสุดอยู่ที่ 109 นาทีต่อวัน , เด็กอายุระหว่าง 6-14 ปี มีแนวโน้มการอ่านเพิ่มขึ้น นั่นหมายถึงว่าการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านในกลุ่มนี้ค่อนข้างได้ผล  ขณะที่วัยผู้ใหญ่  25-50 ปี ที่ไม่ชอบอ่านหนังสือมีถึง 32.8%

พฤติกรรมการอ่านของวัยรุ่นรอายุ 15-24 ปี
คลิกเพื่อขยายภาพใหญ่ – พฤติกรรมการอ่านของวัยรุ่นรอายุ 15-24 ปี
พฤติกรรมการอ่านของคนทำงานอายุ 25-59 ปี
คลิกเพื่อขยายภาพใหญ่ – พฤติกรรมการอ่านของคนทำงานอายุ 25-59 ปี
พฤติกรรมการอ่านของคนสูงวัยอายุ 60 ปี
คลิกเพื่อขยายภาพใหญ่ – พฤติกรรมการอ่านของคนสูงวัยอายุ 60 ปี

สะท้อนให้เห็นว่า หลังการศึกษาช่วงมัธยมศึกษาตอนต้นจนถึงทำงานและเกษียณอายุ คนกลุ่มนี้ยังขาดนิสัยรักการอ่าน และยังแสดงให้เห็นว่าการปลูกฝังเรื่องรักการอ่านในคนไทยอาจจะยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งนับเป็นเรื่องที่หน่วยงานด้านการส่งเสริมการอ่าน ต้องกลับไปแก้โจทย์และหาแนวทางในการรณรงค์ส่งเสริมการอ่านกันต่อไป

อีกหนึ่งประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือ กลุ่มเด็กเล็ก ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า พ่อแม่ผู้ปกครอง 63.8%  ยังขาดความเข้าใจในเรื่องการอ่านหนังสือของเด็กเล็ก โดยให้เหตุผลว่า เด็กยังมีอายุน้อยเกินไป ทำให้เด็กกลุ่มนี้ คิดเป็นจำนวนราว 1.1 ล้านคน ไม่ได้รับการปลูกฝังนิสัยรักการ ดังนั้นการรณรงค์ให้ความรู้และทำความเข้าใจในการส่งเสริมการอ่านในเด็กเล็กยังคงต้องทำอย่างต่อเนื่องและแข็งขันมากขึ้น

หนังสือไม่มีวันตาย

ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า “หนังสือยังไม่ตาย” เพราะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แม้การอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์อยู่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2561 อยู่ที่ 75.4% แต่การอ่านหนังสือเล่มก็ไม่ได้ลดลงสูงนักอย่างในปี 2561 พบอยู่ที่ 88%  ตีคู่มาติดๆ กับการอ่านบนสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ส่วน 10 จังหวัดที่มีจำนวนคนอ่านหนังสือมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 92.9% , สมุทรปราการ 92.7% , ภูเก็ต 91.3% , ขอนแก่น 90.5% , สระบุรี 90.1% , อุบลราชธานี 88.8% , แพร่ 87.6% , ตรัง 87.2% , นนทบุรี 86.6%  และปทุมธานี 86.2%

สำหรับสถิติการอ่านของประชากรไทย จัดทำขึ้นโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติทุกรอบ 2-3 ปี โดยนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ได้ขยายคำนิยามการอ่าน นอกจากการอ่านหนังสือรูปแบบกระดาษ ให้ครอบคลุมการอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (รวมโซเชียลเน็ตเวิร์ค และ อินเทอร์เน็ต) สำหรับปี 2561 ซึ่งเป็นปีล่าสุด ทำการสำรวจจากประชากรตัวอย่าง 55,920 ครัวเรือน ทั้งในและนอกเขตเทศบาลทั่วประเทศ


  • 1.2K
  •  
  •  
  •  
  •