2022 ปีของการลงทุน + ใช้จ่ายด้วยเงินดิจิทัล ผ่านรูปแบบ NFT เทรนด์สร้างตัวคนรุ่นใหม่

  • 235
  •  
  •  
  •  
  •  

เทรนด์การใช้จ่ายเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) หลังกลายเป็นกระแสในช่วงปีที่ผ่านมา กลายเป็นเทรนด์ที่น่าจับตาของปีนี้ ทั้งในเรื่องของการลงทุนและแนวโน้มการนำเงินดิจิทัลมาใช้จ่ายจริง ซึ่งในปีนี้จะได้เห็นหลายธุรกิจออกมาขานรับการใช้จ่ายเงินดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการซื้อขายผ่านรูปแบบ NFT ที่จะกลายเป็นช่องทางใหม่ สำหรับคนรุ่นใหม่ในการ สร้างรายได้จากการขายผลงานเชิงศิลปะ

ดูเหมือนว่าในปีนี้เทรนการจับจ่ายใช้สอยผ่านเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) จะเป็นการสานต่อจากในช่วงปีที่ผ่านมา ที่เรียกได้ว่าเป็นการเปิดตัวแผนรับการใช้จ่ายรูปแบบใหม่ ซึ่งในปี 2022 จะเป็นการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและเห็นชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ Retail ที่นี่ปีนี้ถือเป็นปีของการแข่งขันผ่านเทคโนโลยีเงินดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะช่วยให้แผนการดำเนินงานในลักษณะของ O2O (Online to Offline) มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

เงินดิจิทัลใช้จับจ่ายใครก็หยุดไม่อยู่

นอกจากธุรกิจขนาดใหญ่จะออกมาขานรับการใช้จ่ายเงินดิจิทัลแล้ว ธุรกิจอย่าง OR เองก็เห็นว่า หากเทคโนโลยีใดที่ผู้บริโภคมีความต้องการใข้ ธุรกิจก็ต้องนำมาให้บริการไม่เว้นแม้แต่การใช้จ่ายผ่านเงินดิจิทัล นั่นยิ่งชี้ให้เห็นถึงความชัดเจนของเทรนด์การใช้จ่ายเงินดิจิทัล โดยนักธุรกิจหลายรายต่างเห็นว่าเทรนด์เงินดิจิทัลอย่างไรก็ต้องมาแน่นอน แม้ว่าหน่วยงานรัฐอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีท่าทีไม่เห็นด้วยก็ตาม

โดย คุณอริยะ พนมยงค์ CEO และผู้ก่อตั้งบริษัท Transformational ชี้ว่า ประเทศไทยเคยพลาดขบวนเทคโนโลยีอย่างอินเตอร์เน็ต ทำให้หลายธุรกิจสูญเสียโอกาสรวมถึงประเทศไทย ซึ่งเทรนด์เงินดิจิทัลถือเป็นเทรนด์ที่สำคัญ เพราะธุรกิจเห็นและคาดการณ์ไว้แล้วว่า มาแน่นอน หลายธุรกิจเตรียมแผนรับมือไว้แล้ว ขณะที่ธุรกิจรายย่อยยังลังเลถึงเทคโนโลยีเงินดิจิทัล ต้องบอกว่าขนาดธุรกิจรายใหญ่ทั้งในไทยและในต่างประเทศยังมั่นใจ ทำไมธุรกิจรายย่อยยังลังเล

ไม่เพียงแค่ธุรกิจ Retail เท่านั้น แต่ธุรกิจธนาคารเองก็มองเห็นโอกาสของเงินดิจิทัลเช่นเดียวกัน เห็นได้จากเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา MasterCard เปิดให้บริการจับจ่ายใช้สอยผ่านเงินดิจิทัล โดยร่วมมือกับแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลเพื่อการลงทุนทั่วโลก ซึ่งหลายธนาคารพาณิชย์ของไทยก็พร้อมที่จะปรับตัวหากลูกค้ามีความต้องการนำเงินดิจิทัลมาใช้จ่าย

 

NFT เทรนด์สร้างตัวคนรุ่นใหม่

ไม่ใช่แค่เงินดิจิทัลเท่านั้นที่จะกลายเป็นเทรนด์ในปี 2022 นี้เท่านั้น แต่ยังมีการใช้จ่ายเงินดิจิทัลอีกรูปแบบอย่าง NFT (Non-Fungible Token) ที่กำลังกลายเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ และประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้จ่ายผ่านรูปแบบ NFT โดยเป็นการซื้อขายผ่านสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ซึ่งเป็นการนำผลงานศิลปะทั้งภาพวาด ดนตรี ภาพยนตร์มาเปลี่ยนเป็นรูปแบบดิจิทัล หรือเป็นการสร้างผลงานใหม่ทางศิลปะบนรูปแบบดิจิทัล

ซึ่งคนรุ่นใหม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะต่างๆ บนรูปแบบดิจิทัลและนำออกขายในรูปแบบ NFT ตัวอย่างเช่นผลงานภาพถ่ายเด็กสาวยิ้มแย้มที่มีฉากหลังเป็นบ้านที่กำลังถูกไฟไหม้ในชื่อ Disaster Girl โดยเบื้องหลังความสำเร็จของ NFT คือเทคโนโลยี Blockchain ที่เจ้าของผลงานสามารถนำ Token สกุลใดสกุลหนึ่งมาผูกกับผลงานศิลปะชิ้นนั้น และจำเป็นต้องใช้ Token สกุลนั้นในการซื้อขายเพื่อเป็นการยืนยันถึงผลงานที่เป็นของแท้ไม่ใช่ของก๊อป

นั่นหมายความว่าคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียด้านศิลปะสามารถคิดผลงานและออกจำหน่ายได้ทันที และหากมอง NFT เป็นตลาด นั่นหมายถึงผู้คนทั้งโลกมีโอกาสในการซื้อผลงานศิลปะชิ้นนั้น และหากผลงานชิ้นนั้นเป็นที่ต้องการของผู้คน โอกาสที่ผลงานศิลปะชิ้นนั้นจะขายได้ราคาสูงก็เป็นไปได้ และยังสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับเจ้าของผลงานศิลปะได้ นั่นหมายถึงผลงานชิ้นต่อๆ ไปจะได้รับความสนใจจากผู้คนั่วโลกทันที

แม้ว่าเงินดิจิทัลจะถูกพูดถึงอย่างมากในการนำมาใช้จ่ายเอง แต่ ในด้านการลงทุนเงินดิจิตอลเองก็ยังมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย นั่นเป็นเพราะสถานการณ์ทั่วโลกยังคงอยู่ในความไม่แน่นอน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน และการลงทุนในเงินดิจิทัลก็ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักลงทุนที่ยังน่าสนใจและให้ผลกำไรที่ดี แม้การลงทุนในเงินที่ท่านจะมีความเสี่ยงสูงก็ตาม

ในปี 2022 นี้เงินดิจิทัลจึงเป็นเทคโนโลยีที่น่าจับตา ทั้งในแง่ของการลงทุนและโอกาสทางธุรกิจ และในปีนี้เงินดิจิทัลอาจกลายเป็นโอกาสที่สำคัญของหลายธุรกิจที่จะสามารถช่วยสร้างการเติบโต ซึ่งต้องจับตาดูต่อไปว่าพัฒนาการของเงินดิจิทัลจะถูกพัฒนาไปในรูปแบบใดนับจากนี้เป็นต้นไป

 

@Marketing Oops!


  • 235
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา
CLOSE
CLOSE