โอกิลวี่ฯ ประเทศไทยเปิดตัว “Let’s Clean Slate” แอพพลิเคชั่นลบความเกลียดชังในโลกออนไลน์ครั้งแรกในไทย

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

Ogilvy-1

กลุ่มบริษัท โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ (ประเทศไทย) ร่วมมือกับองค์กร ดู-อิน-ไทย นักพัฒนาแอปพลิเคชั่นเพื่อสังคม เปิดตัวแอพพลิเคชั่น “Let’s Clean Slate” รณรงค์ให้สังคมยุติการสร้างความเกลียดชังบนโลกออนไลน์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ให้ผู้ใช้งานเฟซบุ๊คย้อนกลับไปดูประวัติการโพสต์ข้อความของตนเองที่อาจสร้าง Online Hate Speech หรือความเกลียดชัง ได้นับตั้งแต่วันแรกของการใช้งาน และตัดสินใจ “ลบ” ข้อความนั้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนประเทศไทยให้มีพื้นที่เชิงบวกบนโลกออนไลน์มากขึ้น

Ogilvy-4

นางพรรณี ชัยกุล ประธานกลุ่มบริษัท โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ในฐานะเอเยนซี่ด้านการสื่อสารที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โอกิลวี่ ได้เปิดตัวโครงการ #FORCEFORGOOD เพื่อนำศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์และการทำงานที่มีประสิทธิภาพมาเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงโลกให้น่าอยู่ขึ้น โดยพนักงานโอกิลวี่ในแต่ละประเทศจะร่วมกันเลือกประเด็นทางสังคมที่ต้องการจะแก้ไข และลงมือแก้ไขจริงๆ สำหรับในประเทศไทย ประเด็นที่พนักงานของเราเลือกที่จะแก้ไข คือ การสร้างความเกลียดชังบนโลกออนไลน์ (Online Hate Speech) ซึ่งเป็นปัญหาสังคมที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในปัจจุบัน โดยไม่เพียงแต่สร้างความรุนแรงในระดับบุคคล แต่ยังสร้างความแตกแยกไปทั้งสังคมอีกด้วย ที่สำคัญคือ นี่เป็นปัญหาของทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น”

กลุ่มบริษัทโอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ ประเทศไทย จึงได้ร่วมมือกับองค์กร ดู-อิน-ไทย ซึ่งมีเจตนารมณ์ร่วมกันในการทำงานเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีขึ้นและเป็นผู้นำด้านการรณรงค์เพื่อการลดปัญหาความรุนแรงบนโลกออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการการพัฒนาแอพพลิเคชั่น “Let’s Clean Slate” เพื่อการยุติการสร้างความเกลียดชังบนโลกออนไลน์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย รวมทั้ง จัดทำวีดิโอสำหรับเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนตระหนักถึงความรุนแรงจากการสร้างความเกลียดชังบนโลกออนไลน์ในมุมที่อาจจะไม่เคยรู้มาก่อน โดยเนื้อหาในวีดิโอดัดแปลงมาจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับเหยื่อที่ถูกกระทำจาก Online Hate Speech

Ogilvy-2

“สิ่งที่เรากำลังทำ จะชี้ให้ทุกคนเห็นว่า Hate Speech เกิดขึ้นทุกวัน ความรุนแรงเช่นนี้เกิดขึ้นจริงๆ ทุกวัน และถึงเวลาที่เราทุกคนจะต้องตระหนัก และร่วมมือกันขับเคลื่อนโลกออนไลน์ที่เคยเต็มไปด้วย ‘Hate’ ให้มีพื้นที่ของ ‘Love’ มากขึ้น” นางพรรณี กล่าว

นายสุทัศน์ รงรอง ผู้พัฒนาแอปพลิเคชั่น Let’s Clean Slate กล่าวว่า “ดู-อิน-ไทย รณรงค์ยุติการสร้างความเกลียดชังบนโลกออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเราเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุดในโลก และมีเหยื่อจากความรุนแรงเกิดขึ้นทุกนาที ทั้งกรณีที่เราเห็นและไม่เห็น เช่น กรณีที่มีผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นโรคจิตแอบติดกล้องถ่ายใต้กระโปรงผู้โดยสารบนรถไฟฟ้า ทั้งๆ ที่เขาแค่รองเท้าขาด หรือการใช้วาจารุนแรงประณามคนที่มีความคิดแตกต่าง กรณีเหล่านี้เกิดจากการที่ผู้ใช้โซเชียลมีเดียไม่ตระหนักถึงผลของการกระทำของตนเอง คิดแต่ว่าตนเองมีเสรีภาพในการแสดงออก หรือต้องการเกาะกระแสสังคมในขณะนั้น”

“เพื่อช่วยให้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียตระหนักถึงสิ่งที่ตนเองแสดงออกบนโลกออนไลน์ เราได้พัฒนาแอพพลิเคชั่น “Let’s Clean Slate” ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานเฟซบุ๊คย้อนกลับไปดูประวัติการโพสต์ข้อความตั้งแต่วันแรกที่ใช้งานว่าได้โพสต์ข้อความอาจสร้างความเกลียดชังบนโลกออนไลน์หรือคำไม่สุภาพกี่ครั้ง อะไรบ้าง ซึ่งจะทำให้เราฉุกคิดและตัดสินใจเองว่า จะลบข้อความเหล่านั้นหรือไม่ และเริ่มใช้เฟซบุ๊คเป็นพื้นที่การสื่อสารเชิงสร้างสรรค์มากขึ้นได้อย่างไร” นายสุทัศน์ กล่าว

Ogilvy-3

นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นนี้ยังจะเป็นแหล่งรวบรวมคำหรือข้อความที่เป็น Hate Speech ครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วย เพื่อใช้ในการศึกษาและนำมาขยายผลในการรณรงค์ยุติการสร้างความเกลียดชังบนโลกออนไลน์ต่อไป

สามารถเข้าไปใช้งาน Let’s Clean Slate ได้ที่ www.letscleanslate.com เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการยุติการสร้างความเกลียดชังบนโลกออนไลน์ได้ตั้งแต่วันนี้


  •  
  •  
  •  
  •  
  •