กระแสของไวรัล “คนธรรมดา” เรียกว่าไม่ธรรมดาเลยจริงๆ เพราะตอนนี้ไม่ว่าจะไถฟีดไปไหน ก็จะเห็นแต่กระแสนี้เต็มไปหมด ไม่ว่าใครต่างก็ออกมาประกาศตัวว่า “ชั้นนั้นหรือก็คือ ‘คนธรรมดา’” โดยเฉพาะในมุมของการสร้างคอนเทนต์ เพจและแบรนด์มากมาย ต่างก็มะรุมตะตุ้มเกาะกระแสนี้กันทั้งนั้น
แต่คำถามคือ
ทำไมกระแสการเป็น ‘คนธรรมดา’ จึงได้รับการตอบรับขนาดนี้ ?
กระแสแรงกดดันต่างๆ จากสังคมที่พร่ำบอกให้เราประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้คนเจเนเรชั่นนี้เต็มไปด้วยแรงกดดัน ที่จะต้องประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ยิ่งคุณทำได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยที่ บทความหรือคอนเทนต์ต่างๆ มากมาย จะเต็มไปด้วยเนื้อหาแบบนี้
“5 วิธีที่คนประสบความสำเร็จทำกันอย่างไร” , “ตื่นเช้าแบบคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตทำอย่างไร” , “เรียนรู้ที่จะประสบความสำเร็จอย่างผู้นำต้องทำเดี๋ยวนี้เลย” ฯลฯ
และยิ่งในยุคของดิจิทัลที่ผู้คนต่างติดตามเรื่องราวคนรอบตัวได้อย่างง่ายดายผ่านโซเชียลฯ ยิ่งทำให้เรารับรู้ว่าใครบ้างหรือคนใกล้ตัวเราคนไหนบ้าง ที่เขาประสบความสำเร็จในชีวิต แน่อนว่าเราย่อมรู้สึกยินดีด้วย แต่…นั่นอาจทำให้ส่วนหนึ่งของเรา หรือลึกๆ เราอาจจะรู้สึกเป็นแรงกดดัน หากเรายังไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลย หรือไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย!
“นิ้วกลม” นักเขียนและนักคิดชื่อดัง ครั้งหนึ่งได้โพสต์หัวข้อ “ชีวิตคนเราต้องประสบความสำเร็จไหม” ซึ่งสะท้อนมุมมองในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี
“…เมื่อใครคนหนึ่งทำอะไรไม่สำเร็จ หรือยังไม่สมบูรณ์ ผิดพลาด ผิดหวัง พังทลาย เขาจึงรู้สึกโดดเดี่ยว อับอาย ซุกซ่อน และไม่รู้ว่าจะนำ ‘ความพัง’ เหล่านี้ไปวางไว้ตรงไหนในโลก ในเมื่อมองไปรอบตัวแล้วมีแต่พื้นที่ของความสำเร็จ
‘ความพัง’ จึงถูกเก็บบ่มไว้ในใจ ลอยวนไม่ไปไหน ค่อยๆ แผ่ลามไปกัดกินความรู้สึกดีต่อตัวเอง เล่าให้เพื่อนฟังก็ไม่ได้ ปรับทุกข์กับพ่อแม่ก็โดนด่า หรือไม่ก็กระตุ้นให้ขยันมากขึ้น ใจดีหน่อยก็บอกว่า “ลูกทำได้ สู้เค้า”
แต่ไม่มีใครยินยอมให้เราแพ้
เมื่อความพังกลายเป็นเรื่องส่วนตัวที่ต้องเก็บงำ มันก็เหมือนเชื้อร้ายที่ค่อยๆ ออกฤทธิ์ในร่างกาย กลายร่างเป็นโรคร้ายที่เกาะกินหัวใจเรา ซึมเศร้า เบื่อโลก รู้สึกแย่กับตัวเอง มองโลกเป็นสีเทา ซึ่งอาการเช่นนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่ทันแพ้ด้วยซ้ำ
เรารู้สึกแย่ ที่ชีวิตนี้ต้อง ‘ชนะ’ เท่านั้น…”
(ติดตามอ่านทั้งหมดได้ที่ https://www.facebook.com/Roundfinger.BOOK/posts/2756030817759144/)
แม้แต่คนญี่ปุ่นเอง ที่ว่ากันว่าเป็นกลุ่มคนที่มีพลังในการทำงาน ได้รับคำยกย่องจากนานาชาติว่าเป็นชนชาติที่ขยันและอดทน ก็ยังเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ซะโตะริเซะได”
บทความของ วสุ มารุมุระ บนเว็บไซต์ marumura.com เว็บไซต์ที่รวบรวมเรื่องราวสาระดีๆ ของญี่ปุ่น ระบุว่า ในช่วง 3 – 4 ปีให้หลัง เกิดกลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ที่เรียกว่า “ซะโตะริเซะได” คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นผลผลิตของจากฟองสบู่เศรษฐกิจที่แตกแล้วของญี่ปุ่น ทั้งนี้ เมื่อหลังฟองสบู่แตก ญี่ปุ่นเศรษฐกิจซบเซามา 20 ปี เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมาในช่วงปี 1986 – 1995 มองเห็นความขยันของพ่อแม่ตนเอง แต่รู้สึกว่า “พยายามมากไปก็ดูเหนื่อย ๆ ไม่มีความสุข” ดังนั้น คนรุ่นใหม่ในยุค “ซะโตะริเซะได” ของญี่ปุ่น เลยไม่ขวนขวายอะไรมาก ไม่มีความทะเยอทะยานในหน้าที่การงาน อยู่ไปเรื่อยให้มีความสุขเล็ก ๆ ก็เพียงพอใจแล้ว
และเมื่อสังคมก้าวสู่อาณาเขตแห่งความเหนื่อยล้าของการที่ต้องพยามให้ประสบความสำเร็จ นั่นอาจจะทำให้การจี้ไปยังจุดของความเข้าใจหัวอก “คนธรรมดา” โดย “ห่านคู่” เป็นกระแสที่ได้รับการตอบรับอย่างดี
แล้วในแง่ของ Brand ล่ะ จะไปต่ออย่างไร ?
หรือแม้แต่ Brand ที่ร่วมกระโจนไปกับกระแสนี้ล่ะจะได้อะไร ?
คุณบุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ อดีตผู้บริหารบาร์บีคิวพลาซ่า และยังได้รับคำยกย่องว่าเป็นนักปั้นแบรนด์มือทอง ให้ความเห็นกับ Marketing Oops! ว่า แคมเปญนี้ฉลาดมีความเก๋ตรงที่สามารถดึงเอาฟีลลิ่งแมสของคนหมู่มากในปัจจุบันมาเล่นได้ แต่มากไปกว่านั้นคือ เป็นแคมเปญที่ตรงกับแบรนด์ของเขาด้วย แบรนด์ “ห่านคู่” ที่มีเอกลักษณ์สำคัญคือโปรดักส์ เสื้อยืดสีขาวเรียบๆ ปกติ มันคือการบอกจุดยืนความปกติธรรมดา ซึ่งจุดนี้แหละที่มันตรงกับอินไซต์ของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ที่มองว่าตอนนี้โลกมันสีเทา โลกมัน hopeless เหลือเกิน และที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ยังสามารถชวนแบรนด์อื่นๆ มาเล่นได้ในประเด็นสังคม ให้ช่วยกันฉุกคิดในเรื่องนี้
“มันคือการขุดปมความรู้สึกของคนมวลใหญ่ตอนนี้ที่จะอยู่รอดในชีวิตปัจจุบันได้อย่างไร”
คุณบุณย์ญานุช ยังกล่าวแนะนำต่อว่า แต่สิ่งที่ “ห่านคู่” ควรทำต่อหลังจากจุดพลุสิ่งนี้ขึ้นมา ก็คือเราจะโอนสิ่งนี้ (ความธรรมดา) อย่างไรให้เป็นของเรา และควรใช้โอกาสนี้อย่างไรให้ไปที่ยอดขายด้วย ไม่ใช่แค่จุดพลุเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ โดยสิ่งที่แบรนด์ควรทำ ไม่ได้ทำคู่ขนานกันไป แต่จะต้องทำในลักษณะที่เบลนกันไปอย่างสมดุล ทำให้แบรนด์โตและเซลล์ก็เติบโตไปพร้อมกัน
ในขณะที่แบรนด์อื่นๆ จุดนี้มองว่าสามารถเล่นได้นะ เล่นแบบมีกิมมิก แต่ว่าไม่ช่การทำตามกันไปเพราะกลัวถูกลืมหรือกลัวตกกระแส เพราะว่าสุดท้ายคุณก็จะกลายเป็นแค่คนที่ฟอลโลว์ไอเดีย
ดังนั้น สิ่งที่ชาเลนจ์ก็คือ เราจะต้องมองหาว่า DNA ของแบรนด์ตัวเองคืออะไร อย่าง “ห่านคู่” แบรนด์ดีเอ็นเอของเขาคือความ Heritage ที่อยู่มานานกว่า 60 ปี และพยายามที่จะอยู่คู่คนไทยตลอดไป โดยที่มี Brand essence มาจากตัวโปรดักส์ของเขา นั่นคือ เสื้อยืดสีขาวคอกลมที่มีความเรียบง่าย แต่แบรนด์อื่นๆ จะมาบอกว่าตัวเองเป็นแบรนด์ธรรมดา หรือสื่อสารกับคนธรรมดา หรือใดๆ ก็ตาม จุดนี้อาจจะเห็นต่างออกไปถ้าจะทำแบบลองเทิร์ม
“แต่สิ่งที่ควรทำต่อจากตรงนี้ก็คือ เราควรมองหา DNA ของตัวเอง จาก Brand essence ที่เรามีว่าคืออะไร อาจจะใช้มุมของ Product unique ที่มี แล้วนำมาแมพกัน ทำให้มันเป็นจุดขายแล้วก็ดันให้มันเปรี้ยงขึ้นมา ซึ่งตรงนี้จะไปทัชใจกับกลุ่มทาร์เก็ตที่เราอยากจะคุยมากกว่าด้วย”
ตั้งแต่กระแสนี้เกิดขึ้นอดนึกถึงเนื้อเพลงนี้ไม่ได้
“ใช่อยากเด่น อยากเป็นเทวดา เสื้อและผ้า เราก็แต่งเหมือนใครๆ.เราซื้อในตลาด ขายของเก่าๆ.ไอ้ตัวเรา ก็เท่านี้
ใช่อยากเด่น เป็นผู้นำ หรือตาม ยอมรับในความเท่ากัน บรรดามี คนทุกคน มีค่างาม ในความดี โลกจึงมี วันนี้ให้ฉัน …”
เพลงเทวดาเดินดินของ แจ้ ดนุพล แก้วกาญจน์ เพลงเก่าหลายสิบปี แต่ก็ยังสะท้อนเรื่องราวของคนธรรมดาที่อยากจะบอกกับสังคมว่าอย่าคาดหวังอะไรกับฉันเลย เพราะไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม คนทุกคนก็มีคุณค่ามีความดีงามในตัวเหมือนกัน
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงเดาอายุของผู้คน เลยอยากจะบอกสั้นๆ “โลกเรามีสิ่งที่เรียกว่า Youtube ค่ะ”
อ้างอิง
https://www.facebook.com/Roundfinger.BOOK/posts/2756030817759144/
https://www.marumura.com/new-japan/
https://www.facebook.com/MarketingOopsdotcom/posts/10158242232567610
https://www.facebook.com/MarketingOopsdotcom/posts/10158242812792610