เจาะลึกความสำเร็จ Karava Thailand เมื่อความเชื่อสายมูและดีไซน์โมเดิร์นมาผสานกันอย่างลงตัว

  • 188
  •  
  •  
  •  
  •  

Karava Thailand เป็นแบรนด์ที่กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดดในวงการสายมูและแฟชั่น ด้วยแนวคิดที่นำเอาความเชื่อดั้งเดิม มาผสานกับดีไซน์ที่ทันสมัย จนเกิดเป็นโปรดักต์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คุณบุ๊ค-หัสวีร์ วิรัลสิริภักดิ์ และคุณเคน-นันท์ธร พรกุลวัฒน์ สองผู้ก่อตั้งแบรนด์ ได้ร่วมกันพัฒนาและขับเคลื่อน Karava ด้วยการนำความหลงใหลในวัฒนธรรม ความเชื่อ และศิลปะการออกแบบ มาสร้างแบรนด์ที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ที่สนใจทั้งความเชื่อและสไตล์อย่างลงตัว

ในบทสัมภาษณ์นี้ เราจะพาทุกคนไปเจาะลึกถึงแนวคิดและวิธีการบริหารของทั้งสองผู้ก่อตั้ง พร้อมทั้งแบ่งปันประสบการณ์ในเรื่องความท้าทายที่พวกเขาเผชิญหน้ามาในกระบวนการสร้างแบรนด์ Karava รวมถึงเคล็ดลับในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในยุคที่การแข่งขันสูง

จากมิตรภาพสู่แบรนด์วัตถุมงคลยุคใหม่  

Karava Thailand เป็นผลงานจากความร่วมมือของคุณบุ๊ค-หัสวีร์ วิรัลสิริภักดิ์ และคุณเคน-นันท์ธร พรกุลวัฒน์ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากแบรนด์แรกของพวกเขาคือ Harmenstone ทั้งสองแบรนด์นี้สะท้อนถึงความเชื่อและความผูกพันที่ลึกซึ้งกับเรื่องทางจิตวิญญาณ ซึ่งทั้งคู่ได้รับอิทธิพลจากการเติบโตในครอบครัวเชื้อสายจีนที่มีการไหว้องค์เทพมาตั้งแต่เด็ก

มิตรภาพของคุณบุ๊คและคุณเคนเริ่มต้นจากการเป็นเพื่อนกันในวง CU Band ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อใกล้จบการศึกษาและเตรียมตัวสมัครงาน ทั้งคู่ก็คิดว่าจะพกพาความเชื่อทางจิตวิญญาณไปด้วยเพื่อเป็นสิริมงคลและเพิ่มความมั่นใจ ตอนนั้นเครื่องรางของขลังหรือองค์เทพเริ่มมีรูปแบบเป็นสร้อยข้อมือแล้ว แต่ยังไม่มีแบรนด์ใดที่นำเสนอการผสมผสานระหว่างความเชื่อและสไตล์การแต่งตัวที่ทันสมัย

(จากซ้าย) คุณเคน-นันท์ธร พรกุลวัฒน์, คุณบุ๊ค-หัสวีร์ วิรัลสิริภักดิ์ สองผู้ก่อตั้งแบรนด์ Karava Thailand

“พวกเราชอบแต่งตัวด้วย” คุณบุ๊คกล่าว “แต่สร้อยข้อมือที่มีอยู่ตอนนั้นไม่ค่อยเข้ากับสไตล์เรา เลยลองมองหาเทรนด์ต่างประเทศ และพบว่าเราสามารถทำให้หินมงคลดูโมเดิร์นและเข้ากับสไตล์ได้ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ Harmenstone ที่เราเอาความเชื่อมาผสานกับแฟชั่นที่เข้ากับคนไทย”

คุณเคนกล่าวเสริมว่า “เราต้องการเป็นแบรนด์แรกที่ผสมผสานความเชื่อกับแฟชั่น การนำเสนอ Harmenstone ตั้งแต่แรกจึงเป็นการรวมองค์เทพกับหินมงคลในรูปแบบแฟชั่น เปิดตัวในปี 2018”

ในช่วงแรก Harmenstone มีดีไซน์ที่เข้มและขรึม เน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายผู้ชาย แต่เมื่อทำไปสักพักและตรวจสอบข้อมูลลูกค้า ปรากฏว่าลูกค้ากว่า 90% เป็นผู้หญิง ทั้งคู่จึงปรับแบรนด์ให้เข้ากับผู้หญิงมากขึ้น

หลังจากที่ Harmenstone ได้รับความนิยมจากลูกค้าที่ชอบดีไซน์โมเดิร์นขององค์เทพและหินมงคล ทั้งคู่จึงเริ่มคิดทำองค์เทพที่เป็นของตั้งบูชา ซึ่งนำไปสู่การสร้างแบรนด์ Karava ขึ้นมา

คุณเคนเล่าถึงการสร้าง Karava ว่า “ตอนที่เราคิดชื่อแบรนด์ เราต้องการให้ชื่อจำง่ายและสร้างความประทับใจ ตามหลักการตลาดต้องมีสามพยางค์และเป็นสระเปิด ใช้เวลาเกือบสองปีในการวางแผนและเปิดตัวองค์แรก ซึ่งก็คือองค์พระพิฆเนศในดีไซน์แบบโมเดิร์นโพลีกอน โดยเราลดทอนรายละเอียดขององค์เทพแบบดั้งเดิมให้เรียบง่ายแต่ยังคงความโดดเด่นในแบบยุคปัจจุบัน”

คุณบุ๊คเสริมว่า “แนวคิดนี้คล้ายกับตอนที่เราสร้าง Harmenstone ซึ่งเป็นการนำความเชื่อเก่าๆ มาปรับให้เข้ากับยุคใหม่ แต่ Karava เป็นของตกแต่งบ้าน ทุกบ้านล้วนมีองค์เทพ แต่แบบที่มีอาจจะไม่เข้ากับการตกแต่งบ้านสมัยใหม่ เราจึงปรับให้ดูทันสมัยขึ้นอย่างที่เห็น”

แบรนด์ทั้งสองมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน Harmenstone เน้นจิวเวลรีที่เหมาะกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน เฟิร์สต์จ๊อบเบอร์ หรือคนทำงานทั่วไป แต่ Karava มุ่งเน้นไปที่คนที่มีความศรัทธาในองค์เทพและชอบตกแต่งบ้าน โดยกลุ่มลูกค้าคือคนที่มีคอนโดหรือบ้านที่ต้องการของตกแต่งที่สวยงามและทันสมัย 

ในปัจจุบัน Karava Thailand ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังจากเปิดตัวมา 4 ปี ผสมผสานความเชื่อและความทันสมัยได้อย่างลงตัวสำหรับลูกค้ายุคใหม่

กระบวนการเลือกองค์เทพและการสร้างสรรค์แต่ละคอลเลกชั่นของ Karava 

การตัดสินใจเลือกว่าแบรนด์จะออกองค์เทพองค์ไหนก่อนนั้น ไม่ได้มาจากการคาดเดาหรือความรู้สึกเท่านั้น แต่เป็นผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก คุณบุ๊คและคุณเคนใช้ทั้งดาต้าและเทรนด์ในตลาด เพื่อดูว่าในปัจจุบันคนไทยนิยมบูชาองค์เทพใดเป็นพิเศษ เช่น พระพิฆเนศที่ได้รับการบูชากันอย่างกว้างขวาง ทำให้องค์พระพิฆเนศเป็นหนึ่งในองค์แรกๆ ที่ถูกเลือกสำหรับคอลเลกชั่นของ Karava จากนั้นพวกเขาก็ค่อยๆ นำเสนอองค์เทพอื่นๆ ให้แก่ลูกค้าตามลำดับ

คุณบุ๊คอธิบายว่า “เราวิเคราะห์ดาต้าหมดเลยครับ ผมดู Google Trends เพื่อเช็กว่ามีการค้นหาคำเกี่ยวกับองค์เทพแต่ละองค์มากน้อยแค่ไหนในแต่ละเดือน ข้อมูลเหล่านี้จะนำมาวิเคราะห์และตัดสินใจว่าเราจะออกองค์ไหน ปางไหน แล้วองค์นี้เราจะเล่าเรื่องอะไรได้บ้าง รวมถึงวางแผนการตลาดอย่างไร ทุกอย่างต้องผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดครับ”

คุณเคนเสริมว่า “ส่วนหนึ่งของข้อมูลที่เราใช้ก็มาจาก Harmenstone เพราะเราเคยทำเครื่องประดับที่มีองค์เทพอยู่แล้ว ทำให้เรารู้แนวโน้มว่าคนไทยตอนนี้นิยมบูชาองค์ไหนเป็นพิเศษ”

นอกจากนี้ ฟีดแบ็กจากลูกค้าก็มีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจ คุณบุ๊คกล่าวว่า “ลูกค้าจะบอกเราว่าอยากได้องค์ไหนบ้าง แล้วเราจะใช้ข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจเลือกองค์ที่จะออกในอนาคต”

สำหรับขั้นตอนการสร้างเรื่องราวและการตลาด คุณเคนเล่าว่าก่อนที่จะนำเสนอองค์เทพใดๆ ทีมงานต้องศึกษาองค์นั้นอย่างละเอียดก่อน โดยจะต้องเคลียร์ความเข้าใจกันภายในทีมและเลือกปางที่เหมาะสม แล้วจึงดีไซน์ตามปางดั้งเดิม แต่ปรับให้เข้ากับยุคสมัย

“ตัวอย่างเช่น องค์พระพิฆเนศปางประทานพร เราจะนำเอกลักษณ์ของปางประทานพรทั้งหมดมาปรับให้น้อยลง แต่ยังคงรักษารายละเอียดสำคัญ อย่างจำนวนพระหัตถ์และอาวุธที่ถือไว้ครบถ้วน เพราะปางนี้เป็นที่นิยมในหมู่คนที่ทำงานศิลปะ เช่น ศิลปิน ดารา หรือผู้ที่ทำงานในวงการบันเทิง พระพิฆเนศปางประทานพรจะประทานพรให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งโชคลาภ การงาน และความรัก” คุณเคนกล่าว

ในส่วนของการเปิดจองแต่ละคอลเลกชั่น Karava มักจะผลิตตามจำนวนที่เป็นเลขมงคล เช่น 599 องค์ และหากจำนวนที่ผลิตหมดแล้วก็จะต้องรอล็อตถัดไป ซึ่งทั้ง 599 องค์จะถูกนำไปทำพิธีเบิกเนตรและปลุกเสกก่อนการส่งมอบให้ลูกค้า

“ตอนแรกเรายังไม่รู้ว่าดีมานต์ของลูกค้าจะมากน้อยแค่ไหน” คุณบุ๊คเสริม “เพราะผลิตภัณฑ์แต่ละองค์มีความยากในการผลิตและเป็นงานแฮนด์เมดทั้งหมด ถ้ามีรอยนิดหน่อยก็ไม่ผ่าน ทำให้เราเปิดจองล็อตแรกเพียง 100 องค์ และภายใน 5 นาทีก็หมดเกลี้ยง นั่นทำให้เราเริ่มเข้าใจว่าลูกค้าต้องการมากกว่าที่เราคาด เราจึงปรับกระบวนการเปิดจองเป็นล็อตๆ เพื่อให้สามารถจัดการคิวการผลิตและวางแผนได้ดียิ่งขึ้น”

การผลิตองค์เทพไม่ใช่แค่เรื่องการทำสินค้าออกมาเท่านั้น แต่ยังมีการทำพิธีปลุกเสกตามฤกษ์มงคลในวัดหรือศาสนสถานที่มีชื่อเสียง เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีคุณค่าทางจิตวิญญาณและเป็นสิริมงคลแก่ลูกค้า

“การทำพิธีตามฤกษ์มงคลเป็นจุดเด่นของแบรนด์ Karava” คุณบุ๊คกล่าว “เพราะเราเป็นแบรนด์แรกที่นำองค์เทพไปทำพิธีเบิกเนตรอย่างจริงจัง นั่นเป็นสิ่งที่เพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ของเราและสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่ต้องการความเป็นสิริมงคล”

ฟีดแบ็กเชิงลบ

คุณเคนได้เล่าให้ฟังว่า “แน่นอนครับ มีฟีดแบ็กเชิงลบเข้ามา โดยเฉพาะกรณีขององค์หลวงพ่อโสธร ซึ่งเป็นองค์พระที่เราออกแบบและเปิดให้จองบูชาเป็นครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว แม้ว่าเราจะทำพิธีพุทธาภิเษกอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา โดยไปทำพิธีที่วัดหลวงพ่อโต จ.สมุทรปราการ แต่ด้วยดีไซน์ที่เราเลือกเป็นสไตล์โมเดิร์นโพลีกอน จึงได้รับฟีดแบ็กที่ค่อนข้างแรงจากทั้งคนทั่วไปและอาจารย์บางท่าน หลายคนตั้งคำถามว่าเรานำองค์พระมาทำแบบนี้ได้ยังไง กระแสตอนนั้นก็แรงกว่าองค์เทพที่เราทำก่อนหน้านี้มาก เราจึงต้องมาคุยกันจริงจังว่าจะเดินหน้าทำต่อหรือไม่

“ในขณะเดียวกัน ฟีดแบ็กเชิงบวกก็มีไม่น้อยครับ ยุคนี้โลกเปิดกว้างมากขึ้น และคนรุ่นใหม่ก็เริ่มปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมเดิมได้ดีขึ้น หลายคนชื่นชมที่เราพยายามนำความเชื่อเก่าๆ มาผสานกับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่ และการสนับสนุนจากคนกลุ่มนี้ก็ช่วยเราได้มาก ทั้งในด้านธุรกิจและกำลังใจ นอกจากนี้ อาจารย์บางท่านยังบอกว่า ‘ไม่มีอะไรถูกหรือผิด’ พวกเขาเห็นการเติบโตของแบรนด์เราตั้งแต่ช่วงที่ทำองค์พระพิฆเนศหรือ Harmenstone พวกเขารู้ว่าเราทำการบ้านมาดี และทุกขั้นตอนเราทำด้วยความเคารพจริงๆ จึงแนะนำให้เราอย่ากังวลกับฟีดแบ็กเชิงลบมากนัก มันจะผ่านไปเอง เพราะยังไงก็ยังมีคนที่สนับสนุนเราอยู่เยอะ 

“หลังจากที่เราผ่านเหตุการณ์นี้มาได้ เราก็เริ่มทำใจได้ครับ (หัวเราะ) และตัดสินใจเดินหน้าต่อด้วยการสร้างองค์พระพิฆเนศองค์ใหญ่ขึ้นมา เพื่อทำบุญและแสดงความศรัทธาต่อไป”

ก้าวต่อไปของแบรนด์ Karava Thailand

แม้ว่าโมเดิร์นโพลีกอนยังคงมีความต้องการสูง และแต่ละล็อตที่เปิดจองก็มักจะหมดอย่างรวดเร็ว แต่หลังจากทำดีไซน์นี้มาเป็นเวลา 4 ปี ทั้งคู่ก็เริ่มคิดถึงการนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้กับแบรนด์ พวกเขาตั้งใจที่จะพัฒนาดีไซน์ใหม่ที่ยังคงสร้างความประทับใจได้ไม่แพ้กับโมเดิร์นโพลีกอน หรือแม้แต่ทำให้มีอิมแพคมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ การ collaboration ก็เป็นอีกหนึ่งทิศทางสำคัญที่แบรนด์จะใช้ในการทดสอบว่าสามารถนำองค์พระเข้าไปผสมผสานกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้อย่างไร และเหมาะสมแค่ไหน ซึ่งในอนาคตยังมีโปรเจ็กต์ collaboration อีกหลายอย่างที่เตรียมจะตามมา

โดยก่อนหน้านี้โปรเจ็กต์ collaboration ร่วมกับ K Bank นับเป็นก้าวสำคัญของทั้งสองแบรนด์ ซึ่งทำให้แนวคิดของการผสานสายมูกับความโมเดิร์นกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนผ่านบัตรเดบิต และยังเปิดโอกาสให้แบรนด์อื่นๆ สนใจเข้ามาร่วมงานในลักษณะเดียวกัน

คุณเคนกล่าวเสริมว่า “ถือว่าเป็นความท้าทายใหม่ครับ เพราะการนำองค์เทพมาปรากฏอยู่บนบัตรเดบิตเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง เราต้องออกแบบให้ยังคงความศักดิ์สิทธิ์และขลัง แต่ก็ไม่ดูเล่นจนเกินไป เพื่อให้คนรู้สึกดีและอยากใช้บัตรเดบิตนี้เหมือนกับตอนที่เราดีไซน์องค์เทพในโปรเจ็กต์ก่อนๆ ซึ่งกระบวนการออกแบบนี้ก็ใช้เวลาพอสมควรกว่าจะสรุปได้ แต่สุดท้ายก็ได้รับฟีดแบ็กที่ดีมากจากผู้ใช้งาน”

สไตล์การบริหารของผู้ก่อตั้งทั้งสอง

ทั้งคู่แบ่งงานตามความถนัดที่ได้เรียนมา โดยคุณบุ๊คดูแลด้านการตลาดและการออกแบบวิชวล โดยใช้ความรู้จากวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ส่วนคุณเคนรับผิดชอบด้านการดำเนินงานและการจัดการองค์กรให้สอดคล้องกับทิศทางของแบรนด์ โดยใช้พื้นฐานจากวิศวกรรมอุตสาหการ 

ถ้าไม่ได้ทำธุรกิจของตัวเอง คุณเคนกล่าวว่า “ผมไม่ได้เติบโตมากับแนวคิดการทำธุรกิจ ครอบครัวผมเป็นพนักงานประจำ ถ้าไม่ได้เจอคุณบุ๊ค ผมก็คงทำงานประจำตามสายวิศวะ ส่วนคุณบุ๊คเขามีแนวคิดการทำธุรกิจมาตั้งแต่สมัยอยู่ CU Band ชอบหาอะไรทำ และยังเคยลองนำของไปขายที่อเมริกา”

คุณบุ๊คเสริมว่า “ผมเป็นสายไอที สนใจอีคอมเมิร์ซตั้งแต่เรียน และที่บ้านก็ทำธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์ไฟฟ้าอยู่แล้ว”

ส่วนแนวทางการบริหารองค์กร คุณเคนมองว่าการบริหารทีมใหญ่ไม่ง่าย “การจัดการต้องรู้จักบาลานซ์ระหว่างความเข้มงวดและความผ่อนปรน ทุกคนมีจุดแข็งและจุดอ่อน เราต้องพัฒนาทั้งสองด้านไปพร้อมกัน การตัดสินใจต้องรวดเร็วแต่ละเอียด ตอนนี้เรามีพนักงานประมาณ 45 คน การจัดการทีมขนาดนี้ถือว่าท้าทายมาก”

คุณบุ๊คกล่าวว่า “ผมมักจะมองภาพรวมและทิศทางใหญ่ขององค์กร แต่เรื่องการจัดการคนยังไม่ถนัด ต้องปรึกษาคุณเคนบ่อยๆ เรื่อง HR ตอนนี้เรากำลังพยายามสร้างวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้พนักงานมีความสุข เพราะเชื่อว่าคนที่แฮปปี้จะทำงานได้ดีขึ้น”

อีกหนึ่งความท้าทายคือการที่แบรนด์มีจุดแข็งด้านวิชวล คนเห็นแล้วจำได้ อยากซื้อทันที ซึ่งก็ทำให้เกิดคู่แข่งจำนวนมาก “บางรายใช้ดีไซน์เราเป็นแรงบันดาลใจ บางรายถึงขั้นก๊อปปี้ทั้งดีไซน์ ชื่อแบรนด์ วิธีการสื่อสาร และภาพกราฟิก จนบางครั้งเกิดความเข้าใจผิดในกลุ่มลูกค้า และเราต้องดำเนินคดีทางกฎหมายในบางกรณี” คุณเคนกล่าว

เมื่อมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ทั้งคู่ใช้การพูดคุยด้วยเหตุผล คุณเคนกล่าวว่า “บางครั้งไม่จำเป็นต้องหาจุดกึ่งกลาง แต่ต้องหาทางที่ดีที่สุด และมั่นใจว่าตัวเลือกนั้นคือทางที่ควรไป”

สำหรับความเห็นต่อกระแสมูเตลูในยุคปัจจุบัน คุณเคนรู้สึกดีใจที่วัฒนธรรมการบูชาองค์เทพยังคงอยู่ในชีวิตคนรุ่นใหม่ “ยุคนี้คนปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับองค์เทพได้อย่างง่ายดาย แม้จะไม่เคร่งครัดเหมือนในอดีต แต่ยังคงมีความเคารพและจริงจัง”

คุณบุ๊คเสริมว่า “เราเป็นหนึ่งในแบรนด์แรกๆ ที่ทำให้การบูชาองค์เทพเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น และช่วยให้พวกเขามั่นใจ มีความสุขกับชีวิต ซึ่งถือว่าเรามีส่วนช่วยต่อยอดวัฒนธรรมและศาสนาในประเทศ”

ทั้งสองเห็นว่าการที่มีแบรนด์มากขึ้นช่วยขยายฐานลูกค้า และทำให้กระแสมูเตลูเติบโตตามไปด้วย

เคล็ดลับความสำเร็จในการทำธุรกิจ

คุณเคนกล่าวว่า “จากประสบการณ์และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากคุณบุ๊ค ผมคิดว่าเราต้องหาจุดเด่นของโปรดักต์ให้ได้ ว่าแตกต่างจากตลาดอย่างไร ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่มีใครทำ แต่ต้องมีจุดแข็งที่เจ้าอื่นไม่มี ที่สำคัญเราต้องรักและมีแพสชั่นในโปรดักต์นั้น ศึกษาหาความรู้จนเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่ององค์เทพ เราต้องทำการบ้านอย่างละเอียดและด้วยความเคารพ”

คุณบุ๊คเสริมว่า “ผมจะเน้นที่โปรดักต์ก่อนเลย โปรดักต์ต้องดีและตอบโจทย์เพนพอยต์ของลูกค้า อย่างที่คุณเคนบอก ไม่จำเป็นต้องสร้างนวัตกรรมใหม่ แต่ต้องมีกิมมิคหรือจุดเด่นที่คู่แข่งไม่มีและลูกค้าชอบ นี่คือคีย์สำคัญ ถ้าโปรดักต์ดี การตลาดและการสื่อสารก็จะง่ายขึ้น”

คุณเคนสรุปว่า “ถ้าเรามีความแตกต่าง เราก็จะมีจุดยืนในตลาด และอีกสิ่งสำคัญคือเราต้องตั้งเป้าเป็นที่หนึ่ง การมุ่งมั่นไปที่จุดสูงสุดจะทำให้เรารอบคอบในทุกขั้นตอน เพราะถ้าเราตั้งเป้าหมายต่ำเกินไป สุดท้ายเราอาจไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้าเราตั้งเป้าให้สูง เราจะพยายามเต็มที่เพื่อให้เป้าหมายนั้นเป็นจริง


  • 188
  •  
  •  
  •  
  •