FMCG ต้องเรียนรู้! เมื่อนักช้อปเปลี่ยนใจ ทำ ‘อีคอมเมิร์ซ’ เปลี่ยนทิศในทศวรรษ สินค้าอุปโภคบริโภคแซง ‘Personal Care’

  • 685
  •  
  •  
  •  
  •  

E-commerce

หากเป็นสถานการณ์ปกติ FMCG (สินค้าอุปโภคบริโภค) ก็มีอัตราการเติบโตกับการซื้อทางออนไลน์อยู่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่า COVID-19 เป็นแรงกระตุ้นให้อีคอมเมิร์ซของ FMCG เติบโตขึ้นถึง 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่แค่การซื้อสินค้า FMCG ที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าจับตา เพราะ นีลเส็น ก็เปิดเผยว่า การเข้าถึงอีคอมเมิร์ซของคนไทยเพิ่มขึ้นกว่า 50% (ข้อมูลจาก ม.ค.-ก.ค. 2020 เทียบกับปี 2019)

นอกจากนี้ รายงานฉบับล่าสุดของนีลเส็นในหัวข้อ Spot It Right: เจาะลึกโอกาสในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ยังชี้ให้เห็นการเติบโตของการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคบนอีคอมเมิร์ซของผู้บริโภคชาวไทยอีกด้วย โดยระบุว่า พฤติกรรมการซื้อสินค้า FMCG บนออนไลน์ของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่าง นักช้อปในกรุงเทพฯ และปริมณฑลซื้อของออนไลน์บ่อยขึ้น 22% แต่ใช้จ่ายต่อครั้งน้อยลง 14% ขณะที่ นักช้อปในเมืองใหญ่จะลดจำนวนการซื้อน้อยลง 22% แต่ยอดใช้จ่ายต่อครั้งมากขึ้น 19%

อาหาร – เครื่องดื่ม สินค้าหลักที่ดัน FMCG โตไวบนอีคอมเมิร์ซ

– อาหารแห้ง อุปกรณ์ในการปรุงอาหาร และอาหารสำเร็จรูป เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเติบโตสูงสุด 3 กลุ่ม คือ 244%, 87%, 30% ตามลำดับ

– เมื่อเจาะลึกไปยัง 10 สินค้าแรกที่มูลค่าเติบโตจากการซื้อผ่านออนไลน์ จะพบว่า 8 ใน 10 หมวด ล้วนมาจากหมวดอาหารทั้งสิ้น

The Nielsen Spot It Right report-02 The Nielsen Spot It Right report-03

– ในอดีต Personal Care (ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล) มีมูลค่าการขายและการเติบโตเป็นผู้นำของกลุ่ม FMCG ออนไลน์มาตลอดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้การเติบโตของสินค้าประเภทของชำและอาหารเพิ่มขึ้นกว่า Personal Care และแม้ว่ามูลค่าสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มทางออนไลน์จะยังน้อยกว่าหมวดหมู่ที่ไม่ใช่อาหาร แต่ก็เป็นหนึ่งกลุ่มที่กำลังเติบโตบนออนไลน์

 

คุณภรวดี พรมิ่งมาศ ผู้อำนวยการ หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเชิงลึกผู้บริโภค บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายว่า กลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มมีสัดส่วนเป็น 84% ของมูลค่าทั้งหมดในตลาด FMCG ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ นั่นทำให้กลุ่มสินค้านี้มีโอกาสเติบโตสำหรับผู้ค้าปลีกออนไลน์อีกมาก ขณะนี้ การช้อปปิ้งสินค้าประเภทอาหารออนไลน์ได้รับความนิยมมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของผู้ค้าปลีกและเจ้าของสินค้าในการรักษาและขยายฐานนักช้อปออนไลน์ของตน อย่างไรก็ตาม กุญแจสำคัญคือการค้นหาว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นในการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคและตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเพาะความคุ้นชิน การเปิดรับ หรือการมีส่วนร่วมของนักช้อปในการซื้อของชำทางออนไลน์เพื่อผลักดันกระแสออนไลน์ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

นักข้อปชอบ… ประหยัดเวลา – สะดวกสบาย – ปลอดภัย – หลากหลาย

ตามรายงานของนีลเส็น ยังทำให้เราเห็นสาเหตุที่สนับสนุนให้ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าออนไลน์ เช่น การประหยัดเวลา ความสะดวกสบาย ความปลอดภัย และความหลากหลายของสินค้า ส่วนเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้บริโภคยังคงเลือกซื้อสินค้าทางออฟไลน์ คือ ความคุ้นเคย ประสบการณ์ ความต้องการที่จะออกไปข้างนอก หลีกเลี่ยงค่าจัดส่ง และไม่อยากรอสินค้าจากการจัดส่ง

The Nielsen Spot It Right report-01

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 และต้องการควบคุมรายจ่าย มองว่าการซื้อของผ่านออนไลน์เป็นมากกว่ากลไกการซื้อและส่งมอบของโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัส โดยผู้บริโภคกลุ่มนี้จะใช้ออนไลน์เพื่อค้นหาข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบราคา 41% และค้นหาโปรโมชันที่เหมาะสม 40% ก่อนตัดสินใจซื้อทางออนไลน์

คุณภรวดี อธิบายอีกว่า การรักษาเทรนด์การเติบโตนี้อย่างยั่งยืน ทั้งผู้ค้าปลีกและเจ้าของสินค้า FMCG จำเป็นต้องรับมือกับความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ด้วยการสร้างข้อเสนอที่แตกต่างในแต่ละเส้นทางการช้อปปิ้งทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ตั้งแต่เรื่องเวลา ความสะดวก ความหลายหลายของสินค้า และความปลอดภัย เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าของตนเอง


  • 685
  •  
  •  
  •  
  •  
Ms.นกยูง
เมื่อโลกไม่เคยหยุดหมุน เราก็ไม่ควรหยุดเรียนรู้... ชวนคุณมาทำความรู้จักหลากหลายเรื่องราว ทั้งสาระและสีสันบนโลกดิจิทัลไปพร้อมกัน