-
“UNESCO” ได้คาดการณ์ว่าขณะนี้มีนักเรียน-นักศึกษากว่า 363 ล้านคนทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากวิกฤต “COVID-19” และประมาณการณ์ว่ามีสถาบันการศึกษาใน 15 ประเทศ ทั้งในภูมิภาคเอเชีย, ตะวันออกกลาง, ยุโรป และอเมริกาเหนือ ได้ปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียน และมหาวิทยาลัย ขณะที่สถาบันการศึกษาในหลายประเทศ นำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เพื่อเปิดการเรียนการสอนผ่านออนไลน์
-
“ประเทศจีน” ประเทศแรกที่ประกาศหยุดกิจกรรมการเรียนการสอนที่โรงเรียน และมหาวิทยาลัย ทั้ง “ครู และนักเรียน – นักศึกษา” หันไปเปิดการเรียนการสอนทาง “ออนไลน์”
-
“สหรัฐอเมริกา” เริ่มปิดโรงเรียน ป้องกันการแพร่ระบาล และมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในสหรัฐอเมริกา เช่น “Harvard” ประกาศจะใช้การเรียนการสอนเสมือนจริง (Virtual Education) ในขณะที่เกิดสถานการณ์ COVID-19 โดยจะเริ่มตั้งแต่ 23 มีนาคมนี้ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัย Princeton, Stanford และอีกหลายมหาวิทยาลันในสหรัฐฯ เตรียมใช้การเรียนการสอนรูปแบบดังกล่าวเช่นกัน เพื่อที่ผู้เรียนสามารถเรียนได้จากทางไกล
-
ล่าสุดมหาวิทยาลัยในประเทศไทยหลายแห่ง เริ่มออกประกาศการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์
นี่คือ ตัวอย่างเพียงบางส่วนที่แสดงให้เห็นได้ว่า นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการณ์ไวรัส “COVID-19” (โควิด-19) หรือ “Coronavirus” (ไวรัสโคโรนา) สร้างผลกระทบในทุกภาคส่วนอย่างรวดเร็ว และรุนแรง หนึ่งในนั้นคือ “ภาคการศึกษา”
อย่างไรก็ตามถึงแม้ไวรัส COVID-19 จะส่งผลกระทบให้กับภาคการศึกษา แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่งได้สร้างอัตราเร่งในการปฏิรูป “วงการการศึกษา” ทั่วโลกครั้งใหญ่เช่นกัน
โดยเฉพาะมิติของการนำ “เทคโนโลยี” มาใช้กับระบบการเรียนการสอนมากขึ้น เพื่อทำให้ภาคการศึกษาทั่วโลกยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างไม่สะดุด และไม่ว่าผู้เรียน – ผู้สอนจะอยู่ที่ไหน ก็สามารถเข้าถึงการศึกษาได้
“COVID-19” ปัจจัยเร่ง “ระบบการศึกษาทั่วโลก” ใช้ “Educational Technology” มากขึ้น
Jeanne Allen ผู้ก่อตั้ง และซีอีโอของ The Center for Education Reform ได้วิเคราะห์ใน Forbes ว่า เคยมีคำกล่าวที่ว่าทุกๆ ครั้งที่เกิดความท้าทาย ย่อมนำมาซึ่งโอกาสเสมอ เช่นเดียวกับ “วงการการศึกษา” ที่ผ่านมาระบบการศึกษาหลายแห่งได้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่มีมายาวนาน แต่ผลจากการเกิดขึ้นของไวรัส Corona หรือ COVID-19 “ภาคการศึกษา” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาแนวทางให้ระบบการศึกษายังคงดำเนินต่อไปได้
การนำ “เทคโนโลยีด้านการศึกษา” หรือ “Educational Technology” มาใช้ในการเรียนการสอน ช่วยให้การนำเสนอเนื้อหาการเรียนการสอนที่มีความน่าสนใจขึ้น และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างนักเรียน และครูได้มากขึ้น แม้ในขณะที่ทุกคนต้องอาศัยภายในที่พักของตนเองในช่วงสถานการณ์ COVID-19 เพื่อให้แน่ใจได้ว่านักเรียน จะไม่พลาดการเรียนรู้ของพวกเขา และช่วยให้เส้นทางการเรียนของนักเรียน สามารถเดินหน้าต่อไปได้
ตัวอย่างเช่น รัฐนิวเจอร์ซีย์ เริ่มพิจารณาการออกกฎหมายให้สถาบันการศึกษาสามารถใช้เทคโนโลยี “Virtual Education” ในการเรียนการสอนได้ เวลาเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน เช่น กรณีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19
แต่ทั้งนี้ ผู้ก่อตั้งของ The Center for Education Reform ก็ได้ตั้งคำถามว่า แล้วทำไมนำเทคโนโลยีกับการศึกษามาใช้เฉพาะในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น ?!
เพราะในการสร้างคุณภาพมาตรฐานทางการศึกษาใหม่ โลกของ “Educational Technology” หรือ “EdTech” ช่วยให้เร็วขึ้น ฉลาดขึ้น และสามารถนำเสนอรูปแบบการเรียนการสอนได้อย่าง Personalization กว่าการเรียนในห้องเรียน
ดังเช่นกรณีศึกษาของ “Northshore School District” ที่มีโรงเรียน 33 แห่ง ได้ออกแบบการเรียนการสอนให้อยู่บนระบบ Cloud และใช้ออนไลน์เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน เพื่อสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 ให้กับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านดิจิทัล, การคิดวิเคราะห์, การแก้ปัญหา, การสร้างความร่วมมือ, ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งการเรียนผ่านระบบ Cloud ทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง และออกจากกรอบของการเรียนรู้ที่จำกัดเฉพาะในห้องเรียนสี่เหลี่ยม
“มีแอปพลิชันเกี่ยวกับการศึกษา และมีเทคโนโลยี AR, VR และ AI ในการตอบโจทย์ด้านการศึกษาให้กับผู้เรียนได้ เราไม่จำเป็นต้องให้เกิดวิกฤต แล้วถึงจะ “คิดใหม่” ในระบบการศึกษา แต่เทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนบทบาทครูผู้สอน จากที่เคยเป็นผู้ชี้นำ ไปสู่การเป็นผู้สนับสนุน และให้คำแนะนำแก่ผู้เรียน
โดยหวังว่าสถานการณ์ COVID-19 จะเป็นกระจกสะท้อนว่านวัตกรรม และเทคโนโลยีสามารถช่วยให้นักเรียน-นักศึกษา และสถาบันการศึกษาต่างๆ ผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ และต่อไปจะเห็นการใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านการศึกษาเป็นเรื่องปกติของระบบการศึกษา”
ใช้แพลตฟอร์มเทคโนโลยีของ “Tech Company” สร้าง “ห้องเรียนออนไลน์” อยู่ที่ไหนก็เรียนได้!
ปรากฏการณ์หนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนท่ามกลางสถานการณ์ “COVID-19” คือ แพลตฟอร์มเทคโนโลยีของ Tech Company ถูกนำมาใช้กับการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ บวกกับปัจจุบันคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาในระดับ 4G และบางประเทศไปถึง 5G แล้ว ทำให้การเรียนการสอนผ่านออนไลน์ สะดวก และรวดเร็วขึ้น เช่น
“DingTalk” แพลตฟอร์มเพื่อการสื่อสาร และการทำงานในองค์กร อีกหนึ่งบริการในเครือ Alibaba ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับระบบการเรียนการสอนออนไลน์ในประเทศจีน โดยช่วงที่มีวิกฤต COVID-19 มีนักเรียน-นักศึกษากว่า 50 ล้านคน ได้เข้าร่วมโครงการห้องเรียนออนไลน์ ที่เปิดให้อาจารย์กว่า 600,000 คนเปิดสอนวิชาต่างๆ ผ่านระบบ Live Streaming
“Tencent” ใช้ Tencent Live Broadcast เพื่อตอบความต้องการด้านการศึกษาผ่านออนไลน์ในจีน ในระหว่าง COVID-19 ระบาด เช่นที่เมืองอู่ฮั่น ซึ่งข้อมูลเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาพบว่าบนระบบ Live Streaming ของ Tencent มีนักเรียนชั้นประถม และมัธยมต้นในเมืองอู่ฮั่นมากถึง 81% หรือกว่า 730,000 คน จากจำนวนนักเรียนชั้นประถม และมัธยมต้นในอู่ฮั่นทั้งหมดกว่า 900,000 คน เรียนผ่านออนไลน์ผ่าน Tencent Live Streaming
“Google Hangout Meet” เทคโนโลยีการประชุมทางออนไลน์ รองรับการประชุมได้หลายคน รวมทั้งยังสามารถ Live Streaming รองรับผู้ชมได้จำนวนมาก และบันทึกการประชุมไว้บน Google Drive
“Google Classroom” เครื่องมือช่วยการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การแจกจ่ายงาน หรือเอกสารให้กับนักเรียน หรือเพื่อนในกลุ่ม หรือส่งความคิดเห็นถึงครูผู้สอน
ปรากฏว่าในช่วง COVID-19 โรงเรียน และมหาวิทยาลัยต่างๆ หันมาใช้สองโปรดักต์นี้ของ Google เพื่อสร้างความสะดวกในการเรียนการสอนนอกห้องเรียน
มหาวิทยาลัยในไทย เตรียมดำเนินการสอนผ่านออนไลน์
สำหรับความเคลื่อนไหวของภาคการศึกษาในประเทศไทย “กระทรวงศึกษาธิการ” ได้แจ้งให้โรงเรียนในสังกัดกระทรวงฯ เฝ้าระวัง – ป้องกัน และในกรณีที่โรงเรียนดำเนินการสอบปลายภาคเสร็จสิ้นแล้ว ให้สถานศึกษาประกาศปิดภาคเรียน และควรงดการจัดกิจกรรมใดๆ
ขณะที่ “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” (อว.) ได้ประกาศขอความร่วมมือสถาบันการศึกษาที่อยู่ในสังกัดของ อว. ใน 6 เรื่อง ดังนี้
1. ลดค่าเช่าพื้นที่ผู้ประกอบการรายย่อย ในมหาวิทยาลัย ตามความเหมาะสม
2. ลดค่าธรรมเนียมนักศึกษา ในภาคการศึกษาที่จะถึงนี้เป็นกรณีพิเศษ
3. ลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่เร่งด่วน เพื่อนำไปเพิ่มการจ้างงานนักศึกษาและบุคลากรทั่วไป ตามความเหมาะสม
4. เตรียมจัดการเรียนและการสอนผ่านระบบออนไลน์
5. ลดค่าบริการต่างๆที่เรียกเก็บจาก SMEs, Start up และประชาชนทั่วไป
ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยและอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย และเมืองนวัตกรรมอาหาร เป็นกรณีพิเศษ
6. หน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษา พิจารณากำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว เพิ่มเติมตามความเหมาะสม
ส่วนความเคลื่อนไหวของมหาวิทยาลัยไทย ล่าสุดเริ่มมีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ประกาศการเรียนการสอนผ่านออนไลน์แล้ว อาทิ
“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ออกประกาศแนวทางการจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์ไม่ปกติ อันเนื่องมาจากภาวะการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 12 มีนาคม 2563
1. ให้พิจารณาจัดการเรียนการสอนทุกรายวิชาในรูปแบบออนไลน์โดยเร็วที่สุด
2. นอกจากนี้ในรายวิชาที่มีผู้ลงทะเบียนเรียนตั้งแต่หนึ่งร้อยคนขึ้นไปในตอนเรียนใด ให้จัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ในตอนเรียนนั้น ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 ไปจนสิ้นสุดการเรียนการสอนรายวิชา
3. ในรายวิชาภาคปฏิบัติ ให้ผู้สอนปรับรูปแบบการเรียนการสอนตามความเหมาะสมของรายวิชาและสถานการณ์
4. การสอบภาคปลาย ปีการศึกษา 2562 ขอให้ผู้สอนพิจารณาปรับเกณฑ์และวิธีการวัดและการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ตามความเหมาะสมของรายวิชาและสถานการณ์ โดยไม่ต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ร้อยละ 80 ของจำนวนเวลาในการเข้าชั้นเรียน
“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ใน Official Facebook Page ของ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความ พร้อมทั้งประกาศฉบับล่าสุดในวันที่ 15 มีนาคม 2563 ใจความดังนี้
ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง มาตรการและคำแนะนำการป้องกันควบคุมโรคไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) (ฉบับที่ 6)
1. งดการเรียนการสอน วันที่ 16-23 มีนาคม 63 ใน 2 ศูนย์ คือ ท่าพระจันทร์ และรังสิต
2. ให้คณะเตรียมการเรียนการสอนออนไลน์ และสอนได้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 63
3. ให้มีการกำหนดแนวทางในการปฏิบัติงานภายในที่พัก (Work from Home)
4. ขอให้ทุกคนติดตามประกาศการสอนออนไลน์ที่จะประกาศต่อไปเร็วๆ นี้
“มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ” ออกประกาศแนวทางปฏิบัติสำหรับการจัดการเรียนการสอนเพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 โดยในตอนท้ายของประกาศ ได้ระบุว่า
1. การจัดการเรียนการสอน ให้อาจารย์ผู้สอนสามารถปรับรูปแบบการสอน การวัดและการประเมินผลได้ตามความเหมาะสม
2. การสอบภาคปลาย ให้อาจารย์ผู้สอนสามารถปรับรูปแบบการวัดและประเมินผลได้ตามความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ โดยอาจใช้การสอบรูปแบบเดิม หรือรูปแบบอื่นๆ
3. การสอบในระดับบัณฑิตศึกษา ให้สามารถปรับรูปแบบการสอบโดยอาจจะใช้การสอบผ่านระบบออนไลน์ หรือระบบการประชุมทางไกล (Teleconference) เป็นต้น
4. การจัดกิจกรรมอื่นๆ หากไม่มีเหตุผลจำเป็นเร่งด่วน ควรเลื่อนออกไปก่อน แต่ถ้ามีเหตุผลจำเป็น ให้คณะจัดเตรียมความพร้อมในการคัดกรอง/ป้องกัน/ควบคุมโรคติดเชื้อ (COVID-19)
5. การดำเนินการรปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอน และการสอบปลายภาคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ให้ยกเว้นการตรวจสอบจำนวนครั้งในการเข้าเรียนของนิสิตรายวิชาอย่างน้อยร้อยละ 80
6. การดำเนินการรปรับรูปแบบการจัดการเรียนการสอน และการสอบปลายภาค การสอบระดับบัณฑิตศึกษา การจัดกิจกรรมอื่นๆ ที่ระบุไว้ในประกาศนี้ ให้เป็นดุลยพินิจของคณบดี และผู้อำนวยการสำนัก
ทั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยได้ประสานสำนักคอมพิวเตอร์เพื่อเตรียมระบบสนับสนุนในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว
ล่าสุด “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ” ได้ประกาศงดการเรียนการสอน และสอบในชั้นเรียนทุกระดับทั้ง 4 วิทยาเขต คือ ประสานมิตร, องครักษ์, จังหวัดสระแก้ว, จังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 17 – 22 มีนาคมนี้
และตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมเป็นต้นไป ให้ดำเนินการสอนในรูปแบบออนไลน์ หรือรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่มีการเข้าชั้นเรียน
“สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง” (สจล.) ใช้โมเดลคลาสเรียนออนไลน์จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 พร้อมทั้งตั้งทีมไอทีให้คำปรึกษา และอำนวยความสะดวกให้อาจารย์ผู้สอนจัดคลาสเรียนออนไลน์ โดยสามารถเลือกประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มการสอนที่เหมาะสม อาทิ Facebook Broadcast, Microsoft Team, Google Classroom หรือ Moodle
ดังนั้นแล้วในท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อการจัดการเรียนการสอนภายในมหาวิทยาลัยที่สามารถดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น และเพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค COVID-19 มีความชัดเจนในการปฏิบัติ จึงได้ออกประกาศมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ดังนี้
1. การเรียนการสอนทุกรายวิชาสำหรับภาคการศึกษาที่ 2/2562 ทั้งระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา นักศึกษาจะต้องได้รับองค์ความรู้ครบถ้วนตามผลสัมฤทธิ์ของรายวิชา โดยให้ดำเนินการดังนี้
1.1 การเรียนการสอนในห้องเรียน ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 23 มีนาคม 2563 เท่านั้น หากมีความจำเป็นต้องสอนเพิ่มเติมสามารถดำเนินการสอนแบบออนไลน์ได้
1.2 การเรียนการสอนแบบออนไลน์ ให้ดำเนินการได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
1.3 รายวิชาโครงงานพิเศษ วิทยานิพนธ์ ปริญญานิพนธ์ การศึกษาอิสระ สหกิจศึกษา หรือรายวิชาที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่เทียบเท่าให้ดำเนินได้ตามความเหมาะสม
2. อาจารย์ผู้สอนดำเนินการจัดสอบเอง โดยอาจพิจารณาใช้วิธีการวัดและประเมินผลการเรียนตามที่อาจารย์ผู้สอนเห็นสมควร โดยวิธีการวัดและประเมินผลการเรียนสามารถดำเนินการในรูปแบบการทำรายงาน (Report) หรือการมอบหมายงาน (Assignment) หรือรูปแบบอื่นที่เห็นสมควร ทั้งนี้นักศึกษาจะต้องได้รับองค์ความรู้ครบถ้วนตามผลสัมฤทธิ์ของรายวิชา
3. ไม่อนุมัติให้จัดและเข้าร่วมกิจกรรม โครงการ สัมมนา และการประชุมทางวิชาการทุกประเภทที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 50 คนขึ้นไป ยกเว้นเป็นการดำเนินการจัดแบบออนไลน์เท่านั้น
4. ให้บุคลากรและนักศึกษาทุกคนกรอกข้อมูลประวัติการเดินทางและข้อมูลที่เกี่ยวข้องลงในแบบฟอร์มตามที่สถาบันกำหนด
5. ให้ส่วนงานวิชาการรายงานข้อมูลบุคลากรและนักศึกษาที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรค COVID-19 มายังสถาบันในทุกวันทำการ โดยบุคลากรให้รายงานข้อมูลถึงสำนักงานบริหารทรัพยากรบุคคล และนักศึกษาให้รายงานข้อมูลถึงสำนักงานกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์
6. กรณีบุคคลภายนอกที่เข้า-ออกสถาบัน ให้ส่วนงานวิชาการและสำนักงานบริหารทรัพยากรกายภาพและสิ่งแวดล้อมบันทึกภาพและเก็บข้อมูลตามแบบฟอร์มที่สถาบันกำหนด
7. ขอให้บุคลากรและนักศึกษาตรวจสอบการใช้งาน e-mail : account@kmitl.ac.th ของท่านให้ใช้งานได้ปกติ เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารอย่างเป็นทางการของทางสถาบัน และสามารถติดตามข่าวสารได้ทางช่องทาง www.kmitl.ac.th , Facebook : www.facebook.com/kmitlofficial/ Line : @KMITL
นอกจากนี้เตรียมประยุกต์โมเดลคลาสเรียนออนไลน์ใช้ในระยะยาว ตามแนวคิดของ สจล. ในการใช้เทคโนโลยีเข้ามา disrupt การเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน ที่สามารถเรียนได้ทุกที่ อย่างไร้ขีดจำกัด (KMITL Go Beyond the Limit)
จากสถานการณ์ COVID-19 ถือเป็น “จุดเปลี่ยน” ครั้งใหญ่ของ “วงการการศึกษา” ทั่วโลกในทุกระดับชั้นเรียน ในการนำ “เทคโนโลยี” มาใช้กับการเรียนการสอน รวมไปถึงการสอบ ซึ่งจะทำให้ทั้ง “ผู้สอน” และ “ผู้เรียน” คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีกับการศึกษา
ไม่แน่ว่าต่อไปวงการการศึกษาทั่วโลก อาจมีการนำ “เทคโนโลยีด้านการศึกษา” หรือ “Educational Technology” (EdTech) มาใช้มากขึ้น จนกลายเป็น New Normal ของภาคการศึกษาทั่วโลกก็เป็นได้
Source : UNESCO , Harvard University , Princeton University , Stanford University
Source : Forbes , China Briefing , Thai PBS